พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์: นโยบายทรัมป์กับเมืองไทย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

เพื่อนๆ ถามผมว่า  นโยบายของ“ประธานาธิบดีทรัมป์” แห่งสหรัฐอเมริกา จะส่งผลกระทบอย่างไรกับประเทศไทยในด้านต่างๆ บ้าง เพราะสื่อมวลชนไทยส่วนหนึ่งมองและวิเคราะห์ว่า ทรัมป์เป็นตัวเลวร้ายในสังคมการเมืองอเมริกันและนานาชาติ ซึ่งความเข้าใจทั้งหมดก็น่าจะมาจากพฤติกรรมทางปากของทรัมป์เมื่อสมัยเขาหาเสียงในการเลือกตั้งใหญ่ล่าสุด

สื่อมวลชนและผู้คนจำนวนไม่น้อย ไม่จำเพาะแต่ในเมืองไทยเท่านั้นพากันมองว่า ทรัมป์เป็นนักอนุรักษ์นิยมเอียงขวาสุดโต่ง ซึ่งจะเป็นอันตรายกับประชาคมโลก แม้แต่ประเทศไทยก็ไม่สามารถเลี่ยงอันตรายหรือผลกระทบเชิงบวกจากนโยบายของทรัมป์ได้

ผมบอกเพื่อนผู้ถามไปว่า ก็แล้วแต่จะคิดเห็นอย่างไร แต่สำหรับผม (ผู้เขียน) มองว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ น่าจะส่งผลดีต่อประเทศไทยโดยภาพรวม ใน 2 ส่วนตามเหตุตามปัจจัยที่จะเกิดขึ้น

ส่วนแรก คือ ส่วนของการเมือง เพราะทรัมป์มีนโยบายชัดเจนว่าเขายังให้การสนับสนุนประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้นในทุกภูมิภาคของโลก รวมถึงประเทศไทย ตามปรัชญาเดิมของพรรครีพับลิกัน ที่เน้นเสรีนิยม  หรือการเปิดกว้างต่อการมีส่วนร่วมเพื่อสะท้อนเจตจำนงของประชาชนเจ้าของประเทศ ซึ่งในขณะนี้นโยบายของประธานาธิบดีคนใหม่ส่งผ่านไปยังสถานทูตอเมริกันทั่วโลก รวมถึงสถานทูตอเมริกันในกรุงเทพ

ส่วนที่สอง คือ ส่วนเศรษฐกิจ ที่ดูเหมือนทรัมป์จะนำเอานโยบายกีดกันทางด้านเศรษฐกิจในรูปแบบเดิมๆ กลับมาใช้ เช่น การตั้งกำแพงภาษี การยกเลิกกลุ่มภาคีเสรีทางการค้า (นาฟต้า)  เป็นต้น หากแท้ที่จริงแล้ว นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมแต่อย่างใด ตามจุดยืนที่ถือเป็นปรัชญาของพรรครีพับลิกันที่ต้องการลดขนาดของรัฐบาลลง (ต่างจากพรรคเดโมแครตที่ต้องการเพิ่มขนาดของรัฐบาล)

โดยที่การลดขนาดของรัฐบาลทรัมป์ หมายถึง การลดการแทรกแซงจากภาครัฐลงให้เหลือน้อยเท่าที่จะสามารถทำได้ เช่น การไม่แทรกแซงด้านภาษี เป็นต้น ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกการตลาดแบบทุน (เสรี) นิยมมากที่สุด ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้น่าจะกลับเป็นประโยชน์กับประเทศไทยและนานาประเทศ ที่ต้องการค้าขายกับอเมริกัน

เหตุปัจจัยที่ทางฝ่ายไทยต้องทำให้เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์กับฝ่ายไทยเองก็คือ การเร่งทำความเข้าใจด้านกลไกการเมือง ด้านเศรษฐกิจและด้านวัฒนธรรมของอเมริกันให้ชัดเจนมากขึ้น ก่อนที่จะกำหนดเป็นกรอบนโยบายการสร้างความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ เช่น ในส่วนของการล็อบบี้ทางการเมือง หรือทางการค้า ที่ต้องดำเนินการแบบคู่ขนานกันไปกับการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลอเมริกัน คองเกรสและกับบรรดาพ่อค้าอเมริกัน เพื่อให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันในตลาดอเมริกันได้ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรของไทยตั้งแต่ข้าวยันสินค้าอุตสาหกรรมประมงที่ในระยะไม่กี่ปีมานี้ พากันหายหน้าหายตาไปจากตลาดอเมริกันจำนวนมาก เพราะถูกกดดันจากกฎหมาย และจากผู้บริโภคอเมริกัน จนสู้คู่แข่งขัน เช่น คู่แข่งอย่างเวียดนามและประเทศเพื่อนบ้านของไทยอีกหลายประเทศไม่ได้

ทรัมป์นั้นเป็นนักธุรกิจที่ฉลาด สื่อมวลชนในอเมริกาจำนวนหนึ่งเชื่อว่า อย่างไรเสียทรัมป์คงไม่พยายามที่กีดกันอเมริกาออกจากตลาดโลก (เสรีนิยม) เพราะอเมริกาได้ประโยชน์มากกว่าเสียประโยชน์จากระบบตลาดเสรี ซึ่งรวมถึงนาฟต้า และภาคีการค้าอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

