Skip to main content
sharethis

หลังจากที่หน่วยวิศวกรรมของกองทัพสหรัฐฯ ประกาศยกเลิกใบอนุญาตการสร้างท่อน้ำมันดาโคตาแอคเซสไปป์ไลน์ผ่านแหล่งน้ำของชนพื้นเมืองสแตนดิงร็อคซูส์เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้ผู้ประท้วงพิทักษ์ปกป้องผืนน้ำจะได้เฉลิมฮลองแต่พวกเขาก็ยังคงเฝ้าระวัง บทความของนักกิจกรรมนาโอมิ ไคลน์ เขียนถึงบทเรียนการต่อสู้ในเรื่องนี้

นาโอมิ ไคลน์ (ที่มา: แฟ้มภาพ/David Shankbone//วิกิพีเดีย)

7 ธ.ค. 2559 บทความของไคลน์เริ่มจากการกล่าวถึงคนที่คอยประกอบอาหารเลี้ยงคนในที่ชุมนุมที่บอกว่าพวกเธอจะยังต้องทำอาหารต่อไป เช่นเดียวกับการจัดการอื่นๆ อย่างการใช้โปรแกรม Facetime เรียกการสนับสนุน การที่ผู้ทำสารคดีอย่าง โจส ฟอกซ์ เจ้าของเรื่อง Gasland ไปจนถึงนักสิ่งแวดล้อมชื่อดังอย่าง อิริน บร็อคโควิช เข้าร่วม อีกทั้งยังจำเป็นมากที่ต้องเปิดใช้วิดีโอถ่ายทอดสดของ Facebook live มีนักการเมืองอย่างผู้แทนหญิงจากฮาวาย ทัลซี กาบบาร์ด เข้าร่วมและบอกว่าเธอรู้สึก "เบิกบานใจ" ที่ได้เข้าร่วม และแน่นอนว่าควรมีการรับชมสื่อกระแสหลักอย่างซีเอ็นเอ็นที่เผยแพร่ภาพของผู้พิทักษ์ผืนน้ำได้เห็น

ไคลน์ระบุว่ากลุ่มเคลื่อนไหวด้านปัญหาโลกร้อนรู้อยู่แล้วว่าการขับเคลื่อนประชาชนในวงกว้างอย่างเป็นระบบจะทำให้เกิดผลลัพธ์ เช่นจากกรณีของการต้านท่อน้ำมันคีย์สโตนเอ็กซ์แอลที่มีการยกเลิกล่าช้าไปบ้างหลังจากมีปฏิบัติการของมวลชนจนลงไปแล้ว แต่กับสแตนดิงร็อคต่างออกไปตรงที่ข่าวการยับยั้งท่อส่งน้ำมันชั่วคราวเพื่อพิจารณาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและอาจจะต่อท่อไปยังที่อื่นมาถึงในช่วงที่พวกเขายังคงเคลื่อนไหกันอยู่ แน่นอนว่าการประกาศยับยั้งท่อส่งนำมันทำให้พวกเขามองอะไรสดใสขึ้นเพราะชัยชนะของพวกเขาทำให้เห็นว่าการจัดตั้งและประท้วงต่อต้านของพวกเขาไม่ได้สูญเปล่า

อย่างไรก็ตามเมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ คืบเข้าใกล้ทำเนียบขาวมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้ชุมนุมก็รู้ดีว่าการต่อสู้ยังไม่จบลงทั้งบริษัทที่ทำโครงการจะเรียกร้องให้มีการตัดสินใจใหม่ และทรัมป์ก็อาจจะเปลี่ยนการตัดสินใจทำให้ เชส ไอรอน อายส์ ทนายความและสมาชิกชนพื้นเมืองสแตนดิงร็อคซูส์กล่าวว่าในทางกฎหมายยังไม่แน่ชัดและพวกเขาต้องกดดันทางการเงินกับธนาคารที่ลงทุนกับท่อส่งน้ำมันเหล่านี้ให้มากขึ้นด้วย

นอกจากนี้ไคลน์ยังระบุว่าชัยชนะในครั้งนี้ไม่ควรทำให้ต้องเลิกเรียกร้องความเป็นธรรมและการชดเชยให้กับผู้ชุมนุมปกป้องผืนน้ำที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะถูกทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บหรือถูกจับกุมจำนวนมาก

บทความของไคลน์ยังได้พูดถึงหนึ่งในสมาชิกสำคัญที่เป็นจุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวในครั้งนี้คือเด็กอายุ 13 ปี ชื่อ โทคาตา ไอรอน อายส์ ผู้ที่ต่อสู้อย่างดุดันและขี้เล่นไปพร้อมๆ กัน เธอชวนเพื่อนๆ ของเธอเข้าร่วมด้วยการพูดถึงข้อมูลว่าท่อส่งน้ำมันจะส่งผลเลวร้ายอย่างไรกับแหล่งน้ำ เมื่อเธอทราบข่าวเรื่องการยกเลิกต่อท่อส่งน้ำมันผ่านแหล่งน้ำของชุมชนเธออกว่า "เหมือนอนาคตของฉันกลับคืนมา"

สำหรับนักสู้พ่อลูกอย่างดอน ทู แบร์ และโคดี ทู แบร์ แล้วถึงแม้การต่อสู้จะยังไม่จบแต่ก็ถือเป็นวันที่ดี เป็นวันที่พวกเขาจะได้ทำงานจริงจังในการสร้างวิถีชีวิตและแรงบันดาลใจในแนวทางอื่นนอกจากการก่อมลภาวะต่อแหล่งน้ำและใช้เชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพที่สร้างปัญหาโลกร้อน ส่วนหนึ่งด้วการสอนวิถีการเพาะปลูกและสร้างที่อยุ่อาศัยในแบบชนพื้นเมืองและหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างแสงอาทิตย์และลม

"อะไรๆ ก็เลวร้ายลงเรื่อยๆ ดังนั้นคนที่อยู่บนผืนดินนี้มาก่อนจึงต้องสอนประเทศนี้อีกครั้งหนึ่งว่าจะใช้ชีวิตอย่างไร ด้วยการหันไปสู่วิธีสีเขียว หันไปสู่พลังงงานหมุนเวียน ใช้สิ่งที่เป็นพรจากที่พระผู้สร้างให้เรามาอย่างแสงอาทิตย์และสายลม" โคดี ทู แบร์ กล่าว

 

เรียบเรียงจาก

The Lesson from Standing Rock: Organizing and Resistance Can Win, Naomi Klein, The Nation, 04-12-2016 https://www.thenation.com/article/the-lesson-from-standing-rock-organizing-and-resistance-can-win/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net