Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เชื่อว่าหลายคนคงต้องเคยรู้สึกหรือเคยมีคำถามนี้ “ทำไมเราโดนอยู่คนเดียวเนี่ย”ไม่ว่าในเวลาใดก็เวลาหนึ่งในชีวิต หลายคนเคยใช่ไหมเวลาเล่นบอลกับเพื่อนสมัยเรียนแล้วเราดันเป็นคนเตะไปโดนกระถางต้นไม้หล่นแตก เพื่อนสมัยมัธยมชวนโดดเรียนแล้วเราเป็นคนเดียวที่โดนครูไล่จับได้ เอาการบ้านเพื่อนคนเดียวกันมาลอกแต่โดนหักคะแนนอยู่คนเดียว เคยไหม? จองเซกชั่นเรียนพร้อมกันกับเพื่อนแต่ตัวเองหลุดไปเรียนกับอาจารย์ที่ตัวเองไม่ได้จองเซกชั่นนั้นไว้(เพราะขึ้นชื่อว่าให้ผ่านไม่ถึงครึ่งห้อง)หรือสารพัดเรื่องราวที่เราต้องตกเป็นจำเลยอยู่คนเดียวทั้งที่ก็มีคนตั้งมากมายทำแบบเดียวกัน จะเป็นเพราะมีคนจงใจจับผิดและลงโทษเราคนเดียว หรือเป็นเพราะโชคชะตาที่เราถึงคราวเคราะห์ก็ไม่อาจรู้ได้ แม้ใจจริงจะไม่ได้ต้องการให้ใครมาร่วมรับผิดด้วยก็ตาม แต่ก็อดน้อยใจในดวงของตัวเองไม่ได้

ในตอนนี้ถ้าผมเป็น “ไผ่ ดาวดิน” ผมคงรู้สึกแบบเดียวกันกับที่ผมว่ามาไม่ผิดเพี้ยน

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2559 มีบทความบทหนึ่งที่กล่าวถึงสถาบันเบื้องสูงของไทยจากสำนักข่าว BBC Thai ซึ่งเผยแพร่บนเว็บไซต์และแฟนเพจเฟซบุ๊ก (ณ ขณะนี้บทความดังกล่าวได้ถูกผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในไทยบล็อกเว็บไซต์ไว้ ทำให้ผู้อ่านเข้าถึงไม่ได้) หลังจากการเผยแพร่บทความได้มีผู้ใช้เฟซบุ๊กกว่า 2,600 คนแชร์บทความนี้ออกไป ซึ่งหนึ่งในบุคคลที่ได้แชร์บทความนั้นออกไปก็คือ 'ไผ่ ดาวดิน'  ทำให้เช้าวันที่ 3 ธันวาคม 2559 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำหมายศาลจังหวัดขอนแก่นไปจับกุมตัวไผ่ด้วยการตั้งข้อกล่าวหากับไผ่ว่า“ทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์” คำถามที่สำคัญคือ “ทำไมไผ่โดนอยู่คนเดียว”

ไผ่ ดาวดิน หรือนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษาเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นที่รู้จักในกลุ่มนักกิจกรรมทางการเมืองและประชาชนทั่วไป เพราะไผ่ ดาวดิน เป็นนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยภาคอีสาน เป็นที่รู้จักตามหน้าสื่อทั่วไปจากการทำกิจกรรมทางการเมืองในทางปฏิปักษ์ต่อรัฐบาล คสช. ไผ่เคยอดอาหารประท้วงการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่และปฏิเสธการประกันตัวจากกรณีการแสดงจุดยืนทางการเมืองในช่วงก่อนการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญปี 2559 ไผ่เคยถูกดำเนินคดีเนื่องจากการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองแล้วหลายครั้ง และล่าสุดการเคลื่อนไหวของไผ่กลายมาเป็นที่จับตามองของรัฐบาลอีกครั้ง

บทความที่ BBC Thai เผยแพร่คือพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 ชาวโซเชียลเน็ตเวิร์คให้ความสนใจกับบทความนี้เป็นอย่างมาก เพราะไม่บ่อยนักที่จะมีสื่อมวลชนกล้าที่จะนำเสนอข้อมูลที่อาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์สถาบันฯ  ในลักษณะนี้ ต่างคนต่างคาดการณ์กันไปถึงขั้นว่าสำนักข่าวบีบีซีไทยอาจต้องถึงคราวล่ำลาจากหน้าโซเชียลมีเดียแล้วหรือไม่ แต่จนถึงขณะนี้บทความของบีบีซีไทยยังคงอยู่บนเว็บไซต์และตามหน้าวอลล์ส่วนตัวของผู้ใช้เฟซบุ๊ก ส่วนไผ่ก็ได้กลายเป็นผู้ต้องหาในคดีความผิดที่เกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศอีกคดีหนึ่ง

ถ้าเราลองนึกๆถึงกรณีของคนที่ได้รับความเสียหายจากการประชาสัมพันธ์ข่าวที่ส่งผลต่อภาพลักษณ์และชื่อเสียงของตนเอง เราจะเห็นภาพของบุคคลนั้นๆ ลุกขึ้นมาชี้แจงต่อสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่สาธารณะ เราจะเห็นภาพของการประสานงานเพื่อติดต่อแหล่งต้นตอของข้อมูลนั้นๆ เพื่อขอให้ยุติการเผยแพร่ข้อมูลพร้อมกับชี้แจงรายละเอียดต่างๆ และหากเป็นกรณีดาราหรือบุคคลที่มีสถานะทางสังคม ที่เมื่อมีกรณีข่าวเสียหายเกิดขึ้น ก็จะจัดงานแถลงข่าวชี้แจงข้อมูลข้อเท็จจริงของตนเอง จะผิดหรือไม่ผิด จริงหรือไม่จริงอย่างไรก็ว่ากันไป การเอาผิดกับคนเผยแพร่หรือบอกต่อ นอกจากจะไม่ใช่ทางแก้ปัญหาที่ได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว อาจยังวิเคราะห์ได้ว่าเจ้าของเรื่องไม่สามารถจัดการกับแหล่งต้นตอของข้อมูลได้จึงต้องเอาผิดกับผู้ที่ “บอกต่อ” แทน คล้ายกับการข่มขู่ว่าห้ามพูดมิฉะนั้นจะโดนลงโทษ ซึ่งถ้าคิดตามความเป็นจริงแล้ว การห้ามบอกต่อนั้นคือการกระตุ้นความอยากรู้ของผู้คนมากขึ้นไปอีก หลังจากข่าวการจับกุมไผ่ได้แพร่ออกไปบทความชิ้นนั้นได้กลายเป็นข้อมูลที่คนรับรู้กันอย่างทั่วถึงแล้วโดยปริยาย

หากคิดในอีกแง่การจับกุมไผ่นั้นอาจไม่ใช่เพราะแชร์บทความนี้โดยตรง เนื่องจากยังมีทางแก้ไขความเสียหายที่มีประสิทธิภาพมากกว่านี้มาก สิ่งที่เกิดขึ้นกับไผ่จึงดูเหมือนเป็นการตั้งข้อหากับบุคคลที่ปลายทางเสียมากกว่า ถึงแม้จะคิดว่าไผ่เป็นนักกิจกรรมที่มีชื่อเสียง มีผู้คนติดตามการเคลื่อนไหวเป็นจำนวนมากก็ตาม แต่การเลือกเจาะจงการจับกุมไปที่ไผ่ที่เป็นคนแชร์ข่าวต่อจากเขามาก็ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าเป็นการทำตามหน้าที่จริงๆ หรือเป็นเพราะตั้งใจกลั่นแกล้งกันแน่ จึงไม่แปลกถ้าจะมีคำถามตามมาว่า บุคคลอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการเขียนบทความของบีบีซีไทยและบุคคลอื่นที่ได้แชร์บทความนั้นออกไปจะมีความผิดดังเช่นไผ่ ดาวดินหรือไม่?

ขณะนี้ศาลจังหวัดขอนแก่นให้อนุญาตประกันตัวไผ่ชั่วคราวในวงเงิน 400,000 บาท ซึ่งเป็นอัตราที่เทียบเท่ากับวงเงินในการประกันตัวชั่วคราวผู้ต้องหาในข้อหาเจตนาฆ่าผู้อื่น ถ้าจะเอามาเปรียบเทียบกัน ข้อหาของไผ่คือความผิดที่กระทบความมั่นคงของประเทศ ซึ่งทางกฎหมายถือว่าร้ายแรงพอๆกัน หรือจะมากกว่าความผิดที่จงใจทำต่อคนๆ เดียวเสียอีก ถึงแม้ความผิดนั้นจะเป็นการฆ่าคนก็ตาม เพราะในทางกฎหมายถือว่าผลกระทบต่อส่วนรวมร้ายแรงกว่าผลกระทบที่เป็นรายบุคคล ดังนั้นที่เหลือจึงขึ้นอยู่กับการตีความถึงส่วนที่กระทบความมั่นคงของประเทศว่าจะมีขอบเขตแค่ไหน และสิ่งที่ไผ่ทำถึงขั้น “กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ” หรือไม่

ความผิดต่อความมั่นคงของประเทศได้กลายมาเป็นหัวข้อในการพูดคุยของคนไทยบ่อยขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากปัจจุบันความผิดที่ดูเป็นเรื่องไกลตัว กลายเป็นความผิดที่คนธรรมดาก็โดนได้ด้วยการคลิ๊กเพียงครั้งเดียว ผ่านการโยงเข้ากับ พระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 คือ หากการเผยแพร่ข่าวเสียหายเกี่ยวกับสถาบันฯ เป็นความผิดต่อความมั่นคงแล้ว เมื่อเอาไปทำในระบบคอมพิวเตอร์ก็กลายเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ไม่ได้เกิดมาจากใครที่ไหน จริงๆแล้วก็เกิดมาจากวิถีชีวิตของเราที่เปลี่ยนไปนี่แหละ การที่ผู้คนปรับวิถีชีวิตมาในโลกเสมือนจริงมากขึ้น การกระทบกระทั่งผ่านการพิมพ์หรือโพสต์มากขึ้นเรื่อยๆจนต้องออกกฎหมายที่ควบคุมการใช้งานคอมพิวเตอร์เป็นการเฉพาะ เพราะการคลิ๊กครั้งเดียวคนเห็นมีได้ไม่จำกัด หากไม่มี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์แล้ว การพิสูจน์ความผิดต่อความมั่นคงต้องชัดเจนว่า อะไรที่ถือเป็นความมั่นคง เกิดผลเสียหายต่อประเทศแบบไหน และการกระทำคืออะไร แต่ถ้ามี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์การพิสูจน์ความผิดก็จะง่ายขึ้น

กรณีของไผ่อาจเป็นหนึ่งตัวอย่างของการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์จริงก็ได้ แต่สิ่งที่สะท้อนออกมาคือ การเลือกปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด ผู้น้อยมักต้องถูกกล่าวหาเสมอ ไม่ต่างจากกรณีคนเก็บขยะเอาซีดีละเมิดลิขสิทธิ์มือสองไปขายแล้วถูกจับ แต่ผู้มีอิทธิพลที่อยู่เบื้องหลังการผลิตแผ่นซีดีที่ละเมิดลิขสิทธิ์จริงๆ มีกำไรมากมาย ได้รับการปกป้องจากพรรคพวก และไม่เคยต้องเดือดร้อนจากข้อหาใดๆ ความรู้สึกแบบนี้จะยังคงอยู่ในสังคมไทยต่อไปอีกนานแค่ไหน จะหมดไปเมื่อใด ส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับบรรดาผู้ใหญ่ในบ้านเมืองจะตระหนักรับรู้มากน้อยแค่ไหน และคนในสังคมจะแสดงความเห็นสร้างแรงกดดันต่อผู้ปกครองได้มากแค่ไหนคำถามเหล่านี้จะยังคงถูกถามไปทุกยุคทุกสมัยใช่หรือไม่

0000

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net