ไม่รวมถึงการฟื้นฟูอุตสาหกรรมแนวโครงสร้างเดิมที่เป็นรายได้อันมั่นคงของคนและรัฐบาลอเมริกัน ได้แก่ อุตสาหกรรมด้านยุทโธปกรณ์หรืออาวุธ (รวมถึงอากาศยาน)  อุตสาหกรรมรถยนต์ซึ่งปัจจุบันธุรกิจประเภทนี้มีฐานการผลิตใหญ่อยู่ในเม็กซิโก (ทำให้การล้มเลิกนาฟต้ายิ่งเป็นเรื่องยากมากขึ้น) รวมถึงอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งแต่เดิมมีฐานอยู่ที่ซิลิคอนวัลเล่ย์ ซานโฮเซ่เค้าน์ตี้ รัฐแคลิฟอร์เนีย และฐานที่เมืองออสติน รัฐเท็กซัส ทั้งหมดล้วนกำลังถูกพิจารณาจากรัฐบาลใหม่เพื่อฟื้นฟูในทิศทางที่สอดคล้องกับกลไกการตลาด โดยทั้งรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นต่างกำลังพยายามหามาตรการช่วยให้อุตสาหกรรมเหล่านี้อยู่ได้ เช่น การออกมาตรการผ่อนปรนด้านภาษี  (ลดหรืออาจยกเว้นภาษี/ส่วนหนึ่งขึ้นกับนโยบายของรัฐบาลท้องถิ่นด้วย)

แม้กระทั่งอุตสาหกรรมเชิงบริการ อย่างเช่น อุตสาหกรรมด้านการศึกษาที่มีท่าว่ารัฐบาลทรัมป์จะส่งเสริมสนับสนุนเป็นพิเศษ ผ่านมาตรการสร้างแรงจูงใจด้านภาษี ซึ่งในเรื่องการส่งเสริมด้านการศึกษานี้เชื่อว่า น่าจะเป็นผลดีต่อจีดีพีของอเมริกันโดยรวม และแน่นอนว่ามันจะส่งผลดีต่อการเข้ามาศึกษาของนักเรียนจากนานาชาติทั่วโลก รวมทั้งนักเรียนจากประเทศไทยด้วย

ในส่วนของการเมือง สมาชิกคองเกรสรีพับลิกันได้ประกาศจุดยืนอย่างชัดเจนภายหลังการเลือกตั้งที่ผ่านมาว่า ยังคงให้การสนับสนุนด้านประชาธิปไตยแก่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก ไม่สนับสนุนอำนาจ(รัฐบาล)เผด็จการ ทั้งยังเรียกร้องให้รัฐบาลเผด็จการทั่วโลกเร่งคืนอำนาจให้กับประชาชนเจ้าของประเทศ

สมาชิกคองเกรสยังเสนอให้รัฐสภาออกกฎหมายกดดันในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศเช่นเดิม เหมือนที่เคยกดดันบางประเทศ เช่น ประเทศเมียนมาร์ เป็นต้น จนกว่าประเทศเหล่านั้นจะเป็นประชาธิปไตย ซึ่งหากมองในกรณีของประเทศไทยก็น่าจะเป็นผลดีต่อกระบวนการประชาธิปไตยในประเทศมากว่าสมัยรัฐบาลโอบามาซึ่งไม่มีการประกาศจุดยืนเป็นทางการเสียเอาเลยด้วยซ้ำ

การบ้านที่คนไทยและรัฐบาลไทยต้องทำคือการทำความเข้าใจวัฒนธรรมการเมืองอเมริกัน เช่น วัฒนธรรมการล็อบบี้ และสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับฝ่ายรัฐสภาหรือฝ่ายคองเกรสอเมริกัน  (เพราะคองเกรสเป็นฝ่ายเสนอและออกกฎหมายต่างๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ เหมือนที่บางประเทศเพื่อนบ้านของไทย เช่น ลาว พม่าหรือแม้กระทั่งเวียดนาม ได้ทำอย่างได้ผลมาแล้วในย่านดี.ซีแอเรีย จนเป็นที่รู้กันโดยทั่วไป หากเหลือแต่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ของไทยที่มีหน้าที่โดยตรง เช่น ทูตพาณิชย์ ตามเมืองต่างๆ ที่ยังคงขาดความพร้อมอยู่มาก)

ปัญหาสำคัญประการหนึ่ง คือ ระบบการทำงานของฝ่ายไทยเองยังมีการขับเคลื่อนน้อยมากกว่าที่คิด ทั้งด้านการเมืองและวัฒนธรรม หากเทียบกับจำนวนคนไทยที่อาศัยอยู่ในอเมริกา รวมถึงจำนวนของวัดไทยนับร้อยวัด บทบาทของกงสุลไทยตามสถานกงสุลต่างๆ ทั่วอเมริกาน่าจะถูกปรับให้มีมากขึ้นมากกว่าแค่การรับผิดชอบเรื่องวีซ่าและความเป็นอยู่โดยทั่วไปของคนไทยในอเมริกา ควรให้มีบทบาทในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนไทยกับคนในชุมชนอเมริกันโดยทั่วไปอีกด้วย

เช่นเดียวกับสถานทูตไทยซึ่งรับผิดชอบในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาเชิงการทูต ก็ควรถูกปรับให้มีส่วนในการติดตามประเด็นทางด้านธุรกิจหรือทางการค้าเพิ่มขึ้นด้วย จะนับเป็นบทบาทเชิงรุกที่สอดคล้องกับสถานการณ์ร่วมสมัย เหมือนสถานทูตหลายประเทศที่ตั้งอยู่ในอเมริกาเวลานี้ที่ดำเนินการในลักษณะเช่นว่านี้ด้วย

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท