Skip to main content
sharethis

เพจ พลเมืองต่อต้าน Single Gatewayฯ เปิดซีรีย์ 'เยี่ยมบ้านบิ๊กตู่' วันที่ 2 อ้างทบ.จัดซื้อเครื่องถอดรหัสข้อมูล 4 เครื่อง ตั้งคำถามซื้อมาทำไม ไม่มีกฎหมายรองรับ ขณะที่ช่วงเย็นที่ผ่านมา 'ประยุทธ์' เผยจับกลุ่มแฮกไปหลายราย ย้ำดำเนินการตามกฎหมาย

26 ธ.ค. 2559  ภายหลังจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่าน ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ไปแล้ว ยังคงมีกระแสต่อต้านกฎหมายดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยหนึ่งในนั้นคือเพจ 'พลเมืองต่อต้าน Single Gateway : Thailand Internet Firewall #opsinglegateway' ที่มีปฏิบัติการต่อต้านผ่านโลกอินเตอร์เน็ต เช่นนัดชุมนุมออนไลน์หรือเข้าไปกด F5 ทางเว็บไซต์ราชการต่างๆ พร้อมทั้งผุดซีรีย์  'เยี่ยมบ้านบิ๊กตู่' ด้วยการเปิดเผยข้อมูลการใช้งบประมาณบางหน่วยงานในกองทัพบก ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นการไปเยี่ยมบ้าน “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีกำหนดการวันที่ 23, 26 และ 27 ธ.ค.นี้ ซึ่งเมื่อวันที่ 23 ธ.ค.ที่ผ่านมา เพจดังกล่าว ได้โพสต์ภาพที่ได้จากการบันทึกหน้าเว็บเพจ 3 ภาพ พร้อมอ้างว่า สามารถแฮกระบบของกองทัพภาคที่ 2 (ทภ.2)ได้เป็นที่เรียบร้อย อีกทั้งยังอ้างด้วยว่างบประมาณหลักของทหารหน่วยนี้คือการขุดลอกแหล่งน้ำปี 2559 ซึ่งมีการตั้งงบไว้ราว 184 ล้านบาท จากทั้งหมด 224 ล้านบาท หรือคิดเป็น 82% พร้อมตั้งข้อสังเกตถึงค่าปฏิบัติงานล่วงเวลาที่สูงถึงกว่า 4 ล้านบาท (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

ขณะที่วันนีิ้ (26 ธ.ค.59) เวลา 20.00 น. เพจ พลเมืองต่อต้าน Single Gatewayฯ ได้โพสต์ภาพที่ได้จากการบันทึกหน้าเว็บเพจจำนวน 5 ภาพ โดยอ้างว่าเป็นข้อมูลการจัดซื้อของกองทัพบก พร้อมระบุว่า พวกไปเจอว่า เครื่องมือถอดรหัส SSL อยู่ด้วย โดยได้จัดหามาตั้งแต่ปี งบประมาณ 59(ตค.58 กย.59) จึงเกิดข้อสงสัยมากมายว่า จึงจำเป็นต้องฝากคำถามไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ ว่า

การนำเอาเครื่องถอดรหัสข้อมูล รุ่น SSLX-GEO จำนวน 2 เครื่องและ รุ่น SSLX-T200 จำนวน 2 เครื่อง มาประจำการในปีประมาณ 2559 นั้น 1. กองทัพบกดำเนินเรื่องดังกล่าว จริงใช่หรือไม่ อย่างไร? 2. กองทัพบก เอาเครื่องมือดังกล่าวมาทำอะไร เพื่อวัตถุประสงค์อะไร ?

3. กองทัพบก เอาเครื่องมือดังกล่าวมาสอดแนมประชาชนหรือไม่ อย่างไร และได้ปฏิบัติการกับใครไปแล้วบ้าง กี่ราย? 4. ในการปฏิบัติการดังกล่าว กองทัพบกใช้อำนาจตามกฎหมายใด(ระบุมาตราให้ชัดเจน) มากระทำการตามข้อ 3 และใครเป็นผู้ลงนามอนุมัติการใช้งานดังกล่าว ? 5. ในขณะที่ กฎหมายว่าด้วยความั่นคงไซเบอร์ ยังไม่สภาพบังคับใช้ในขณะนี้ เนื่องจากยังไม่ได้ผ่านสนช.(อยุ่ระหว่างรอการพิจารณาอยู่) เท่ากับว่า ยังไม่สามารถบังคับใช้ได้ตามกฎหมาย แต่ทางกองทัพบกได้ปฏิบัติการไปล่วงหน้า โดยไม่มีอำนาจตามกฎหมาย ใช่หรือไม่ อย่างไร ? 6. ในการสั่งซื้ออุปกรณ์ที่กองทัพบกไม่มีอำนาจตามกฎหมายในขณะสั่งซื้อ สามารถทำได้หรือไม่ อย่างไร ? และ 7. ลุงตู่เพิ่งให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า จะไม่ต้องการไปสอดแนมประชาชน แล้วจะอธิบายการกระทำแบบนี้อย่างไร?
 
"นี่เป็นกรณีศึกษาที่สำคัญ รวมถึงอาจเป็นตัวอย่างที่เป็นเหตุผลสำคัญในการปิดหู ปิดตาประชาชน เนื่องจากรัฐบาลได้มีการกระทำที่ผิดกฎหมาย ทั้งในส่วนการงบประมาณและในส่วนทางใช้อำนาจเกินขอบเขตของกฎหมาย หลายหน่วยงานภาครัฐ มีการกระทำทั้งสิ้น หากไม่มี พวกเรา ที่นำเรื่องราวเหล่านี้ มาตีแผ่ แล้วประชาชนจะสามารถทราบได้อย่างไร? ว่าเรื่องราวเหล่านี้เกิดขึ้น" เพจ พลเมืองต่อต้าน Single Gatewayฯ โพสต์ พร้อมระบุว่าว่า พรุ่งนี้(27 ธ.ค.59) เวลา 20.00 น. ขอแทรกรายการ "ทุกระบบเจาะได้(2)" แทนรายการ เปิดบ้านลุงตู่ วันที่ 3 ก่อน
 

ประยุทธ์เผยจับกลุ่มแฮกไปหลายราย ย้ำดำเนินการตามกฎหมาย

ขณะที่เมือช่วงเย็นที่ผ่านมา สำนักข่าวไทย รายงานด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาคิ หรือ คสช. กล่าวถึง กรณีกลุ่มต่อต้าน พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ฉบับใหม่ ประกาศเตรียมแฮคข้อมูลของนายกรัฐมนตรี ว่า เรื่องนี้มีกฎหมายดูแลอยู่แล้ว ที่ผ่านมาได้มีการจับกุมผู้ที่ทำผิดไปหลายราย
 
“การกระทำที่เกิดขึ้น สมควรกระทำหรือไม่ เพราะมีการละเมิดส่วนราชการ และกรณีเช่นนี้ถือว่าผิดกฎหมายในทุกประเทศ และต้องถูกดำเนินคดี อยากให้ติดตามความคืบหน้าเรื่องดังกล่าวจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะมีข้อมูลมากพอสมควร” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
 
พล.อ.ประยุทธ์ ย้ำว่าการออก พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ฉบับใหม่ ได้มีการกำหนดรายละเอียดไว้ชัดเจนแล้ว ซึ่งมีคณะกรรมการพิจารณา 9 คน และไม่ได้มาจากเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้น แต่มาจากทุกฝ่ายในการกลั่นกรองการกระทำความผิด ดังนั้น ขอให้ไว้วางใจและมีความเข้าใจตรงกัน มองที่ประโยชน์ของกฎหมาย 
 
วันเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจ นำโดย พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) พร้อมด้วย พล.ต.อ.เดชณรงค์ สุทธิชาญบัญชา รอง ผบ.ตร. ,พล.ต.ต.ศุภเชษฐ์ โชคชัย ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบก.ปอท.) ,พล.ต.ต.ศิริพงศ์ ติมุลา ผบก.สนับสนุนทางเทคโนโลยี ,พล.ต.ต.ปิยะพันธ์ ปิงเมือง ,พล.ต.ต.ทรงพล วัธนะชัย และ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร. ร่วมกันแถลงจับกุมผู้ต้องสงสัยกลุ่มแฮกเกอร์พร้อมของกลางอุปกรณ์เกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์จำนวนมาก อาวุธปืนและเครื่องกระสุนอีกหลายรายการ โดยกลุ่มแฮกเกอร์ดังกล่าวได้ทำการโจมตีข้อมูลเว็บไซต์ของรัฐบาล ก่อนที่ในเวลาต่อมาทางกองทัพจะสามารถควบคุมตัวได้จำนวน 9 คน และส่งมอบให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการสอบสวนดำเนินคดี ซึ่ง พล.ต.อ.จักรทิพย์ นำตัว ณัฐดนัย คงดี อายุ 19 ปี หนึ่งใน 9 คนที่ถูกจับกุมมาสอบสวนด้วยตัวเอง เนื่องจากเป็นคนที่มีพฤติการณ์ชัดเจนที่สุด (อ่านรายละเอียด)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net