ความเคลื่อนไหว 1 วันก่อน พ.ร.บ.คอมฯ เข้าสภา

15 ธ.ค. 2559 หนึ่งวันก่อนที่ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์จะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวาระ 2 และ 3 ล่าสุด แคมเปญต้าน พ.ร.บ.คอมฯ ใน change.org มีผู้ร่วมลงชื่อ 342,394 คน (ข้อมูล ณ เวลา 17.00 น. วันที่ 15 ธ.ค.) โดยเครือข่ายพลเมืองเน็ตและแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย นำรายชื่อ 300,000 ชื่อไปยื่นต่อ สนช. เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องให้ทบทวนและแก้ไขร่างกฎหมายในมาตราที่จะกระทบกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยมี วรารัตน์ อติแพทย์ รองเลขาธิการ สนช. เป็นตัวแทนรับหนังสือที่เรียกร้องให้สมาชิก สนช.

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า ทางเรารู้สึกผิดหวังเป็นอย่างมากที่ผลการพิจารณาออกมาเป็นเช่นนี้ พ.ร.บ. ควรออกมาเพื่อปกป้องคุ้มครองประชาชน แต่ในหลายจุดของร่างแก้ไข พ.ร.บ. ฉบับนี้กลับเปิดช่องให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนและขัดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศของไทย ซึ่งไม่ใช่แค่แอมเนสตี้ที่แสดงความเป็นห่วงและเสนอให้มีการปรับแก้มาอย่างต่อเนื่อง ประชาชนที่ลงชื่ออีกกว่า 300,000 คน ตลอดจนประชาคมโลกเองก็จับตามอง สนช. อย่างใกล้ชิดเช่นกัน หลังจากนี้เราก็คงต้องติดตามกันต่อไปในเรื่องของการบังคับใช้และการแก้ไขในอนาคต

ขณะที่ #พรบคอม ขึ้นเป็นแฮชแท็กที่มีการพูดถึงมากที่สุดในทวิตเตอร์ ประเทศไทย ในวันนี้ โดยมีการพูดถึงกว่า 413,000 ครั้ง 

ไทยรัฐออนไลน์และเว็บข่าวเนชั่น รายงานว่า  พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กล่าวถึงกรณีมีการยื่นรายชื่อค้าน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ว่า กมธ.พิจารณาปรับปรุงเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวให้มีความชัดเจนและรัดกุมมากขึ้นกว่าร่างที่ส่งมาในวาระรับหลักการ เนื้อหาที่แก้ไขมีความชัดเจนมากขึ้น แต่สิ่งที่ภาคประชาชนกังวล เพราะเข้าใจผิดว่า จะนำเรื่องซิงเกิลเกตเวย์มารวมอยู่ในกฎหมายนี้ ทั้งที่ข้อเท็จจริงร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ไม่ได้นำเรื่องซิงเกิลเกตเวย์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เพราะเรื่องซิงเกิลเกตเวย์จะเป็นกฎหมายอีกฉบับหนึ่ง แยกออกจากพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
  
ส่วนกรณีระบุว่า ความผิดที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประเทศ ในร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เป็นการกำหนดนิยามที่กว้างมากนั้น ผู้ที่จะใช้ดุลยพินิจตีความว่า เรื่องใดขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประเทศ และศีลธรรมอันดีคือศาล ไม่ใช่ดุลยพินิจของคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ 5 คน ที่รัฐมนตรีแต่งตั้งขึ้นมา คณะกรรมการกลั่นกรองฯจะทำหน้าที่เพียงส่งเรื่องที่เห็นว่า น่าจะเข้าข่ายขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประเทศหรือศีลธรรมอันดีไปให้รัฐมนตรีพิจารณา เพื่อส่งเรื่องต่อไปให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาดในขั้นสุดท้าย อย่างไรก็ตามขอให้ไม่ต้องเป็นห่วงว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้จะให้อำนาจมากมายแก่เจ้าหน้าที่มากมายเกินเหตุ

