ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์: ภาพเสนอความเป็นชนบทในวรรณกรรมหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ อ่านวรรณกรรมหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 “ฟ้าถล่ม” “เสือใบ, เสือดำ” “แผ่นดินนี้ของใคร” “ไพรกว้าง” ที่นำเสนอภาพชนบทในยุคที่เกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจขนานใหญ่ในสังคมไทย โดย “ชนบท” ที่เริ่มเข้ามาอยู่ในสำนึกของชนชั้นกลางในเมืองมากขึ้นนำมาสู่วรรณกรรมที่เห็นชนบทเป็นพื้นที่เร่งเร้าธรรมชาติด้านดิบมนุษย์ พื้นที่รอการบุกเบิกพัฒนา และชนบทที่อ่อนแอ

นอกจากนี้วรรณกรรมอย่าง “ไพรกว้าง” ที่มีฉากจบอย่างอุดมคติ สอดคล้องกับแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจในยุคต่อมาคือรัฐและทุนร่วมมือกันพัฒนา อย่างไรก็ตามก็ยังมีวรรณกรรมที่จัดประเภทไม่ได้อย่าง “ฟ้าบ่กั้น” และ “ปีศาจ” ที่ไม่อยู่ในขนบเหล่านี้

คลิปนำเสนอของชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ หัวข้อ "ภาพเสนอความเป็นชทบทวรรณกรรมหลังสงครามโลกครั้งที่ 2"

 

ในการนำเสนองานวิจัย "โครงการวิจัยเมธีวิจัยอาวุโส พัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงของความคิดว่าด้วยความ(ไม่)เป็นสมัยใหม่ในสังคมไทย" เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2559 ที่ห้องประชุมริมน้ำ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์นั้น

ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอหัวข้อ "ภาพเสนอความเป็นชทบทวรรณกรรมหลังสงครามโลกครั้งที่ 2" โดยมาจากงานวิจัยหัวข้อ "ความเป็นเมืองและความเป็นชนบทในวรรณกรรมไทยช่วง พ.ศ. 2475 ถึง 2501"

ชูศักดิ์เริ่มต้นการนำเสนอว่ามีประเด็นที่เรารู้กันเยอะคือความเป็นเมืองกับความเป็นชนบทที่ลามไปเป็นเรื่องแบ่งค่าย สีเสื้อ หรือความคิดที่ต่างกันระหว่างเมืองและชนบท จึงสนใจศึกษาประเด็นนี้ โดยพยายามย้อนกลับไปดูตั้งแต่ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 หรือก่อนหน้านั้นเล็กน้อย ดูเรื่อยมาจนถึง พ.ศ. 2501 คือจนถึงการรัฐประหารครั้งที่ 2 ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และมีการใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 มาใช้เป็นตัวแบ่ง และในส่วนที่แบ่งกันอีกช่วงคือหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึง พ.ศ. 2501 ก็เป็นจุดที่สำคัญอีกช่วง เพราะมีลักษณะพิเศษบางอย่าง

ชูศักดิ์เริ่มต้นอธิบายจากการเห็นตู้ไปรษณีย์ที่มีการเปิดประเด็นในนิตยสารสเกล ชูศักดิ์กล่าวว่าตู้ไปรษณีย์ที่เราเห็น มีช่องแบ่งรับจดหมายเป็น "กรุงเทพฯ" กับ "ที่อื่น" มันเหมือนกับว่าทุกที่ๆ ไม่ใช่กรุงเทพฯ เป็นที่อื่น ซึ่งผมไม่เคยสะดุดใจมาก่อน มันหมายความว่ากรุงเทพฯ แยกออกจากทุกที่ในประเทศไทยเลยหรือ นี่คือพูดจากจุดของคนกรุงเทพฯ และความเป็นเมืองกับชนบทก็ถูกมองในลักษณะนี้่่ว่าเป็นที่อื่น ไม่ใช่เมือง

โดยชูศักดิ์กล่าวต่อไปว่า นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยตั้งข้อสังเกตเอาไว้ต่อการมองเรื่องเมืองและชนบท โดยเสนอไว้ว่า วัฒนธรรมไทยในอดีต "ไม่มีความคิดลึกซึ้งที่นิยมชมชอบ หรือยกย่องเชิดชูชนบท หรือแม้แต่เกษตรกรรมที่ทำกันในชนบท" โดยชูศักดิ์กล่าวต่อมาว่า ในวัฒนธรรมไทยเราไม่มีคติเรื่องชนบทนิยม หรือสังคมชนบท หรือชีวิต วิถีชนบท เป็นอุดมคติหรือเป็นอะไรที่ดูสวยงาม ไม่มีในสังคมไทย ในปัจจุบันอาจจะมีแต่ในอดีตไม่มี ไม่เหมือนของฝรั่งที่มีแนวคิดการสร้างภาพสังคมอุดมคติ ที่อิงอยู่กับวิถีชีวิตแบบชนบท แบบแนวคิดพาสเทอรอล (Pastoral) เป็นเรื่องราวของชีวิตในชนบท เลี้ยงแกะ อยู่กับธรรมชาติ มีความสุขสงบอะไรทั้งหลาย แต่ในสังคมไทยในอดีตเราไม่มีคตินี้ ลองนึกถึงสังคมอุดมคติแบบวัฒนธรรมไทย อย่างยุคพระศรีอาริย์ก็ไม่ใช่ชนบทนิยมแบบเอาชนบทเป็นต้นแบบ เพราะเป็นสังคมค่อนข้างเป็นเมืองด้วยซ้ำไป คนอยู่กันหนาแน่น มีความอุดมสมบูรณ์ไม่ต้องทำการผลิต เพราะมีต้นกัลปพฤกษ์ทุกมุมเมือง อย่างได้อะไรก็ไปเด็ดเอา เป็นต้น

นิธิ อธิบายต่อว่าทำไมสังคมไทยจึงไม่มีคติเรื่องชนบทนิยม ในวัฒนธรรมไทยมีความเข้าใจเกี่ยวกับเมือง บ้าน และป่าในชุดหนึ่งที่ต่างจากแนวคิดชนบทนิยม คือเชื่อว่า "เมืองคือพื้นที่ซึ่งมีระเบียบ อันแสดงออกด้วยมารยาท อาชญาสิทธิ ภาษา การแต่งกาย และศาสนา ชีวิตคนในเมืองจึงมีความมั่นคงปลอดภัยสมกับเป็นชีวิตมนุษย์"

ขณะที่บ้านและป่า คือพื้นที่ซึ่งขาดระเบียบ ถูกครอบงำด้วยผีนานาชนิด ในทางสังคมก็แทบจะหาระเบียบอะไรไม่ได้ไม่ว่าจะเป็นมารยาท ภาษา การแต่งกาย ประเพณีที่กำกับชีวิตก็ง่ายเสียจนไม่ได้กำกับธรรมชาติของมนุษย์ซึ่งก็คือกิเลส ตัณหา

ชูศักดิ์กล่าวต่อว่า นี่คือฐานที่อาจารย์นิธิเสนอว่า ในสังคมไทย ชนบทไม่เคยมีภาพของสังคมอุดมคติอยู่

 

"ชนบท" จากรากศัพท์ และในพจนานุกรมเดิม

ชูศักดิ์กล่าวถึงรากศัพท์ของ "ชนบท" ในภาษาไทย โดยมาจากคำว่า "ชณปท" ในภาษาบาลี ซึ่งมีทั้งความหมายแคบและกว้าง แปลว่า ตำบลก็ได้ แปลว่า ถิ่นประเทศก็ได้ หรือที่ๆ คนไปถึง แต่ในสังคมไทยมีนิยามอยู่ 2 ความหมายหากใช้พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานเป็นตัวตั้ง โดย พจนานุกรมฉบับ พ.ศ. 2493 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่พิมพ์พจนานุกรมนิยามชนบทว่า "บ้านนอก" คือที่ห่างไกลความเจริญก็เรียกว่าชนบท พอมาถึงพจนานุกรมปี พ.ศ. 2525 นิยามเพิ่มความหมาย โดยนอกจาก "บ้านนอก" แล้วยังเพิ่มความหมายว่า "เขตแดนที่พ้นจากเมืองหลวงออกไป" ทำให้ชวนคิดว่าเหมือนตู้ไปรษณีย์ที่ผมบอกว่า ทุกที่กลายเป็นชนบทหมด เท่ากับว่าถ้าไม่ใช่เมืองหลวงเสียแล้วก็เป็นชนบทไปหมด ประเทศไทยมีเมืองอยู่เมืองเดียวคือกรุงเทพฯ ที่เหลือคือที่อื่น คือชนบทหมด ถ้าเราเชื่อตามนิยามของคำว่า "ชนบท" ในพจนานุกรม พ.ศ. 2525

พอไปดูความหมายของคำว่า "ชณบท" ในพจนานุกรม "สัพะ พะจะนะ พาสา ไท" บาทหลวงปาลเลอกัวซ์ เมื่อ พ.ศ. 2397 โดยนิยามชณบทว่า "village/หมู่บ้าน" หรือ "castle/ปราสาท" ก็ได้ ก็ยังคล้ายๆ กับภาษาอังกฤษคำว่า "country" ในความหมายของพื้นที่ห่างไกลจากเมือง หรือจะแปลว่าทั้งประเทศก็ได้ ก็อธิบายได้ความหมายของชนบทในภาษาตะวันตกจึงอิงกับนิยามที่สะท้อนว่าเขามองชนบทในฐานะที่เป็นสังคมอุดมคติ ขณะที่ภาษาไทยมองคำว่า "ชนบท" ในความหมายแคบ คือแปลว่า บ้านนอก หรือ พ้นไปจากเมืองหลวง

นี่เป็นฐานคิดที่ใช้ในการมองงานวรรณกรรมไทย และเราจะพบว่าเหตุใดภาพนำเสนอชนบทในวรรณกรรมไทยจึงมีลักษณะบางอย่าง และไม่มีภาพของสังคมอุดมคติในวรรณกรรมที่พูดถึงชนบทเลย

อีกข้อเสนอหนึ่งที่น่าสนใจคือเมื่อเราเทียบคู่ตรงข้ามระหว่าง "เมือง" และ "ชนบท" ก็มักพบว่าชนบทมักถูกสร้างให้ตรงกันข้ามกับเมือง เช่น ห่างไกลอารยธรรม ใกล้ชิดธรรมชาติ คนโอบอ้อมอารี ขณะที่เมือง มีความเจริญ ห่างไกลธรรมชาติ ใกล้วัฒนธรรม คนมีชีวิตวุ่นวาย คนต้องแข่งขัน

