เป็นนายกฯย่อมถูกติชมได้ อุทธรณ์ยกฟ้อง ‘มัลลิกา’ ปม 'ว.5 โฟร์ซีซั่น' ชี้ไม่หมิ่นยิ่งลักษณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ยกฟ้อง 'มัลลิกา’ กรณีแถลงข่าว 'ว.5 โฟร์ซีซั่น' ชี้ไม่หมิ่นยิ่งลักษณ์ เหตุเป็นลักษณะเชิงตั้งคำถามมากกว่ายืนยันข้อเท็จจริง อีกทั้งเมื่อเป็นนายกรัฐมนตรีย่อมเป็นบุคคลที่ประชาชนสามารถตั้งข้อสงสัย ติดตามพฤติกรรมและแสดงความเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์ได้ด้วยความเป็นธรรม

 

 

 

 

14 ธ.ค. 2559 มติชนออนไลน์ รายงานว่า วันนี้ (14 ธ.ค.59) ที่ห้องพิจารณาคดี 809 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีหมายเลขดำ อ.2493/2556 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 8 เป็นโจทก์ และ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ร่วมยื่นฟ้อง มัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นด้วยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 จากกรณี ว.5 โฟรซีซั่นส์

คดีนี้อัยการโจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 19-20 ก.พ. 2555 จำเลยได้แถลงข่าวหมิ่นประมาท ยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ว่ามีพฤติการณ์และความประพฤติผิดจริยธรรม ทำให้ ยิ่งลักษณ์ เสียชื่อเสียง โจทก์จึงขอให้ลงโทษจำเลยตามกฎหมายเเละยึดทำลายเอกสารที่มีข้อความดังกล่าวและโฆษณาคำพิพากษาของศาลในหนังสือพิมพ์เป็นเวลา 7 วัน คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษา เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2556 ให้ยกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมที่นำสืบจึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้อง การแถลงข่าวของจำเลยจึงเป็นการติชมด้วยความสุจริตเป็นธรรม ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ต่อมาอัยการโจทก์ยื่นอุทธรณ์ของให้ลงโทษตามกฎหมาย
 
โดยในวันนี้ มัลลิกา เดินทางมาศาลพร้อมทนายความ
 
ซึ่ง ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษากันแล้ว เห็นว่า คดีนี้เจ้าหน้าที่โรงแรมโฟร์ซีซั่นส์เบิกความว่า ในวันที่ 8 ก.ย. 2555 พยานเข้าเวรปฏิบัติหน้าที่ที่ห้อง Executive Club ตั้งแต่เวลา 14.30 น.-23.00 น. ซึ่งที่บริเวณข้างนอกห้องประชุม ภายในคลับดังกล่าว มีลูกค้ามารับประทานอาหารและเครื่องดื่ม แต่พยานจำได้ว่าแต่ละคนเป็นลูกค้าที่มาใช้บริการประจำ แสดงว่าเรื่องที่โจทก์ร่วมเข้าร่วมประชุม น่าจะไม่ใช่เรื่องสำคัญถึงขนาดเป็นการลับที่จำเป็นต้องมาพูดคุยในสถานที่ดังกล่าว จนไม่สามารถเปิดเผยได้ ดังนั้นเมื่อโจทก์ร่วมไม่สามารถเปิดเผยเรื่องเกี่ยวกับการประชุมที่โรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ได้ ขณะที่ในช่วงเวลาเดียวกันมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งโจทก์ร่วมเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีหน้าที่โดยตรงต้องเข้าประชุม เนื่องจากเป็นการพิจารณากฎหมายซึ่งเป็นประโยชน์ของชาติ ย่อมเป็นเหตุให้จำเลยซึ่งมีหน้าที่ติดตามตรวจสอบการทำงานของโจทก์ร่วมและในฐานะประชาชนมีสิทธิตั้งข้อสงสัยพฤติกรรมของโจทก์ร่วมได้
 
นอกจากนี้การแสดงความเห็นของจำเลยเป็นลักษณะเชิงตั้งคำถามมากกว่ายืนยันข้อเท็จจริง อีกทั้งเมื่อโจทก์ร่วมเป็นนายกรัฐมนตรีย่อมเป็นบุคคลที่ประชาชนสามารถตั้งข้อสงสัย ติดตามพฤติกรรมและแสดงความเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์ได้ด้วยความเป็นธรรม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (3) จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย พิพากษายืน
 
ภายหลังศาลมีคำพิพากษา มัลลิกา กล่าวว่า ดีใจที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง โดยเห็นตนทำหน้าที่ตรวจสอบ ยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ซึ่งเป็นการตั้งคำถามและไม่ยืนยันข้อเท็จจริง ซึ่งบุคคลที่เป็นนายกรัฐมนตรี ถือเป็นบุคคลสาธารณะที่ประชาชนสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2556 ภายหลังมีคดีความกับนายกรัฐมนตรีก็มีเรื่องที่กดดันและวุ่นวายหลายอย่าง ถือตนก็มีกำลังใจและยืนหยัดในการทำหน้าที่นี้มาโดยตลอดและจะทำหน้าที่ต่อไป
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท