Skip to main content
sharethis

โฆษก กรธ. แถลงหลังจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมือง ระบุมี 4 ประเด็นที่ต้องกลับไปพิจารณา อดีต ส.ส. ประชาธิปัตย์ เสนอทบทวนการเก็บเงินบำรุงพรรคภายใน 150 วันเป็น 4 ปี ด้านกฎหมาย กกต. ได้เห็นร่างแรกพรุ่งนี้

ภาพจากเว็บข่าวรัฐสภา

14 ธ.ค. 2559 ที่ อาคารสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้จัดเวทีชี้แจง และรับฟังความคิดเห็นของภาคส่วนต่างๆ ต่อ ร่าง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (พ.ร.บ.พรรคการเมือง) โดยมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวเปิดโครงการสัมมนาชี้แจงสาระสำคัญของร่างกฎหมายกังกล่าวว่า ร่างกฎหมายเบื้องต้น ที่ กรธ. จัดทำขึ้นนั้น ได้รับฟังความเห็นประกอบการยกร่างฉบับนี้อย่างเอาหูแนบดิน เพื่อนำความเห็นต่างๆ มาพิจารณา เมื่อเห็นว่าข้อเสนอต่างๆ มีความเป็นไปได้ ก็จะนำมาบัญญัติไว้เป็นกฎหมาย

มีชัย กล่าวด้วยว่า กรธ. ได้ยกร่างกฎหมายลูกตามกรอบของร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการออกเสียงประชามติ ในมาตรา 45 และ 258 (2) ที่กำหนดให้พรรคการเมืองจะต้องถูกตรวจสอบได้ ให้สมาชิกมีส่วนร่วมในการกำหนดผู้แทนพรรคลงเลือกตั้ง ไม่ถูกครอบงำจากบุคคลที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค พร้อมกำหนดมาตรการดูแล ไม่ให้สมาชิกพรรคการเมืองดำเนินการขัดต่อการเลือกตั้ง ให้สมาชิกมีความรับผิดชอบต่อกิจกรรมทางการเมือง คัดเลือกบุคคลที่มีคุณธรรมเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมือง กำหนดให้มีกลไกความรับผิดชอบต่อนโยบายพรรค และให้ประชาชนเป็นเจ้าของพรรคอย่างแท้จริง มีสิทธิมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เช่น การกำหนดให้สมาชิกพรรคเสียค่าสมาชิกรายปี เพื่อประชาชนได้มีความเป็นเจ้าของพรรค และมีส่วนร่วมภายในพรรคอย่างแท้จริง

อดีต ส.ส. ประชาธิปัตย์ ขอให้ทบทวนการชำระเงินบำรุงพรรคฯ จากเดิมภาย 150 วัน เป็น 4 ปี

ทั้งนี้ มีชัย ได้รับการยืนหนังสือจาก ธนา ชีรวินิจ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ เพื่อขอให้ทบทวนกรอบเวลาในการจัดระเบียบสมาชิกพรรคการเมือง เรื่องการชำระค่าบำรุงพรรคการเมืองจากเดิม 150 วัน เป็น 4 ปี ส่วนสมาชิกที่ไม่ได้ชำระค่าบำรุงพรรคการเมืองภายในกำหนดนั้น ไม่ควรกำหนดให้พ้นจากความเป็นสมาชิกโดยทันที เนื่องจากสมาชิกบางคนอาจไม่สะดวกในการชำระเงินภายในเวลาที่กำหนด จึงต้องการให้กำหนดว่า หากไม่ชำระค่าบำรุงก็ไม่มีสิทธิ์ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. หรือสิทธิ์อื่นๆ เท่านั้น ทั้งนี้ หากไม่ให้ชำระเงินผ่านช่องทางอินเตอร์เน็ต ก็ยิ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะชำระเงินภายในเวลาที่กำหนดได้

ธนา กล่าวถึงส่วนที่กำหนดให้ทุกสาขาพรรคการเมืองจะต้องมีสมาชิกที่จ่ายเงินค่าบำรุงพรรคไม่น้อยกว่า 500 คนว่า เป็นจำนวนเงินที่ค่อนข้างสูงและเป็นไปได้ยาก เนื่องจากพรรคการเมืองใหญ่ มีสาขาพรรคในแต่ละภาคเป็นจำนวนมาก และท้ายที่สุดจะบีบให้เหลือเพียงภาคละหนึ่งสาขา ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักการของ กรธ.ที่ต้องการให้มีสาขาพรรคจำนวนมาก

โฆษก กรธ. ระบุมีประเด็นกลับไปคิดต่อ 4 เรื่อง (จำนวนสมาชิก-ทุนประเดิม-ค่าบำรุง-บทลงโทษ)

ด้าน อุดม รัฐอัมฤต โฆษกกรธ. แถลงภาพร่วมของการรับฟังความเห็นของพรรคการเมืองต่อ พ.ร.บ.พรรคการเมืองว่า กรธ. ได้รับความร่วมมือจากพรรคการเมืองต่างๆ มากกว่าการรับฟังความเห็นก่อนหน้านี้ที่จัดขึ้นที่รัฐสภา โดยประเด็นที่ กรธ. จะต้องนำกลับไปพิจารณา คือ 1.จำนวนสมาชิกพรรคการเมือง 20,000 คนภายใน 4 ปีมากไปหรือไม่ 2.ทุนประเดิมพรรคคนละไม่ต่ำกว่า 2,000 บาท เพื่อให้ทุนประเดิมพรรคได้ 1 ล้านบาทนั้นมากไปหรือไม่ 3.ค่าบำรุงสมาชิกคนละ 100 บาทต่อปี ควรมีหรือไม่ 4.บทกำหนดโทษของผู้กระทำผิดต่อตามร่างนี้แรงเกินไปหรือไม่ ทั้งนี้ กรธ. ยืนยันว่าการยกร่างกฏหมายพรรคการเมือง กรธ. ไม่ได้คิดเอาเอง แต่ทำตามรัฐธรรมนูญ ผ่านการปรึกษาจาก กกต. รวมทั้งผ่านการดีเบตของ กรธ.มาหลายขั้นตอน เพื่อให้กฎหมายนี้ดีกว่าฉบับปี 2550 และเมื่อมีการปรับแก้ไขแล้วก็มีการสอบถาม กกต. อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ตอบโจทย์ให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันและทำประโยชน์เพื่อประชาชน และยืนยันว่ากฎหมายนี้ กรธ. มีหลักการและเหตุผลรองรับทุกมาตรา

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่บรรยากาศการชี้แจงและรับฟังความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมือง มีพรรคการเมืองส่งตัวแทนร่วมเวที ประมาณ 20 พรรคการเมือง อาทิ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา และพรรคพลังชล เป็นต้น โดยไม่มีตัวแทนจากพรรคเพื่อไทยแต่อย่างใด

กรธ.เผยร่าง พ.ร.บ. กกต. ได้เห็นพรุ่งนี้ เชื่อเสริมเขี้ยวเล็บ กกต. เพิ่มเครื่องมือลุยงานเชิงรุก

ด้าน ประพันธ์ นัยโกวิท กรธ. ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ กรธ.กำลังทบทวนเนื้อหาและความถูกต้องของร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พ.ศ... ร่างเบื้องต้น ซึ่งจะเปิดเผยร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วย กกต. เผยแพร่ต่อผู้เกี่ยวข้องและประชาชนเพื่อประกอบการรับฟังความคิดเห็น ยังอาจมีการแก้ไขเพิ่มเติม ในเว็บไซต์ของกรธ.ได้ในวันที่ 15 ธ.ค.นี้เป็นต้นไป เพื่อให้ทุกฝ่ายได้เห็นร่าง พ.ร.บ.ฉบับเบื้องต้น ก่อน

ประพันธ์ กล่าวว่า จากนั้นในวันที่ 16 ธ.ค. เวลา 12.00น.ที่รัฐสภา ทางกรธ. จะมีการจัดสัมมนา เรื่อง “ชี้แจงสาระสำคัญร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยกกต. พ.ศ...(ร่างเบื้องต้น) โดยขอเชิญผู้สนใจทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พรรคการเมืองเมือง ประชาชน และทุกภาคส่วนมาร่วมในการเสวนารอบแรก เพื่อที่จะได้ดูว่าในเนื้อหาร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้มีอะไรแข็งเกินไป และควรมีอะไรปรับปรุงบ้าง จากนั้นทาง กรธ.ก็จะเปิดเวทีรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนในเวที 4 ภาค และถ้าใครสนใจต้องการแสดงความเห็นในร่าง พ.ร.บ. กกต. ก็สามารถส่งมาที่ กรธ. ได้โดยตรง เพราะเราเปิดกว้างรับฟังจากทุกภาคส่วน

“ผมมั่นใจว่าร่างกฎหมายที่กรธ.ได้ยกร่างขึ้นนี้ได้เพิ่มบทบาทและหน้าที่ของกกต.ให้เข้มข้นขึ้น ขณะเดียวกันก็มีการเสริมเขี้ยวเล็บ ตลอดจนเพิ่มเครื่องมือที่จะทำให้กกต.ได้ทำงานในเชิงรุกและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน” ประพันธ์ กล่าว

ทีมติดตามการร่าง รธน. กฎหมายประกอบ พรรคเพื่อไทย ชี้ร่างพ.ร.บ.พรรคการเมืองขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ

 ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า แม้ในวันนี้ พรรคเพื่อไทย จะไม่ได้เข้าร่วมกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ที่จัดขึ้นโดย กรธ. แต่เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. ที่ผ่านมา ประธานคณะทำงานติดตามการร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทย คณิน บุญสุวรรณ ได้ให้สัมภาษณ์ถึง ร่างกฎหมายดังกล่าวไว้ว่า หลักการและสาระสำคัญส่วนใหญ่ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 45 ที่บัญญัติให้การร่วมกันจัดตั้งพรรคการเมืองเป็นเสรีภาพของประชาชน เพราะแค่ที่บัญญัติให้ต้องมีการขออนุญาตต่อนายทะเบียนคือเลขาธิการ กกต. เพื่อจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองซ้ำยังมีกฎเกณฑ์เงื่อนไขต่างๆมากมายรวมทั้งบทกำหนดโทษรุนแรงสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิตนั้น นอกจากจะถือว่าขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแล้วยังเท่ากับเป็นการไปลดฐานะของสมาชิกพรรคการเมืองลงให้เป็นเสมือนพลเมืองชั้นสองอีกด้วย

เพราะทันทีที่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองนอกจากจะต้องเสียค่าบำรุงพรรคทุกปี และถ้าเป็นผู้ร่วมกันจัดตั้งพรรคการเมืองต้องจ่ายเงินเพื่อเป็นทุนประเดิมคนละ 2,000 - 500,000 บาทแล้ว ยังเสียสิทธิทางการเมืองหลายอย่างด้วย ทั้งนี้จะสมัครหรือไปยุ่งเกี่ยวกับการเลือก ส.ว. ยุ่งเกี่ยวกับตำแหน่งทางการเมืองสมัครเป็นองค์กรอิสระ หรือศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ ไม่ห้ามอยู่อย่างเดียว คือ เลือกตั้ง ส.ส. และสมัคร ส.ส. และโทษหนักตั้งแต่จำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงยี่สิบปีโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิตจนอาจจะเรียกได้ว่าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองตามพ.ร.บ.นี้เท่ากับเอาขาข้างหนึ่งไปอยู่ในตรางโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว

คณิน กล่าวด้วยว่า ร่างพ.ร.บ. นี้บังคับให้ผู้ที่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองต้องจ่ายค่าธรรมเนียมบำรุงพรรค และถ้าผู้ใดไม่ชำระค่าบำรุงพรรคเป็นเวลาสองปีติดต่อกันต้องสิ้นสภาพสมาชิกข้อนี้ถือว่าขัดต่อหลักเสรีภาพของประชาชน และเท่ากับเป็นการกีดกันคนยากคนจน และคนที่มีรายได้น้อยไม่ให้เป็นสมาชิกพรรคการเมือง สำหรับคนมีฐานะถ้าเขารู้ว่าเป็นสมาชิกพรรคแล้วต้องลำบาก และเสี่ยงคุกเสี่ยงตรางถึงขนาดนี้คงไม่มีใครอยากเป็นสมาชิกพรรคการเมืองแน่ตกลง กรธ. คิดจะสร้างพรรคการเมืองหรือทำลายพรรคการเมืองไม่ให้ได้ผุดได้เกิดกันแน่
คณิน กล่าวต่อว่า การที่บทเฉพาะกาลมาตรา 112 (4) บังคับให้พรรคการเมืองที่มีอยู่แล้วจัดให้สมาชิกที่ประสงค์จะเป็นสมาชิกพรรคต่อไปต้องชำระค่าบำรุงพรรคภายใน 180 วันนับ แต่วันที่พ.ร.บ.มีผลใช้บังคับมิฉะนั้นจะพ้นสภาพสมาชิก และถ้าสมาชิกพรรคมีเหลือไม่ถึง 5,000 คน ให้พรรคการเมืองนั้นสิ้นสภาพนี่ก็เท่ากับไล่สมาชิกออกจากพรรคจนเหลือไม่ถึง 5,000 คน พรรคนั้นจะได้สิ้นสภาพและหมดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งนอก จากนั้นการที่มาตรา 45 ไม่ให้พรรคผู้ดำรงตำแหน่งในพรรค หรือสมาชิกพรรคเรียกรับสินบนจากผู้ใดเพื่อแต่งตั้งหรือสัญญาว่าจะแต่งตั้งให้ผู้นั้นเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพร้อมกับกำหนดโทษไว้อย่างรุนแรง คือ จำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต น่าสงสัยเหลือเกินว่ากรธ. เห็นว่าสมาชิกพรรคการเมืองเป็นอาชญากรหรืออย่างไร

คณิน กล่าวต่อว่า การที่มาตรา 32 กำหนดให้พรรคที่ตั้งใหม่ต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 5,000 คนภายใน 1 ปีมีสาขาพรรคอย่างน้อยภาคละหนึ่งสาขา แต่ละสาขาต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 500 คน และต้องเพิ่มสมาชิกให้มีจำนวนไม่น้อยกว่าสองหมื่นคนภายใน 4 ปีนับ แต่วันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนขัดแย้งกับสิ่งที่ กรธ. พร่ำบ่นมาตลอดว่าไม่อยากเห็นนายทุนครอบงำพรรค และอยากให้พรรคการเมืองเป็นของประชาชนเพราะมันจะเป็นตรงกันข้ามเสียมากกว่า

ที่มาจาก: เว็บข่าวรัฐสภา , สำนักข่าวไทย , มติชนออนไลน์ , ผู้จัดการออนไลน์, กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net