Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 


ในฐานะที่เป็นนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์คนหนึ่งรู้สึกตะขิดตะขวงใจเล็กๆเมื่อได้ยินบรรดาผู้ทรงอำนาจในปัจจุบันไม่ว่าจะอยู่ในฝ่ายบริหารหรือนิติบัญญัติที่มักจะย้ำอยู่เสมอว่าตนเองไม่ใช่"นักการเมือง"ทั้งๆที่ในความเป็นจริงแล้วหาได้เป็นเช่นนั้นไม่

ก่อนที่จะอธิบายว่าทำไมผมจึงกล่าวว่าความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น ผมขอเริ่มจากความหมายของคำว่า "การเมือง" ก่อนว่าแท้จริงแล้วมันมีความหมายว่าอย่างไร

คำว่า “การเมือง”นั้นมีผู้ให้ความหมายไว้หลายต่อหลายคน ทั้งนักวิชาการชาวไทยและต่างประเทศ แต่ที่เป็นที่ยอมรับว่าสามารถสื่อความหมายได้ใกล้เคียงที่สุดก็คือแนวคิดของฮาโรลด์ ลาสเวลล์ นักรัฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงชาวอเมริกันที่ได้กล่าวไว้ว่า “การเมือง คือการได้มาซึ่งอำนาจ เพื่อที่จะตัดสินว่าใครจะได้อะไร เมื่อใด และอย่างไร” ฉะนั้น การเมืองจึงมีอยู่ทุกหนทุกแห่งที่มีการต่อสู้แย่งชิงเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ ไม่เว้นแม้แต่ในสังคมเล็กๆหรือในหมู่เพื่อนฝูงญาติมิตร

เมื่อหันมาพิจารณาความหมายของ “นักการเมือง”ที่มีความหมายแคบลงแล้วจะเห็นได้ว่ามีการให้ความหมายไว้หลายๆความเห็นเช่นกัน โดยพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ซึ่งเป็นฉบับล่าสุด ได้ให้ความหมายไว้ว่า"นักการเมือง น.ผู้ฝักไฝ่ในทางการเมือง,ผู้ที่ทำหน้าที่ทางการเมือง เช่น รัฐมนตรี  สมาชิกรัฐสภา" ส่วน Cambridge Dictionary อธิบายว่า Politician – a member of a government or law-making organization(นักการเมือง – สมาชิกของคณะรัฐบาลหรือขององค์การที่ตรากฎหมาย(ซึ่งก็คือสภานิติบัญญัติหรือรัฐสภานั่นเอง)

ยิ่งชัดขึ้นเมื่อเรามาดูเนื้อความที่มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการการเมือง พ.ศ.2535 ได้กำหนดตำแหน่งเหล่านี้ว่าเป็นข้าราชการการเมือง คือ

1.นายกรัฐมนตรี 2.รองนายกรัฐมนตรี 3.รัฐมนตรีว่าการกระทรวง 4.รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 5.รัฐมนตรีว่าการทบวง 6.รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง 7.รัฐมนตรีช่วยว่าการทบวง 8.ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี 9.ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี 10. ที่ปรึกษารัฐมนตรี และที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  11.เลขาธิการนายกรัฐมนตรี 12.รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง 13.โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 14. รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 15.เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 16.ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี 17.เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวง 18.ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวง 19.เลขานุการรัฐมนตรีว่าการทบวง 20.ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการทบวง  

จากคำนิยามเบื้องต้นสามารถขยายความให้เข้าใจได้โดยง่ายว่า “นักการเมืองคือผู้ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายสาธารณะและการวินิจฉัยสั่งการซึ่งหมายความรวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งวินิจฉัยสั่งการในรัฐบาลไม่ว่าจะด้วยวิธีการเลือกตั้ง การสืบทอด การรัฐประหาร การแต่งตั้ง หรือวิธีการอื่นใดและรวมถึงผู้ที่มีหน้าที่ในการตรากฎหมายนั่นเอง”

ฉะนั้น การที่ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภานิติบัญญัติ ฯลฯ ในปัจจุบันที่มักจะพูดอยู่เสมอว่าตนเองไม่ใช่นักการเมืองนั้นจึงเป็นคำกล่าวที่ไม่ถูกต้อง เพราะนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภานิติบัญญัติก็คือนักการเมืองตามความหมายทางวิชาการที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นเช่นกัน เพียงแต่แตกต่างกันในวิธีการเข้าสู่ตำแหน่งของนักการเมืองที่เข้าใจว่าตนเองไม่ได้เป็นเท่านั้นเอง

การเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองในโลกนี้นั้นมีได้หลายวิธี ที่เป็นที่นิยมและได้รับการเชื่อถือมากก็คือการเข้าสู่ตำแหน่งด้วยวิธีการเลือกตั้ง ซึ่งอาจจะเป็นการเลือกตั้งทางตรงหรือการเลือกตั้งทางอ้อมก็ได้สุดแล้วแต่รัฐธรรมนูญของประเทศนั้นๆจะบัญญัติไว้ การเลือกตั้งทางอ้อมก็มีหลายวิธีอีกเช่นกัน เช่น การไปเลือกคณะ ผู้เลือกตั้ง(electoral college)เพื่อไปเลือกประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา หรือการเลือกสมาชิกสภาท้องถิ่นเพื่อให้ไปเป็นสมาชิกวุฒิสภาจำนวนกึงหนึ่งของฝรั่งเศส ฯลฯ

นอกจากการเข้าสู่ตำแหน่งด้วยวิธีการเลือกตั้งแล้วก็ยังมีอีกหลายวิธี เช่น ในประเทศสังคมนิยมก็ใช้วิธีการคัดเลือกผ่านสภาประชาชนหรือแบบบ้านเราในปัจจุบันก็คือการเข้าสู่ตำแหน่งด้วยวิธีการรัฐประหาร ซึ่งเมื่อทำรัฐประหารสำเร็จก็มีการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อมาบริหารประเทศและแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติมาเพื่อออกกฎหมาย หรือไม่เช่นนั้นก็ตั้งโดยตรงเลยเช่นในประเทศที่ยังใช้ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในบางประเทศแถบตะวันออกกลาง เป็นต้น

โดยทั่วไปแล้วคนเรามันจะติดภาพว่านักการเมืองนั้นจะเป็นผู้ที่สังกัดพรรคการเมืองในระดับชาติหรือกลุ่มการเมืองในระดับท้องถิ่น และมีแนวความคิดเหมือนกันทั่วโลกว่า “นักการเมืองนั้นต้องเป็นคนเลว พูดปดเชื่อถือไม่ได้ ทุจริตคอร์รัปชัน” แต่ในความเห็นของผมนั้นนักการเมืองก็เหมือนกับอาชีพอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นครูบาอาจารย์ ข้าราชการ พระสงฆ์องค์เจ้า พ่อค้านักธุรกิจ ฯลฯ ที่มีทั้งคนดีและคนไม่ดี มีขาวมีดำ มีสีเทาๆ เพียงแต่ว่าอาชีพนักการเมืองนั้นดูเหมือนหาคนดีได้ยากหน่อยเท่านั้นเองเหตุก็เนื่องเพราะนักการเมืองนั้นเกี่ยวข้องกับอำนาจและอำนาจนั้นเป็นสิ่งเสพติดและมักจะทำให้เสียคนในที่สุด แต่ถึงแม้ว่าจะหาคนดีได้ยากแต่ก็มิใช่ว่าจะไม่มีเลย เพราะในแต่ละรัฐหรือในแต่ละประเทศก็มีวีรบุรุษวีรสตรีหรือรัฐบุรุษที่เคยเป็นนักการเมืองตามความหมายที่ให้ไว้ข้างต้นเช่นกัน

ขึ้นชื่อว่า “นักการเมือง”นั้นไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองไทยหรือของต่างประเทศก็คงไม่ได้แตกต่างอะไรกันมากนัก เพราะ “นักการเมือง”ในประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นประชาธิปไตยชั้นแนวหน้าทั้งหลายก็ถูกลงโทษมีให้เห็นอยู่เสมอๆ เหตุเนื่องเพราะนักการเมืองก็คือ “คน”ย่อมมีกิเลสตัณหา แต่ระบบการตรวจสอบที่ดีและระบบยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพต่างหากที่จะคอยควบดูแลและลงโทษผู้ที่ประพฤติไม่อยู่ในร่องในรอย แต่หากประเทศใดก็ตามไม่มีระบบการตรวจสอบที่ดี มีการเลือกปฏิบัติ ลูบหน้าปะจมูก แม้ว่าจะออกกฎกติกามาดีขนาดไหนก็ตามก็ยากที่ควบคุมลงโทษนักการเมืองที่ไม่อยู่ในร่องในรอยนั้นได้ครับ

 


หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 21 ธันวาคม 2559
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net