Skip to main content
sharethis

สมาคมนักเขียนอเมริกา (PEN America) และคณะกรรมการคุ้มครองผู้สื่อข่าว (CPJ) ออกแถลงการณ์กรณีไทยผ่าน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หวั่นสิทธินักเขียน-สื่อถูกละเมิดเพิ่มขึ้น

18 ธ.ค. 2559 ความเคลื่อนไหวหลังที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับใหม่ เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.ที่ผ่านมา วันเดียวกัน สมาคมนักเขียนอเมริกา (PEN America) ออกแถลงการณ์แสดงความผิดหวังต่อกรณีดังกล่าว โดยระบุว่า ร่างกฎหมายฉบับแก้ไขนี้จะยังคงทำให้เกิดการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกทางออนไลน์อย่างต่อเนื่องและเลวร้ายยิ่งขึ้น

สมาคมนักเขียนอเมริกา ระบุว่า สนช. ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของรัฐบาลทหารได้ผ่านร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. ที่ผ่านมา โดย พ.ร.บ.คอมฯ ฉบับเดิม ถูกวิจารณ์อย่างมากจากกลุ่มที่ทำงานเรื่องสิทธิในความเป็นส่วนตัว ข้อมูลจากองค์กรฟอร์ติฟายไรท์ ระบุว่า เฉพาะปีนี้ มีข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ ที่เข้าสู่การพิจารณาคดีของศาล 399 ข้อกล่าวหา และระหว่างที่มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นี้ ก็มีประชาชนกว่า 300,000 คนร่วมลงชื่อคัดค้านร่างกฎหมายดังกล่าว

สมาคมนักเขียน อเมริกา ระบุว่าการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในร่างใหม่นี้ ประกอบด้วย 1.การกำหนดโทษจำคุกไม่เกินห้าปี สำหรับการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งน่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ การบริการสาธารณะ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน

2.การให้อำนาจคณะกรรมการของรัฐ (คณะกรรมการกลั่นกรอง) ในการร้องขอต่อศาลให้สั่งนำเนื้อหาออนไลน์ซึ่งเข้าข่ายขัดศีลธรรมอันดีของประชาชนออก แม้ว่าเนื้อหาดังกล่าวจะไม่ได้ละเมิดกฎหมายใดเลยก็ตาม

3.ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐในการขอข้อมูลของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตจากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตโดยไม่ต้องมีหมายค้น

คาริน ดอยช์ คาเลคาร์ ผู้อำนวยการ โครงการเสรีภาพที่ตกอยู่ในความเสี่ยง ของสมาคมนักเขียนอเมริกา (PEN America’s Free Expression At-Risk Programs) แสดงความเห็นว่า กฎหมายใดที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางไซเบอร์ควรต้องยึดหลักการสำคัญเรื่องการปกป้องสิทธิความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพในการแสดงออกของปัจเจก ซึ่ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับ พ.ศ. 2550 นั้นล้มเหลวในจุดนี้และแทนที่ร่างแก้ไขฉบับที่ผ่าน สนช. จะแก้ปัญหาดังกล่าวก็กลับเต็มไปด้วยข้อจำกัดอย่างเห็นได้ชัด

"เราเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยให้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.นี้อีกครั้ง ขณะเดียวกัน เราขอเรียกร้องให้ทางการไทยให้สัญญากับสาธารณะว่าจะไม่มีการใช้กฎหมายละเมิดสิทธิส่วนบุคคล"

ที่ผ่านมา สมาคมนักเขียน อเมริกา เคยออกแถลงการณ์แสดงความกังวลต่อเสรีภาพในการแสดงออกที่ถดถอยของประเทศไทยตั้งแต่หลังรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 เป็นต้นมา ทั้งนี้ สมาคมนักเขียน อเมริกา พบว่า ในจำนวนเคสที่เก็บข้อมูลมาได้จากทั่วโลกนั้น เกือบ 50% ของนักเขียนที่ถูกลงโทษจำคุก มาจากการเขียนหรือแสดงความเห็นทางออนไลน์

ด้านคณะกรรมการคุ้มครองผู้สื่อข่าว (CPJ) ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานด้านเสรีภาพสื่อที่มีสำนักงานในสหรัฐฯ ก็ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้มีการยกเลิกกฎหมายดังกล่าว ซึ่งจะให้อำนาจรัฐให้การเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ตโดยใช้เกณฑ์ที่คลุมเครือและกว้างขวางเกินไป 

เช่นเดียวกับสมาคมนักเขียน อเมริกา คณะกรรมการคุ้มครองผู้สื่อข่าวได้แสดงความกังวลต่อการกำหนดโทษจำคุกห้าปี สำหรับการนำเข้าข้อมูลเท็จที่อาจกระทบต่อความมั่นคง การมีคณะกรรมการกลั่นกรองฯ พิจารณาปิดเว็บที่ไม่ผิดกฎหมายแต่ขัดศีลธรรมและการให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐขอข้อมูลผู้ใช้ได้โดยไม่ต้องมีหมายศาล

ชอว์น คริสปิน ตัวแทนอาวุโสจากคณะกรรมการคุ้มครองผู้สื่อข่าว เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุว่า ที่ผ่านมา กฎหมายอาชญากรรมไซเบอร์ของไทยเป็นภัยคุกคามต่อผู้สื่อข่าวที่ทำงานออนไลน์ การแก้ไขที่คลุมเครือและกว้างเกินไปมีแต่จะอันตรายยิ่งขึ้น

"รัฐบาลทหารไทยมักเอาเรื่องการแสดงความเห็นกับการก่ออาชญากรรมมาปนกัน การแก้ไขกฎหมายนี้จะให้อำนาจเจ้าหน้าที่กว้างขวางกว่าเดิมในการจัดการกับผู้เห็นต่าง การแก้กฎหมายนี้ควรต้องถูกยกเลิกและหากจะมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายนี้อีกในอนาคต ควรจะต้องให้ความสำคัญกับการประกันเสรีภาพสื่อและเสรีภาพในการแสดงออกเป็นอันดับแรก" ชอว์น คริสปิน ระบุ

 

แปลและเรียบเรียงจาก

https://pen.org/press-release/2016/12/16/thailand-amended-computer-crime-act-step-backward-free-expression

https://cpj.org/2016/12/thai-legislation-threatens-online-freedoms.php

หมายเหตุ : 2.35 น. 19 ธ.ค. 2559 ทางประชาไทได้มีการปรับแก้เนื้อหาเพิ่มเติม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net