สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 1-7 ม.ค. 2560

พาณิชย์ ย้ำปรับค่าแรงไม่กระทบต้นทุนสินค้า อ้างขึ้นราคาไม่ได้เชื่อทั้งปีทรงตัวแข่งขันสูง
 
วันที่ 1 มกราคม 2560 ที่ผ่านมา ว่า จากการศึกษาแล้วพบว่ามีผลกระทบต่อต้นทุนราคาสินค้าอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภคน้อยมาก เพียง 10 สตางค์เท่านั้น จึงไม่ใช่เหตุผลในการปรับขึ้นราคาสินค้า แต่ทั้งนี้หากผู้ประกอบการมีการปรับขึ้นราคาสินค้า ก็จะต้องมีการตรวจสอบต้นทุนว่า มีการใช้แรงงานมากน้อยแค่ไหนรวมทั้งหากปรับขึ้นราคาสินค้าจะต้องมีการปิดป้ายแสดงราคาให้ชัดเจน เพื่อแสดงต่อผู้บริโภค
 
แต่ทั้งนี้เชื่อว่าผู้ประกอบการและร้านค้าต่าง ๆ ไม่น่ามีการปรับขึ้นราคาสินค้า เนื่องจากมีการแข่งขันที่ค่อนข้างรุนแรง และขณะนี้ยังไม่มีสินค้ารายการใดที่ยื่นเสนอขอปรับราคาเข้ามายังกระทรวงพาณิชย์ รวมทั้งประเมินว่าราคาสินค้าในปี 2560 จะยังคงทรงตัว
 
 
นายจ้างและสถานประกอบการ ต้องการแรงงานมากกว่า 3 หมื่นอัตรา ส่วนใหญ่แรงงานภาคอุตสาหกรรมการผลิต
 
อธิบดีกรมการจัดหางาน นายสิงหเดช ชูอำนาจ บอกว่า เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา กรมการจัดหางานได้รับแจ้งความต้องการแรงงานจากนายจ้าง สถานประกอบการ จำนวน 32,728 อัตรา บรรจุงานได้ 20,149 คน คิดเป็นร้อยละ 61อุตสาหกรรมที่มีความต้องการแรงงานมากที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิต รองลงมาคือการขายส่ง การขายปลีก ซ่อมยานยนต์ จักรยานยนต์ และที่พักแรมและบริการด้านอาหาร อาชีพที่มีความต้องการมากที่สุดคือ อาชีพงานพื้นฐาน แรงงานทั่วไป แรงงานด้านการผลิต รองลงมาคือ พนักงานบริการ พนักงานขาย เสมียน เจ้าหน้าที่ ช่างเทคนิคและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ปฏิบัติงานโดยใช้ฝีมือธุรกิจต่างๆดังนั้น สามารถสมัครได้ทางแอพพลิเคชั่น "Smart Job Center" สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานคร สอบถามรายละเอียดได้ที่สายด่วน 169 ส่วนเยาวชนที่จะเลือกเรียนสาขาใดควรพิจารณาข้อมูลประกอบการตัดสินใจให้รอบด้าน เช่น ข้อมูลด้านยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรม
 
 
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เตรียมผลักดันแผนพัฒนากำลังคน ด้านการท่องเที่ยวและบริหาร นำร่อง 4 จังหวัด คาด 5 ปีความต้องการแรงงานกว่า 730,000 คน
 
นายธีรพล ขุนเมือง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ระบุว่า แผนพัฒนากำลังคนด้านการท่องเที่ยวและบริการ จากนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมมือพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการท่องเที่ยว ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอุตสาหกรรมแห่งอนาคต สอดคล้องกับการเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้ร่วมลงนามกับ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เพื่อพัฒนาศักยภาพกำลังแรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการป้อนสู่ตลาดแรงงาน ที่จะนำร่องในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง อุดรธานี ตรัง และชลบุรี ในปี 2560 ซึ่งคาดว่า จะมีความต้องการแรงานในกลุ่มนี้อีก 5 ปี กว่า 730,000 คน
 
 
ครม.ไฟเขียวแก้ไขร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน
 
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรกของปี 2560 ว่า ครม.มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอแก้ไขร่างพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน โดยเพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้ครอบคลุมกลุ่มลูกจ้างบางประเภท เช่น ลูกจ้างเด็ก คนพิการ และคนสูงอายุ ลดภาระของนายจ้างในการส่งสำเนาข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน และกำหนดเกี่ยวกับการเลิกจ้างโดยเหตุเกษียณอายุ
 
รวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติมให้การเกษียณอายุถือเป็นการเลิกจ้าง และกรณีที่ไม่ได้มีการกำหนดอายุการเกษียณให้นับว่า 60 ปี ถือเป็นการเกษียณอายุทันที และให้นายจ้างจ่ายเงินชดเชยในกรณีดังกล่าว เพื่อให้กฎหมายแรงงานบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงมีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน
 
“เพื่อเป็นการรองรับสังคมสูงอายุที่จะเกิดขึ้น เราได้มีการแก้ไขบทกำหนดให้ในช่วงต่อไป การเกษียญอายุถือเป็นการเลิกจ้าง ในอดีต การเกษียณอายุนั้นไม่ได้ถือเป็นการเลิกจ้าง จึงไม่ได้มีการจ่ายเงินชดเชย ทำให้มีการฟ้องร้องเป็นจำนวนมาก แต่ในครั้งนี้ กำหนดให้ การเกษียณอายุเป็นการเลิกจ้าง จะต้องได้รับการชดเชยตามกฎหมายแรงงาน จากเดิมที่ไม่ได้รับการชดเชย เพราะเกษียณอายุ เมื่อเป็นการเลิกจ้างจะได้รับการชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน โดยเชื่อว่าลูกจ้างทั่วไปจะได้ประโยชน์เมื่อเข้าเกณฑ์การเกษียณอายุ”นายกอบศักดิ์ กล่าว
 
สำหรับการจ่ายเงินชดเชยนั้น ได้ยกตัวอย่างว่า ในกรณีที่ทำงานอายุงาน 10 ปี เมื่อเกษียณอายุ จะได้รับเงินชดเชยประมาณ 10 เดือน ของเงินเดือนสุดท้าย กรณีอายุงาน 6-10 ปี จะได้รับเงินชดเชย 8 เดือน กรณี 3-10 ปี จะได้รับเงินชดเชยประมาณ 6 เดือน เป็นต้น
 
 
ก.แรงงานหนุนนายจ้างส่งเสริมลูกจ้างทดสอบฯ-จ่ายค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแห่งละ 100,000 บาทต่อปี-เริ่ม ม.ค.60 นี้
 
นายธีรพล ขุนเมือง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 จัดตั้งกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนสำหรับใช้จ่ายเกี่ยวกับการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน และได้กำหนดหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินกองทุนฯ เพื่อช่วยเหลือหรืออุดหนุนกิจการที่ดำเนินงานเกี่ยวกับการพัฒนาฝีมือแรงงาน หลายประการ
 
"ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 จะมีมาตรการเพื่อส่งเสริมให้แรงงานทุกกลุ่ม มีการดำเนินทดสอบมาตรฐานฝีมือฯ เพื่มมากขึ้น ทั้งที่จะเข้าสู่การทำงาน หรือกำลังแรงงานที่ทำงานอยู่ในสถานประกอบการ ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและพลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในการส่งเสริมพัฒนากำลังคนของประเทศให้มีมาตรฐานฝีมือ มีรายได้สูง และมีความพร้อมก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 "นายธีรพล กล่าว
 
นายธีรพล กล่าวต่อไปว่า โดยจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการทดสอบให้แรงงาน กรณีที่ กพร.เป็นผู้จัดส่งเข้าทดสอบ ณ ศูนย์ทดสอบที่เป็นเครือข่าย นอกจากนี้ยังจัดเงินอุดหนุนสำหรับผู้ประกอบกิจการที่ส่งพนักงานเข้ารับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ในทุกสาขา และผู้ประกอบการจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างที่ผ่านมาตรฐานฯ ตามอัตราค่าจ้างมาตรฐานฝีมือแรงงานด้วย
 
"ทั้งนี้ กพร.จะสนับสนุน ด้วยการจ่ายเงินอุดหนุนให้ผู้ประกอบกิจการจำนวน 1,000 บาท ต่อลูกจ้าง 1 คน ที่นายจ้างจ่ายค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน โดยสนับสนุนไม่เกินปีละ 100,000 บาท เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบกิจการ ให้ความสำคัญกับการจัดส่งพนักงานเข้ารับการทดสอบฯ ให้มากยิ่งขึ้น และให้มีการจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างตามอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานด้วย ซึ่งมาตรการจูงใจดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ทั้งผู้ประกอบกิจการและตัวลูกจ้างเอง"นายธีรพล กล่าว
 
อธิบดี กพร. กล่าวด้วยว่า สำหรับผู้ประกอบกิจการ จะได้รับประโยชน์จากการมีแรงงานที่มีทักษะฝีมือที่ได้มาตรฐาน ส่งผลต่อประสิทธิภาพของการปฏิบัติงาน สินค้าและบริการมีคุณภาพ ผู้รับบริการมีความพึงพอใจ เกิดการซื้อซ้ำหรือเข้ารับบริการอย่างต่อเนื่อง หรือเกิดการบอกต่อ ไปยังกลุ่มบุคคลหรือธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้อง สามารถรักษาลูกค้าเก่าและมีโอกาสสร้างลูกค้าใหม่
 
นายธีรพล กล่าวเพิ่มเติมว่า อีกส่วนหนึ่งที่ผู้ประกอบกิจการจะได้รับ นั่นคือด้านแรงงานสัมพันธ์ที่พนักงานมีต่อสถานประกอบกิจการ ที่ส่งเสริมให้พัฒนาฝีมือจนได้มาตรฐาน และได้รับอัตราค่าจ้างตามความสามารถ ที่สูงขึ้นด้วย จึงเป็นแบบอย่างที่ดีให้พนักงานคนอื่นๆ ได้มีการพัฒนาตนเอง เพื่อรับค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานต่อไป
 
"เพื่อเป็นแสดงให้สาธารณชนได้รับทราบถึงฝีมือของลูกจ้างแต่ละคน กพร. ได้จัดให้มี โครงการ “แรงงานติดดาว” เพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณแก่แรงงานฝีมือ โดยในวันที่ 11 มกราคม 2560 นี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จะติดดาวให้แรงงานที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานฯในรุ่นแรกด้วย"อธิบดี กพร กล่าว
 
"ทั้งนี้เพื่อให้ผู้รับบริการได้รับรู้ว่ากำลังได้รับบริการจากแรงงานที่มีคุณภาพในระดับกี่ดาว โดย 1 ดาว เป็นมาตรฐานระดับ 1 คือมีฝีมือและความรู้พื้นฐานในการทำงานอย่างดี ส่วน 2 ดาว จะเป็นระดับ 2 คือ มีฝีมือระดับกลางมีความรู้ความสามารถทักษะการใช้เครื่องมืออุกรณ์ได้ดี และมีประสบการณ์ในการทำงานสูง ส่วน 3 ดาว จะเป็นระดับผู้ที่มีฝีมือระดับสูง สามารถวิเคราะห์ ตัดสินใจแก้ปัญหา นำความรู้และทักษะมาประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยีใหม่ได้" นายธีรพล กล่าวในที่สุด
 
 
คนงานร้องทุกข์ถูกนายหน้าหลอกว่าสามารถส่งไปทำงานนวดสปาในแถบประเทศทวีปยุโรป
 
วันที่ 5 มกราคม 2560 ตัวแทนคนหางาน ทั้ง 22 คน ได้เข้าร้องทุกข์กับกองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ว่า พวกตนถูกเจ้าของงบัญชีเฟสบุ๊ครายหนึ่ง ทราบชื่อต่อมาว่าชื่อ นางสาวบี (นามสมมุติ) อายุ 22 ปี หลอกลวงว่าสามารถส่งไปทำงานนวดสปาในแถบประเทศทวีปยุโรป รายได้เดือนละกว่าแสนบาท แต่ก่อนถึงวันนัดบิน น.ส.บี กลับโทรศัพทฺ์มาแจ้งข่าวร้ายกับพวกตนว่า น.ส.บี ได้ถูกเฟสบุ๊ครายหนึ่ง หลอกลวงว่าสามารถส่งทำงานนวดอีกทอดหนึ่ง โดยที่ตนเองไม่ได้ตั้งใจ แต่เห็นว่าได้ค่านายหน้ารายละกว่า 5,000 บาท จึงหลงเชื่อ น.ส.บี จึงแสดงความบริสุทธิใจพาคนหางานทั้งหมด มาร้องทุกข์กับ กองทะเบียนฯ ดังกล่าว แต่คนหางานก็ได้แจ้งความดำเนินคดีกับ น.ส.บี ซึ่งทำหน้าที่เป็นนายหน้า และรับเงินค่าดำเนินการและค่าใช้จ่ายจากพวกตนไปคนละ 25,000 - 48,600 บาท กองทะเบียนจัดหางานกลางฯ จึงขอเตือนคนหางาน และบรรดาสาย/นายหน้าจัดหางานเถื่อน มิให้ลักลอบไปทำงานในต่างประเทศ เพราะนอกจากจะเสียงต่อการถูกหลอกลวงจากมิจฉาชีพ เหมือนกลุ่มคนหางานและนายหน้ารายนี้แล้ว ยังเสียต่อการถูกนายจ้่างในต่างประเทศเอารัดเอาเปรียบจากการทำงานเพราะเห็นว่าเป็นแรงงานเถื่อน ซึี่งหากคนหางานรายได้ต้องการร้องทุกข์ ร้องเรียน แจ้งเบาะแสการหลอกลวงคนหางาน หรือขอรับคำปรึกษาเกี่ยวกับการไปทำงานในต่างประเทศ สามารถสอบถามได้ที่ สายด่วนกรมการจัดหางานโทร. 1694 หรือ โทร. 0 2245 6763
 
 
สปส.เผยใช้งบปีละ 7 พันล้าน ดูแลผู้ป่วยความดัน เบาหวาน ไขมันในเลือด
 
พล.อ.เจริญ นพสุวรรณ ผู้ช่วย รมว.แรงงาน กล่าวว่า สำนักงานประกันสังคม ได้จัดสถานพยาบาลต้นแบบในการให้บริการตรวจสุขภาพเพื่อให้ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม 12 ล้านคน รับรู้ถึงสิทธิประโยชน์กรณีเจ็บป่วย หลังจากประกันสังคมขยายสิทธิประโยชน์ตรวจสุขภาพฟรี เป็นของขวัญปีใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.60 โดยบูรณาการร่วมกับโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ให้เป็นสถานพยาบาลต้นแบบ
ทั้งนี้เพื่อให้สถานพยาบาลอื่นได้มาศึกษาเพื่อนำไปปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกันในปี 2560 จะขยายสถานพยาบาลต้นแบบ 40 แห่ง เป็นสถานพยาบาลรัฐ 30 แห่ง และของเอกชน 10 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 20 ของสถานพยาบาลคู่สัญญาของประกันสังคม ซึ่งมีจำนวน 240 แห่ง โดยหวังให้ผู้ประกันตนใส่ใจสุขภาพ พึ่งพาการรักษาพยาบาลน้อยลง โดยพบว่าโรคเบาหวาน ความดัน และไขมันในเส้นเลือด เป็น 3 โรคที่คนป่วยมากที่สุด สปส. ต้องใช้งบรักษาปีละหลายพันล้านบาท
 
นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า ผู้ทุพพลภาพของประกันสังคมส่วนใหญ่ มี 2 สาเหตุหลักในการป่วย 90% มาจากเส้นเลือดในสมองแตก กับอุบัติเหตุทางถนน โดยเส้นเลือดสมองแตกมาจากโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเส้นเลือดสูง ถ้าสามารถควบคุมตรงนี้ได้ก็จะสามารถลดความเสี่ยง และลดเคสที่เกิดขึ้นได้
 
ผศ.นพ.สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์ หัวหน้าสาขาวิชาโรคหัวใจและหลอดเลือด ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย กล่าวว่า การตรวจสุขภาพเป็นการป้องกันโรค แต่การใช้ชีวิตต้องไม่ประมาท โดยเฉพาะกลุ่มที่ป่วยจากอาการความดันสูง ช่วง 5-10 ปี โรคหัวใจ หลอดเลือด อัมพฤกษ์ อัมพาต คนไทยมีอัตราสูงมากขึ้นทั้งหมด แม้ตรวจไม่พบโรคก็ไม่ควรประมาท มีโอกาสเกิดได้ การตรวจปีละ 1 ครั้งไม่เพียงพอ
 
อย่างไรก็ตาม การดูแลรักษาบางคนบอกว่าจะเอาสหรัฐอเมริกาเป็นต้นแบบ แต่คนสหรัฐฯกลับมีอาการป่วยด้วยโรคความดันสูงมากขึ้น ขณะที่ญี่ปุ่นกับอังกฤษ อัตราป่วยลดลง โดยเฉพาะญี่ปุ่นประชากรป่วยลดลงเพราะมีเครื่องวัดความดันที่บ้านถึง 35 ล้านเครื่อง จากประชากร 200 ล้านคน
 
"ถ้าไม่อยากเป็นเบาหวาน ความดัน ต้องดูแลสุขภาพ คุมน้ำหนัก รอบเอวต้องไม่มากเกินไป รับประทานอาหารย่อยง่าย กินพอหายหิว งดบุหรี่ แอลกอฮอล์ ออกกำลังกายหรือออกแรงขยับตัวมากๆ ไม่นั่งต่อเนื่องนานเกิน 2 ชั่วโมง เพราะจะเพิ่มโอกาสเป็นเบาหวานและความดัน ต้องรู้จักควบคุมการหายใจช้าๆ คุมใจให้สงบเย็นลงได้" ผศ.นพ.สมเกียรติ กล่าว
 
ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมได้จัดอันดับ 5 โรคเรื้อรังที่แรงงานในระบบประกันสังคมเจ็บป่วยมากที่สุดในปี 2557-2558 โดยพบว่า โรคความดันโลหิตสูง มาเป็นอันดับ 1 ตามมาด้วยโรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง และโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ทุกโรคมีจำนวนคนป่วยเพิ่มมากขึ้น
 
โดยปี 2558 โรคความดันโลหิตสูงมีคนป่วย 542,566 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2557 กว่า 3 หมื่นคน สปส.ต้องใช้งบในการดูแลรักษากว่า 3 พันล้านบาท ส่วนโรคเบาหวาน ในปี 2558 มีคนป่วย 250,194 คน เพิ่มขึ้นกว่า 2 หมื่นคน ใช้งบในการดูแล 2.7 พันล้านบาท และโรคไขมันในเลือดสูง ปี 2558 มีคนป่วย 204,236 คน เพิ่มขึ้น 2 หมื่นคน ใช้งบในการดูแลกว่า 870 ล้านบาท
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท