Skip to main content
sharethis

ยิ่งชีพย้ำมาตรา 14 ปิดกั้นเสรีภาพชัด รอดูตอนบังคับใช้ สฤณีขอจับตาออกกฎกระทรวงจะลงรายละเอียดสำคัญ และกฎหมายความมั่นคงไซเบอร์ปีหน้า คาดผู้ประกอบการเซ็นเซอร์ตัวเองหนัก ชวรงค์ระบุบางส่วนดีขึ้นสำหรับสื่อสิ่งพิมพ์ เชื่อโดยรวมดีกว่าฉบับก่อน "ถ้าแย่กว่า ผมคงไม่ส่งคนของเราร่วมในกระบวนการแต่แรก"  

25 ธ.ค.2559 ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) มีการจัดเสวนาเรื่อง “ประเทศไทย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2559” โดยมีผู้เข้าร่วมได้แก่ อังคณา นีละไพจิตร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, สฤณี อาชวานันทกุล จากเครือข่ายพลเมืองเน็ต, ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มธ., ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จากiLaw, อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา จาก SEAPA หรือสมาคมเครือข่ายผู้สื่อข่าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ที่ปรึกษาสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ที่ปรึกษาสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 (ฉบับที่ 2) หรือฉบับแก้ไขที่เป็นประเด็นใหญ่และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้ความเห็นชอบอย่างเอกฉันท์ 168 ต่อ 0 งดออกเสียง 4 นั้นสร้างความผิดหวังให้กับผู้ตื่นตัวในประเด็นเสรีภาพและความเป็นส่วนตัวออนไลน์อย่างมาก แต่กระนั้นการต่อสู้นี้ยังไม่จบสิ้น เพราะต้องมีการออกรายละเอียด “ข้อปฏิบัติ” ในกฎหมายระดับกระทรวงอีกประมาณ 5 เรื่องใหญ่ โดยหลังจากมีการลงพระปรมาภิไธยและประกาศใช้กฎหมาย จะต้องนับไปอีก 120 วันจึงเริ่มบังคับใช้จริงเพื่อให้ทุกส่วนเตรียมความพร้อมต่างๆ และกฎกระทรวงเหล่านี้ต้องร่างภายใน 60 วันหลังจากนั้น
 

ยิ่งชีพ: มาตรา 14(1) และ (2)  มีส่วนที่ดีขึ้น แย่ลงมาก และลิเก (สวยงามไร้ความหมาย)

-          ประเด็น 14 (1) ของเดิมเน้น “ข้อมูลปลอม” และ “ข้อมูลเท็จ” ซึ่งกฎหมายอาญามีเรื่องการหมิ่นประมาทในมาตรา 326 อยู่แล้วซึ่งเน้นว่าการให้ข้อมูลที่ทำให้คนอื่นเสียหายและมีบุคคลที่ 3 มารับทราบถือว่าผิด แต่มีข้อยกเว้นเรื่องการติชมโดยสุจริต ที่ผ่านมาจะเห็นการใช้มาตรา 14(1) พ่วงกับกฎหมายหมิ่นประมาทในการ “ปิดปาก” ผู้วิพากษ์วิจารณ์ เช่น ไม่เอาโรงไฟฟ้า ไม่เอาเหมืองแร่ เปิดโปงซ้อมทรมานเกิดขึ้น เป็นการรวม 2 ข้อหาในคดีเดียว หลายคดีที่ดังๆ อาจรอลงอาญา กระนั้นก็มีส่วนที่ศาลสั่งจำคุก 40 เดือนโดยไม่รอลงอาญา นั่นคือ แอดมินเพจทวงคืนพลังงาน หรืออีกกรณีที่เจ้าตัวไม่เปิดเผย ถูกจำคุกถึง 11 ปี  เรียกว่ามีการติดคุกจริงๆ จากการใช้ 2 ข้อหานี้กับผู้วิพากษ์วิจารณ์

-          ปกติเรามีกฎหมายหมิ่นประมาทใช้อยู่แล้ว มีโทษจำคุก 1 ปี ถ้ามีโฆษณาจำคุก 2 ปี มีข้อยกเว้นดังกล่าวไป ยอมความได้ แต่ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โทษจำคุก 5 ปี ไม่มีข้อยกเว้น และยอมความไม่ได้ มีตัวอย่างที่คู่ขัดแย้งตกลงกันได้แต่กลับยอมความไม่ได้ คดีต้องดำเนินต่อให้เห็นหลายกรณี

-          5 จุด ดีขึ้น 3 ประการ แย่ลงมาก 1 ประการ เล่นลิเก 1 ประการ

ดีขึ้น : 1.มีการระบุเพิ่มเติมว่า ข้อมูลเท็จหากกระทบบุคคลธรรมดา ลดโทษเหลือจำคุก 3 ปี  2.ให้เป็นความผิดอันยอมความได้ 3.มีการเติม “โดยทุจริตหรือโดยหลอกหลวง” นิยามของทุจริตมีเจตนาเพื่อให้ได้ผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง หากตีความแคบๆ จะทำให้หมายถึงการหลอกลวงทรัพย์สินชัดเจนขึ้น เอาไปใช้ปิดปากยากขึ้น

แย่มาก : แต่กระนั้นก็ยังมีคำว่า “ที่บิดเบือน” ใส่ลงมาด้วย ตรงนี้เป็นเรื่องข้อมูลและการแสดงความคิดเห็น คำนี้เคยอยู่ในกฎหมายประชามติและถูกนำมาใช้ดำเนินคดีกับคนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ 2559

ลิเก: คำว่า “อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา” เข้าใจว่าผู้ร่างพยามแก้ไขปัญหาที่โดนวิจารณ์มากว่ามาตรา 14 ถูกใช้กับกฎหมายหมิ่นประมาทจึงเขียนเพื่อหวังแก้ปัญหานี้ แต่มันไม่ช่วยอะไร และอันที่จริงคณะกรรมการร่างเคยทำได้ดีกว่านี้ ในครั้งรับฟังความเห็นเดือนสิงหาคม เขียนว่า “การนำเข้าข้อมูลปลอมหรือข้อมูลเท็จเพื่อให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินส่วนบุคคล” แบบนี้แก้ปัญหาได้และตรงเจตนารมณ์ แต่สุดท้ายก็ไม่ใช้ ซึ่งอาจทำให้เข้าใจได้ว่าผู้ร่างไม่ได้จริงใจจะแก้ปัญหา  

-          14(2) ของเดิมระบุถึงการนำเข้าข้อมูลที่อาจกระทบความมั่นคง ทำให้ประชาชนตื่นตระหนัก ฉบับแก้ไขใหม่เพิ่มเรื่องการกระทบความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงเศรษฐกิจ โครงสร้างพื้นฐาน นี่เป็นการเพิ่มข้อความทางกฎหมายที่ทำให้เกิดการตีความได้กว้างขวางมาก

-          ไอลอว์จะยังไม่รวบรวมรายชื่อยกเลิกการพิจาณาทันทีเดี๋ยวนี้ ต้องการรอดูการบังคับใช้ก่อน
 

ชวรงค์ : “ถ้ามันแย่กว่าเดิม ผมคงให้คนของเราออกมา ไม่ร่วมกระบวนการกับเขา” 
                “ร่างสมัยรัฐบาลทักษิณเลวร้ายกว่านี้มาก”

-          เราติดตามการทำกฎหมายนี้มาตั้งแต่ปี 2550 กฎหมายนี้เริ่มร่างมาตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทยซึ่งฉบับนั้นเลวร้ายกว่านี้ “ร่างนั้นเลวร้ายกว่านี้เยอะมาก แต่ด้วยพลังของพวกเราที่ช่วยกันตอนนั้น เราทำร่างสู้กับกระทรวงไอซีทีปี 2550 ส่งคนไป 3-4 คน สู้กับ สนช.ตอนนั้น ข้อดีคือเป็นกฎหมายฉบับแรกที่เข้าสู่ สนช.ยุคนั้นเลยมีเวลาพิจารณาเยอะ ใช้เวลาประมาณ 6 เดือนกว่า ก็ไม่ได้เป็นที่พอใจทั้งหมด ได้ระดับหนึ่ง ยังมีข้อห่วงกังวล เช่น 14(1) ถูกเอาไปเชื่อมโยงฟ้องคดีหมิ่นประมาท”

-          ตามฉบับเก่านั้นกระทบกับสื่อกระแสหลัก คือ การฟ้องหมิ่นประมาทสื่อหนังสือพิมพ์นั้นจะมีอายุความ 6 เดือนถึง 1 ปีหลังตีพิมพ์ แต่หากนำขึ้นเว็บอายุความไม่มี เจอเมื่อไรฟ้องได้เมื่อนั้น และตอนนี้สื่อหลักก็ทำเว็บกันหมด ดังนั้นการแก้ไขในร่างล่าสุดนี้ขอมองต่างว่า เป็นเรื่องนี้ดี ไม่ใช่ ลิเก กับการระบุลงไปว่า “อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา”  เพราะอย่างน้อยสื่อหลักก็สบายใจที่จะไม่เอามาตรา 14 มาใช้ฟ้องพ่วงในคดีหมิ่นประมาท แม้คดีหมิ่นประมาทตามกฎหมายอาญาเราจะไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว มันเป็นปัญหากระทบต่อเสรีภาพสื่อ

-          คำว่า “ที่บิดเบือน” ไม่แน่ใจว่าจะนำมาใช้ในทางปฏิบัติได้แค่ไหน รัฐบาล คสช. ค่อนข้างฝังใจกับเรื่องนี้มาก เขาจะรู้สึกว่าบางทีในโลกออนไลน์มีการกล่าวหากันโดยเอาข้อมูลที่ไม่ใช่มากล่าวหากันแล้วเอาผิดไม่ได้ นี่เป็นวิธีคิดของเขา ก็คงต้องช่วยกันเวลาลงสู่การปฏิบัติ

-          มาตรา 15 ดีขึ้นในแง่ที่ทำให้มีกระบวนการในการคัดกรอง ส่วนกฎกระทรวงในการ notice and take down เคยเสนอว่าต้องไม่น้อยกว่าที่ศาลวางบรรทัดฐานไว้ใน “คดีเว็บบอร์ดประชาไท” คือ 11 วัน เพราะเราเห็นว่า 3 วันนั้นน้อยไป  

-          ส่วนกลไกต่างๆ นั้น รมว.ดิจิทัลฯ คนใหม่เข้าใจเรื่องสิทธิเสรีภาพทางออนไลน์อยู่แล้ว เราวางแผนจะคุยกับท่านอยู่ว่าการทำกฎกระทรวงที่จะออกตามกฎหมายนี้ในหลายมาตรา ตรงนี้ต้องมีการทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นให้ทั่วถึง

-          มาตรา 20 อยากทำความเข้าใจว่า เราเองก็เป็นส่วนหนึ่งที่บอกว่า ไม่เอาแบบที่เขียนว่าไม่ผิดกฎหมายแต่จะเอาผิด หากดูฉบับปี 2550 มีเรื่องนี้อยู่แล้ว ไม่มีกรรมการกลั่นกรองอะไรด้วยซ้ำ เจ้าหน้าที่นำเรื่องไปขอให้ศาลสั่งแล้วปิดได้เลย แต่ในร่างใหม่มีกระบวนการในเรื่องนอกจากมีกรรมการกลั่นกรองแล้ว ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ต้องมีการไต่สวน มีกระบวนการหลายชั้นกว่าจะปิดได้

-          “ประเด็นคือ ร่างที่แก้ไขมันดีกว่าเดิม คือ ฉบับปี 2550 หรือไม่ ถ้ามันดีกว่าก็อาจต้องยอมรับมัน แต่ถ้ามันแย่ลงพวกผมคงไม่ยอมแน่ คงไม่นั่งเฉย ที่ผ่านมาเราก็แสดงบทบาทในการท้วงติงส่วนที่เป็นประเด็นปัญหา มีการยื่นหนังสือกรรมาธิการ มีการคุยกันในกลุ่มต่างๆ ส่งคนของเราเข้าไปอยู่ ถ้ามันแย่กว่าเดิม ผมคงให้คนของเราออกมาตั้งแต่แรก คงไม่ให้ร่วมกระบวนการเขา ถ้าไม่เอาฉบับนี้แล้วจะใช้ฉบับเดิมมันก็จะยังแย่เหมือนเดิมอย่างที่วิพากษ์วิจารณ์ ถามว่าถ้ามันไม่ดีแล้วทำไมรัฐบาลจากการเลือกตั้งไม่ทำ รัฐบาลจากการเลือกตั้งบางครั้งรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาสังคมน้อยกว่ารัฐบาลทหาร จะเล่าว่าคณะกรรมาธิการฯ ตอนแรกเหมือนมีใบสั่งต้องทำให้เสร็จภายใน 2-3 เดือน เราเข้าไปท้วงติงหลายเรื่องเลยยืดมาเป็น 6 เดือน แล้วก็ประชาพิจารณ์หลายรอบมาก เปิดให้คนเข้าไป แต่สังคมไทยก็แบบนี้ ถ้าไม่ถึงเวลาสร้างดราม่าคนก็จะไม่แสดงความคิดเห็นมาก พรรคการเมืองสองพรรค ถามว่าทำไมไม่แก้ให้ดีตั้งแต่คุณมีอำนาจ มาตอนนี้ก็มาแสดงความเห็นเพื่อหาเสียง”

-          ไมได้สนับสนุนทั้งหมด มีหลายส่วนที่ไม่เห็นด้วย แต่มีหลายส่วนดีขึ้นก็ต้องยอมรับแล้วค่อยๆ แก้ไป
 

สฤณี: ความไม่ชัดเจนที่ผู้ประกอบการต้องแบก เส้นทางสู่ self-censorship 

-          พยายามมองจากฝั่งผู้ให้บริการต่อ พ.ร.บ.นี้ ในส่วนของความกังวล มาตรา 15 ของเดิมผู้ให้บริการไม่มีช่องทางอะไรเลยที่จะแสดงออกว่าตัวเองไม่ได้ยินยอมให้เกิดความผิดตามมาตรา 14 แต่ของใหม่มีการแก้ไขซึ่งเราจะพบแนวปฏิบัติ notice and take down ในร่างประกาศของกระทรวงปรากฏในเว็บไซต์ของ สพธอ. บอกว่าหากผู้ให้บริการทำตามนี้ไม่ต้องรับผิดทางกฎหมาย ขั้นตอนคือ ผู้ใช้บริการที่ต้องการร้องเรียนต้องกรอกแบบฟอร์มร้องเรียน ระบุชื่อนามสกุล ระบุการทำผิด และชี้แจงด้วยว่าน่าจะเกิดการเสียหายอะไรบ้าง เมื่อแจ้งแล้วภายใน 3 วันผู้ให้บริการต้องทำการระงับเนื้อหานั้น กระบวนการนี้ไม่ต้องดูมาตรา 20 แล้ว มันให้ผู้ให้บริการทำเองได้เลย ซึ่งน่ากังวลยิ่ง ผู้ให้บริการจะมั่นใจได้อย่างไรว่าที่มีผู้ร้องเรียนมานั้นถูกหรือไม่ถูกในเมื่อ 14(2) มันกำกวมมาก

-          ผู้ร่างบอกว่ากฎกระทรวงนี้เอามาจากกฎหมายคุ้มครองลิขสิทธิ์ของอเมริกา ซึ่งระบุว่าถ้าเป็นโฮสต์ไม่ต้องรับผิดถ้าทำตามขั้นตอน คือ เจ้าของลิขสิทธิ์ส่งหนังสือไปให้โฮสต์ ถ้าโฮสต์ตรวจสอบแล้วพบชัดเจนว่าเข้าข่ายผิดลิขสิทธิ์ก็จะส่งให้เจ้าของเว็บหรือคนนำเข้าข้อมูลนั้น ถ้าคนนำเข้าข้อมูลมั่นใจว่าไม่ละเมิดก็สามารถส่งหนังสือค้านกลับไปได้ แต่ก็จะเริ่มมีภาระทางกฎหมายแล้วว่าเขาอาจเริ่มกระบวนการฟ้องร้อง ที่ผ่านมาใช้มานานแล้วก็มีปัญหาเยอะ เช่น หลายคนบอกว่าไม่มีบทลงโทษอะไรเลยสำหรับคนแจ้งเตือนแบบหลอก กูเกิลระบุว่า 37% ที่ร้องเรียนเรื่องลิขสิทธิ์ตรวจสอบแล้วพบว่าไม่เกี่ยวอะไรเลยกับลิขสิทธิ์เลย ในจำนวนนี้ 57% เป็นเรื่องการพยายามปิดปากคู่แข่ง นี่ขนาดแค่เนื้อหาลิขสิทธิ์เท่านั้นยังมีปัญหามากมาย หากผู้ให้บริการต้องตีความว่าอะไรบิดเบือนยิ่งยากขึ้นมากและเป็นแรงจูงใจที่จะเซ็นเซอร์ตัวเองอย่างมาก ต้นทุนก็จะสูงขึ้นเพราะต้องมีคนมาดูแลตรงนี้ ถ้ามั่นใจว่าสิ่งที่มีคนร้องมานั้นไม่ผิด จะไม่ปิดกั้นก็อาจต้องเตรียมตัวสู้คดี

-          มาตรา 20  อยากให้สื่อและประชาชนช่วยติดตามดูในกฎกระทรวง ซึ่งมีร่างประกาศบอกว่า เพื่อประโยชน์ในการระงับหรือแพร่หลายข้อมูล ห้พนักงานเจ้าหน้าที่ระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลนั้นเอง และเชื่อมโยงกับระบบของผู้ให้บริการได้เองด้วย มันฟังดูเหมือนเขากดเองได้ แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าจะไม่กระทบกับข้อมูลส่วนอื่นของผู้ให้บริการ

-          ยังมีคำว่า “ให้ดำเนินการทางเทคนิคใดๆ ที่ได้มาตรฐานและเกิดผลตามคำสั่งศาล” ปัจจุบันเว็บหลายเว็บมีการเข้ารหัสให้เป็นมาตรฐานสากลในเรื่องความเป็นส่วนตัว ถ้าเขาดำเนินการเช่นนั้นตามปกติแล้วต้องเจอด่านที่เข้ารหัส “มาตรการทางเทคนิคใดๆ” ที่ทำให้ปิดกั้นได้สำเร็จได้นั้นมันคืออะไร

-          อีกประเด็นที่สำคัญมาก คือ ต้นปีที่แล้วมีชุดกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทีล เป็นแพ็คเกจ 10 ฉบับ ตอนนี้แยกส่วนออกมา ระยะ 1-2 เดือนข้างหน้าจะมีกฎหมายในชุดเดิมทยอยเข้า สนช. คือ ความมั่นคงไซเบอร์ และพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งดูเหมือนจะดำเนินแนวทางสวนทางกับชื่อกฎหมาย ยังไม่นับรวม พ.ร.บ. กสทช. ซึ่งเกี่ยวกับเสรีภาพสื่อมวลชนโดยตรง

-          สุดท้ายคงต้องตั้งคำถามว่าเราอยากเห็นสังคมออนไลน์แบบนไหน เช่น อยากให้คนคิดเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น มีทักษะความคิดเชิงวิพากษ์ มันไม่มีทางเกิดได้ในสังคมที่เรายกอำนาจให้การตัดสินความจริง การบิดเบือน ข้อเท็จจริง ให้ศาลหรือกลุ่มบุคคลตัดสิน แม้แต่วิทยาศาสตร์ยังไม่มีความจริงสัมบูรณ์นับประสาอะไรกับโลกออนไลน์
 

ฐิติรัตน์: หลักการเขียนกฎหมายทั่วโลกไม่ใช้คำกำกวม

-          จะพูดถึงเนื้อหาและกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ไขกฎหมาย โดยส่วนตัวเข้าใจในเจตนาดีที่ของเจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานอธิบายว่าพยายามแก้ในข้อที่เป็นปัญหาเดิม เช่น ม.14 แต่ภาคประชาชนก็มีคำถามว่าแก้ได้จริงหรือเปล่า

-          ประเด็นที่พูดกันมากคือ เทคนิคการฟ้องแบบไม่เอาผล แต่เป็นการฟ้องเพื่อต้องการให้หยุดการกระทำใดๆ หรือที่เรียกว่า “ปิดปาก” ผู้วิพากษ์วิจารณ์นั้นเป็นปัญหาของฉบับเดิม แต่ฉบับแก้ไขนี้นอกจากปัญหานี้จะไม่หมดไปแล้วยังอาจเกิดขึ้นได้ง่ายขึ้น เช่น การเพิ่มคำว่า “บิดเบือน” อีกทั้งวิธีการที่ภาครัฐบอกว่าเป็น “การสร้างสมดุล” นั้นสะท้อนผ่านการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองเนื้อหา 9 คน ในจำนวนนี้ให้ตัวแทนฝ่ายสื่อและฝ่ายสิทธิมนุษยชน 3 คน และการโหวตใช้เสียงข้างมาก อย่างไร 3 คนก็ไม่มีสิทธิชนะ   

-          การสร้างสมดุลในกฎหมายนั้นเป็นปัญหาโลกแตกของทุกที่ เถียงกันไม่จบไม่สิ้น แต่สิ่งที่เขาพยายามให้รัฐบาลทำคือ การลดใช้คำที่กำกวมลงให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ และอย่าคิดว่าการให้กลุ่มบุคคลหรือศาลกลั่นกรองจะทำให้คำนั้นชัดเจน เพราะสุดท้ายก็อาศัยดุลยพินิจของคนกลุ่มหนึ่งอยู่ดี

-          ที่อยากชวนคิดกันต่อ โลกอินเทอร์เน็ตเสรีมากและรัฐอาจต้องการควบคุมบางประการ คำถามคือ กฎหมายควรทำหน้าที่อะไรบ้าง ควรชี้นำ ควรคิดแทนเลยหรือเปล่า ส่วนตัวขอเสนอว่า กฎหมายไม่ควรจะควบคุมอินเทอร์เน็ตมากไป เพราะอาจบังคับใช้ไม่ได้ถ้าตีกรอบมากขนาดนั้นหรือไม่สะท้อนความคิดของสังคมจริงๆ เช่น การที่ทุกคนต้องลบข้อมูลที่ศาลสั่งว่าเป็นข้อมูลเท็จมันเป็นไปไม่ได้ มันจะกลายว่าคนไม่เชื่อกฎหมาย และพอจะกำกับมากเกินไปก็เป็นการให้ดุลยพินิจกับเจ้าหน้าที่อาจนำไปสู่การ abuse of power สุดท้าย มันจะไปขัดขวางการเจริญเติบโตของวิจารณญาณของคนในสังคมเอง
 

อังคณา:  กสม.เสนอข้อกังวลต่อ สนช.แล้วหลายรอบ

-          เห็นด้วยที่จะต้องปรับปรุง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 แต่หลักการสำคัญต้องดำรงอยู่คือการเคารพเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่ไม่เกิดผลกระทบต่อสังคมหรือผู้อื่น

-          กสม. มีการทำข้อห่วงกังวลกับ สนช.หลายมาตรา เช่น การกำหนดความผิดการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ การกำหนดว่าอะไร จริง หรือ เท็จ ไม่มั่นใจว่าคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาจะวินิจฉัยได้อย่างมีคุณภาพ เช่น รายงานการซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐ เราจะสามารถพิสูจน์ความจริงในเรื่องนี้ได้อย่างไร (ในเมื่อผู้ถูกกล่าวหาและผู้มีอำนาจในการปิดกั้นข้อมูลคือรัฐเอง)

-          ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองฯ  ICCPR การออกกฎหมายใดๆ ในการจำกัดสิทธิความเป็นส่วนตัวหรือการแสดงออกโดยอาศัยความมั่นคงแม้เป็นสิ่งที่รัฐกระทำได้แต่ต้องไม่อ้างอย่างกว้างขวางและกระทบสิทธิบุคคลเกินสมควร ป้องกันไม่ให้รัฐใช้อำนาจเกินขอบเขต แต่สนช.ผ่านกฎหมายที่มีคำ “ความมั่นคง” อยู่ฉบับ แม้แต่ พ.ร.บ.ความเท่าเทียมทางเพศก็ให้เลือกปฏิบัติได้โดยอ้างความมั่นคงของชาติ เรียกว่าตีความอย่างกว้างขวางมาก เปิดโอกาสให้ตีความ “อย่างไร้ขอบเขต”

