Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

พลเอกศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (คนกลาง ที่มาภาพ เว็บไซต์กระทรวงแรงงาน)

เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2559 พลเอกศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยปลัดกระทรวงแรงงานและอธิบดีทุกกรม ได้ร่วมกันแถลงข่าวกรณีมอบของขวัญปีใหม่ 2560 ให้แก่ลูกจ้าง นายจ้าง และสถานประกอบการ รวม 10 เรื่อง ได้แก่

(1) การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2560 จำนวน 5-10 บาท  

(2) การนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาให้บริการจัดหางานต่างประเทศ

(3) บริการตรวจสภาพรถฟรี สอบถามเส้นทาง และนวดระหว่างเดินทางช่วงปีใหม่ ประจำจุดบริการบนถนนสายหลัก

(4) ส่งเสริมการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน โดยให้เงินอุดหนุนแก่ผู้ดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานจำนวน 10,000 บาท เมื่อมีผู้ผ่านการทดสอบทุกๆ 100 คน

(5) สนับสนุนผู้ประกอบกิจการที่ได้รับการรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงงานของตนเองสาขาระดับละ 10,000 บาท เพื่อส่งเสริมให้มีการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานของสถานประกอบกิจการ

(6) ส่งเสริมการจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบกิจการ

(7) จัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เรื่องประกันสังคม พร้อมมอบของที่ระลึกในการส่งแรงงานกลับบ้านช่วงปีใหม่ระหว่างวันที่ 29-30 ธันวาคม 2559 ณ สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ และบริษัทสมบัติทัวร์ (วิภาวดี)

(8) เพิ่มสิทธิตรวจสุขภาพฟรีแก่ผู้ประกันตนในสถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิ เริ่ม 1 มกราคม 2560

(9) เพิ่มค่าทันตกรรมจาก 600 บาท/ปี เพิ่มเป็น 900 บาท/ปี โดยไม่ต้องสำรองจ่ายทั่วประเทศ

(10) การคืนสภาพการเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 โดยยกร่าง พ.ร.บ. การกลับมาเป็นผู้ประกันตน พ.ศ. .... เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลที่สิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 เนื่องจากไม่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม สามารถขอกลับมาเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ได้

อย่างไรก็ตามจากการติดตามการทำงานของกระทรวงแรงงานมาตลอดปี 2559 พบว่า มี 10 ประเด็นที่ถูกหลงลืมในการแก้ไขปัญหา จนก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมต่อกลุ่มแรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ และแรงงานข้ามชาติ การกลบทับปัญหาด้วยของขวัญปี 2560 จึงยิ่งทำให้ปัญหาถูกหมักหมมและซุกไว้ใต้พรมมากยิ่งขึ้นไปอีก ได้แก่

(1) กระทรวงแรงงานไม่ปรับขึ้นค่าจ่างขั้นต่ำปี 2560 ใน 8 จังหวัด

(2) การนำ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาใช้ควบคุมการชุมนุมของสหภาพแรงงานซันโคโกเซ ประเทศไทย

(3) ช่องว่างของ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 กรณีถูกนายจ้างปิดงานของสหภาพแรงงานไมย์เออร์อลูมิเนียม, สหภาพแรงงานอ๊อฟโรดประเทศไทย และสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมโลหะแห่งประเทศไทย

(4) กระทรวงแรงงานไม่มีการเสนอให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และ 98 ส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิสหภาพแรงงานอย่างต่อเนื่อง

(5) สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดไม่มีมาตรการจัดการบริษัทแอลแอลไอที (ประเทศไทย) จำกัด กรณีไม่เปลี่ยนสถานที่ทำงานให้พนักงานที่ตั้งครรภ์จนเกิดการแท้งบุตร  

(6) ผู้ประกันตนมาตรา 39 พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ไม่สามารถชำระเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ณ ที่ทำการสำนักงานประกันสังคมต่างๆ ได้

(7) ผู้ประกันตนที่เป็นคนพิการเนื่องจากบาดเจ็บในงานตามมาตรา 33 พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ถูกบังคับให้ย้ายสิทธิไปอยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผลจากคำสั่ง คสช.ที่ 58 /2559

(8) ระเบียบกระทรวงแรงงาน ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกกรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้างและกรรมการผู้แทนฝ่ายลูกจ้างในคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2558 ขาดการมีส่วนร่วมจากแรงงานทุกกลุ่ม

(9) ประโยชน์ทดแทนผู้ประกันตนตามมาตรา 40 พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ถูกละเลยจากกรรมการประกันสังคมในการพิจารณาปรับเพิ่มขึ้น

(10) สำนักงานประกันสังคมจังหวัดนครปฐมปฏิเสธแรงงานข้ามชาติเข้าถึงกองทุนเงินทดแทน แม้มีสถานะเป็น “ลูกจ้าง” ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1558/2558

มีรายละเอียดแต่ละเรื่อง ดังนี้

(1) กระทรวงแรงงานไม่ปรับขึ้นค่าจ่างขั้นต่ำปี 2560 ใน 8 จังหวัด

คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2559 ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2560 โดยไม่ปรับขึ้นค่าจ้างใน 8 จังหวัด และปรับขึ้นจำนวน 5-10 บาท ในเพียง 69 จังหวัดเท่านั้น ซึ่งเป็นไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2559 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป โดยจังหวัดที่ไม่ปรับค่าจ้างรวม 8 จังหวัด ได้แก่ สิงห์บุรี ชุมพร นครศรีธรรมราช ตรัง ระนอง นราธิวาส ปัตตานี และยะลา

ในเรื่องนี้คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ได้เคยตั้งข้อสังเกตมาแล้วว่า มติเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำของคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดแต่ละจังหวัด ไม่ได้นำข้อมูลที่แท้จริงเรื่องดัชนีราคาผู้บริโภคระดับจังหวัดมาพิจารณา ที่ดัชนีราคาผู้บริโภคระดับจังหวัดในกลุ่มจังหวัด 8 จังหวัดบางจังหวัดที่ไม่ได้มีการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ สูงกว่ากลุ่มที่มีการปรับอัตราค่าจ้าง

อีกทั้งมติที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างไม่ได้นำปัจจัยเรื่องมาตรฐานค่าเฉลี่ยการครองชีพ และสภาพเศรษฐกิจและสังคม มาพิจารณาอย่างแท้จริง ตัวอย่างเช่น จังหวัดที่อยู่ติดกัน เช่น อ่างทอง (ปรับ 5 บาท) พระนครศรีอยุธยา (ปรับ 8 บาท) กับสิงห์บุรี (ไม่ปรับ) แม้จะคนละจังหวัดแต่ก็อยู่ในเขตเศรษฐกิจแบบเดียวกัน ซึ่งเมื่อเป็นเขตเศรษฐกิจแบบเดียวกันแล้วค่าครองชีพของแรงงานก็ย่อมไม่ต่างกัน

(2) การนำ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาใช้ควบคุมการชุมนุมของสหภาพแรงงานซันโคโกเซ ประเทศไทย

นับตั้งแต่ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ได้บังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2558 เป็นต้นมา ได้สร้างความสับสนให้กับกลุ่มแรงงานในระบบภาคอุตสาหกรรมต่างๆจำนวนไม่น้อยว่า การชุมนุมที่เป็นผลมาจากความขัดแย้งด้านแรงงานระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างที่ไม่สามารถยุติได้ หรือที่เรียกว่าการพิพาทแรงงาน ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 นั้น อยู่ในการบังคับใช้ของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯหรือไม่

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2559 สมาชิกสหภาพแรงงานซันโคโกเซ ประเทศไทย ประมาณ 500 คน ได้ไปชุมนุมที่ใต้ถุนกระทรวงแรงงาน เนื่องจากบริษัทซันโคโกเซ เทคโนโลยีประเทศไทย จำกัด สัญชาติญี่ปุ่น ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด ต.ปลวกแดง อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ผลิตอุปกรณ์ชิ้นส่วนรถยนต์ ส่งงานให้ลูกค้าที่ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของประเทศไทย เช่น โตโยต้า, ฮอนด้า, มิตซูบิชิ , ฟอร์ด, มาสด้า ฯลฯ ได้มีคำสั่งปิดงานสมาชิกสหภาพแรงงาน ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 จำนวน 663 คน และนำไปสู่การสั่งห้ามเข้าทำงานในโรงงานชั่วคราวและงดจ่ายค่าจ้างตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2558

ขณะเดียวกันนายจ้างก็มีมาตรการกดดันลูกจ้างที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานในรูปแบบต่างๆ เช่น การนำแรงงานเหมาค่าแรงและแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงาน, การสั่งให้ลูกจ้างล้างห้องน้ำ, การเปิดโครงการสมัครใจลาออกด้วยข้ออ้างเรื่องการขาดทุนแต่ก็มีการให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลา (OT) ควบคู่กันไป, การทำงานท่ามกลางความไม่ปลอดภัยในสภาพแวดล้อมในโรงงาน เป็นต้น

จากสถานการณ์ดังกล่าวจึงสร้างความวิตกกังวลใจต่อลูกจ้างว่าอาจนำไปสู่การเลิกจ้างสมาชิกสหภาพแรงงานทั้งหมด จึงทำให้เดินทางมาที่กระทรวงแรงงาน เพื่อขอความช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตามเมื่อสิ้นสุดเวลาราชการ กระทรวงแรงงานไม่อนุญาตให้สหภาพแรงงานฯค้างคืนภายในกระทรวง เนื่องจากถือว่ากระทำผิด พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 จึงแจ้งให้ออกไปชุมนุมที่บริเวณภายนอกกระทรวงแทน แต่สหภาพแรงงานยังคงมีการชุมนุมต่อไป เพราะเกรงจะประสบเหตุการณ์อันตรายไม่คาดฝันถ้าออกไปชุมนุมภายนอกในยามวิกาล

ในที่สุดกระทรวงแรงงานจึงได้เข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 จนทำให้มีตำรวจกว่า 200 นาย พร้อมรถตำรวจที่เปิดไฟด้านบนตลอดเวลา และรถที่มีกรงกักขัง เข้ามาประจำการในกระทรวงแรงงาน และได้มีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่กดดันผ่านตัวแทนผู้นำแรงงานที่ถูกควบคุมตัวไปที่ชั้น 6 บนกระทรวงแรงงาน เพื่อให้มีการสลายการชุมนุมสมาชิกสหภาพแรงงานกว่า 500 คน ที่มีทั้งกลุ่มแรงงานหญิง แรงงานตั้งครรภ์ และแรงงานที่ป่วย รวมอยู่ด้วย จนในที่สุดการกดดันดังกล่าว นำมาสู่การส่งกลับสมาชิกสหภาพแรงงานทุกคนในเวลาตี 1 ของค่ำคืนดังกล่าว โดยที่ไม่มีการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการปิดงานของนายจ้างแต่อย่างใด

(3) ช่องว่างของ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 กรณีถูกนายจ้างปิดงานของสหภาพแรงงานไมย์เออร์อลูมิเนียม, สหภาพแรงงานอ๊อฟโรดประเทศไทย และสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมโลหะแห่งประเทศไทย         

การปิดงานตามความหมาย พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 หมายถึง การที่นายจ้างปฏิเสธไม่ให้ลูกจ้างเข้าทำงานในสถานประกอบการชั่วคราว เนื่องจากมีปัญหาข้อพิพาทแรงงานที่ยังตกลงกันไม่ได้ เป็นมาตรการที่นายจ้างกดดันให้ลูกจ้างได้รับความเดือดร้อนในระหว่างปิดงาน เนื่องจากไม่มีรายได้ เพราะลูกจ้างไม่สามารถเข้าทำงานได้ ก็จะไม่ได้รับค่าจ้าง เพื่อให้ลูกจ้างยอมทำตามข้อเรียกร้องที่นายจ้างกำหนด อีกทั้งยังไม่ได้รับสิทธิแรงงานตามกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้องในระหว่างปิดงานนี้ด้วย เช่น ประกันสังคม, คุ้มครองแรงงาน , กองทุนเงินทดแทน

การปิดงานในทั้ง 3 กรณี เกิดขึ้นภายหลังจากที่สหภาพแรงงานได้ยื่นข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง และมีการเจรจาตามขั้นตอนของกฎหมายแรงงานสัมพันธ์มาเป็นระยะๆแต่ไม่สามารถตกลงได้ กลายเป็นข้อพิพาทแรงงาน และนำมาสู่การที่บริษัทได้ใช้สิทธิปิดงานเฉพาะสมาชิกสหภาพแรงงานเพียงเท่านั้น นี้ไม่นับว่านายจ้างไม่มาเจรจาตามที่พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานได้กำหนดไว้ก็ไม่มีความผิดแต่อย่างใด เพราะกฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ ยิ่งทำให้ความขัดแย้งขยายเวลาไปโดยไม่มีจุดสิ้นสุดที่แน่นอน

ปัญหาสำคัญในเรื่องนี้ ฝ่ายวิชาการคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ได้วิเคราะห์ไว้อย่างชัดเจนว่า

“แม้สิทธิในการปิดงานเป็นมาตรการทางแรงงานสัมพันธ์ ที่รับรองให้ฝ่ายนายจ้างใช้ในการกดดันหรือบีบบังคับลูกจ้างให้ตกลงตามที่นายจ้างเรียกร้อง หรือยินยอมถอนข้อเรียกร้องของตน แต่กฎหมายในหมวด 3 การปิดงาน มิได้บัญญัติถึงรายละเอียดของการปิดงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปิดงานบางส่วน คือ เฉพาะสมาชิกสหภาพแรงงานที่เกี่ยวข้องกับการยื่นข้อเรียกร้อง

การไม่บัญญัติถึงความหมาย ขอบเขต และความชอบด้วยกฎหมายของการปิดงานบางส่วน การไม่บังคับให้นายจ้างและลูกจ้างต้องเจรจากันเสมอเมื่อมีการแจ้งข้อเรียกร้องต่อกัน การเร่งรัดระยะเวลาในการดำเนินกระบวนการระงับข้อพิพาทแรงงานในแต่ละขั้นตอน ที่ปรากฎในหมวด 3 ทำให้การปิดงานสามารถกระทำได้ง่ายดายและรวดเร็วเกินไป

เมื่อนายจ้างได้ใช้สิทธิปิดงานเฉพาะสมาชิกสหภาพแรงงาน ซึ่งนำมาสู่การงดจ่ายค่าจ้าง เป็นการกดดันให้ลูกจ้างต้องออกจากงานทางอ้อม โดยที่บริษัทแทบจะไม่ได้รับความเสียหายใดๆเลย และลูกจ้างที่ถูกปิดงานก็ไม่มีหลักประกันว่าจะได้กลับเข้าทำงานหรือไม่ เมื่อใด อีกทั้งยังทำให้ลูกจ้างคนอื่นๆที่มิได้ถูกปิดงานไม่กล้าที่จะดำเนินการใดๆต่อลูกจ้างที่ถูกปิดงานไป เนื่องจากเกรงว่านายจ้างจะใช้การปิดงานบางส่วนกับตนบ้าง

สำหรับในเรื่องของการมิได้กำหนดระยะเวลาในการปิดงานว่านายจ้างจะสามารถปิดงานได้นานเพียงใด ทำให้ลูกจ้างที่ถูกปิดงานได้รับความเดือดร้อนจากการขาดรายได้นานเกินสมควร การไม่เรียกกลับเข้าทำงานจะทำให้ลูกจ้างเหล่านั้นต้องขาดรายได้และผลประโยชน์อันควรได้รับจากการทำงานเป็นเวลานานเกินสมควร เมื่อไม่มีรายได้สำหรับเลี้ยงชีพ ในที่สุดลูกจ้างเหล่านั้นก็จะต้องออกไปหางานทำใหม่และเป็นฝ่ายลาออกไปเอง โดยนายจ้างไม่มีหน้าที่จ่ายค่าชดเชยให้อย่างกรณีการเลิกจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน”

(4) กระทรวงแรงงานไม่มีการเสนอให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และ 98 ส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิสหภาพแรงงานอย่างต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2559 องค์กร American Federation of Labor-Congress of Industrial Organizations (AFL-CIO) และอีกกว่า  26 องค์กร เช่น Greenpeace , Human Rights Watch , International Labor Rights Forum ได้ส่งจดหมายถึง Karmenu Vella คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปว่าด้วยการประมง กิจการในทะเลและสิ่งแวดล้อม คณะกรรมาธิการยุโรป รวมถึง Jesús Miguel Sanz ผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย เพื่อเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปฯยังคงให้ใบเหลืองกับประเทศไทยต่อไปอีก 6 เดือน เพื่อให้รัฐบาลไทยมีแนวนโยบายในการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานในอุตสาหกรรมประมงทะเลและประมงทะเลต่อเนื่อง หนึ่งในมาตรการสำคัญที่ 27 องค์กรดังกล่าวนี้เรียกร้อง คือ การที่รัฐบาลไทยต้องให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 เพื่อให้เกิดการคุ้มครองการจ้างงานในอุตสาหกรรมดังกล่าวและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอย่างแท้จริง

ผลที่เกิดขึ้นจากการที่รัฐบาลไทยไม่รับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง โดยกระทรวงแรงงานอ้างเรื่องการแก้ไขพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 กับพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 ให้สอดคล้องกับอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับให้เรียบร้อย

นี้จึงพบปัญหาสำคัญ คือ มีแรงงานจำนวนมากต้องถูกเลิกจ้าง ให้ออกจากงานหรือถูกกระทำโดยไม่เป็นธรรมเพียงเพราะเหตุจากการก่อตั้งสหภาพแรงงาน หรือการถูกเลือกปฏิบัติเพราะการเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน หรือการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆของสหภาพแรงงาน

สถานการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อแรงงาน ไม่ว่าจะเป็น

(1) บริษัทสแตนเล่ย์ เวิร์คส์ จำกัด ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ จังหวัดฉะเชิงเทรา กดดันให้สมาชิกสหภาพแรงงานสแตนเล่ย์ประเทศไทยต้องลาออกจากงาน รวมทั้งยังมีการฟ้องร้องดำเนินคดีอาญากับผู้นำแรงงานที่เกี่ยวข้องในสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย (สยท.) และฟ้องร้องทางคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายกับสมาชิกสหภาพแรงงาน

(2) บริษัทโตไก รับเบอร์ อิสเทิร์น จำกัด ตั้งอยู่ที่จังหวัดระยอง เลิกจ้างลูกจ้างที่เป็นแกนนำทั้งหมดขณะอยู่ในระหว่างการยื่นข้อเรียกร้องและจัดตั้งสหภาพแรงงานโตไก รับเบอร์ อิสเทิร์น

(3) บริษัทโคบาเทค ประเทศไทย จำกัด ตั้งอยู่ที่จังหวัดชลบุรี ภายหลังจากที่เกิดข้อพิพาทแรงงานนำไปสู่การปิดงานของนายจ้าง ต่อมาข้อพิพาทแรงงานสิ้นสุด และนายจ้างตกลงรับลูกจ้างกลับเข้าทำงาน แต่นายจ้างกลับไม่มอบหมายงานในหน้าที่เดิมให้สมาชิกสหภาพแรงงานทำ แต่กลับจัดให้ลูกจ้างไปนั่งอยู่ในเต็นท์หลังโรงงานโดยไม่มีกำหนด

นอกจากนั้นแล้วยังพบกรณีที่สถานประกอบการบางแห่งให้ผู้นำสหภาพแรงงานระงับการเข้าปฏิบัติหน้าที่ในโรงงาน เพื่อไม่ให้มีการพบปะกับสมาชิกสหภาพแรงงาน อีกทั้งยังมีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากกรรมการสหภาพแรงงาน ทั้งๆที่มีข้อตกลงว่าจะไม่เอาความผิดก็ตาม แต่กลับมีการยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานในเวลาต่อมา ซึ่งพบในกรณีของสหภาพแรงงานซัมมิทแหลมฉบังโอโตบอดี้ เป็นต้น

ตลอดจนกรณีที่อดีตข้าราชการกระทรวงแรงงาน หรือปัจจุบันยังคงทำงานเป็นข้าราชการในกระทรวงแต่อยู่ในช่วงระยะเวลาใกล้เกษียณอายุราชการ รับตำแหน่งเป็นที่ปรึกษานายจ้างเพื่อมาสกัดไม่ให้มีการก่อตั้งสหภาพแรงงานหรือสกัดไม่ให้สหภาพแรงงานได้มีโอกาสเติบโต เป็นต้น

(5) สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดไม่มีมาตรการจัดการบริษัทแอลแอลไอที (ประเทศไทย) จำกัด กรณีไม่เปลี่ยนสถานที่ทำงานให้พนักงานที่ตั้งครรภ์จนเกิดการแท้งบุตร

บริษัทแอลแอลไอที (ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทสัญชาติจีน ประกอบธุรกิจผลิตยางรถยนต์เพื่อส่งออกให้บริษัทหลินหลงที่ตั้งอยู่ในประเทศจีน สำนักงานประเทศไทยตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมเหมราช ตำบลเขาคันทรง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

ย้อนไปเมื่อเดือนมีนาคม 2559 สหภาพแรงงานแอลแอลไอที ประเทศไทย ได้ทำหนังสือถึงสถานประกอบการให้จัดสถานที่ทำงานใหม่ให้กับพนักงานที่ตั้งครรภ์โดยย้ายจากแผนกการผลิตเดิม แต่บริษัทฯก็ไม่มีการดำเนินการแต่อย่างใด จนทำให้เดือนต่อมาพนักงานคนดังกล่าวได้เกิดการแท้งบุตรขึ้น สหภาพแรงงานฯจึงได้ยื่นจดหมายถึงหัวหน้าสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรี เพื่อให้เข้ามาตรวจสอบเรื่องดังกล่าว

ทั้งนี้ในเดือนเดียวกันสหภาพแรงงานฯ ก็ได้รับหนังสือร้องเรียนจากพนักงานอีกคนหนึ่งกรณีแท้งบุตรเช่นเดียวกัน เนื่องจากทางหัวหน้างานไม่เปลี่ยนจุดที่ทำงาน จนทำให้ในเดือนพฤษภาคม 2559  สหภาพแรงงานฯ ต้องทำจดหมายทวงถามถึงสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรี ที่ยังไม่มีการเข้ามาตรวจสอบสถานประกอบการแต่อย่างใด

ล่วงเลยมาถึงเดือนกรกฎาคม 2559 สหภาพแรงงานฯได้ทำจดหมายทวงถามถึงสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรีเป็นครั้งที่ 2 จนในที่สุดได้เข้ามาตรวจสอบบริษัทฯตามที่ทางสหภาพแรงงานฯได้ทำหนังสือร้องเรื่องกรณีพนักงานตั้งครรภ์ได้แท้งบุตรจากการทำงาน แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นไปแล้วได้แต่อย่างใด นี้จึงแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการทำงานของสวัสดิการคุ้มครองแรงงานจังหวัดที่ทำได้เพียงแนะนำและตักเตือนเท่านั้น แต่ไม่มีมาตรการในการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังแต่อย่างใด

(6) ผู้ประกันตนมาตรา 39 พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ไม่สามารถชำระเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ณ ที่ทำการสำนักงานประกันสังคมต่างๆ ได้

นับจากที่สำนักงานประกันสังคม ได้มีหนังสือที่ รง 0603 / ว 1595 ลงวันที่ 31 มีนาคม 2559 เรื่อง ขอความร่วมมือชำระเงินสมทบกองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทนผ่านระบบธนาคารหรือหน่วยบริการ มีผลทำให้ผู้ประกันตนไม่สามารถชำระเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ณ ที่ทำการสำนักงานประกันสังคมสาขาต่างๆ โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม ยกเว้นเฉพาะกรณีที่ผู้ประกันตนขาดส่งเงินสมทบย้อนหลังไป 2 เดือน จึงจะสามารถชำระที่สำนักงานประกันสังคมสาขาต่างๆได้

ในกรณีนี้นายชาลี ลอยสูง รักษาการประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ได้นำประเด็นดังกล่าวฟ้องสำนักงานประกันสังคมต่อศาลปกครองกลาง ตามคดีหมายเลขดำที่ 1224 / 2559 เมื่อสิงหาคม 2559 โดยเห็นว่าเป็นการทำให้ผู้ประกันตนเกิดภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นและไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ จากการที่ธนาคารพาณิชย์ , เคาน์เตอร์เซอร์วิส หรือที่ทำการไปรษณีย์ เรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ประกันตนที่นำเงินไปชำระผ่านช่องทางดังกล่าวในอัตรา 10 บาทต่อรายการ (ต่อครั้ง) ตามแต่ละช่องทาง ถือเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายแก่ผู้ประกันตนเพิ่มขึ้น

(7) ผู้ประกันตนที่เป็นคนพิการเนื่องจากบาดเจ็บในงานตามมาตรา 33 พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ถูกบังคับให้ย้ายสิทธิไปอยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผลจากคำสั่ง คสช.ที่ 58 /2559

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2559 ได้มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 58/2559 ซึ่งลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เรื่องการรับบริการสาธารณสุขของคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 กำหนดให้คนพิการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ที่เป็นผู้ประกันตน ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม มีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

โดยคำสั่งนี้เป็นผลมาจากกรณีที่พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 ตามมาตรา 33 ได้กำหนดให้สถานประกอบการต้องรับผู้พิการเข้าทำงานตามสัดส่วนพนักงาน 100 คนต้องมีการจ้างผู้พิการทำงาน 1 คน ทำให้ผู้พิการที่อยู่ในสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง เมื่อมีงานทำสิทธิการรักษาจะถูกเปลี่ยนไปอยู่สิทธิประกันสังคม ซึ่งประสบปัญหาด้านการใช้บริการ เนื่องจากระบบบัตรทองให้สิทธิคนพิการรักษาฟรีในสถานพยาบาลใดก็ได้ ขณะที่ระบบประกันสังคมคนพิการจะต้องจ่ายเงินสมทบเพื่อให้เกิดสิทธิ และสามารถเข้ารับการรักษาได้เฉพาะโรงพยาบาลต้นสังกัดที่ลงทะเบียนประกันตนเอาไว้เท่านั้น

อย่างไรก็ตามผลที่เกิดขึ้นจากคำสั่งดังกล่าวได้ส่งผลต่อผู้พิการที่เป็นผู้ประกันตนเนื่องจากบาดเจ็บในงานตามมาตรา 33 ใน พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ที่อยู่ในระบบประกันสังคมมาตั้งแต่ต้น และก่อนหน้านี้ไม่เคยใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาก่อน คนพิการกลุ่มนี้ต้องถูกย้ายสิทธิโดยอัตโนมัติไปใช้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแทน ส่งผลต่อความไม่คุ้นเคยและความไม่สะดวกต่อการได้รับบริการเดิมอยู่ก่อนแล้ว โดยเฉพาะกลุ่มที่เคยรับบริการในโรงพยาบาลเอกชนที่ใกล้สถานประกอบการมาก่อน แต่สำนักงานประกันสังคมก็ไม่มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด นอกจากยกเลิกบัตรประกันสังคมของผู้ประกันตนกลุ่มนี้ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2559 เป็นต้นมา

(8) ระเบียบกระทรวงแรงงาน ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกกรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้างและกรรมการผู้แทนฝ่ายลูกจ้างในคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2558 ขาดการมีส่วนร่วมจากแรงงานทุกกลุ่ม

สืบเนื่องจากที่กระทรวงแรงงานได้มีการประกาศใช้ระเบียบกระทรวงแรงงาน ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกกรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้างและกรรมการผู้แทนฝ่ายลูกจ้างในคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2558 ซึ่งบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2559

สาระสำคัญของระเบียบฯฉบับนี้มีความแตกต่างจากระเบียบฉบับเดิมอย่างสิ้นเชิง คือ ระเบียบกระทรวงแรงงาน ว่าด้วยแนวทางและวิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายลูกจ้างในคณะกรรมการไตรภาคี พ.ศ. 2551 ที่บังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2551

โดยในข้อ 5 ของระเบียบฯฉบับใหม่ปี 2558 ได้ระบุไว้ว่า “การได้มาซึ่งกรรมการฝ่ายนายจ้างและกรรมการฝ่ายลูกจ้างในคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ให้อธิบดีแจ้งให้สภาองค์การนายจ้างและสภาองค์การลูกจ้างตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์เสนอชื่อผู้สมัครสภาละสองคนเพื่อคัดเลือกเป็นกรรมการฝ่ายนายจ้างและกรรมการฝ่ายลูกจ้างเพื่อให้ คณะกรรมการคัดเลือกตามข้อ 7 พิจารณาเพื่อเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานพิจารณาแต่งตั้งต่อไป”

อีกทั้งในข้อ 6 ยังได้ระบุเรื่องคุณสมบัติหนึ่งที่สำคัญของผู้ที่จะสมัครได้ในส่วนของผู้ใช้แรงงาน คือ ต้องเป็นหรือเคยเป็นกรรมการสภาองค์การลูกจ้างมาก่อน

กระบวนการคัดเลือกได้ถูกระบุไว้ในข้อ 7 ว่า “ให้อธิบดีนัดประชุมผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ เพื่อเลือกกันเองให้ได้จำนวนสองเท่าของจำนวนกรรมการฝ่ายนายจ้างและกรรมการฝ่ายลูกจ้างในคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ครบวาระ เพื่อเสนอให้คณะกรรมการคัดเลือกพิจารณาตามจำนวนคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ครบวาระต่อไป”

สำหรับคณะกรรมการคัดเลือก ถูกระบุไว้ในข้อ 29 ให้ประกอบด้วยบุคคลดังต่อไปนี้ ได้แก่ “รองปลัดกระทรวงแรงงาน หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านประกันความมั่นคงในการทำงาน เป็นประธานกรรมการ , อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เป็นรองประธานกรรมการ , ผู้อำนวยการกองนิติการ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, ผู้อำนวยการกลุ่มงานทะเบียนกลาง สำนักแรงงานสัมพันธ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, ผู้อำนวยการกลุ่มงานกฎหมาย สำนักบริหารกลาง สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นกรรมการ ,ผู้อำนวยการสำนักแรงงานสัมพันธ์ สำนักแรงงานสัมพันธ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เป็นกรรมการและเลขานุการ และผู้อำนวยการกลุ่มงานคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ สำนักแรงงานสัมพันธ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ”

ที่ผ่านมาโดยตลอดนั้น กระบวนการได้มาซึ่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์นั้น ถูกระบุไว้ในข้อ 6 ในระเบียบฯฉบับปี 2551 ว่า “ให้อธิบดีแจ้งให้สมาคมนายจ้างและสหภาพแรงงานในเขตภาคต่าง ๆ เสนอชื่อผู้แทนฝ่ายตนที่จะสมัครเข้ารับการเลือกตั้งเพื่อเป็นผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายลูกจ้างในคณะกรรมการไตรภาคีแล้วแต่กรณีได้ไม่เกินองค์กรละหนึ่งคน สมาคมนายจ้าง และสหภาพแรงงานจะเสนอชื่อผู้แทนตามวรรคหนึ่งได้คนละไม่เกินสองคณะ”

ข้อ 7 “ในเขตภาคใดหากไม่มีสมาคมนายจ้างหรือสหภาพแรงงานซึ่งจดทะเบียนที่ตั้งสำนักงานไว้ แต่มีสถานประกอบกิจการ ให้อธิบดีแจ้งให้นายจ้างและคณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบกิจการส่งผู้แทนฝ่ายตนแห่งละหนึ่งคนเพื่อเสนอชื่อผู้แทนสมัครเข้ารับการเลือกตั้งเป็นกรรมการไตรภาคี แล้วแต่กรณี”

ข้อ 10 “ให้สมาคมนายจ้าง สหภาพแรงงาน แจ้งชื่อผู้ลงคะแนนเลือกตั้งแห่งละหนึ่งคน ซึ่งต้องเป็นกรรมการสมาคมนายจ้าง หรือกรรมการสหภาพแรงงานนั้น แล้วแต่กรณี ต่ออธิบดีภายในระยะเวลาที่อธิบดีกำหนด ให้อธิบดีประกาศรายชื่อผู้ลงคะแนนเลือกตั้ง ณ สถานที่ทำการเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน”

จากที่กล่าวมาจึงทำให้คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ได้ยื่นจดหมายคัดค้านระเบียบฯดังกล่าว ด้วยเหตุผลว่า “เมื่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มาจากเพียงการสรรหาจากตัวแทนสภาองค์การลูกจ้างตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์จำนวน 15 สภาองค์การลูกจ้างเท่านั้น นี้จึงสะท้อนถึงขาดการมีส่วนร่วมขององค์กรแรงงานทั้งหมด โดยเฉพาะสหภาพแรงงานจำนวนมากไม่ได้เป็นสมาชิกของสภาองค์การลูกจ้าง

อีกทั้งสภาองค์กรลูกจ้างก็ไม่ใช่ตัวแทนขององค์กรแรงงานทั้งหมด จึงไม่มีหลักประกันใดๆว่าผู้แทนของฝ่ายแรงงานที่มาจากสรรหาจากสภาองค์การลูกจ้าง ที่ได้เข้าไปเป็นกรรมการในสัดส่วนตัวแทนฝ่ายลูกจ้างในคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ จะสามารถสนับสนุนข้อเรียกร้องของแรงงานกลุ่มต่างๆ เนื่องจากกระบวนการสรรหาไม่โปร่งใส เป็นธรรม และเท่าเทียมตั้งแต่เริ่มต้น

ทั้งยังมีข้อมูลเชิงประจักษ์ที่แสดงให้เห็นว่า สภาองค์การลูกจ้างบางแห่งมีแนวความคิดที่ขัดแย้งและคัดค้านข้อเรียกร้องของแรงงานกลุ่มอื่นๆมาโดยตลอด”

(9) ประโยชน์ทดแทนผู้ประกันตนตามมาตรา 40 พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ถูกละเลยจากกรรมการประกันสังคมในการพิจารณาปรับเพิ่มขึ้น

สำนักเสริมสร้างความมั่นคงแรงงานนอกระบบ สำนักงานประกันสังคม ระบุว่าเดือนพฤศจิกายน 2559 มีผู้ประกันตนมาตรา 40  ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 จำนวนสูงถึง 2,236,612 คน ซึ่งผู้ประกันตนกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่ก็คือกลุ่มแรงงานนอกระบบ ถ้าคิดการส่งเงินสมทบจำนวนต่ำสุดต่อคน คือ 70 บาท นี้จึงกล่าวได้ว่า เดือนหนึ่งๆจะมีเงินจากผู้ประกันตนถูกส่งเข้าสู่กองทุนประกันสังคมสูงถึง 156,562,840 บาท หรือประมาณ 156 ล้านต่อเดือน

แต่เมื่อมาพิจารณาที่ประโยชน์ทดแทนที่ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ได้รับ คือ

  • เมื่อนอนโรงพยาบาลเป็นผู้ป่วยในตั้งแต่ 1 วันขึ้นไป จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้จำนวน 200 บาทต่อวัน ไม่เกิน 30 วันต่อปี
  • กรณีทุพพลภาพ รับเงินทดแทนการขาดรายได้จำนวน 500-1,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลานานถึง 15 ปี ทั้งนี้ต้องเป็นผู้ทุพพลภาพตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการแพทย์
  • กรณีตาย  รับเงินค่าทำศพจำนวน 20,000 บาทต่อราย
  • กรณีชราภาพ (เงินบำเหน็จ) รับเงินก้อนเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ และสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน

ประโยชน์ทดแทนดังกล่าวมีความแตกต่างจากประโยชน์ทดแทนในผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39 อย่างมาก และส่งผลต่อการออกจากการเป็นผู้ประกันตนอย่างต่อเนื่อง โดยที่คณะกรรมการประกันสังคมมีแต่แผนการเพิ่มจำนวนผู้ประกันตน แต่ไม่มีแนวนโยบายการปรับปรุงประโยชน์ทดแทนแต่อย่างใด

(10) สำนักงานประกันสังคมจังหวัดนครปฐมปฏิเสธแรงงานข้ามชาติเข้าถึงกองทุนเงินทดแทน แม้มีสถานะเป็น “ลูกจ้าง” ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1558/2558

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2559 ศาลแรงงานภาค 5 ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1558/2558 กรณีแรงงานข้ามชาติชาวไทยใหญ่ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน กรณีที่คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนปฎิเสธคำขอรับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทน โดยให้ไปรับเงินทดแทนจากนายจ้างแทน ซึ่งลูกจ้างคนนี้ประสบอุบัติเหตุจากการทำงานก่อสร้างในเชียงใหม่ ขณะเป็นลูกจ้างบริษัทรับเหมาก่อสร้าง จนขาพิการทั้งสองข้างและต้องนั่งรถเข็นไปตลอดชีวิต

อย่างไรก็ตามศาลฎีกาเห็นว่าแรงงานข้ามชาติมีสถานะป็น “ลูกจ้าง” ตามนิยามของ พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 แม้จะเป็นคนต่างด้าวที่เข้าเมืองมาโดยไม่ชอบ แต่ได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติและบัตรประจำตัวตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร มีใบอนุญาตทำงาน จึงเป็นผู้ที่ได้รับความคุ้มครองตามพ.ร.บ. และมีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทนโดยตรง และการที่นายจ้างไม่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทน จึงไม่อาจนำมาใช้เป็นเหตุเพื่อปฏิเสธสิทธิของลูกจ้างที่จะได้รับค่าทดแทนจากกองทุนเงินทดแทนได้

ศาลฎีกาจึงมีคำสั่งเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนฯ และสั่งให้กองทุนจ่ายเงินทดแทนที่ลูกจ้างยังไม่ได้รับจากนายจ้างครบถ้วน

อย่างไรก็ตามโดยข้อเท็จจริงยังคงพบว่า ในทางปฏิบัติเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมบางจังหวัด เช่น นครปฐม ยังคงมีการปฏิเสธที่จะจ่ายเงินจากกองทุนเงินทดแทนให้กับลูกจ้างที่เป็นแรงงานข้ามชาติอยู่

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net