สำนักข่าวไทย รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า กรณีนี้ ไม่ใช่ซิงเกิลเกตเวย์ แต่การออกกฎหมายดังกล่าวเนื่องจากอาจมีข้อมูลด้านลบจากต่างประเทศเข้ามา ที่เราไม่สามารถจะป้องกันได้ ไม่ได้ออกกฎหมายเพื่อละเมิดสิทธิใคร แต่จะใช้กฎหมายเป็นเครื่องมืออุดช่องว่างการก่อการร้าย ภัยความมั่นคง เว็บไซต์ผิดกฎหมาย รวมถึงการโจมตีทางไซเบอร์ เพื่อปกป้องประชาชนและลูกหลานคนทั้งประเทศ  

กรุงเทพธุรกิจและโพสต์ทูเดย์ รายงานตรงกันว่า พล.ต.ฤทธี อินทราวุธ ผู้อำนวยการศูนย์ไซเบอร์ กองทัพบก กล่าวถึงกรณีกระแสคัดค้าน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ว่า เป็นการบิดเบือนข้อกฎหมาย จนทำให้ประชาชนตื่นตระหนก ซึ่งไม่ควรนำมาโยงในเรื่อง Single Gateway (ซิงเกิล เกตเวย์) เพราะเป็นไปไม่ได้ทั้งด้านเทคนิคและการปฏิบัติแบบรวมศูนย์ รัฐบาลไม่เอาด้วยอยู่แล้ว เพราะกระทบความเชื่อมั่นและการพัฒนาเศรษฐกิจแบบดิจิทัล

พล.ต.ฤทธี กล่าวว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับใหม่ที่ สนช. กำลังพิจารณาอยู่นี้ น่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนมากกว่า เพราะเป็นการปรับปรุง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาจากปี 2550 ให้ทันสมัยขึ้น ทันต่อโลกในปัจจุบัน และมีความเหมาะสมตามสถานการณ์ สภาพแวดล้อมของสังคม โดยเฉพาะพฤติกรรมบุคคลที่ใช้เทคโนโลยี่โซเชียล รวมถึงเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งพ.ร.บ.ฉบับปรับปรุงนี้เป็นการเพิ่มโทษผู้กระทำความผิด ทั้งด้าน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และ กฎหมายอาญาอื่นๆ ไม่ได้เป็นการละเมิดสิทธิข้อมูลส่วนบุคคล หรือคุกคามสิทธิส่วนบุคคลในโลกไซเบอร์ตามที่มีคนบางกลุ่มพยายามสร้างกระแสบิดเบือนเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อและคัดค้าน ตรงกันข้าม พ.ร.บ.ดังกล่าว แต่อย่างใด ในทางกลับกันจะเป็นประโยชน์ด้านการคุ้มครอง และให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนทั่วไป และผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์ รวมทั้งเป็นมาตรการทาง กฎหมายเพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจแบบดิจิทัลของประเทศเราด้วย

พล.ต.ฤทธี เรียกร้องให้ประชาชนอ่านข้อกฎหมายให้ครบถ้วน และไม่ควรหลงเชื่อกระแสบิดเบือนข้อมูลจนทำให้เกิดความแตกแยกในสังคม โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ ซึ่งเป็นเวลาที่คนไทยทั้งชาติอยู่ในความอาลัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งต้องการความรัก สามัคคี และกำลังใจในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กลับคืนมาโดยเร็ว และขอวิงวอนกลุ่มบุคคลที่สร้างกระแสและสื่อต่างๆ ควรหยุดสร้างกระแสปลุกปั่นยุโยงให้เกิดความเข้าใจผิดและความแตกแยกในสังคมจากการบิดเบือนข้อมูลดังกล่าวเพื่อไม่ให้เกิดความสับสน 

ความเคลื่อนไหวในโลกไซเบอร์

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท