Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

 

ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาคนจำนวนมากในประเทศไทยต้องเผชิญกับความสูญเสียครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่ง นั่นคือการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ผู้ซึ่งครองราชย์มาเป็นเวลากว่ากึ่งศตวรรษ

อย่างไรก็ดี ความสูญเสียครั้งใหญ่นี้ได้ก่อให้เกิดความสะเทือนใจ เเละความหวั่นไหวในจิตใจของคนไทย “ผู้จงรักภักดี” กลุ่มหนึ่ง และได้ผลักดันคนไทยกลุ่มนั้นไปสู่เขตแดนของการใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มผู้เห็นต่างและไม่ประพฤติปฏิบัติตัวตามที่คนไทยผู้จงรักภักดีกลุ่มนั้นต้องการ เช่น การบังคับให้หญิงสาวก้มกราบขอขมาพระพรมฉายาลักษณ์ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี การรุมทำร้ายร่างกายชายหนุ่มที่จังหวัดชลบุรี การตบหน้าหญิงวัยกลางคนผู้มีปัญหาทางจิตหลังลงจากรถเมล์ ตลอดจนถึงกรณีที่ผู้จงรักภักดีในประเทศสวีเดนบุกไป “ล่า” ผู้แสดงความเห็นหมิ่นเบื้องสูงถึงที่พัก เป็นต้น

สิ่งที่น่าสนใจคือ การแสดงออกซึ่งความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายร่างกาย การใช้วาจาแสดงความเกลียดชัง (Hate speech) การข่มขู่ การละเมิดสิทธืเสรีภาพของผู้อื่น[1] ไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทยเฉพาะกับเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ “อัตลักษณ์แห่งชาติ” เช่น สถาบันกษัตริย์เท่านั้น แต่มันยังเกิดขึ้นในปริมณฑลอื่นซึ่งนอกเหนือไปจากปริมณฑลทางการเมืองด้วย ในบทความชิ้นนี้ผู้เขียนจะยกตัวอย่างการใช้ความรุนแรงในปริมณฑลที่อยู่ในพื้นที่ส่วนตัวเเละเป็นปริมณฑลทางความบันเทิง คือ “ปริมณฑลของกองเชียร์ลิเวอร์พูล” ซึ่งใช้ความรุนแรงในนามของการ “ปกป้องสตีเฟ่น เจอร์ราด” พร้อมกันนั้นผู้เขียนจะตั้งคำถามว่า เพราะเหตุใดความรุนแรงที่เกิดในปริมณฑลที่เเตกต่างกันอย่างมาก เช่น ปริมณฑลทางการเมือง (เรื่องจริงจังและเรื่องส่วนรวม) และปริมณฑลของกองเชียร์ฟุตบอล (เรื่องบันเทิงเเละเรื่องส่วนตัว) นั้น กลับมีลักษณะที่คล้ายคลึงกันอย่างไม่น่าเชื่อ

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา (25 พฤศจิกายน 2016) สตีเฟ่น เจอร์ราด (Steven Gerrard) อดีตกัปตันทีมลิเวอร์พูลประกาศเลิกเล่นฟุตบอลอย่างเป็นทางการ หลังจากเริ่มเซ็นสัญญาค้าแข้งให้กับลิเวอร์พูลมาตั้งแต่ปี 1988 เจอร์ราดเป็นบุคคลที่ได้รับการเคารพยกย่องอย่างมากทั้งจากแฟนบอล สต๊าฟโค้ช และผู้บริหารสโมสร เนื่องจากฝีเท้าที่โดดเด่นในระดับที่เคยถูกยกย่องให้เป็นหนึ่งในนักเตะชั้นนำของโลก เเต่สิ่งที่ทำให้แฟนบอลเทิดทูนเจอร์ราดอย่างมากกลับไม่ใช่ฝีเท้าของเขาเพียงอย่างเดียว แต่คือคุณค่าทาง “ศีลธรรม” ที่เขามอบให้กับสโมสรต่างหาก ที่ทำให้เขาสามารถเลื่อนสถานะตนเองจากการเป็นนักเตะธรรมดา ไปสู่การเป็น “ตำนานที่มีชีวิต” หรือเป็นแม้แต่ “พระเจ้า” ของสโมสร

ศีลธรรมที่ว่านี้คือ “ความจงรักภักดี” เเละ “ความทุ่มเท” ที่เจอร์ราดได้มอบให้กับลิเวอร์พูลตลอดกว่า 20 ปีที่เขาเล่นให้กับสโมสร ทุกนัดที่เจอร์ราดลงเล่นเขาจะวิ่งไปทั่วทั้งสนามเพื่อช่วยเหลือเพื่อนคนอื่นๆในทีมอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย การเข้าแย่งบอลแต่ละครั้งของเขาไม่เคยห่วงถึงความเสี่ยงที่จะบาดเจ็บ และนอกจากนี้ ในช่วงเวลาที่ลิเวอร์พูลตกต่ำที่สุดโดยปราศจากแชมป์พรีเมียร์ลีกอังกฤษกว่า 20 ปี นักเตะระดับโลกอย่างเขาสามารถเลือกย้ายทีมไปเล่นให้กับทีมยักษ์ใหญ่อื่นๆ ซึ่งสามารถมอบให้เขาได้ทั้งเกียรติยศ ทรัพย์สิน เงินทอง และบัลลังก์แชมป์ แต่เจอร์ราดกลับปฏิเสธที่จะย้ายทีม เเละยืนยันที่จะร่วมทุกข์ร่วมสุขกับสโมสรที่เขารักแห่งนี้ต่อไป พร้อมกับเอ่ยวาจาอมตะไว้ว่า “เมื่อผมจะตาย ไม่ต้องนำผมไปที่โรงพยาบาล ให้นำผมไปที่ลิเวอร์พูล[2] ผมเกิดที่นั่น และผมจะขอตายที่นั่น”

ถึงแม้เจอร์ราดจะได้รับการเชิดชูประดุจ “ตำนาน/พระเจ้า” เเต่ในความเป็นจริงเเล้ว เขาก็ยังคงเป็นมนุษย์เดินดินธรรมดาคนหนึ่งซึ่งมีข้อบกพร่อง เเละชีวิตการค้าแข้งของเขาก็ไม่ได้สมบูรณ์แบบดังเช่นเทพนิยาย เจอร์ราดถูกวิพากษ์วิจารณ์จากแฟนบอลชาวไทยเช่นกัน อาทิ เรื่องการชอบพุ่งล้มเพื่อเอาจุดโทษ การเข้าบอลที่หนักเกินไปจนอาจจะทำให้คู่ต่อสู้บาดเจ็บ และที่สำคัญคือเจอร์ราดไม่เคยได้แชมป์พรีเมียร์ลีก ซึ่งเป็นแชมป์ที่ตำนานนักฟุตบอลของทีมอื่นๆได้มาหมดเเล้ว มีเพียงเจอร์ราดเท่านั้นที่ยังไม่ได้

แม้หลังจากเจอร์ราดประกาศเลิกค้าแข้งอย่างเป็นทางการ สื่อสังคมออนไลน์จะเต็มไปด้วยข้อความยกย่องเเละขอให้เขาโชคดี เเต่ก็ยังมีแฟนบอลที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงข้อเสียของเจอร์ราดอยู่ในฐานะการส่งท้ายเช่นกัน และก็ยังมีแฟนบอลอีกจำนวนหนึ่งที่ถึงกับตัดต่อรูปของเจอร์ราดเพื่อที่จะล้อเลียนว่าเขาเลิกเล่นฟุตบอลไปโดยปราศจากถ้วยถ้วยแชมป์พรีเมียร์ลีก ส่งผลให้เกิดความไม่พอใจแก่แฟนบอลที่ชื่นชอบเจอร์ราด จนหลายๆคนออกมาประณามการวิพากษ์วิจารณ์เเละการล้อเลียนเจอร์ราดด้วยการให้เหตุผลว่าเป็นการกระทำที่ “ไม่ถูกกาละเทศะ” เพราะช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่แฟนบอลทุกคนควรบอกลาเจอร์ราดให้โชคดีกับชีวิตหลังการค้าแข้ง ข้อความใดที่มีเนื้อหานอกเหนือไปจากนี้ไม่ควรจะมีขึ้น โดยเฉพาะข้อความในทางลบต่อ “ตำนาน/พระเจ้า” ของสโมสร

ที่น่าสนใจกว่านั้น คือ การวิพากษ์วิจารณ์เจอร์ราดนั้น นอกจากจะเป็นสิ่งต้องห้ามของแฟนบอลทีมอื่นเเล้ว ยังคงเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับเเฟนบอลลิเวอร์พูลด้วยกันด้วย ย้อนกลับไปในช่วงท้ายของชีวิตค้าแข้งที่เจอร์ราดเล่นให้กับลิเวอร์พูล เขามีสภาพร่างกายที่ไม่ดีเหมือนเดิมทำให้ฟอร์มการเล่นตกต่ำลง จนแฟนบอลจำนวนมากออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันทั่วไปตามสื่อสังคมออนไลน์ เเต่กระนั้นก็ดีแฟนบอลลิเวอร์พูลจำนวนหนึ่งก็ได้ออกมาปกป้องเจอร์ราด พร้อมกับตั้งคำถามต่อผู้วิพากษ์วิจารณ์ว่า “คุณเป็นแฟนบอลทีมอื่นปลอมตัวมาหรือเปล่า?” หรือ “ถ้าคุณเป็นแฟนบอลลิเวอร์พูล ทำไมคุณไม่รักเจอร์ราด” หรือบางคนถึงกับขับไล่ไสส่งผู้วิพากษ์วิจารณ์ให้ “ออกจากสื่อสังคมออนไลน์นั้นไป” เพราะความเห็นที่แตกต่างจากคนส่วนมากนั้น “ทำให้สื่อสังคมออนไลน์ขาดความสงบ”

มาถึงจุดนี้ ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตุว่า การใช้ Hate speech หรือการปิดกั้นความเห็นต่างที่เกิดขึ้นในหมู่แฟนบอลผู้ศรัทธาในตัวของเจอร์ราดนั้น ช่างมีลักษณะคล้ายคลึงอย่างไม่น่าเชื่อกับกรณีการใช้ Hate speech และการประณามผู้เห็นต่างของฝ่ายนิยมเจ้าสุดโต่ง (Hyper-royalism) ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวหาว่าผู้วิจารณ์เจ้าไม่ใช่คนไทย การบีบบังคับให้คนที่อยู่ในอณาบริเวณของรัฐชาติไทยทุกคนต้องรับอัตลักษณ์แห่งชาติจากส่วนกลางไปใช้ และหากคนกลุ่มหนึ่งไม่รับอัตลักษณ์แห่งชาตินั้น เขาก็ไม่ควรจะมีสิทธิอยู่ในรัฐชาติไทยของเรา เพราะจะทำให้รัฐชาติไทยของเราปราศจากความสงบ

คำถามต่อมาคือ ทำไมความรุนแรงที่มีลักษณะคล้ายกันมากเช่นนี้กลับสามารถเกิดในปริมณฑลที่เเตกต่างกันอย่างสุดขั้วได้? ผู้เขียนขอตั้งสมมุติฐาน (โดยปราศจากงานวิจัยเชิงวิชาการรองรับ) ว่า ความรุนแรงในกลุ่มผู้นิยมเจ้าเเละผู้นิยมเจอร์ราด[3] แม้จะมีความเข้มข้นของความรุนแรงในระดับที่ต่างกัน เเต่ล้วนมีรากจากความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม (Cultural violence) รากเดียวกัน เเละวัฒนธรรมชุดนี้นั่นเอง เป็นประดุจดั่งเเว่นที่คนไทยที่เติบโตขึ้นมาในสังคมซึ่งวัฒนธรรมนี้ฝังตัวอยู่ใช้ในการมองโลก เเละไม่ว่าในปริมณฑลใดก็ตามเมื่อคนไทยมองโลกผ่านวัฒนธรรมชุดนี้เเล้ว ก็มีความเสี่ยงที่จะใช้ความรุนแรงขึ้นทั้งสิ้น[4]

วัฒนธรรมชุดนี้ซึ่งเป็นฐานของความรุนแรงคืออะไร? ผู้เขียนคิดว่ามีประเด็นเชิงวัฒนธรรมอย่างน้อย 2 ประการที่ส่งผลให้เกิดความรุนแรงข้างต้น คือ หนึ่ง ความไม่มีน้ำอดน้ำทน (Tolerance) กับความหลากหลาย และสอง ลัทธิบูชาตัวบุคคล (Cult of personality)

สังคมไทยเป็นสังคมที่ให้ความสำคัญกับความหลากหลายค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับชาติตะวันตก เพราะสังคมไทยมักคิดว่าความหลากหลายนำมาสู่ความขัดแย้ง และสังคมไทยมักจะมองความขัดแย้งในเชิงลบเสมอ โดยมองว่าความขัดแย้งคือขั้วตรงข้ามกับสันติภาพ (Peace) ซึ่งสังคมไทยมักจะมองว่าสันติภาพคือความสงบปราศจากความวุ่นวาย ด้วยนิยามความขัดแย้งเเละสันติภาพเเบบไทยๆนี้เอง จึงไม่แปลกเลยที่คนไทยจะพยายามทุกวิถีทางเพื่อสลายความขัดแย้งให้หมดไป ซึ่งบางครั้งจบด้วยการใช้ความรุนแรงเพื่อขับไล่ความแตกต่างหลากหลายออกไปจากสังคมที่ตนเองอยู่

ในทางตรงกันข้าม นักวิชาการด้านสันติศึกษาของตะวันตกกลับมองว่าความขัดแย้งไม่ใช่ขั้วตรงข้ามของสันติภาพ เเละสันติภาพก็ไม่ใช่ความสงบ ยกตัวอย่างเช่น สถาบัน Irénées สถาบันด้านสันติศึกษาของฝรั่งเศส ได้กล่าวว่า “สันติภาพ ไม่ใช่สภาวะที่ปราศจากความขัดแย้งโดยสิ้นเชิง แต่หมายถึงสภาวะที่ปราศจากความรุนแรง โดยมีวิธีจัดการความขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์ต่างหาก”[5] จะเห็นได้ว่ามุมมองต่อสันติภาพของ Irénées และของสังคมไทยแตกต่างกันอย่างมาก โดย Irénées มองว่าสันติภาพคือการไม่ใช้ความรุนแรง และความขัดแย้งไม่จำเป็นว่าจะเป็นปัญหาเสมอไป แต่ขึ้นอยู่กับวิธีการจัดการ ในขณะที่สังคมไทยมองว่าความขัดแย้งเป็นสิ่งที่เลวร้ายเพราะนำมาซึ่งความไม่สงบ (ความไม่มีสันติภาพ) บางครั้งจึงจำเป็นต้องใช้ความรุนแรงเพื่อทำให้ความขัดแย้งเหล่านั้นหมดไป

สำหรับประเด็นด้านลัทธิบูชาตัวบุคคลนั้น สังคมไทยเป็นสังคมที่ให้ความสำคัญกับตัวบุคคลมาก เรามักจะยกย่องบุคคลสำคัญในลักษณะของฮีโร่เสมอ สังเกตุได้จากแบบเรียนสังคมศึกษาในโรงเรียนที่ไล่เรียงประวัติศาสตร์ตามลำดับบุคคลสำคัญ และเน้นหนักไปที่การศึกษาชีวประวัติของบุคคลสำคัญ โดยแทบจะไม่ได้กล่าวถึงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านทั่วไป หรือการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเศรษฐกิจเลย ซึ่งเป็นระบบการศึกษาประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับระบบของตะวันตก ที่เน้นศึกษาการเปลี่ยนแปลงของสังคม เศรษฐกิจ เเละการเมือง มากกว่าชีวประวัติของบุคคลสำคัญ ยิ่งไปกว่านั้น แบบเรียนของไทยนอกจากจะให้ความสำคัญกับตัวบุคคลอย่างมากแล้ว ยังมักจะวาดภาพของตัวบุคคลในลักษณะด้านเดียวด้วย คือ กล่าวถึงแต่ข้อดีและคุโณปการที่บุคคลเหล่านั้นสร้างขึ้น โดยไม่ได้กล่าวถึงข้อเสียหรือแง่มุมในชีวิตด้านอื่นๆของบุคคลผู้นั้น จึงทำให้ผู้เรียนเกิดการรับรู้ว่าบุคคลสำคัญมักจะมีลักษณะประดุจ “เทพพระเจ้า” ที่ไม่มีข้อเสีย และไม่อาจล่วงละเมิดได้

จึงไม่แปลกเลยหากเจอร์ราดผู้เป็นตำนานและพระเจ้าของเหล่าแฟนบอลจะมีภาพรับรู้ไม่ต่างจากบุคคลสำคัญในแบบเรียนไทย ที่ไม่ควรถูกวิพากษ์วิจารณ์ไม่ว่ากรณีใดๆ และหากมีคนแตกแถววิพากษ์วิจารณ์เจอร์ราดขึ้น จนก่อให้เกิดควมไม่สงบเเละความขัดแย้งในสื่อสังคมออนไลน์ แฟนบอลลิเวอร์พูลบางคนก็พร้อมที่จะขับไล่ผู้แตกแถวเหล่านั้นออกไป ในนามของความสงบเรียบร้อย เเละในนามของบุคคลที่พวกเขาต้องการจะปกป้อง โดยมิได้คำนึงถึงเลยว่าจริงๆเเล้วบุคคลที่พวกเขาอยากปกป้องนั้น ต้องการให้เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า

0000

 

เอกสารอ้างอิง

Galtung, J. (1969) ‘Violence, Peace, and Peace Research’, Journal of Peace Research, 6 (3), pp. 167-191.

Irénées (2007) Negative versus Positive Peace. Paris: Irénées.

 

เชิงอรรถ

[1] ในบทความชิ้นนี้ จะใช้นิยามความรุนแรงของ Johan Galtung (1969) ที่ว่า ความรุนแรง คือ “สภาวะที่มนุษย์ได้รับอิทธิพล จนทำให้สภาวะทางกายภาพและสภาวะทางจิตใจของมนุษย์นั้น ต่ำกว่าศักยภาพของเขา (present when human beings are being influenced so that their actual somatic and mental realisations are below their potential realisation)” ซึ่งความรุนแรงในความหมายที่ผู้เขียนใช้นั้น จะมีความหมายนอกเหนือไปจากความรุนแรงทางกายภาพด้วย คือ ครอบคลุมไปถึงการใช้ Hate speech เเละการละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น ฯลฯ

[2] When I die, dont bring me to the hospital. Bring me to Anfield. I was born there and will die there.” ตามความเป็นจริงเเล้ว เจอร์ราดใช้คำว่า Anfield ซึ่งเป็นสนามประจำของลิเวอร์พูล แต่ผู้เขียนจงใจเปลี่ยนเป็นคำว่าลิเวอร์พูลเพื่อลดความสับสน

[3] ซึ่งถือเป็นความรุนแรงทางตรง (Direct violence)

[4] มีกรณีอื่นๆที่นอกเหนือจากปริมณฑลของฟุตบอล เเละสถาบันกษัตริย์ด้วย ที่ความรุนแรงเกิดขึ้นเมื่อมีบุคคลหนึ่งไม่ยอมรับอัตลักษณ์ร่วมของสังคมที่เขาอาศัยอยู่ เช่น การประณามอั้มเนโกะ เมื่ออั้มเนโกะถ่ายรูปกับรูปปั้น นาย ปรีดี พนมยงค์ อย่างไม่เหมาะสม ซึ่งกรณีของอั้มเนโกะนั้นมีความน่าสนใจมาก เพราะเกิดขึ้นในพื้นที่ที่ถูกกล่าวถึงเสมอในฐานะมหาวิทยาลัยที่มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว

[5] คัดลอกมาจากต้นฉบับได้ว่า Peace does not mean the total absence of any conflict. It means the absence of violence in all forms and the unfolding of conflict in a constructive way. Peace therefore exists where people are interacting non-violently and are managing their conflict positively with respectful attention to the legitimate needs and interest of all concerned (Irénées, 2007).”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net