-          ตัวอย่างคดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ที่เกิดขึ้น ในฐานะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองฯ มีชาวบ้านหลายพื้นที่ถูกฟ้องโดยกฎหมายนี้จากเจ้าหน้าที่และเอกชนอย่างไม่เป็นธรรม  
 

อรพิณ:  ไทยผู้นำเทรนด์ภูมิภาค เรื่องเสรีภาพ(ที่ลดลง)  

-          ประเทศไทยนำเทรนด์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พอสมควร เป็นประเทศแรกๆ ที่มี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์  ในขณะที่ประเทศอื่นๆ เพิ่งทยอยมีเมื่อ 4-5 ปีให้หลังนี้เอง

-          พ.ร.บ.คอมฯ ออกแต่ละครั้งก็เข้มงวดขึ้นเรื่อยๆ และล้วนปรากฏในยุครัฐบาลทหารตลอด ส่งผลต่อการจัดอันดับเสรีภาพที่ไทยเคยอยู่ในกลุ่มมีเสรีภาพจนมาอยู่ในกลุ่มไม่มีเสรีภาพ  ขณะที่กฎหมายเข้มงวดขึ้น ภาคประชาสังคมกลับอ่อนแอลง สื่อมวลชนก็แยกออกจากการเคลื่อนไหวออกจากประชาชน ไม่เหมือนกระแสช่วงปฏิรูปสื่อเมื่อปี 2540 ที่สื่อและภาคประชาสังคมเป็นเนื้อเดียวกันในการผลักดันวาระนี้ ตอนนี้สมาคมสื่อค่อนข้างพึงพอใจกับร่างนี้ แต่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมองต่างออกไป

-          ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้คือ มาตรา 14 โดยเฉพาะคำว่าข้อมูลเท็จ ในฐานะที่ไม่ใช่นักกฎหมายเกิดข้อสงสัยว่า จำเป็นไหมที่คนต้องถูกห้ามพูดเรื่องโกหก มันอาจเป็นเรื่องไม่ดี แต่เราจำเป็นต้องใช้กลไกกฎหมายในการเอาคนเข้าคุกด้วยโทษหนักขนาดนี้หรือเปล่า

-          เมื่อดูกฎหมายเพื่อนบ้าน ทุกประเทศค่อนข้างย้ำเรื่องความมั่นคงการก่อการร้าย วิธีการเขียนต่างกันไป แต่ไทยย้ำเรื่องข้อมูลเท็จ โดยมีลาวและเวียดนามอีกสองประเทศที่เขียนคล้ายๆ กัน ของลาวใช้คำว่า “ข้อมูลที่ไม่เป็นจริง”

-          เนื่องจากคนใช้เทคโนโลยีมากขึ้น รัฐแต่ละรัฐก็จะหันมาตรวจตราข้อมูลในโลกออนไลน์มากขึ้น หลายประเทศยังมีกลไกที่จะปิดกั้นข้อมูลในออนไลน์ ยกเว้นฟิลิปปินส์ ข้อสังเกตคือ เวลาที่เราคุยกันเรื่อง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หลายครั้งมีตัวอย่างที่ทีมที่เกี่ยวข้องกับการร่างกฎหมายหยิบยกมาพูดและมองว่ามันไม่กระทบกับเสรีภาพในการแสดงออกและสื่อ แต่ถ้าดูภาพรวมในเรื่องคดีทั้งไทยและภูมิภาคก็ใช้กฎหมายลักษณะนี้ในจัดการปิดปากกับคนที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐเป็นหลัก และแม้ท้ายที่สุดแม้ผู้วิจารณ์จะชนะคดี แต่ต้นทุนของการต้องสู้คดีมันสูงมาก สำหรับคนที่มีฐานะทางสังคม สื่อมวลชนมีสังกัดอาจสามารถจ่ายทั้งเงินทั้งเวลาได้ แต่กับคนธรรมดาอาจลำบากและจะนำไปสู่การเซ็นเซอร์ตัวเองมากขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net