Skip to main content
sharethis
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดเสวนา “ในหลวงรัชกาลที่ 9 กับประชาธิปไตย” ยกย่องกษัตริย์อยู่เหนือความขัดแย้ง-ทรงงานมากที่สุดในโลก 'ปริญญา' ระบุพระองค์ท่านคลี่คลายวิกฤตทางการเมืองหลายต่อหลายครั้ง และทรงเข้าใจบทบาทการเป็นกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย
 
10 ธ.ค. 2559 เว็บไซต์คมชัดลึก รายงานว่าที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) จัดอภิปรายหัวข้อ “ในหลวงรัชกาลที่ 9 กับประชาธิปไตย” ในงาน “9 ตามพ่อสานต่อพระราชปณิธาน” เนื่องในวันรัฐธรรมนูญ และวันธรรมศาสตร์ ผ่านมุมมองนักวิชาการด้านกฎหมายและประวัติศาสตร์ไทย โดยมีนางสาวสมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีตผู้พิพากษาอาวุโส และอดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์นววรรณ วุฒฑะกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้แต่งหนังสือยุวกษัตริย์ เป็นคณะผู้เสวนา 
 
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา กล่าวว่า เหตุใดวันที่ 10 ธ.ค.เป็นวันรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 10 ธ.ค.2475 ซึ่งบทบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 กับเรื่องการบ้านการเมือง พระองค์ท่านเป็นประมุขของประเทศที่คลี่คลายวิกฤตทางการเมืองหลายต่อหลายครั้ง ตั้งแต่เหตุการณ์สำคัญวันที่ 14 ต.ค.2516 จากนั้น 19 ปีต่อมาพระองค์ท่านได้คลี่คลายความขัดแย้งทางการเมืองในเหตุการณ์ 20 พ.ค.2535 ซึ่งทั้ง 2 เหตุการณ์ก็กลายเป็นโมเดลในการขอนายกรัฐมนตรีพระราชทาน จนถึงเหตุการณ์ประท้วง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในปี 2549 ในขณะนั้นฝ่ายผู้ชุมนุมก็ได้ไปดำเนินการขอนายกรัฐมนตรีพระราชทาน ตามมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ แต่พระองค์ท่านไม่ได้พระราชทานนายกรัฐมนตรี เพราะไม่มีการทูลเกล้านายกรัฐมนตรีขึ้นไป เมื่อเปรียบเทียบกับสองเหตุการณ์แรก ขณะที่กรณีศึกษาการขอพระราชทานอภัยโทษตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่กลุ่มคนเสื้อแดงได้ลงชื่อขอพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งที่จริงแล้วคนเสื้อแดงต้องไปกดดันหรือเรียกร้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ไม่ใช่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เพราะรัฐมนตรีต้องทำหน้าที่เป็นคนทูลเกล้า ทำให้เห็นชัดเจนว่าพระองค์ท่านทรงอยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมือง        
 
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา กล่าวต่อว่า ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังไม่มีใครทราบว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับ 2559 หรือ 2560 เพราะอยู่ที่พระราชวินิจฉัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน ส่วนมาตรา 7 ซึ่งเป็นมาตรา 5 ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านการลงประชามติ เขียนไว้ว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้น เป็นอันใช้บังคับมิได้ เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทำการนั้นหรือวินิจฉัย กรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข เมื่อมีกรณีตามวรรคสองเกิดขึ้น ให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญจัดให้มีการประชุมร่วม ระหว่างประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานองค์กรอิสระ เพื่อวินิจฉัย
 
“70 ปีที่ผ่านมา พระองค์ท่านทรงเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย พระองค์ท่านผ่านเหตุการณ์การเมืองมากมาย ผมคิดว่าพระบรมราโชวาทในปี 2549 ความว่า "ขอยืนยันว่ามาตรา 7 ไม่ได้หมายถึงมอบให้พระมหากษัตริย์มีอำนาจที่จะทำอะไรตามใจชอบ มาตรา 7 พูดถึงการปกครองแบบมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งข้าพเจ้าไม่เคยทำเกินหน้าที่ ถ้าทำเกินหน้าที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย" เป็นการสะท้อนบทบาทของพระองค์ในด้านประชาธิปไตย ดังนั้นเราเห็นต่างได้ เลือกคนละพรรคได้ แต่เราเป็นคนไทย มีอะไรก็ว่าไปตามกติกา พวกเราเปรียบเหมือนลูก ๆ ทะเลาะกันกับพี่น้อง แต่พอสู้ไม่ได้ ก็ไปร้องให้พ่อมาช่วยแก้ความขัดแย้ง แต่ขณะนี้พ่อไม่อยู่แล้ว แต่ลูกยังทะเลาะกันอยู่ จากนี้เราต้องแก้ปัญหากันเอง โดยว่ากันตามกติกา และเคารพสิทธิเสรีภาพ ระบอบประชาธิปไตยจึงจะประสบความสำเร็จ จากนี้พวกเราจะต้องเปลี่ยนแปลงประเทศไทย โดยใช้พลังที่เรารักพระองค์ท่านมาช่วยกันให้ได้ อย่ารักพระองค์ท่านแค่นั้นเฉย ๆ ขอให้ปฏิบัติตามพระองค์ท่ายได้สอนไว้”ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา กล่าว
                                               
นางสาวสมลักษณ์ กล่าวว่า พระอัจริยภาพของพระองค์ท่านในสายกระบวนการยุติธรรม ในการเสด็จพระราชดำเนินไปกระทรวงยุติธรรม เมื่อวันที่ 26 ม.ค.2495 พระองค์ท่านได้เข้าใจเรื่องกระบวนการยุติธรรมเป็นอย่างดี โดยทุกครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินเกี่ยวกับผู้ที่อยู่ในสายกฎหมาย ก็จะมีข้อคิดที่ให้ผู้ที่จะทำหน้าที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม คือความซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ก็เคยมีพระราชดำรัชเกี่ยวกับความเป็นกลาง เพราะผู้ที่จะตัดสินคดีต้องมีความเป็นกลาง มีอคติไม่ได้ เอนเอียงไม่ได้เมื่อทำหน้าที่ ซึ่งตนเห็นว่า ในช่วงบ้านเมืองมีปัญหา หากจะไปให้ความเห็นสิ่งใด ผู้พิพากษาก็ต้องตัดขาดจากการทำหน้าที่ผู้พิพากษาเสียก่อน เพราะต้องมีความเป็นกลาง นอกจากนี้ อีกทั้งถ้ามีอคติก็จะเหมือนกับมีธงไว้ก่อน รวมถึงผู้พิพากษาต้องมีความกล้าหาญ ไม่กลัวเกรงอำนาจทางการเมืองอะไร ส่วนการกล่าวหากันถึงมาตรา 112 มีผู้รู้เคยกล่าวกับตนว่า เมื่อไหร่มีการกล่าวหาเรื่องนี้มีการฟ้องร้องเป็นจำนวน แปลว่าบ้านเมืองไม่สงบ และยังมีการบอกว่าพระองค์ท่านจะเดือดร้อน ตนจึงคิดว่าเหตุใดพระองค์ท่านจะเดือดร้อนทจนมาเข้าใจว่า หากมีการกล่าวหามาตรา 112 ก็จะมีการดึงพระองค์ท่านมาเกี่ยวกับความขัดแย้ง ทั้งที่พระองค์ท่านอยู่เหนือกว่าสิ่งที่จะไปกล่าวอ้าง และตนเห็นว่าแทนที่จะให้ผู้ที่ติดคุกในมาตรา 112 ก็คิดว่าเอาเขาไปอบรมบ่มนิสัยดีกว่าหรือไม่                                       
 
ขณะที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์นววรรณ กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงเป็นแบบอย่างงดงามกับประชาชนของพระองค์ท่าน ซึ่งเรามีพระมหากษัตริย์ที่ทรงงานมากที่สุดในโลกตั้งแต่ทรงพระเยาว์ พระองค์ท่านเป็นพระมหากษัตริย์ที่เก่งทุกเรื่อง จากพรสวรรค์และความหมั่นเพียร พระองค์ท่านยังเป็นมหากษัตริย์นักประชาธิปไตย ซึ่ง 70 ปีที่ทรงคลองราชย์พบว่า ท่านไม่ได้ปกครองเรา แต่พระองค์ท่านปกเกล้าปกกระหม่อมพวกเรา พระองค์ท่านได้การอบรมสั่งสอนมาอย่างดี เป็นนักกตัญญู จึงอยากให้เด็กๆปัจจุบันได้รับทราบสิ่งที่พระองค์ท่านทำสิ่งดีๆไว้ให้กับพวกเรา                                                                 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นภายในงานมีการแสดง โขนธรรมศาสตร์ รวมถึงจัดฉายวีดิทัศน์ เรื่อง “ในหลวงรัชกาลที่ 9 กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” และการแสดงวงดนตรีสากลแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ทียูแบนด์) บรรเลงเพลงพระราชนิพนธ์ และเพลงยูงทอง 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net