Skip to main content
sharethis

หนึ่งในการเคลื่อนไหวที่น่าสนใจที่สุดในโลกของปี 2559 คือการเคลื่อนไหวต่อต้านโครงการท่อส่งน้ำมันดาโคตาแอคเซสไปป์ไลน์หรือแบคเคนไปป์ไลน์ โดยกลุ่มชนพื้นเมืองในสหรัฐฯ และกลุ่มอื่นๆ ที่มีแนวคิดเดียวกัน ที่มีการใช้แฮชแท็ก #NoDAPL ในสื่อออนไลน์เมื่อมีการพูดถึงเรื่องนี้ การประท้วงเริ่มขึ้นในช่วงเดือน เม.ย. 2559 และยังคงมีการปักหลักประท้วงยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าจะประสบความสำเร็จในการประท้วงบ้างแล้วบางส่วนหลังจากที่ถูกปราบปรามและมีคนถูกจับกุมซ้ำๆ หลายครั้ง รวมถึงมีการจับกุมสื่อที่ทำข่าวการประท้วงด้วย

โครงการท่อส่งน้ำมันดังกล่าวเป็นโครงการที่ต้องการสร้างท่อส่งน้ำมันจากใต้พื้นที่ทางตะวันตกของรัฐนอร์ทดาโคตาไปจนถึงทางตอนใต้ของรัฐอิลินอยส์ มีการตัดผ่านแม่น้ำมิสซิสซิปปี และมิสซูรี รวมถึงส่วนหนึ่งของทะเลสาบโอวาฮีใกล้กับพื้นที่เขตอนุรักษ์ของชนพื้นเมืองสแตนดิงร็อคซูส์ ทำให้ชนพื้นเมือง 'สแตนดิงร็อคซูส์' หลายคนมองว่าท่อส่งน้ำมันดังกล่าวจะสร้างมลภาวะต่อแหล่งน้ำของพวกเขา รวมถึงยังตัดผ่านพื้นที่ทำพิธีฝังศพตามประเพณีดั้งเดิมของกลุ่มชนพื้นเมืองด้วย จากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและประเพณีพื้นถิ่นทำให้พวกเขาลุกขึ้นมาต่อสู้ในเรื่องนี้

ลาดอนนา เบรฟ บูล อัลลาร์ด นักประวัติศาสตร์ของชนเผ่าและผู้จัดการประท้วงระบุผ่านข้อความทางอินเทอร์เน็ตว่า ขบวนการปกป้องแหล่งน้ำและผืนดินศักดิ์สิทธิ์ของพวกเขาได้รับการสนับสนุนจากประชาชนและผู้มาร่วมตั้งแคมป์พักแรมในกลุ่มที่ชื่อว่า "แคมป์แห่งหินศักดิ์สิทธิ์" กลุ่มผู้ชุมนุมยังยื่นข้อเสนอให้องค์กรคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและหน่วยงานวิศวกรรมของกองทัพสหรัฐฯ ประเมินผลกระทบด้านระบบนิเวศของโครงการท่อส่งน้ำมันนี้อีกครั้ง

นอกจากนี้ในเดือน ก.ค. ที่ผ่านมายังมีกลุ่มเยาวชนที่จัดการ "วิ่งเชิงจิตวิญญาณ" ข้ามรัฐหลายรัฐเพื่อให้เคารพในทรัพยากรน้ำของชนพื้นเมืองและเป็นหนึ่งในการประท้วงต่อต้านการสร้างดาโคตาแอคเซสไปป์ไลน์ด้วยการยื่นคำร้องต่อหน่วยงานด้านวิศวกรรมของกองทัพสหรัฐฯ ให้หยุดกิจกรรมการก่อสร้างทั้งหมดและยกเลิกคำสั่งของหน่วยงานวิศวกรรมทั้งหมดจนกว่าจะมีการปรึกษากับชนเผ่าและมีการพิจารณาเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสม จากที่ก่อนหน้านี้ หน่วยงานวิศวกรรมของสหรัฐฯ เป็นผู้สั่งให้ดำเนินการก่อสร้างต่อไป

จนถึงช่วงกลางปีการประท้วงในพื้นที่ก่อสร้างท่อส่งน้ำมันก็ขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมทีที่มีผู้คนปักหลักชุมนุมอยู่เพียงหลักร้อยแต่ต่อมาก็เพิ่มขึ้นหลายหมื่นคน มีชนพื้นเมืองอื่นๆ รวมถึงชนพื้นเมืองจากอเมริกาใต้เข้าร่วมรวมแล้วมากกว่า 100 ชนชาติ มีองค์กรสิ่งแวดล้อม องค์กรที่ทำประเด็นอื่นๆ ดาราอย่างไชลีน วูดลีย์ เข้าร่วม มีนักการเมืองสายเขียวอย่างจิลล์ สไตน์ และนักการเมืองสายก้าวหน้าอย่าง เบอร์นี แซนเดอร์ส ร่วมแสดงการสนับสนุนด้วยจนสื่อบีบีซีระบุว่าการประท้วงในครั้งนี้เป็นการรวมตัวกันครั้งใหญ่ที่สุดของชนพื้นเมืองอเมริกาตลอดมากกว่า 100 ปีที่ผ่านมา ขณะที่วอชิงตันโพสต์ระบุว่าเป็น "การเคลื่อนไหวระดับชาติของกลุ่มชนพื้นเมืองอเมริกัน"

อย่างไรก็ตามมีการปราบปรามและจับกุมกลุ่มผู้ประท้วงหลังจากที่บริษัทเอเนอร์จีทรานสเฟอร์พาร์ทเนอร์นำรถแทรกเตอร์เกลี่ยดินรุกเข้าไปในพื้นที่ ทำให้มีกลุ่มชนพื้นเมืองบางส่วนเข้าไปยึดเครื่องจักรการก่อสร้างทั้งหลายเอาไว้ มีการปราบปรามผู้ชุมนุมด้วยการใช้สเปรย์พริกไทย ใช้กระบองทุบตี รวมถึงปล่อยสุนัขเข้าไปกัด แต่กลุ่มผู้ชุมนุมก็ยังคงพยายามปักหลักชุมนุมและเรียกร้องการสนับสนุนต่อไป

นอกจากถูกใช้กำลังปราบปรามแล้วยังมีผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่งถูกจับกุมรวมถึงดาราอย่างไชลีน วูดลีย์ ผู้ถูกจับทั้งที่กำลังถ่ายทอดสดประสบการณ์การชุมนุมของตนเองผ่านเฟซบุ๊กโดยที่คลิปดังกล่าวมีผู้เข้าชมมากกว่า 3,700,000 คน (สำรวจเมื่อวันที 12 ต.ค.) อีกทั้งยังมีการจับกุมสื่ออย่างกรณีของเอมี กูดแมน จาก Democracy Now! ซึ่งถูกกล่าวหาเรื่องก่อจลาจลแต่ต่อมาศาลไม่รับฟ้อง


เฟซบุ๊กไลฟ์ของ ไชลีน วูดลีย์



รายงานของ เอมี กูดแมน ใน Democracy Now!


จนกระทั่งในเดือน ก.ย. พวกเขาก็ประสบความสำเร็จบางส่วนจากการที่ ผู้พิพากษาเจมส์ บัวส์เบิร์ก ประกาศหยุดการก่อสร้างชั่วคราวบางส่วนใต้ทางหลวงรัฐนอร์ทดาโคตาหมายเลข 1806 กับทางฝั่งตะวันออกของทะเลสาบโอวาฮี ด้วยสาเหตุที่ว่าหน่วยงานของกองทัพสหรัฐฯ ไม่มีอำนาจตามกฎหมายเหนือที่ดินส่วนบุคคลแต่ยังคงสร้างออกไปทางฝั่งตะวันตกของทางหลวงได้

นอกจากนี้ยังมีการแฉโดยสื่อนอกกระแสของอเมริกันที่ระบุว่าทีมรักษาความปลอดภัยที่ทำงานให้กับโครงการท่อส่งน้ำมันมีหน่วย "ไทเกอร์สวอน" (TigerSwan) ซึ่งเคยทำงานให้กับรัฐบาลสหรัฐฯ ในปฏิบัติการที่อิรักและอัฟกานิสถานรวมอยู่ด้วย แต่ทางฝ่ายผู้ชุมนุมก็มีกลุ่มทหารผ่านศึกในสหรัฐฯ มากกว่า 3,000 คน เข้าไปช่วยเหลือกลุ่มชนพื้นเมืองที่กำลังถูกปราบปรามอย่างหนักด้วยความเชื่อที่ว่า "มีหน้าที่ต้องคุ้มครองประชาชน"

การกดดันต่อต้านท่อส่งน้ำมันไม่ได้มีแค่การประท้วงในพื้นที่หรือการประท้วงแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกันเท่านั้น บางส่วนยังใช้วิธีกดดันทางการเงินกับธนาคารที่ให้การสนับสนุนโครงการท่อส่งน้ำมัน ทั้งการส่งอีเมลและโทรศัพท์ไปทักท้วง รวมถึงการไปประท้วงกดดันที่หน้าอาคารสำนักงานด้วย ทำให้หนึ่งในธนาคารยักษ์ใหญ่ที่ให้ทุนกับโครงการท่อส่งน้ำมันประกาศว่าพวกเขาอาจจะระงับการสนับสนุนโครงการเนื่องจาก "การปฏิบัติต่อกลุ่มชนพื้นเมืองสแตนดิงร็อคซูส์"

การประท้วงและการปราบปรามยังคงดำเนินต่อมาเรื่อยๆ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2559 หน่วยวิศวกรรมของกองทัพสหรัฐฯ ประกาศยกเลิกการก่อสร้างท่อส่งน้ำมันใต้ทะเลสาปโอวาฮีซึ่งเป็นแหล่งเก็บน้ำสำคัญของกลุ่มชนพื้นเมืองเว้นแต่จะมีการทำสำรวจผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเต็มที่ซึ่งจะมีการพิจารณาเปลี่ยนเส้นทางการต่อท่อส่งน้ำมันไปยังพื้นที่อื่น

ถึงแม้ว่าคำประกาศนี้อาจจะเป็นแค่การยับยั้งการสร้างท่อส่งน้ำมันชั่วคราวและหลายคนก็มองว่าเป็นชัยชนะที่ใหญ่หลวงหลังจากที่ถูกปราบปรามด้วยความรุนแรงและถูกกวาดต้อนจับกุมมาเป็นเวลานาน แต่ก็มีนักกิจกรรมบางส่วนยังคงแสดงความสงสัยและมองเรื่องนี้อย่างระมัดระวังเพราะรัฐบาลสหรัฐฯ มีประวัติทรยศต่อคำสัญญาที่ให้ไว้กับกลุ่มชนพื้นเมืองมาโดยตลอดและเตือนให้กลุ่มผู้ประท้วงเฝ้าระวังเรื่องนี้ต่อไป นอกจากนี้ยังมีความกังวลว่าการเปลี่ยนขั้วการเมืองในระดับรัฐบาลกลางหลังจากการเลือกตั้งครั้งล่าสุดของสหรัฐฯ อาจจะทำให้เกิดการกลับลำหรือไม่

แน่นอนว่าการประท้วงต่อต้านดาโคตาแอคเซสไปป์ไลน์มีทั้งแง่มุมของความเจ็บปวดและความสำเร็จที่มาจากหลายปัจจัยรวมกัน แต่การต่อสู้ของพวกเขาก็ยังไม่จบลงง่ายๆ ทั้งการต้องคอยจับตามองให้รัฐบาลสหรัฐฯ ทำตามสัญญาและในบทความของนักกิจกรรม นาโอมิ ไคลน์ ก็ระบุว่าควรจะมีการเรียกร้องความเป็นธรรมและการชดเชยให้กับผู้ชุมนุมปกป้องผืนน้ำจำนวนมากที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ในช่วงที่มีการปราบปรามไม่ว่าจะถูกทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บหรือถูกจับกุม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net