โรดริโก ดูแตร์เต แห่งฟิลิปปินส์

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ถ้าจะกล่าวถึงผู้นำในกลุ่มภาคีอาเซียนที่มีชื่อเสียงขณะนี้ โรดริโก ดูแตร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์จะต้องเป็นคนหนึ่ง บทบาทของเขาถือว่าผิดจารีตของผู้นำ ตั้งแต่เรื่องนิสัยส่วนตัวที่ชอบสบถและพูดคำหยาบ เรื่องการใช้มาตรการโหดในการกวาดล้างยาเสพติดและอาชญากรรม และเรื่องท่าทีที่ไม่เป็นมิตรกับสหรัฐฯ แล้วแสดงแนวโน้มผูกมิตรกับจีน

โรดริโก ดูแตร์เต หรือเรียกว่า “ดีกง” เกิดเมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2488 ที่เมืองมาอาซินในเกาะเลย์เต ซึ่งเป็นหนึ่งในหมู่เกาะวิสายัน ตอนกลางของประเทศ บิดาของของชื่อวิเซนเตเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด และมารดาของเขาเป็นครู ในวัยเด็ก เขาได้ชื่อว่าเป็นเด็กเกเร จนถึงขนาดถูกไล่ออกจากโรงเรียนถึง 2 ครั้ง แต่ต่อมาเขาปรับตัว และตั้งใจศึกษาจนจบวิชานิติศาสตร์จากวิทยาลัยซานเบดาเมื่อ พ.ศ.2515

เมื่อจบการศึกษา เขามาทำงานที่สำนักงานอัยการเมืองดาเวา ในเกาะมินดาเนา ต่อมาได้ลงสมัครเป็นนายกเทศมนตรีของเมืองและได้รับเลือกเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2531 ในขณะนั้น เมืองดาเวาได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่มีอาชญากรรมมาก ดูแตร์เตเริ่มใช้นโยบายปราบอาชญากรรม โดยการประกาศมาตรการห้ามออกนอกบ้านและออกกฎหมายควบคุมเวลาการขายสุรา ให้ร้านค้าและร้านอาหารต้องมีกล้องวงจรปิดตามทางเข้าออก เพิ่มรถและอุปกรณ์ให้ฝ่ายตำรวจ และที่มากกว่านั้น เขาสนับสนุนทางอ้อมให้มีการตั้ง “หน่วยล่าสังหาร” โดยใช้รูปแบบนอกกฎหมายหรือ”ศาลเตี้ย”ในการปราบปรามอาชญากรรมและยาเสพติด เพราะเห็นว่านี่เป็นวิธีการอันได้ผล

นโยบายลักษณะนี้ ทำให้เขาถูกวิจารณ์อย่างมาก แต่ก็ทำให้เขาสามารถสร้างฐานความนิยมได้อย่างมั่นคง ทำให้เขาชนะเลือกตั้งนายกเทศมนตรีอีก 6 ครั้งและมีบทบาทครอบครองการบริหารเมืองดาเวาตลอดมา เพราะในวาระที่เขาติดเงื่อนไขทางกฎหมายลงสมัครต่อเนื่องไม่ได้ เขาก็ให้ซารา ดูแตร์เต ลูกสาวลงสมัครแทน และเขาก็ไปสมัครเป็น ส.ส. องค์การสิทธิมนุษยชนประมาณว่าตลอดเวลา 22 ปีที่ดาเวา เขาสนับสนุนวิธีนอกกฎหมายในการสังหารผู้ต้องสงสัยไปอย่างน้อย 1400 คน และทำให้เขาได้ฉายาว่า “มือเพชฌฆาต” แต่ผู้ที่ถูกสังหารจำนวนมากเป็นเพียงผู้ต้องหาที่ไม่มีหลักฐานชัดเจน หรือบ้างก็เป็นเพียงพวกลักเล็กขโมยน้อย คนเสพยา หรือ แม้กระทั่งเด็กจรจัด

อย่างไรก็ตาม ดูแตร์เตอ้างว่า วิธีการของเขาถือว่าได้ผล ทำให้ดาวาหลายเป็นเมืองปลอดอาชญากรรม และกลายเป็นเมืองสะอาด และชื่อเสียงของเขา ทำให้เขาเคยได้รับการทาบทามให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทยในรัฐบาลก่อนหน้านี้ถึง 4 ครั้ง แต่เขาปฏิเสธ ในที่สุด เมื่อ พ.ศ.2558 ที่ผ่านมา เขาก็ตัดสินใจลงสมัครแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีด้วยตนเอง

ตั้งแต่แรกของการรณรงค์ ดูแตร์เตก็เริ่มถูกโจมตีในเรื่องการพูดจาที่สะท้อนทัศนะแบบดิบเถื่อน เช่น การหาเสียงว่าจะฆ่าพวกอาชญากรให้หมด เรียกร้องให้รื้อฟื้นโทษประหารชีวิตจนถึงขั้น”แขวนคอ”ในฟิลิปปินส์ และยังไปกล่าว”โจ๊กหยาบ”ในเรื่องแจคการีน ฮามิล มิสชันนารีออสเตรเลียที่ถูกรุมข่มขืนแล้วสังหารตั้งแต่เมื่อ พ.ศ.2532 อย่างไรก็ตาม เขากลับได้รับความนิยมจากประชาชนทั่วไปอย่างมาก ในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2558 ดูแตร์เตได้คะแนนเสียงเป็นอันดับที่หนึ่งด้วยคะแนน 39.01 % ขณะที่มาร์ โรฮัส ที่มีคะแนนอันดับที่สองได้เพียง 23.5 % ทำให้เขาได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 16 ของฟิลิปปินส์อย่างเต็มภาคภูมิ และกลายเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่มาจากเกาะมินดาเนาอีกด้วย