เลยมีข้อเสนอว่าเอาเข้าจริงแนวคิดว่า "ชนบท" ไม่ใช่สิ่งที่มาก่อนเมือง หากคิดโดยสามัญสำนึกว่าสังคมมนุษย์พัฒนาจากชนบท พอซับซ้อนขึ้นก็กลายเป็นเมือง แต่ผมคิดว่าพอคิดในเชิงแนวคิด (concept) มันกลับสวนทางกันคือ "ความเป็นชนบทไม่ใช่สิ่งที่มาก่อนเมือง เมืองต่างหากที่สร้างความเป็นชนบทขึ้นมา" คือเมื่อสังคมเมืองไปสร้างกรอบคิดเรื่องความเป็นชนบท ทำให้ชนบทเป็นอะไรที่ตรงข้ามกับเมือง ถ้าใครศึกษาแนวคิด Orientalism ก็จะพบวิธีการอธิบายความเป็นตะวันออก คือสิ่งที่ตะวันตกสร้างเพื่อนิยามตัวเองว่าไม่ใช่ตะวันออก ผมคิดความเป็นเมืองกับความเป็นชนบทก็ใช้กรอบนี้อธิบายได้ คือความเป็นชนบทคือสิ่งที่สังคมเมืองสร้างขึ้นมา เพื่อบอกว่าตัวเองไม่ใช่ชนบท คือการจะนิยามตัวเองว่าเป็นใครในสังคมเมือง วิธีง่ายสุดคือนิยามว่าไม่ใช่คนชนบท และสร้างความเป็นชนบทขึ้นมาชุดหนึ่ง ซึ่งทั้ง 2 กรอบนี้ชูศักดิ์จะใช้พิจารณาวรรณกรรมในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึง พ.ศ. 2501

 

ความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

โดยบริบทสังคมไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีเรื่องน่าสนใจมาก ซึ่งหลายเรื่องเราจะไม่ได้เห็นอีกแล้วในหลังจากนั้น กล่าวคือมีความปั่นป่วนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อให้เกิดการจัดระเบียบสังคมใหม่หรือสังคมเก่าขึ้นมา ทุกพื้นที่ในโลก และในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็มีการจัดระเบียบ หลายประเทศที่เป็นอาณานิคมเริ่มประกาศตัวเป็นเอกราช ในสังคมไทยก็อยู่ในกระแสนนั้นเช่นกัน ความปั่นป่วนที่เกิดขึ้นช่วงสงครามนำไปสู่การจัดระเบียบสังคมใหม่ แต่ในกรณีของไทยนั้นมีข้อน่าสังเกตคือขณะที่สังคมประเทศเพื่อนบ้าน ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนำไปสู่ลักษณะก้าวหน้าเช่น ประกาศเอกราช หรือเป็นสาธารณรัฐ ขณะที่สังคมไทยประหลาดตรงที่มีกระแสโต้กลับ คือกลุ่มอำนาจเก่าฟื้นขึ้นมาและพาสังคมย้อนหลังกลับไป ซึ่งประหลาดกว่าเพื่อนบ้านของเรา

ในทางการเมืองหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการจัดระเบียบสังคมใหม่ (หรือเก่า) ขึ้น เช่น มีการแย่งชิงอำนาจของหลายกลุ่ม เช่น มีกลุ่มนิยมเจ้าฟื้นตัวขึ้นมาหลัง 2475 พรรคประชาธิปัตย์เกิดขึ้นในช่วงนี้ มีกลุ่มทหารแนวใหม่ที่นำโดยสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งต่างจากกลุ่มของคณะราษฎรคือพวกนี้ไม่ได้จบต่างประเทศ จึงไม่มีสปิริตประชาธิปไตยแบบกลุ่มคณะราษฎร มีกลุ่มตำรวจอย่าง พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ที่มีอำนาจมาก มีกลุ่มคณะราษฎรที่แบ่งเป็น 2 สายคือสายปรีดี พนมยงค์ และ ป.พิบูลสงคราม แล้วยังมีฝ่ายซ้ายคือพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่ช่วงสั้นๆ พคท. เป็นพรรคการเมืองถูกกฎหมายและมี ส.ส.ในรัฐสภา เพราะไทยอยากเป็นสมาชิกสหประชาชาติ เลยต้องยกเลิก พ.ร.บ.ว่าด้วยคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2476 มีนักคิดนักเขียนเสรีนิยมจำนวนมาก

ในระดับโลกสหรัฐอเมริกาเริ่มเข้ามาในสังคมไทย พยายามเข้ามามีบทบาท ส่วนอังกฤษที่มีบทบาทอยู่เดิมก็พยายามรักษาบทบาทอำนาจตัวเองในไทยด้วย ส่วนจีนและรัสเซียก็เข้ามาตามทางของสายพรรคคอมมิวนิสต์ เพราะฉะนั้นในแง่นี้ การเมืองยุคนี้น่าสนใจ มีกระแสความคิดหลายความคิดที่ตอบโต้ โต้แย้งกัน แต่ละกลุ่มมีสิ่งพิมพ์ของตัวเอง ผมคิดว่ายุคนี้น่าสนใจมากเพราะความคิดหลากหลายแนวปะทะสังสรรค์ในพื้นที่สาธารณะที่เป็นสื่อ และในงานวรรณกรรมก็เกิดวรรณกรรมหลายแบบที่น่าสนใจ

ในทางเศรษฐกิจมีการปฏิรูปเศรษฐกิจ พยายามทำให้เศรษฐกิจไทยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลกอย่างเต็มตัวและขอบเขตเกิดขึ้นทั่วประเทศ ซึ่งมีนัยยะต่อประเด็นชนบท ก็คือเกิดแนวคิดของการพัฒนาเศรษฐกิจไทย 2 กลุ่มใหญ่ที่นักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจสรุปกัน หนึ่ง มีแนวโน้มไปสู่การพัฒนาแบบ “ทุนนิยมโดยรัฐ” หรือบางสำนักเรียก “ทุนขุนนาง” คือเอากิจการทั้งหมดเป็นของรัฐ แล้วรัฐเข้าไปจัดการ ซึ่งรัฐวิสาหกิจก็เกิดขึ้นในช่วงนี้ หรือ สอง การพัฒนาแนวทางทุนนิยมเอกชน หรือ “ทุนนิยมเสรี” บางพวกก็เรียกว่า ทุนนิยมนายธนาคาร ก็แข่งกัน 2 แนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยม

ก็คือประเทศไทยเริ่มพัฒนาไปสู่แนวทางพัฒนาเพื่อส่งออกสินค้าเกษตรกรรมเป็นหลัก คือ ข้าว ข้าวโพด หรือพืชผลทางเกษตรทั้งหลาย ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบพัฒนาที่ไม่สมดุลคือเน้นพัฒนาเมือง อุ้มอุตสาหกรรม และส่งเสริมการส่งออก คือให้ชนบทลำบากหน่อย แล้วพัฒนาเมืองกับอุตสาหกรรมขึ้นมา แล้วภายหลังคนต่างจังหวัดจะเจริญขึ้นเอง เป็นโมเดลของการพัฒนาที่ไม่สมดุล ตัวอย่างที่คนชอบยกก็คือ กรณีการเก็บพรีเมียมข้าวเพื่อที่จะกดราคาข้าวในประเทศให้ต่ำและกดค่าแรงให้ต่ำ เพื่อจะเอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม หรือเพื่อที่รัฐจะได้มีเงินไปพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคที่จะส่งเสริมการอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ ซึ่งมีนัยยะสำคัญต่อชนบท เพราะทิศทางและแนวทางการพัฒนาแบบนี้ทำให้ชนบทในประเทศไทยเปลี่ยนไปอย่างมีนัยยะสำคัญหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

กล่าวคือเปลี่ยนการผลิตเพื่อยังชีพซึ่งพอมีมากในชนบทกลายเป็นผลิตเพื่อการค้า ชนบทถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจเพื่อการส่งออก ในช่วงนี้มีการบุกรุกที่ทำกินมากขึ้น มีการอพยพมาขายแรงงานในเมืองมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพื่อทดแทนแรงงานอพยพจีนที่ถูกจำกัดจำนวนไว้และท้ายที่สุดก็หายไปเลย โดยเฉพาะหลังจีนเปลี่ยนแปลงเป็นคอมมิวนิสต์เมื่อ พ.ศ. 2492 เพราะฉะนั้นในเมืองเดิมไม่ค่อยมีคนชนบทอยู่ เขาก็อยู่ชนบทกันได้ไม่ลำบากอะไร แต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีคนจากชนบทมาอยู่ในเมืองมาก ทำให้เมืองกับชนบทใกล้กันมากขึ้น มาเป็นคนรับใช้ คนขี่รถสามล้อ คนงานทั้งหลาย คนเมืองก็รู้จักคนบ้านนอกมากขึ้นแล้วล่ะ แต่ขณะเดียวกันการพัฒนาที่ไม่สมดุลทำให้ช่องว่างระหว่างชนบทกับเมืองห่างขึ้นมาก ทำให้วรรณกรรมที่พูดถึงชนบทต่างออกไปจากวรรณกรรมที่มีมาก่อนหน้าสงครามโลกครั้งที่ 2

 

การเกิดขึ้นของวรรณกรรมแนวใหม่ และ 3 แนวทางของการเล่าเรื่องชนบท

ในยุคนี้มีวรรณกรรมแนวใหม่เกิดขึ้น 2 แนว หนึ่ง วรรณกรรมแนวบู๊/หรือแนวต่อสู้ผจญภัย ก็คือบรรดา เสือใบ, เสือดำ ของ ป.อินทรปาลิต หรือแนววรรณกรรมชีวิตบุกเบิก เช่น แผ่นดินนี้ของใคร โดย ศรีรัตน์ สถาปนวัฒน์ ไพรกว้าง โดย อรวรรณ หรือทุ่งมหาราช โดย เรียมเอง ก็เกิดในยุคนี้หมด คือเกิดวรรณกรรมชนิดใหม่ การบุกเบิกในชนบท และวรรณกรรมอีกแนวคือ วรรณกรรมผจญภัยในป่าลึก เช่น วรรณกรรมของน้อย อินทนทท์ เรื่อง ล่องไพร่ คือไปเที่ยวป่าเจอสัตว์ประหลาด

ปรากฏการณ์ของวรรณกรรมแนวใหม่ มีภาพอยู่กว้างๆ 3 แนวทางที่เกิดขึ้นในการนำเสนอเรื่องของชนบทก่อนถึง พ.ศ. 2501

กลุ่มที่ 1 ชนบทเป็นพื้นที่ในธรรมชาติ ที่เร่งและเร้ามนุษย์ คือชนชั้นกลางในเมือง ให้เผยธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ในกมลสันดานของตนเองออกมา เป็นงานที่มีไม่เยอะ จัดเป็นกลุ่มพิเศษ เช่น งานของ มาลัย ชูพินิจ ใน “ฟ้าถล่ม” ใช้ฉากต่างจังหวัด ทำให้มนุษย์ที่เป็นตัวละครชนชั้นกลางในเมือง ได้แสดงธรรมชาติความเป็นมนุษย์ แสดงกิเลส ตัณหา หรือรักโลภโกรธหลง ธาตุแท้ทั้งด้านดีด้านร้ายของมนุษย์ถูกแสดงออกมา เช่น "ฟ้าถล่ม" เพื่อนฆ่าเพื่อน หรือทิ้งคนรักของตนได้ คือธรรมชาติเป็นพื้นที่พิเศษ ที่ทำให้คนแสดงกมลสันดานมนุษย์ ตัวชนบทเองหรือพื้นที่ไม่ได้มีความหมายดีหรือเลวในตัวมันเองถ้ามองในกรอบนี้ ถ้าเทียบกับงานของฝรั่งอย่าง “Lord of the Flies” ของ William Goldingที่เอาคนเข้าไปอยู่ในที่แห่งหนึ่ง และคนก็จะแสดงสันดานดิบของตัวเองออกมา

อาจจะพูดได้เพราะพื้นที่เช่นนั้น ไม่มีระเบียบแบบแผนใดๆ ทั้งสิ้นเลย เป็นพื้นที่พิเศษบางอย่าง งานในสังคมไทยก็เช่นงานของมาลัย ชูพินิจที่แสดงออกเช่นนี้

กลุ่มที่ 2 เป็นงานที่มีมากเป็นพิเศษ คือกลุ่มแนวบู๊ แนวชีวิตบุกเบิก หรือแนวต่อสู้ คือมองชนบทเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่รอให้มนุษย์ไปพัฒนาและหาประโยชน์ อาศัยความรู้ทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ไปสร้างความเจริญก้าวหน้าให้ชนบทได้

กลุ่มที่ 3 ชนบทอ่อนแอ ล้าหลัง โง่ และงมงาย ที่น่าสนใจคือวรรณกรรมจะใช้ตัวละครผู้หญิงให้เป็นตัวแทนชนบท ที่มีลักษณะเป็นที่ต้องตาของผู้ชาย และมักช่วยตัวเองไม่ได้

ในงานแนวผจญภัยของ “น้อย อินทนนท์” ซึ่งเป็นนามปากกาหนึ่งของมาลัย ชูพินิจ พูดถึงป่าลึกที่ไม่ใช่ชนบท เป็นอะไรที่ไกลออกจากชนบทอีกที ที่เกิดขึ้นเช่นนี้เพราะชนบทถูกทำให้เชื่อง เป็นส่วนหนึ่งของคนเมือง หรืออยู่ในการรับรู้ของคนเมืองไปเสียแล้ว ไม่ใช่พื้นที่อื่นแล้ว งานยุคนี้เลยเกิดงานแนวผจญภัย เพราะต้องการจะสร้างอีกพื้นที่หนึ่งซึ่งอยู่นอกจากที่มนุษย์รับรู้ พื้นที่ป่าถูกนำเสนอในฐานะพื้นที่ของความเป็นอื่น เนื้อเรื่องจะเต็มไปด้วยเรื่องลึกลับ ผีสางนางไม้ เสือสมิง ควายดำ ไดโนเสาร์ ฯลฯ

คราวนี้จะลองดูกลุ่มงานพวกวรรณกรรมแนวบู๊ แนวบุกเบิก ที่เกิดในยุคนี้และบอกอะไรเกี่ยวกับความเป็นชนบทพอสมควร ข้อสังเกตคือเมื่อเทียบกับงานยุคก่อนหน้านี้ พบว่าชนบทในยุคนี้ ชนบทครอบคลุมสถานที่ไปหมดตั้งแต่เหนือจรดใต้ เชียงราย นครสวรรค์ กำแพงเพชร ลพบุรี เบตง สงขลา ชายแดนภาคใต้ ซึ่งผิดไปกับงานก่อนหน้านี้ที่ฉากสถานที่อยู่ในพระนครเป็นหลัก ที่ต่างจากก่อนหน้านี้อีกก็คือ ชนบทไม่ใช่พื้นที่วางเปล่า ไร้ตัวตนเหมือนงานก่อนหน้านี้ คือต่างจังหวัดถูกอ้างในฐานะพื้นที่ๆ ตัวละครหลักจะไปอยู่เพื่อชุบตัว แต่ในยุคนี้จะเริ่มบรรยาย หรือใช้ฉากในชนบทมากขึ้น

คราวนี้ชนบทที่พูดกันยุคนี้ที่ดูแล้วมันน่าสนใจตรงที่ มันเป็นภาพของการต่อสู้อยู่ระหว่างทุนนิยมรัฐกับทุนนิยมเอกชนที่เข้าไปมีอำนาจเหนือชนบท เช่นในเรื่อง “เสือใบ” พ.ศ. 2490 โดยภาพรวมเสือใบเป็นจอมโจรสุภาพบุรุษ ปล้นคนรวยมาช่วยคนจน แต่ถ้าไปดูรายละเอียด เสือใบในแง่หนึ่งปล้นคนรวย แต่คนรวยที่ถูกปล้นเป็นพวกพ่อค้า ทำนาบนหลังคน แต่ลักษณะพิเศษของเสือใบคือเขาเป็นคนนอกกฎหมายก็จริง แต่เอาเข้าจริงๆ เขาเป็นตัวแทนอำนาจรัฐพอสมควร เหมือนกองกำลังเชิ้ตดำของมุสโสลินี จัดระเบียบแบบทหาร ความสัมพันธ์ในกองโจรของเสือดำก็เป็นแบบทหาร อยู่เป็นค่ายทหารเลย กล่าวคืออุดมการณ์ที่ซ่อนอยู่ในชุดเสือใบ, เสือดำคือ “นายทุนเลว, รัฐดี” ในเรื่องเสือดำถ้าไม่จำเป็นจะไม่ฆ่าตำรวจ จะฆ่าเพื่อป้องกันตัวเองมากกว่า และให้ความสำคัญกับอำนาจรัฐมาก ในมุมของผมคือ มันแสดงให้เห็นถึงการที่รัฐเข้าไปมีอำนาจในชนบททั้งหมด แล้วเข้าไปมีอำนาจเหนือคนในพื้นที่

นวนิยายอีกเรื่องที่น่าสนใจในยุคนี้คือ “แผ่นดินนี้ของใคร” ของศรีรัตน์ สถาปนวัฒน์ เป็นแนวบุกเบิกชีวิต ตัวละครเข้าไปอยู่ในชนบท เข้าไปทำไร่สมัยใหม่ โดยใช้ใช้ความรู้สมัยใหม่ แล้วถูกเจ้าหน้าที่รัฐรีดไถในทุกระดับ ภาพของ “แผ่นดินนี้ของใคร” เป็นภาพที่ว่า คนทั่วไปมักจะมองว่าเป็นภาพชีวิตชนบทที่ถูกกลั่นแกล้งโดยรัฐ แต่สำหรับผมมองว่า ตัวละครเอกไม่ใช่ชาวบ้านชนบทแต่เป็นชนชั้นกลางในเมืองที่เข้าไปอยู่ในชนบทและต้องการพัฒนาในชนบทแต่ถูกกลั่นแกล้งโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ผมคิดว่าเสือใบและแผ่นดินนี้ของใครเป็น 2 ด้านของปรากฏการณ์นั้น คือการแข่งกันของทุนนิยมรัฐและทุนนิยมเอกชนที่เข้าไปมีอำนาจเหนือชนบท นวนิยาย 2 เรื่องนี้เป็นภาพที่แสดงให้เห็น 2 กระแสความคิดที่เกิดขึ้น

“ไพรกว้าง” เป็นวรรณกรรมที่บู๊พอๆ กับเสือดำ แต่เรื่องนี้จบลงด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐกับทุนเพื่อครอบครองชนบท ท้องเรื่องมีตัวเอกคือ โผน ไพรงาม มีพื้นเพเป็นคนกรุงเทพฯ ต้องการบุกเบิกสร้างชีวิตในชนบท ต้องไปต่อสู้กับอำนาจในท้องถิ่น แต่ที่มันพิเศษกว่าคือ ตัวเอกจะร่วมมือกับรัฐ คือนายอำเภอและสรรพสามิต ในกวาดล้างผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น ตัวเอกใช้ความรู้สมัยใหม่เพื่อพัฒนาท้องถิ่น ผมคิดว่า “ไพรกว้าง” ซึ่งเขียนเมื่อ พ.ศ. 2499 เป็นสัญญาณบอกว่า ทุนกับรัฐจับมือกัน จากเดิมที่แข่งกันครองชนบทแล้วลงเอยว่าคนเมืองกับรัฐร่วมมือกันครอบครองชนบท ซึ่งจะเป็นสัญญาณที่จะเกิดในปี พ.ศ. 2501 เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ขึ้นมา

ถ้าดูวรรณกรรมชีวิตชนบทเหล่านี้จะพบว่ามี 3 วงจร

วงจรที่ 1 พระเอกต่อสู้เพื่อความยุติธรรม เอาชนะอุปสรรค ไปสร้างชีวิตใหม่โดยชนบทเป็นเป้าหมายของชีวิต เป็นสถานที่ซึ่งไปสร้างความเจริญได้ ทั้งงาน “เสือใบ” ของ ป.อินทรปาลิต และงาน “ปีศาจ” ของเสนีย์ เสาวพงศ์ ก็เป็นแนวนี้ โดยเรื่อง “ปีศาจ” จบลงที่พระเอก นางเอก จะไปอยู่ชนบท คือยุคนี้เป็นยุคที่เมืองเข้าไปเขมือบชนบท

วงจรที่ 2 เสนอภาพชีวิตชนบทว่าเมื่อชนชั้นกลางเข้าไปต้องเจอปัญหาอะไรบ้าง

วงจรที่ 3 ไปประสบความสำเร็จในชนบท แต่ความสำเร็จนี้ต้องร่วมมือระหว่างรัฐ ทุน และความรู้สมัยใหม่

 

เรื่องเล่าแม่บทของชนบทในยุคนี้ เป็นอุปมาของการสยบชนบทให้อยู่ภายใต้รัฐและเมือง สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนายุคนี้ที่ดึงชนบทเข้ามาในเศรษฐกิจเพื่อการส่งออก ภาพชนบทถือว่าเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่เมืองและรัฐจะเข้าไปกอบโกย

กลุ่มที่ 2 นำเสนอภาพชนบทว่าเป็นสังคมที่ล้าหลังและโง่เขลา พบว่า “ไพรกว้าง” พูดถึงการเข้าไปครอบครองชนบทของตัวเอกคือได้เป็นเจ้าพ่อ หรือผู้นำชนบท ก็ด้วยการสยบอำนาจท้องถิ่น และจำกัดสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของของพื้นที่นี้คือ “เจ้าพ่อไก่ต่อ” ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของคนในพื้นที่ และตัวเอกต้องไปพิสูจน์ว่าความรู้สมัยใหม่นั้นเหนือกว่าความเชื่อเรื่องอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์

นี่เป็นคำที่ผมยกมาจากหนังสือเรื่องนี้ “คนเหล่านั้นก็เหมือนเรา" โผนให้สติ … คือมันมีแนวคิดเรื่องคนเหมือนกันอยู่เพราะได้แนวคิดฝ่ายซ้ายมา เป็นเรื่องปกติมากที่คนจะพูดอะไรแบบนี้ แล้วก็จะต่อว่า "เป็นมนุษย์เหมือนเรา ผิดแต่ว่าเขาโง่เขลากว่าเรา เขาอยู่อย่างไม่รู้อะไรเป็นอะไร พระอาทิตย์ขึ้นกับพระอาทิตย์ตกเป็นเรื่องเขารู้ ฝิ่นมาจากไหนเขาไม่รู้ แต่เขาสูบเขากิน ผ้านุ่งผ้าห่มปีหนึ่งบ้านเดียวทำไม่ได้ผืนเดียว ถ้าขาดเขาซื้อ ราคาทุนเท่าไหร่กับเท่าไหร่ที่เขาเสียไปเขาไม่รู้” คือเศรษฐกิจเปลี่ยนเป็นเศรษฐกิจเพื่อการค้าแล้ว

และความโง่เขลาเบาปัญญาจะมาพร้อมกับความอ่อนแอ ภาพชนบทของยุคนี้จะถูกนำเสนอผ่านอุปมา หรือภาพที่ว่าชนบทเป็นเพศหญิง และคนที่จะเข้าไปพัฒนาคือเมืองเป็นเพศชาย อย่างวรรณกรรม “ทุ่งรวมทอง” มีคำบรรยายว่า “ท้องทุ่งอร่ามไปด้วยต้นข้าว ลึกเข้าไปคือไพรกว้าง ขุนเขาทะมึนอยู่ขอบฟ้าเป็นหลั่น” “...แต่เบื้องหลังก็คือทรัพยากรอันมีค่า” อันนี้ชัดเจนคือมองชนบทเป็นแหล่งทรัพยากร “...ที่รอคอยชายอกสามศอกจะแหวกกำแพงแห่งความยากลำบากไปขุดค้น” ภาพแทบจะเหมือนกับภาพผู้ชายสอดใส่สอดแทรกตัวเองเข้าไปในพื้นที่ชนบท ซึ่งงานหลายชิ้นมีลักษณะว่าจะสร้างตัวละครผู้หญิงที่อ่อนแอ ช่วยตัวเองไม่ได้ ในวรรณกรรม “แผ่นดินนี้ของใคร” ก็จะมีตัวละครชื่อ “กุณฑลี” เป็นภรรยาของเจน วนาสัย ที่ไปอยู่ชนบท ตลอดเรื่องผู้ชายเห็นก็อยากครอบครองเธอ แล้วในเรื่องจบที่ถูกนายอำเภอปลอมตัวเป็นโจรเข้าไปปล้นและแทงเธอตาย

ในเรื่อง “ไพรกว้าง” ก็มี “คำหวาน” ตัวละครหญิงที่เป็นลูกสาวผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ เป็นที่หมายปองจากชายสามคน ทั้งโผน จ่ากล่ำ นายสมิธซึ่งเป็นตัวแทนทุนต่างชาติที่ทำสัมปทานไม้ก็อยากได้คำหวานเป็นเมีย เหมือนชนบทถูกแสดงผ่านผู้หญิงที่อ่อนแอและเป็นที่หมายปอง

เรื่องไพรกว้างจบด้วยชัยชนะของตัวเอก และเห็นความเจริญรุ่งเรืองของชนบท แต่ว่าเราจะเห็นเลยว่าคติในยุคนั้นจะไม่เหมือนยุคเราที่เป็นยุค “รักธรรมชาติ” ความเจริญของเขาคือ พื้นที่เจริญขึ้น คนงานป่าไม้เพิ่มจำนวน ทางเกวียนกลายเป็นทางโล่ง มีบ้านคนอยู่เต็มไปหมด เสือที่เดินตัดทุ่งหายไปแล้ว มีแต่เสียงโค่นต้นไม้ เสียงเลื่อยไม้ ดังก้องอยู่ในดงทึบ คือเป็นเสียงของความเจริญเขาไม่ได้ถือว่าเรื่องตัดไม้เป็นเรื่องทำลายธรรมชาติ คือเป็นภาพอุดมคติของสังคมชนบทยุคนั้นคือมีความเจริญเข้าไปอยู่ในชนบท ผมคิดว่าในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึง พ.ศ. 2501 ไม่ได้มีภาพอุดมคติแบบ “ฉันอยากไปเป็นชาวนา” หรือชนบทเป็นที่ซึ่งทุกคนโอบอ้อมอารี ทุกคนอยู่ตามวิถีธรรมชาติ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่คนยุคนั้นจินตนาการ ชนบทเป็นพื้นที่ๆ คุณต้องไปครอบครองและทำให้เจริญ

คือภาพแบบอุดมคติ จะเกิดในยุคหลังจากนี้ เมื่อเมืองเจริญมากขึ้น เลยอุปโลกไปสร้างพื้นที่ชนบทอุดมคติที่เขาโหยหา ซึ่งไม่มีอยู่จริง และไม่ใช่อุดมคติที่มีมาแต่ก่อนในสังคมไทย

 

"ปีศาจ" และ "ฟ้าบ่กั้น" เรื่องที่จัดประเภทไม่ได้

ความจริงมีเรื่องอีก 2 เรื่อง ผมไปดูงานอีกกลุ่มในยุคนี้เหมือนกันที่ไม่เคยถูกจัดมาอยู่ในงานยุคนี้ เช่น “ฟ้าบ่กั้น” ของลาว คำหอม เป็นงานช่วงก่อนปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ คือเหมือนดูเป็นงานธรรมดา พูดถึงยากแค้นของชนบท ชนบทถูกรุกรานโดยเมือง ซึ่งก็ประเภทเป็นงานที่เราพบในงานหลัง พ.ศ. 2501 แต่ถ้าพิจารณางานของเขาในช่วงเดียวกันคือช่วงยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จะพบว่า “ฟ้าบ่กั้น” มันเสนอในสิ่งที่สวนทางกระแสหลัก คือเสนอว่า ชนบทที่คนเมืองเข้าไปมันสร้างความพินาศอย่างไรให้ชาวบ้าน แล้วชาวบ้านเรียกร้องต่อสู้อย่างไร ในวิถีทางที่เขาทำ ประเด็นที่สำคัญในเรื่อง “ฟ้าบ่กั้น” ชี้ว่าการกำหนดยุคสมัยว่างานอยู่ยุคใดมันมีนัยยะต่อการประเมินค่าหนังสือพอสมควร

ผมยังมองว่า “ฟ้าบ่กั้น” เป็นสิ่งที่แปลกในยุคนั้น เพราะมันมองชนบทผ่านสายตาชาวบ้านในชนบท ขณะที่เรื่องทั้งหมดที่ผมเล่า ทั้ง เสือใบ แผ่นดินนี้ของใคร ไพรกว้าง เป็นการมองผ่านสายตาคนเมือง “ฟ้าบ่กั้น” เลยพิเศษเพราะเล่าในมุมชาวบ้าน แล้วชาวบ้านมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อเรื่องนวนิยายทั้งหลายแหล่ที่พูดถึงในชนบท คือ พิพักพิพ่วน เพราะว่าเราไม่รู้จะทำอย่างไรกับชาวบ้านพวกนี้ เพราะปฏิกิริยาจากชาวบ้านตรงกันข้ามกับสิ่งที่คาดไว้

อีกเรื่องคือนวนิยาย “ปีศาจ” ก็อยู่ในกลุ่มนี้ เป็นกลุ่มนวนิยายก่อน พ.ศ. 2501 เช่นกัน และมีลักษณะพิเศษที่มีตัวละครที่ผสมผสานระหว่างความเป็นเมืองและชนบท มันเป็นทางออกใหม่ของการแบ่งแยกเมืองและชนบท คือ “สาย สีมา” เป็นชาวนาแต่มีความรู้เหมือนคนกรุงเทพฯ นำไปสู่สิ่งที่ผมเคยเขียนไว้คือ “ความเป็นคนพันธุ์ทาง” คือสาย สีมา สามารถสลายหรือตอบโต้อัตลักษณ์ของการแบ่งเมืองและชนบทได้ เพราะเขาเป็นผลผลิตของแนวคิดเรื่องเมืองและชนบท ในขณะเดียวกันก็ใช้ความเป็นเมืองและชนบทตอบโต้กรอบคิดนี้

ผมมาจบลงตรง “ฟ้าบ่กั้น” ในแง่หนึ่งเป็นเรื่องชาวบ้านก็จริง แต่พูดเชิงวรรณกรรม มีความเป็นพันธุ์ทาง (Hybrid) อยู่ คือแนวเขียนมันสมัยใหม่แบบฝรั่งเลย วิธีการเขียนของลาว คำหอม ไม่มีในสังคมไทยมาก่อน คือมีความ minimalism อย่างสูง ขณะที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับชาวบ้าน ซึ่งผมรู้สึกว่าเป็นพันธุ์ทางผสมระหว่างตะวันตกกับบ้านนอก เรามักจะพูดถึง Global village ตัวนวนิยาย “ฟ้าบ่กั้น” นี้มีลักษณะอย่างนั้นอยู่ ทำให้เป็นสิ่งที่จัดประเภทได้ลำบากในสังคมไทยและวรรณกรรมไทย 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท