Skip to main content
sharethis

'คณิน เพื่อไทย' ชี้ บทกำหนดโทษรุนแรงสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิต ขัดต่อเจตนารมณ์ของรธน. ทำให้สมาชิกพรรคการเมืองกลายเป็นพลเมืองชั้นสอง ตั้งคำถามกรธ.เจตนาสร้างพรรคการเมืองหรือทำลาย  'องอาจ' หวัง กรธ. ฟังข้อทวงติ่งเพื่อแก้ไขให้ได้รับการยอมรับ ชี้พรรคทางเลือกเกิดยาก 

12 ธ.ค. 2559 ภายหลังจากที่ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้เผยแพร่ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (พ.ร.บ.พรรคการเมือง) (อ่านร่างกฎหมาย) ซึ่งประกอบด้วย 10 หมวด 129 มาตรา โดย อุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการธิการร่างรัฐธรรมนูญ ระบุว่า เนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมือง มุ่งให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้ประชาชนควรเป็นเจ้าของพรรคการเมืองอย่างแท้จริง ทั้งนี้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวยังคงเป็นเพียงร่างกฎหมายที่ต้องรอการพิจารณาให้ความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และยังสามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้ โดย กรธ. เตรียมจัดเวทีชี้แจงเนื้อหาร่างกฎหมายดังกล่าว เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากนักการเมือง และพรรคการเมือง ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในวันที่ 14 ธ.ค. 2559

จากนั้นได้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างต่อเนื่องจากฝ่านการเมืองต่างๆ ล่าสุดวันนี้ ตัวแทน 2 พรรคใหญ่ คือ คณิน บุญสุวรรณ ประธานคณะทำงานติดตามการร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทย และองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

เพื่อไทยติงขัดเจตนารมณ์รธน.

โดย คณิน กล่าวถึงร่างฯ ดังกล่าวที่เผยแพร่ เพื่อประกอบการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวว่า หลักการและสาระสำคัญส่วนใหญ่ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 ที่บัญญัติให้การร่วมกันจัดตั้งพรรคการเมืองเป็นเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะเรื่องการบัญญัติในกฎหมายลูกที่กำหนดให้ต้องขออนุญาตต่อนายทะเบียน คือ เลขาธิการกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เพื่อจัดตั้งเป็นพรรคการเมือง

“ทั้งยังมีกฎเกณฑ์เงื่อนไขต่าง ๆ มากมาย รวมทั้งบทกำหนดโทษรุนแรงสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิต นอกจากจะขัดต่อเจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ยังเป็นการลดฐานะของสมาชิกพรรคการเมือง ให้เป็นเสมือนพลเมืองชั้นสองอีกด้วย เพราะทันทีที่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง นอกจากจะต้องเสียค่าบำรุงพรรคทุกปีแล้ว หากเป็นผู้ร่วมกันจัดตั้งพรรคการเมืองต้องจ่ายเงินเพื่อเป็นทุนประเดิมคนละ 2,000 – 500,000 บาท และยังต้องเสียสิทธิทางการเมืองหลายอย่างด้วย เช่น หากจะสมัครหรือเกี่ยวข้องกับการเลือกส.ว.จะไม่สามารถยุ่งเกี่ยวกับตำแหน่งทางการเมืองได้ และไม่สามารถสมัครเป็นองค์กรอิสระหรือศาลรัฐธรรมนูญได้ ที่ไม่มีข้อห้ามอยู่เรื่องเดียวคือการเลือกตั้ง ส.ส. และสมัคร ส.ส.” คณิน กล่าว
 
นายคณิน กล่าวว่า ร่างกฎหมายลูกนี้ บังคับให้ผู้ที่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองต้องจ่ายค่าธรรมเนียมบำรุงพรรคและหากผู้ใดไม่ชำระค่าบำรุงพรรคเป็นเวลาสองปีติดต่อกันต้องสิ้นสภาพสมาชิก ข้อนี้ถือว่าขัดต่อหลักเสรีภาพของประชาชน และเท่ากับเป็นการกีดกันคนยากจนและคนที่มีรายได้น้อย ไม่ให้เป็นสมาชิกพรรคการเมือง ส่วนคนมีฐานะดี แต่หากรู้ว่าเป็นสมาชิกพรรคแล้วต้องลำบากเช่นนี้ คงไม่มีใครอยากเป็นสมาชิกพรรคการเมือง จึงขอตั้งข้อสังเกตว่า แท้จริงแล้วกรธ.จะสร้างพรรคการเมืองหรือทำลายพรรคการเมือง
 
“การที่มาตรา 32 กำหนดให้พรรคที่ตั้งใหม่ต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 5,000 คน ภายใน 1 ปี มีสาขาพรรคอย่างน้อยภาคละหนึ่งสาขา แต่ละสาขาต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 500 คน และต้องเพิ่มสมาชิกให้มีจำนวนไม่น้อยกว่าสองหมื่นคนภายใน 4 ปีนับแต่วันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนนั้น ขัดแย้งกับสิ่งที่กรธ. กล่าวมาตลอดว่า ไม่อยากเห็นนายทุนครอบงำพรรค และอยากให้พรรคการเมืองเป็นของประชาชน เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นตรงกันข้ามมากกว่า” คณิน กล่าว

'องอาจ ปชป.' ชี้พรรคทางเลือกเกิดยาก 

ขณะที่กรณีที่มีการพิพากษ์วิจารณ์ท้วงติงเนื้อหาบางส่วนของร่างฯ ดังกล่าวเป็นการท้วงติงเพื่อประโยชน์ของนักการเมืองและทำเพื่อตัวเอง องอาจ กล่าวว่า การวิพากษ์วิจารณ์ท้วงติงเป็นไปเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ไม่ใช่ทำเพื่อให้ตัวเองได้ประโยชน์แต่อย่างใด หลายเรื่องที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และสมาชิกพรรคคนอื่นๆท้วงติงนั้น ถ้ากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ พิจารณาให้ถ่องแท้ก็จะเห็นว่าเป็นการท้วงติงด้วยเจตนาบริสุทธิ์ ไม่ได้ติเรือทั้งโกลนแต่อย่างใด
 
องอาจ กล่าวด้วยว่าเราก็อยากเห็นกฎหมายพรรคการเมืองมีส่วนทำให้การเมืองไทยเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น โปร่งใส ตรวจสอบได้ ไม่ถูกครอบงำ หรือ ชี้นำ โดยบุคคลที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมือง และ นายทุนพรรค รวมทั้งการเปิดโอกาสให้สมาชิกมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง แต่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญก็ควรคำนึงถึงสภาพความเป็นจริงของสังคมไทยและความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติด้วย จึงอยากฝากให้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญคำนึงแนวทางในการร่างกฎหมายพรรคการเมือง 4 ประการ คือ 1.คำนึงถึงความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติที่สามารถทำให้เป็นจริงได้ 2. ระมัดระวังการสร้างปัญหาใหม่ขึ้นมาแทนปัญหาเก่า 3. ระมัดระวังเรื่องการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน และ 4. ส่งเสริมการสร้างพรรคมวลชนเชิงอุดมการณ์ โดย เชื่อมั่นถ้ากรรมการร่างรัฐธรรมนูญคำนึง ถึงแนวทาง 4 ประการนี้ด้วย จะช่วยทำให้ร่างกฎหมายพรรคการเมืองมีความสมบูรณ์มากขึ้น 
.
องอาจ กล่าวต่อไปถึงการจัดตั้งพรรคการเมืองที่มีข้อจำกัดมากขึ้น และมีเงื่อนไขทางการเงินเพิ่มมากขึ้นว่าอาจมีส่วนทำให้คนที่มีอุดมการณ์ทางการเมือง ที่อยากตั้งพรรคทางเลือก เช่น พรรคกรีน พรรคสิ่งแวดล้อม พรรคคุ้มครองผู้บริโภค มีโอกาสตั้งพรรคยากขึ้น เพราะต้องใช้คนเริ่มต้นตั้งพรรค 500 คน ต้องหาสมาชิกให้ได้ 500 คนภายใน 1ปี และต้องเพิ่มจำนวนสมาชิกให้มีจำนวนไม่น้อยกว่า 20,000 คนภายใน 4 ปี ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์คงไม่มีปัญหาอะไรถ้ากฎหมายออกมาจริงเราน่าจะปฏิบัติได้แต่พรรคทางเลือกคงเกิดยากจึงอยากฝากให้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งด้วย จึงหวังว่ากรรมการร่างรัฐธรรมนูญจะรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆเพื่อปรับแก้ไขกฎหมายพรรคการเมืองให้ได้รับการยอมรับเมื่อบังคับใช้ต่อไป

 

เรียบเรียงจาก สำนักข่าวไทย และเพจ Democrat Party, Thailand

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net