Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. ที่ผ่านมา ไทยพีบีเอสนิวส์ รายงานว่า ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทยเปิดเผยว่าแนวโน้มการจ้างงานในปี 2560 ว่า ภาพรวมการจ้างงานของไทยจะปรับเพิ่มขึ้นจากปี 2559 เนื่องจากอัตราว่างงานของไทยยังคงอยู่ระดับต่ำ แต่สิ่งที่ต้องติดตามคือ นักศึกษาจบใหม่ที่จะมีเข้ามาในระบบเพิ่มขึ้นเดือนมีนาคมกว่า 2 แสนคน ส่วนหนึ่งอาจประสบภาวะตกงาน โดยเฉพาะผู้ที่จบปริญญาตรีสายสังคมศาสตร์

ดังนั้นหากภาครัฐกำหนดนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 เพื่อขับเคลื่อนประเทศ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องกำหนดแผนพัฒนาแรงงานเพื่อให้สอดรับกับความต้องการของตลาด ซึ่งส่วนใหญ่ต้องการแรงงานสายอาชีพ เช่น ช่างกล ช่างฝีมือ เป็นต้น พร้อมกับแนะนำว่าสังคมไทยควรให้คุณค่าของการศึกษาภาคอาชีวะมากขึ้น เพื่อให้ผู้ปกครองและเยาวชนกล้าตัดสินใจเข้าเรียนสายอาชีพ

"เราขาดช่าง พอเด็กเข้าไปเรียนแล้วก็ไม่มีระบบที่จะไปรองรับวิทยฐานะของเขาเหมือนในต่างประเทศ เช่น เยอรมนี หรือประเทศยุโรปอื่น ทั้งที่จริงๆ แล้ว การจบช่างกับจบปริญญาตรีไม่ได้ด้อยไปกว่ากัน เราจะต้องไม่เอาเปรียบเขา เขาต้องมีรายได้ไม่น้อยกว่าคนจบปริญญาตรี" ธนิต กล่าว พร้อมแนะนำสำหรับนักศึกษา ที่กำลังจะจบใหม่ในปีการศึกษาหน้า ว่า ให้หาความรู้เพิ่มเติมโดยเฉพาะภาษาที่สองและทักษะด้านคอมพิวเตอร์ ส่วนข้อกังวลเรื่องการใช้เครื่องจักรเข้ามาทดแทนแรงงาน มองว่า ภาคอุตสาหกรรมไทย อาจต้องใช้เวลาอีกระยะ จะไม่เกิดขึ้นแบบทันทีทันใด

"เราคงไม่ได้ใช้เทคโนโลยีอย่างเต็มรูปแบบเหมือนที่หลายๆ คนฝันไว้ ถึงอย่างไรก็ต้องมีการใช้แรงงาน แต่แน่นอนว่าแรงงานก็จะลดลงในอนาคต เพราะคนมีอายุมากขึ้นและมีการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น แต่การใช้แรงงานจะไม่ได้น้อยลงอย่างฮวบฮาบ" ธนิต ระบุ

ขณะนี้สภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทยกำลังหารือกับกระทรวงแรงงานเพื่อวางแนวทางพัฒนาแรงงานให้สอดรับตลาดโลก และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศโดยเฉพาะอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งจะต้องเน้นให้การศึกษามุ่งไปสู่ไอที คอมพิวเตอร์ ภาษา ช่างกล โดยอาชีพที่เริ่มมีความเสี่ยง คือ สื่อสารมวลชนและการธนาคาร แม้ว่าตัวเลขการว่างงานของไทยขณะนี้จะยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำ เพียงร้อยละ 0.87 แต่การผลิตบุคลากรที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้น ก็อาจทำให้ตัวเลขนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน

ก.แรงงาน ดึงบัณฑิตราชภัฏนำร่องพัฒนาฝีมือ การันตีมีงานทำป้อนธุรกิจท่องเที่ยว

ขณะที่รายงานข่าวจากกระทรวงแรงงานเมื่อวันที่ 19 ธ.ค.ที่ผ่านมา ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากการหารือร่วมกับมหาวิทยาลัยสวนดุสิต และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ถึงแนวทางการพัฒนากำลังแรงงานหรือนักศึกษาในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ รองรับนโยบายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engines of Growth) และรองรับการเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้พัฒนากำลังคนสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานและสถานประกอบกิจการ กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จึงบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนากำลังแรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยวรายได้ดีและท่องเที่ยวสุขภาพนั้น โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมายให้บัณฑิตที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏจากทั่วประเทศได้มีโอกาสได้รับการฝึกอบรมใน 4 หลักสูตรที่สนใจ อาทิ หลักสูตรบริการอาหารและเครื่องดื่ม การประกอบอาหาร แม่บ้าน และการบริการส่วนหน้า เป็นต้น ใน 4 พื้นที่นำร่อง คือ ลำปาง อุดรธานี ตรัง และส่วนกลาง เพื่อให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยมีระยะเวลาฝึกอบรม 7 วัน หรือคิดเป็น 42 ชั่วโมง โดย 2 วันแรกเป็นภาคทฤษฎี อีก 5 วันเป็นภาคปฏิบัติจริงในสถานประกอบการ สำหรับจุดเด่นของทุกหลักสูตรเมื่อจบการฝึกอบรมแล้วจะได้รับใบรับรองและผู้ประกอบการสามารถรับเข้าทำงานได้ทันที

ทั้งนี้ สามารถเริ่มดำเนินการรับสมัครผู้สนใจเพื่อเข้ารับการฝึกอบรมได้ ภายหลังการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาศักยภาพให้แก่นักศึกษาหรือกำลังแรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ ระหว่างกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มหาวิทยาลัยสวนดุสิต และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในวันที่ 22 ธันวาคม 2559 ณ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อให้เกิดการบูรณาการในการใช้ทรัพยากรร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งในด้านวิทยากร บุคลากรฝึก อาคารสถานที่ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิทยาการ เทคโนโลยีสมัยใหม่ การฝึกอบรมวิชาชีพ การฝึกยกระดับฝีมือแรงงาน รวมทั้งมาตรการต่างๆ ในการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีทักษะสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงแรงงานยังได้หารือถึงความร่วมมือในการผลิตกำลังแรงงานให้สอดคล้องตามความต้องการแรงงานในภาคท่องเที่ยวและบริการ เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้แก่มัคคุเทศก์ รองรับการเติบโตของบุคลากรภาคธุรกิจท่องเที่ยวในยุคดิจิทัล เพื่อเป็นการยกระดับความสามารถเพิ่มขึ้นในอนาคตอีกด้วย 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net