หลังจากรับตำแหน่งประธานาธิบดี ดูแตร์เตก็ยังใช้มาตรการเด็ดขาดกับอาชญากรและยาเสพติดด้วยวิธีการนอกกฎหมายต่อไปในระดับชาติ โดยอธิบายว่า ต้องลงมือทำ “สงครามขจัดยาเสพติด” มิฉะนั้น ฟิลิปปินส์จะกลายเป็น “รัฐยาเสพติด” วิธีการคือ การอนุโลมให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงกับผู้ต้องหายาเสพติดและอาชญากรรมได้ มีรายงานว่าในรอบปีที่ผ่านมา มีผู้ต้องสงสัยถูกสังหารโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมไปแล้วไม่ต่ำกว่า 3,000 คน กรณีนี้ ทำให้เขาถูกโจมตีอย่างหนักในเรื่องของการละเมิดสิทธิมนุษยชน เขาก็ตอบโต้องค์กรสิทธิมนุษยชนว่า ทำไมถึงเรียกพวกอาชญากรว่า “มนุษยชน” คำนี้มีการนิยามอย่างไร

สิ่งที่ดูแตร์เตกล้าทำ ทั้งที่ถูกต่อต้านคัดค้านอย่างมาก คือ การอนุญาตให้นำศพของอดีตประธานาธิบดีเฟอร์ดินันด์ มาร์กอส มาฝังที่สุสานวีรบุรุษแห่งชาติได้ โดยอธิบายว่า มาร์กอสก็เป็นอดีตประธานาธิบดีและเคยเป็นทหารรบเพื่อชาติ โดยมองข้ามเรื่องการปราบปรามประชาชน การประกาศภาวะฉุกเฉิน และการทุจริตสมัยมาร์กอส และต่อกรณีที่มีนักข่าวถูกสังหารเป็นจำนวนมากในฟิลิปปินส์ ดูแตร์เตกลับกล่าวว่า “ถ้าไม่ได้ทำอะไรผิดก็คงไม่มีใครมาฆ่า” และว่า การเป็นสื่อมวลชนไม่ได้รับสิทธิพิเศษที่จะไม่ถูกฆ่า ถ้าคุณเป็น”พวกเวรตะไล” เขาจึงถูกสื่อมวลชนโจมตีอย่างหนัก

ดูแตร์เตประกาศว่ารัฐบาลของเขาจะใช้นโยบายต่างประเทศแบบอิสระ จะไม่ยอมให้ต่างชาติเข้ามาแทรกแซง ซึ่งแสดงนัยยะในการต่อต้านอเมริกาโดยตรง เขากล่าวว่า “เขาไม่ใช่แฟนอเมริกา” และเรียกร้องให้สหรัฐถอนทหารจากมินดาเนา และเมื่อประธานาธิบดีบารัก โอบามาวิจารณ์นโยบายสิทธิมนุษยชนในฟิลิปปินส์ ดูแตร์เตตอบโต้ว่า ฟิลิปปินส์ไม่ใช้อาณานิคม และเขาจะรับฟังเฉพาะประชาชนฟิลิปปินส์ จากนั้นก็ด่าโอบามาด้วยคำหยาบ ซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดมารยาททางการทูตอย่างมาก

วันที่ 5 ตุลาคม ที่ผ่านมา ดูแตร์แสดงท่าทีขัดแย้งกับสหรัฐฯชัดเจน โดยแถลงว่า อเมริกากำลังจะหยุดขายอาวุธให้ฟิลิปปินส์ และถ้าเป็นเช่นนี้ เขาจะซื้ออาวุธจากจีนและรัสเซียแทน กรณีนี้ทำให้ เดลฟิน ลอเรนซานา รัฐมนตรีกลาโหมฟิลิปปินส์เอง ต้องรีบออกมากล่าวแก้ว่า ประธานาธิบดีได้รับข้อมูลคลาดเคลื่อนและฟิลิปปินส์ก็จะรักษาความเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯต่อไป แต่ดูแตร์เตก็ไม่หยุด เพราะในการเดินทางไปเยือนจีนในวันที่ 20 ตุลาคม เขาได้กล่าวว่า ฟิลิปปินส์จะ”แยกทาง”กับอเมริกา และกระชับความสัมพันธ์กับจีนให้แน่นแฟ้นมากขึ้น

วาระประธานาธิบดีของดูแตร์เตยังอยู่อีก 5 ปี คงต้องติดตามกันต่อไปว่า ผู้นำ”แหกคอก”ของฟิลิปปินส์จะดำเนินการอย่างไรต่อไป

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน:  โลกวันนี้วันสุข ฉบับ 591 วันที่ 19 พฤศจิกายน 2559

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท