Skip to main content
sharethis

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแคมเปญสิทธิมนุษยชน มหกรรม "Write for Rights" หรือ “เขียนจดหมายรัก(ษ์)สิทธิ” ชวนลงชื่อช่วย "สโนว์เดน" และผู้ถูกละเมิดสิทธิในมาลาวี เปรู และอียิปต์ เริ่มตั้งแต่วันนี้จนถึงกลางเดือนธันวาคม 2559

อ้ายเหว่ยเหว่ย จัดทำภาพถ่าย 12 ภาพที่ประกอบจากตัวต่อเลโก้ เพื่อร่วมรณรงค์ในโครงการเขียนจดหมายรัก(ษ์)สิทธิในปีนี้ เขาและผู้สนับสนุนแอมเนสตี้หลายแสนคนจะร่วมกันส่งข้อความให้กำลังใจผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน พร้อมกับเรียกร้องให้ผู้นำทั่วโลกโลกแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

"ผมเข้าร่วมการรณรงค์ครั้งนี้เพื่อสนับสนุนคนที่ต้องทนทุกข์ทรมานเพียงเพราะทำหรือพูดในสิ่งที่รัฐบาลของพวกเขาไม่อนุญาต ในฐานะศิลปิน เสรีภาพในการแสดงออกเป็นส่วนสำคัญในงานของผม ผมเองรู้ดีว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นบ้างหากคุณขัดแย้งกับผู้มีอำนาจ ผมรู้ว่าแรงสนับสนุนจากทั่วโลกสำคัญแค่ไหนเมื่อรัฐต้องการจะปิดปากคุณ การอนุญาตให้ผู้คนมีเสรีภาพในการแสดงออกคือเส้นแบ่งระหว่างสังคมสมัยใหม่กับสังคมป่าเถื่อนแบบโบราณ" อ้ายเหว่ยเหว่ย

ในเดือนธันวาคมของทุกปี ผู้คนหลายแสนคนทั่วโลกร่วมกันเขียนจดหมายมากมายเพื่อผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน จดหมายหลายฉบับถูกส่งถึงผู้ถูกละเมิดสิทธิโดยตรง ขณะที่จดหมายอีกจำนวนมากก็ถูกส่งไปยังรัฐบาลของประเทศที่เกี่ยวข้องนั้นๆ

ซาลิล เช็ตติ เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า การรณรงค์ของแอมเนสตี้เป็นการสื่อข้อความไปทั่วโลกว่า ประชาชนพร้อมจะยืนหยัดต่อสู้การใช้อำนาจอย่างมิชอบไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ใดก็ตาม โดยเขียนจดหมายเพื่อส่งไปกดดันรัฐบาลประเทศต่างๆ ให้ยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนและนำความยุติธรรมมาสู่ผู้ได้รับผลกระทบ และการเขียนจดหมายหรือข้อความเพื่อส่งไปให้กำลังใจผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนและครอบครัวโดยตรง เพื่อให้พวกเขารับรู้ว่าไม่ได้ต่อสู้เพียงลำพัง

การเขียนเพื่อรณรงค์ของแอมเนสตี้ใช้จดหมายเป็นหลัก แต่ในยุคที่เครื่องมือดิจิทัลและสื่อออนไลน์เฟื่องฟู การเขียนเพื่อรณรงค์จึงไม่ได้จำกัดอยู่แค่การเขียนจดหมายอีกต่อไป แต่ยังรวมไปถึงการเขียนโปสการ์ด การวาดรูป การร่วมลงชื่อในข้อเรียกร้องและออนไลน์และออฟไลน์ การส่งอีเมล การโพสต์ข้อความผ่านโซเชียลมีเดีย การโทรศัพท์ไปยังเป้าหมายโดยตรง ฯลฯ โดยในแคมเปญ Write for Rights ปี 2558 ที่ผ่านมา มีผู้คนจากนานาประเทศต่างร่วมลงมือช่วยเหลือและเรียกร้องความยุติธรรมให้กับเพื่อนร่วมโลกมากถึง 3,714,141 ครั้ง

“แม้ในยุคที่การสื่อสารแบบดิจิทัลแพร่หลาย การเขียนข้อความส่งถึงผู้คนที่กำลังเผชิญความ อยุติธรรมอยู่ยังคงเป็นวิธีการที่ทรงพลังและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ได้ การรณรงค์ให้ ‘เขียน จดหมายรัก(ษ์)สิทธิ’ เป็นการส่งข้อความไปถึงผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิว่า ‘เราจะอยู่เคียงข้างคุณ’ ทั้งยังย้ำเตือนให้ผู้มีอำนาจตระหนักด้วยว่าเรากำลังจับตามองพวกเขาอยู่” ซาลิลกล่าว

ปีนี้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยเลือกเน้นรณรงค์ช่วยเหลือสี่กรณี ได้แก่

เรียกร้องอภัยโทษ 'สโนว์เดน' ที่เปิดโปงการละเมิดสิทธิของรัฐบาลสหรัฐฯ

เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ประเทศ สหรัฐอเมริกา อดีตเจ้าหน้าที่ความมั่นคงชาวอเมริกันผู้เปิดโปงการสอดแนมคนทั่วโลกโดยสหรัฐฯ และพันธมิตร จนเกิดการถกเถียงเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัวในวงกว้างปัจจุบันเอ็ดเวิร์ดลี้ภัยอยู่ในรัสเซียและอาจไม่ได้รับความเป็นธรรมจากศาลสหรัฐฯ หากเขาเดินทางกลับประเทศ
 

ช่วยปกป้องชาวไร่ในเปรูที่ถูกบริษัทเหมืองคุกคามบนที่ดินของเธอเอง

แม็กซิม่า อากุย่า ประเทศเปรู เกษตรกรหญิงชาวเปรูผู้ถูกไล่ที่และคุกคามจากบริษัทเหมือง แม้ศาลจะตัดสินแล้วว่าเธอไม่ได้รุกล้ำที่ดินก็ตาม พืชผักของเธอมักถูกลอบทำลาย ส่วนตัวเธอ สามี และลูกสาวก็ถูกทำร้ายร่างกายจนบาดเจ็บหลายครั้งเพียงเพราะยืนหยัดในสิทธิการทำกินบนผืนดินของตัวเอง

 

ช่วยช่างภาพอียิปต์ที่อาจถูกประหารชีวิตเพียงแค่ถ่ายภาพในเหตุประท้วง

ชอว์คาน (มาห์มูด อาบู เซอิด) ประเทศอียิปต์ช่างภาพข่าวชาวอียิปต์ เสี่ยงต้องโทษประหารชีวิตเพียงเพราะถ่ายภาพความรุนแรงของกองกำลังความมั่นคงระหว่างการประท้วงในอียิปต์เมื่อปี2556  เขาถูกกักขังและทรมาน ซ้ำยังถูกปฏิเสธความช่วยเหลือทางการแพทย์แม้จะป่วยหนักจากโรคไวรัสตับอักเสบซี

 

 

ช่วยคนผิวเผือกในมาลาวีจากการสังหารเพื่อเอาอวัยวะไปขาย

แอนนี่ อัลเฟรด (และคนผิวเผือกทั่วโลก) ประเทศมาลาวี เด็กหญิงที่มีลักษณะผิวเผือก ผู้เป็นตัวแทนคนผิวเผือกนับหมื่นในมาลาวีและหลายแสนคนทั่วโลกที่เสี่ยงถูกลักพาตัวและฆ่าเพื่อตัดอวัยวะ เช่น กะโหลก ลูกตา ผิวหนัง ฯลฯ ไปขายเพื่อทำเป็นเครื่องรางเพราะในมาลาวีและประเทศอื่นๆ ในแอฟริกามีความเชื่อว่าอวัยวะของคนผิวเผือกนำมาซึ่งโชคลาภ

 

ความสำเร็จในปีที่ผ่านมา

การรณรงค์กว่า 55 ปีที่ผ่านมาของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการเขียนเปลี่ยนชีวิตคนได้จริง ทุกๆ ปีมีผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในแคมเปญ Write for Rights ได้รับการช่วยเหลือมากมาย โดยเฉพาะผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนที่แอมเนสตี้ประเทศไทยร่วมรณรงค์ด้วย

เพียว เพียว อ่อง นักศึกษาเมียนมาที่ถูกจับจากการชุมนุมอย่างสงบเมื่อปี 2558  เธอเป็นหนึ่งในผู้นำสหภาพนักศึกษาเมียนมาที่ถูกจับพร้อมกับเพื่อนนักศึกษาอีกกว่า 100 คน หลังออกมาประท้วงต่อต้าน พ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่ ที่มีเนื้อหากดขี่เสรีภาพทางวิชาการผู้สนับสนุนของแอมเนสตี้จากทั่วโลกได้เขียนจดหมาย อีเมล ทวีต ฯลฯ เรียกร้องความยุติธรรมกว่า 394,000 ข้อความเพื่อให้กำลังใจและเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวเธอ จนได้รับการยกฟ้องและปล่อยตัวเมื่อ 8 เมษายน 2559

“จดหมายที่ได้รับมาเป็นแรงบันดาลใจแก่สิ่งที่พวกเรากำลังทำอยู่ ฉันเริ่มตระหนักแล้วว่า โลกกำลังเฝ้ามองและให้กำลังใจพวกเรา นั่นทำให้พวกเราไม่ได้โดดเดี่ยว...จดหมายของพวกคุณไม่ใช่เพียงแค่จดหมาย แต่เป็นของขวัญและพลังใจอันยิ่งใหญ่สำหรับทั้งนักศึกษาและอนาคตของเมียนมา” เพียว เพียว อ่องกล่าว

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเปลี่ยนแปลงด้านสิทธิมนุษยชนไปกับเราและอ้ายเว่ยเว่ย ด้วยการลงชื่อในแคมเปญข้างต้นได้ที่ www.amnesty.or.th

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net