Skip to main content
sharethis

อานันท์ กาญจนพันธุ์ ปาฐกถาเปิดงาน "PeopleGO Network Forum" พร้อมเสนอการสร้างสังคมพหุวัฒนธรรมที่เป็นธรรม ต้องมีพื้นที่ให้คนกลุ่มต่างๆ ได้แสดงตัวตน แสดงภาษา แสดงการมีส่วนร่วม มีพื้นที่ของความมั่นคงชีวิต ไม่ใช่คนในสลัมต้องถูกไล่รื้อตลอดเวลา และขนาดไม่อยู่สลัมยังถูกไล่เลย พอไม่มีความมั่นคง คนก็ไม่สามารถอยู่ได้ จึงไม่เกิดความเป็นธรรม

คลิปปาฐกถาอานันท์ กาญจนพันธุ์ "สู่สังคมพหุวัฒนธรรมที่เป็นธรรม"

10 ธ.ค. 2559 ในงานสัมมนา "PeopleGO Network Forum" ใส่ใจรัฐธรรมนูญกับสิทธิมนุษยชน สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจัดระหว่าง 10 - 11 ธันวาคม ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในรูปแบบตลาดนัดความรู้ และวงเสวนาในประเด็นทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง การศึกษา รัฐสวัสดิการ และสิ่งแวดล้อม และการจับตายุทธศาสตร์ชาติ เดินหน้ายุทธศาสตร์ประชาชนนั้น

ในช่วงเช้าของวันที่ 10 ธ.ค. อานันท์ กาญจนพันธุ์ จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวปาฐกถาหัวข้อ "สู่สังคมพหุวัฒนธรรมที่เป็นธรรม" โดยตอนหนึ่งอานันท์เริ่มอภิปรายว่า "เรื่องที่เราจะคุยกันคือ "พหุวัฒนธรรม" คำนี้อาจเป็นคำใหม่หน่อย แต่เป็นคำที่เราคุ้นเคยมานานแล้ว เพราะว่าสังคมไทยไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สังคมไทยประกอบด้วยผู้คนที่มาจากหลากหลาย แต่อย่างไรก็ตาม ก็มีคำถามหนึ่งที่ผุดมาในใจเราเสมอว่า "คนไทยยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรมหรือไม่? อย่างไร?" ถึงแม้เรามีความแตกต่างกัน แต่สังคมไทยก็มีความเป็นชาตินิยมอยู่มาก และมองว่าสังคมไทยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่จริงๆ แล้วสังคมไทยและคนไทยไม่ได้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีความหลากหลายทั้งในแง่วัฒนธรรม ศาสนา ชาติพันธุ์ มากมาย ดังนั้นผมคิดว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับสังคมไทยอย่างหนึ่งคือการช่วงชิงความหมายในเรื่องวัฒนธรรม ชาติพันธุ์ รวมทั้งความหมายในสิ่งที่เราพูดคุยกันคือเรื่อง "พหุวัฒนธรรม" ว่าเรามีความเข้าใจเหมือนกัน หรือต่างกันอย่างไร และถ้าเราไม่ทำความเข้าใจกันในเรื่องนี้ ก็จะเกิดปัญหาที่ไม่ควรเกิด"

การทำความเข้าใจพหุวัฒนธรรมนั้น เราทำได้หลายแบบ ส่วนใหญ่ในทางวิชาการก็มีข้อถกเถียงกันเสมอ แต่อย่างหนึ่งที่้เราต้องยอมรับก็คือถ้าเราจะพูดไปเรื่อยๆ ก็พูดไปได้ แต่ถ้าจะพูดให้เป็นจริงหน่อย ต้องพูดจากปฏิบัติการจริงของผู้คนในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่พูดไปเรื่อย เพราะเมืองไทยคนพูดไปเรื่อยมีเยอะ ถ้าจะพูดให้เป็นจริง หรือสอดคล้องกับสิ่งที่พูดก็ไม่ค่อยมีคนพูด คือไม่ใช่มองจากการสมมติ หรือสร้างภาพตัวแทน หรือมองอย่างอุดมคติไปหมด คือเราถนัดเรื่องพวกนี้คือชอบสมมติน่ะ แล้วเผลอๆ สมมติไป สมมติมาแล้วคิดว่ามันจริงจะยิ่งเป็นปัญหาใหญ่ เพราะว่าสิ่งที่เราสมมติกับสิ่งที่จริงอาจไม่เหมือนกันเสมอไป และถ้าเราจะพูดโดยตรงแล้วในเรื่องพหุวัฒนธรรม ก็คือเรื่องวัฒนธรรม ชาติพันธุ์ก็ดี เป็นองค์ประกอบของเรื่องพหุวัฒนธรรม ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจ เป็นความสัมพันธ์ระหว่างคนที่ต่างกัน แล้วเอามุมของตัวเองไปครอบงำ ให้คนอื่นคิดเหมือนตัวเองซึ่งสิ่งนี้เป็นปัญหา

อานันท์เสนอว่า ถ้าหากว่าเราสามารถจะพัฒนาให้สังคมพหุวัฒนธรรมเกิดได้อย่างเป็นจริง ต้องเปิดพื้นที่เพื่อให้ผู้คนที่แตกต่างหลากหลายได้มีโอกาสมาร่วมกัน เพื่อให้เกิดความเข้าใจจากมุมมองของกันและกัน ไม่ใช่เอามุมมองของเราไปครอบงำคนอื่น

การยอมรับพหุวัฒนธรรมในบริบทที่เปลี่ยนผ่านเพื่อให้เกิดสังคมที่เป็นธรรมนั้น ต้องสร้างพื้นที่ทางสังคม หรือเปิดพื้นที่ทางสังคมมากขึ้น

เปิดพื้นที่ของภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ทำให้เขารู้จักตัวเองมากขึ้น เช่น เราเรียนแต่ภาษาไทยในโรงเรียน แต่เรายังไม่เคยมีโรงเรียนที่ให้เรียนกันได้หลายภาษา อย่างข้อเสนอให้สอนภาษามลายูด้วยในภาคใต้ ก็จะเป็นการยอมรับความแตกต่างทางภาษา เพราะแน่นอนให้เขามาเรียนภาษาไทยก็สู้นักเรียนไทยไม่ได้ ก็ต้องมีภาษาอื่น ใครจะรู้อะไรดีกว่าในภาษาที่เราไม่คุ้นเคย จึงต้องรู้จากภาษาพ่อภาษาแม่ถึงจะเริ่มต้นได้ แต่จากนั้นจะเรียนภาษาอื่นก็ได้แล้ว พื้นที่ภาษาที่หลากหลายจะทำให้ผู้คนรู้สึกเท่าเทียมกัน เพราะว่าเริ่มต้นจากภาษาพ่อภาษาแม่ด้วยกันเท่าๆ กัน ต่อจากนี้ใครจะพัฒนาภาษาอื่นอีกก็เพิ่มเติมกันไป แต่ทุกวันนี้ แค่เริ่มต้นก็แพ้กันแล้ว สังคมเป็นธรรมเกิดขึ้นลำบาก

สำหรับพื้นที่ของความรู้และการแสดงอัตลักษณ์ ต้องเปิดให้คนแสดงออกสิ่งที่แตกต่างได้ ไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นแบบนี้เท่านั้น เช่นติดป้ายถ้าชาวเขาต้องเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียวก็เสร็จนะสิ คือเราไปปิดกั้นให้คนอยู่ในภาพลักษณ์ตายตัว ไม่เปิดพื้นที่ให้เขาแสดงตัวตนที่แท้จริงของเขา นั่นคือสิทธิของเขา อย่างที่ถามว่า "คนจนมีสิทธิไหมครับ?"

แล้วก็ต้องมีพื้นที่ของการมีส่วนร่วมในการพัฒนา ไม่ใช่ทำตามความต้องการของใครคนใดคนหนึ่ง แต่สำคัญที่สุดต้องมีพื้นที่สร้างความมั่นคงของชีวิตด้วย นี่เป็นตัวอย่างว่าการสร้างสังคมพหุวัฒนธรรมที่เป็นธรรม ต้องมีพื้นที่ให้คนกลุ่มต่างๆ ได้แสดงตัวตน แสดงภาษา แสดงการมีส่วนร่วม มีพื้นที่ของความมั่นคงชีวิต ไม่ใช่คนในสลัมต้องถูกไล่รื้อตลอดเวลา ขนาดไม่อยู่สลัมยังถูกไล่ พอไม่มีความมั่นคง คนก็ไม่สามารถอยู่ได้ จึงไม่เกิดความเป็นธรรม

ถ้าเราอยากจะสร้างให้เกิดสังคมพหุธรรม ที่เป็นธรรมที่แท้จริงในสังคมไทย เราต้องมานั่งทำความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ เพื่อทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่พออยู่ด้วยกันได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net