ปาฐกถาสร้างแรงบันดาลใจแห่งปี ‘อังคณา นีละไพจิตร’ ผู้หญิง ความยุติธรรม ความทรงจำบาดแผล

“ราคาของความยุติธรรมที่ต้องแลกกับคราบน้ำตาและชีวิตของผู้คนมากมกาย ถึงวันนี้พิสูจน์ว่าความยุติธรรมไม่มีจริง”  “การรักษาความทรงจำคือการรักษาประวัติศาสตร์ และมันจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ในสังคมที่เปิดให้การถกเถียงอย่างอิสระและเปิดเผยจะทำให้เกิดการเรียนรู้และป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เลวร้ายเกิดขึ้นอีก” ฯลฯ

อังคณา นีละไพจิตร

สรุปปาฐกถาท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ หัวข้อ “ผู้หญิง ความยุติธรรมและความทรงจำบาดแผล” โดยอังคณา  นีละไพจิตร ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ วันที่ 7 ม.ค.2560

ปัจจุบันอังคณาดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อดีตพยาบาลที่เริ่มต้นเคลื่อนไหวด้านนี้หลังจาก สมชาย นีละไพจิตร สามีผู้เป็นทนายความที่มีบทบาทเปิดโปงการซ้อมทรมานผู้ต้องหาในชายแดนใต้ถูกอุ้มหายไปในปี 2547 จากการเคลื่อนไหวด้านคดีและเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับสามี เธอได้ทำงานด้านนี้อย่างจริงจังในวงกว้างขึ้นเป็นลำดับ เธอเป็นประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพช่วยเหลือเหยื่อความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และครอบครัวผู้ถูกทรมานและบังคับสูญหาย เธอมีบทบาทในส่วนนโยบายโดยเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญในปี 2550 เป็นกรรมาธิการแก้ปัญหาชายแดนใต้ ตั้งแต่ปี 2550-2557 ได้รับรางวัลมากมายจากทั้งในและต่างประเทศ

นอกเหนือจากภาพความเข้มแข็งของเธอ การต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมให้ตนเองและคนอื่นๆ อย่างไม่ย่อท้อ น้อยคนนักที่จะรู้ว่า 12 ปีหลังการต่อสู้ในศาล เธอประสบกับ “ความพ่ายแพ้” ตามคำบอกเล่าของเธอ ไม่ใช่เฉพาะการตามหาความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม หากแต่ในชีวิตจริง หลังจากการหายตัวไปของสามี ผู้แวดล้อมคดีนี้ก็หายตัวและถูกสังหารอีก ไม่ว่าจะเป็นพยานลูกความของทนายสมชายที่ยืนยันการถูกซ้อมคนหนึ่งที่หายตัวไปจนปัจจุบัน ภรรยาของเขาก็ถูกยิงเสียชีวิตในเวลาไล่เลี่ยกัน ฯลฯ

อังคณาได้รับคัดเลือกเป็นองค์ปาฐกในปีนี้ในหัวข้อที่เธอตั้งขึ้นเอง ใช้เวลาพูดราว 1 ชั่วโมง เธอกล่าวเริ่มต้นถึงแรงบันดาลใจที่ได้จากท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ภรรยาของนายปรีดี พนมยงค์ หนึ่งในผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองและมีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทยแต่กลับไม่เป็นที่รู้จักมากนักในสังคมไทย

“ในโอกาสครบรอบ 105 ปีชาตกาลของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ มันสำคัญมากในการทบทวนวรรณกรรมและการต่อสู้ของผู้หญิง ตัวดิฉันเองมีความภาคภูมิใจและชื่นชมตัวท่านอย่างมากในความกล้าหาญ ทรนง และไม่เคยก้มหัวให้กับอำนาจไม่ชอบธรรม โดยไม่ต้องการยศถาบรรรดาศักดิ์” อังคณากล่าว

เธอกล่าวด้วยว่าเมื่อมีโอกาสทำงานกับผู้หญิงมากขึ้น ทำให้เธอนึกถึงสิ่งที่ปรีดีเขียนถึงพูนศุขเมื่อครั้ง 10 วันหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ปรีดีอธิบายเรื่องเกิดขึ้นให้ภรรยาฟังโดยลงท้ายในจดหมายว่า “การเมืองก็การเมือง ส่วนตัวก็ส่วนตัว” อังคณากล่าวว่าในฐานะของผู้หญิงในครอบครัวและผู้หญิงที่ต่อสู้เพื่อความยุติธรรม เธอเข้าใจประโยคนี้ดีว่า เราไม่สามารถแยกความเป็นผู้หญิงในครอบครัวกับความเกี่ยวพันทางสังคมการเมืองได้ โดยเธอขอยืนยันความเชื่อนี้ผ่านการต่อสู้ของผู้หญิง 3 กลุ่มที่หลากหลายแต่เชื่อมร้อยด้วยความรักความเป็นธรรมที่ไม่ต่างกัน

“ระหว่างสู้พวกเธอต้องร้องไห้เจ็บปวด แต่ก็แปรเปลี่ยนบาดแผลความทรงจำเป็นพลังและมีความหวัง หลายครั้งพวกเธอต้องต่อสู้กับความกลัว แต่ด้วยความหวังจะเห็นความเป็นธรรมถูกสถาปนาขึ้นจึงทำให้ยังคงต่อสู้ต่อไป และเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนจำนวนมาก

“อันที่จริงทั้งหญิงและชายก็ย่อมมีความทรงจำบาดแผลไม่ต่างกัน แต่เหตุผลที่อยากหยิบยกเรื่องผู้หญิงมาพูดเหตุผลหลายประการ ประการแรก ดิฉันคือผู้หญิง ประการที่สอง ดิฉันมีโอกาสเป็นพยานรู้เห็นความไม่เป็นธรรมหลายครั้งในประเทศนี้ และทำให้เห็นว่าแถวหน้าของผู้ทวงถามความเป็นธรรม ประชาธิปไตย คือ ผู้หญิง ประการสุดท้าย ผู้หญิงได้รับผลกระทบจากความไม่เป็นธรรมนั้นในฐานะเหยื่อทางอ้อม แบกรับภาระทุกอย่างที่ตามมา

“แม้จะมายืนแถวหน้าแต่ขณะเดียวกัน ผู้หญิงก็ยังมีวิถีชีวิตความเป็นผู้หญิง หลายคนต่อสู้ขณะตั้งครรภ์ ประท้วงขณะให้นมบุตร ต้องดูแลลูกเล็ก ดูแลพ่อแม่ การเรียกร้องความยุติธรรมของผู้หญิงจึงซับซ้อนกว่าผู้ชาย และบางกรณีขณะที่ปกป้องผู้อื่น พวกเธอก็ยังเผชิญกับความรุนแรงในครอบครัว การถูกล่วงละเมิดทางเพศ”

แม่และยาย (ตัวแสบ ) ในอาร์เจนตินา สู้ 30 ปีไม่มีคำว่าสาย

อังคณาแบ่งกลุ่มผู้หญิงที่เธอจะพูดถึงเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ ผู้หญิงในครอบครัวเหยื่อที่ถูกซ้อมทรมานและบังคับสูญหายในอาร์เจนตินาในช่วงทศวรรษ 2500-2510 รัฐบาลอาร์เจนติน่ามีการปราบปรามฝ่ายซ้ายและคนหนุ่มสาวขนานใหญ่ ช่วง 3 ปีของการปราบปราม ประมาณการว่ามีผู้ถูกอุ้มหายมากกว่า 30,000 คน จนผู้คนเรียกขานเหตุการณ์นี้ว่า “สงครามสกปรก” แม่คนหนึ่งลุกขึ้นมาร้องถามว่าลูกของเธออยู่ที่ไหน ที่จัตุรัสกลางกรุงบูเอโนสไอเรสอย่างไม่ลดละ จากแม่คนเดียวก็มีแม่คนอื่นๆ มาสมทบด้วยมากมายกลายเป็นการชุมนุมทุกวันพฤหัส เกิดขึ้นอย่างยาวนานเพื่อไม่ให้สังคมลืมเหตุการณ์นั้น มีผ้าโพกศีรษะสีขาวเป็นสัญลักษณ์ ระหว่างประท้วงแม่บางคนก็ถูกอุ้มหายไปอีก และยายก็ออกมาทวงถามหาลูกสาวซึ่งออกมาทวงถามหาหลานอีกที

“มันเป็นความอัปยศของกระบวนการยุติธรรมไทย และความพ่ายแพ้ของครอบครัว ตลอดกว่า 12 ปีของการสู้คดี ยังมีโศกนาฏกรรมเกิดกับคนอีกมากมาย...ราคาของความยุติธรรมที่ต้องแลกกับคราบน้ำตาและชีวิตของผู้คนมากมกาย ถึงวันนี้พิสูจน์ว่าความยุติธรรมไม่มีจริง”  

หลังเปลี่ยนเป็นระบอบประชาธิปไตย กลุ่มแม่เริ่มเคลื่อนไหวในทางการเมือง ไม่ยอมรับค่าชดเชยจนกว่ารัฐบาลทหารของอาร์เจนตินาจะยอมรับผิด นอกจากนี้ยังเคลื่อนไหวยกเลิกกฎหมาย 2 ฉบับที่ทำให้ทหารพ้นผิด ฉบับหนึ่งระบุระยะเวลาฟ้องคดีเพียง 60 วันหลังเกิดเหตุ ส่วนอีกฉบับคุ้มครองทหารระดับกลางและระดับล่างให้ไม่ต้องรับผิดในการละเมิดประชาชนเพราะเป็นการทำตามคำสั่ง ต่อมาปี 2549 ศาลสูงตัดสินว่ากฎหมายทั้งสองฉบับขัดต่อรัฐธรรมนูญ การไต่สวนคดีจึงเริ่มต้นอีกครั้งหลังเหตุการณ์ผ่านไป 22 ปี สุดท้ายก็สามารถนำคนผิดมาลงโทษได้ มีการเปิดเผยชะตากรรมของผู้สูญหาย รวมถึงนำกระดูกบางส่วนคืนครอบครัว กลุ่มแม่ส่วนใหญ่ยุติบาทบาทแต่ก็มีบางส่วนที่ยังคงชุมชนทุกวันพฤหัสเพื่อพูดถึงประเด็นทางสังคมอื่นๆ เรื่อยมา

 การบังคับสูญหายในประวัติศาสตร์ไทย และ 82 กรณีที่รัฐบาลตอบไม่ได้

สำหรับในประเทศไทย ปี 2490 มีการบันทึกว่า การบังคับสูญหายถูกนำมาใช้เพื่อจัดการความเห็นต่างทางการเมือง ตั้งแต่กรณีนายเตียง ศิริขันธ์ และหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ หลังปี 2490 วิธีการนี้ถูกเว้นวรรคไป ปรากฏอีกครั้งกลางทศวรรษ 2500 ในยุคที่ทหารไทยทำสงครามปราบคอมมิวนิสต์ ในพัทลุงมีรายงานการสูญหายของบุคคลจำนวนมาก จนชาวบ้านสร้างอนุสรณ์สถาน “ถังแดง” รำลึกผู้ถูกอุ้มฆ่าเวลานั้น หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาเรื่อยมาจนถึงทศวรรษ 2530 ในปี 2534 นายทนง โพธิ์อ่าน ผู้นำแรงงานและสมาชิกวุฒิสภาก็หายตัวไป ต่อมาปี 2535 มีรายงานผู้สูญหายจำนวนมากในเหตุการณ์พฤษภาเลือด จนถึงทศวรรษ 2540-2550 ภายใต้นโยบายสงครามยาเสพติดและการปราบปรามการก่อการร้ายในภาคใต้ก็มีผู้สูญหายอีกจำนวนไม่น้อย คณะกรรมการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจของสหประชาชาติ ระบุว่าตั้งแต่ปี 2530-ปัจจุบัน มี 82 กรณีที่รัฐบาลไทยไม่สามารถชี้แจงสถานะและที่อยู่ของผู้สูญหายได้

ความทรงจำบาดแผลของครอบครัว นีละไพจิตร-บิลลี่-แม่เฒ่าลาหู่

ในความทรงจำของครอบครัว อังคณาหยิบยกโควทคำพูดของครอบครัวเหยื่อหลายกรณี โดยเริ่มต้นจากประทับจิตร ลูกสาวของเธอเองที่เคยบอกเล่าความรู้สึกไว้ว่า ตลอดกว่าสิบปีที่ผ่านมา เรารู้สึกถูกลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพราะเสียงเล็กๆ ของครอบครัวเราไม่เคยได้ยินถึงหูผู้มีอำนาจ เขาต้องการให้เรากลัว ปิดปากเงียบ...เราบอกตัวเองเสมอว่า เราต้องมีชีวิตที่ดี ช่วยเหลือสังคมเพื่อพิสูจน์ว่าพ่อเราไม่ใช่คนผิด...เราไม่อยากทำร้ายคนที่ทำร้ายพ่อ แต่อยากบอกกับเขาว่า เราไม่กลัวและเราจะมีชีวิตที่ดีเพื่อช่วยเหลือคนอื่น

พิณนภา พฤษาพรรณ หรือ มึนอ ภรรยาของบิลลี่ รักจงเจริญ หนุ่มชนเผ่ากะเหรี่ยง บ้านโป่งลึก-บางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ผู้เคลื่อนไหวในประเด็นสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก-บางกลอย ที่ถูกอุ้มหายไปเคยพูดว่า พอบิลลี่หายไป ชีวิตเปลี่ยนไปมาก ต้องเลี้ยงดูลูก 5 คนกับพ่อแม่ที่อายุมาก ชีวิตเหมือนกลายเป็นอีกคน จากไม่เคยเข้าเมือง ตอนนี้เพื่อเดินทางไปทุกที่เพื่อหาความยุติธรรม อยากฝากถึงรัฐบาลว่า อย่าปล่อยให้คนทำผิดลอยนวลได้ไหม ช่วยนำคนไม่ดีมารับโทษทางกฎหมายได้ไหม เพื่อไม่ให้พวกเขาไปทำผิดต่อคนอื่นอีก

ครอบครัวชาวมลายูมุสลิมที่ถูกบังคับสูญหายรายหนึ่งเล่าว่า ศาสนาอิสลามให้ความสำคัญกับผู้ชายมาก แต่เมื่อไม่มีหลักฐานว่าเขาเสียชีวิต เธอจึงไม่มีโอกาสจัดพิธีศพ ลูกๆ ก็ไม่ได้รับทุนการศึกษา ครอบครัวอยู่อย่างยากลำบาก หวาดกลัว ไม่เห็นอนาคต

แม่เฒ่าชาวลาหู่เคยเล่าว่า เธอนั่งรอลูกชายหน้าบ้านทุกวัน ทุกวันนี้ยังคิดว่าลูกจะกลับมา...”พวกเขามีอำนาจ พวกเขาคิดว่าเราเป็นคนผิด คิดว่าเราขายยาเสพติด แม้แต่แจ้งความฉันก็ทำไม่ได้ เพราะไม่มีสัญชาติ ทั้งที่อยู่ที่นี่มานาน ฉันโกรธและเผาพริกเผาเกลือแช่งพวกเขาทุกวัน”

อังคณากล่าวว่า ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่รัฐพยายามสร้างความเคลือบแคลงในตัวผู้สูญหายแทนที่จะพยายามตามหาพวกเขา หลังคนคนหนึ่งหายไปมักเกิดข่าวลือมากมาย ทำให้สาธารณชนคิดว่า เป็นคนไม่ดี และมีเพียงทนายสมชายคดีเดียวที่ถูกนำขึ้นการพิจารณาในกระบวนการยุติธรรม แต่ท้ายที่สุดเมื่อต่อสู้มาเกือบ 13 ปี ศาลฎีกายกฟ้องจำเลยตำรวจ 5 คน และตัดสิทธิ์ครอบครัวในการฟ้องร้องแทนผู้เสียหาย เนื่องจากไม่มีหลักฐานว่าสมชายได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจนไม่สามารถฟ้องคดีได้ด้วยตนเอง

“มันเป็นความอัปยศของกระบวนการยุติธรรมไทย และความพ่ายแพ้ของครอบครัว ตลอดกว่า 12 ปีของการสู้คดี ยังมีโศกนาฏกรรมเกิดกับคนอีกมากมาย ตำรวจที่เป็นจำเลยที่หนึ่งที่ศาลชั้นต้นตัดสินจำคุก 3 ปีหายสาบสูญ ลูกความคนหนึ่งที่เป็นพยานในคดีซ้อมทรมานก็หายสาบสูญ ภรรยาของเขาถูกยิงเสียชีวิตไล่เลี่ยกัน ทิ้งลูกเล็ก 2 คนไว้ตามลำพัง อีก 2 คนที่เป็นพยานว่าถูกซ้อม ก็ถูกแจ้งข้อหาให้การเท็จ...และหนึ่งในนั้นหายสาบสูญไป

“ราคาของความยุติธรรมที่ต้องแลกกับคราบน้ำตาและชีวิตของผู้คนมากมกาย ถึงวันนี้พิสูจน์ว่าความยุติธรรมไม่มีจริง”  

ชาวบ้านวังสะพุง-กรณ์อุมา ภรรยาเจริญ-แม่และเมียกรณีตากใบ

อังคณากล่าวถึงกลุ่มผู้หญิงกลุ่มที่ 2 นั่นคือ กลุ่มผู้หญิงปกป้องสิทธิชุมชน โดยยกตัวอย่างกรณีวังสะพุง จังหวัดเลยซึ่งต่อสู้กับเหมืองทองคำ ชาวบ้านกังวลผลกระทบที่เกิดขึ้นในพื้นที่และเคลื่อนไหวต่อต้านการตั้งเหมือง มีการรวมกลุ่มห้ามรถขนสารพิษผ่านชุมชน มีผู้หญิงเข้าร่วมทุกกระบวนการเคลื่อนไหว วันที่ 15 พ.ค. 2557 ชายฉกรรจ์พร้อมอาวุธบุกพื้นที่ชาวบ้าน เหตุการณ์วันนั้นผู้หญิงเผชิญกับความรุนแรงมากขึ้น แม่คนหนึ่งบอกว่า.... “เราทำในสิ่งที่ถูกต้อง เราผ่านความตายมาแล้ว วันนั้นเด็กผู้หญิงโดนจับมัด ถูกข่มขู่ว่าจะเอาไปข่มขืน ไม่มีตำรวจมาช่วย พวกเขาบอกว่าเราขัดขวางการพัฒนา แต่ไม่คิดว่าเรากำลังปกป้องภูเขา ป่าไม้ และทรัพยากรของเรา ฉันถูกฟ้องคดีกว่ายี่สิบคดี ถูกฟ้องค่าเสียหายกว่าพันล้านบาท”

อังคณากล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้หญิงนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนถูกดำเนินคดีจำนวนมาก ทำให้การต่อสู้ของผู้หญิงมีความซับซ้อนขึ้น ต้องหาเงินทุนประกันตัวเอง จ้างทนายความ แม้แต่การเดินทางไปศาลแต่ละครั้งก็ต้องหาค่าใช้จ่าย ขณะที่มีภาระต้องดูแลครอบครัวด้วย แม้ศาลยุติธรรมจะเป็นความหวัง แต่ไม่นานนี้ศาลปกครองก็เพิ่งยกฟ้องคดีพิพาทที่ชาวบ้าน อ.วังสะพุง จ.เลย ฟ้องรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมาย หลังคำพิพากษาชาวบ้านถึงกับร่ำไห้ ตัวแทนกลุ่มแม่ ชาวบ้านบอกว่า น้ำตาที่ไหลออกมาไม่ใช่น้ำตาของผู้แพ้ มันเครียด มันน้อยใจ คนมีอำนาจเขามองไม่เห็น.....”

เธอยังหยิบยกกรณีของแม่สมปอง เวียงจัน แม่ค้าแกนนำกลุ่มชาวบ้านปากมูนที่ต่อสู้เรื่องเขื่อนปากมูลเคยกล่าวไว้ว่า “ฉันสู้มา 30 ปี ตอนสู้ใหม่ๆ เขาไม่เห็นเราเป็นมนุษย์ด้วยซ้ำ เราหยุดไม่ได้ เราหยุดเราก็ตาย ผู้หญิงมีบทบาทหลักในครอบครัว ถ้าทรัพยากรหายเราก็อยู่ไม่ได้ ฉันถูกฟ้องร้องนับสิบคดี”

ไม่ต่างจากกระรอก กรณ์อุมา พงษ์น้อย ภรรยานักต่อสู้เจริญ วัดอักษร แห่งกลุ่มอนุรักษ์บ่อนอก จ.ประจวบฯ เคยกล่าวว่า 11 ปีของการติดตามคดีเจริญ เราได้เรียนรู้ว่า กระบวนการยุติธรรมไม่มีวันเอื้อมมือไปถึงคนจ้างวานฆ่าได้ ถ้าทำให้คนฆ่าตายไปก่อนจะพิพากษา เราคาดหวังกับกระบวนการยุติธรรมได้ยากเต็มที...ผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่จะมีอยู่จริงได้ยังไง ถ้าแย่งมาจากคนเล็กคนน้อย เพราะชาติประกอบด้วยชุมชนเล็กๆ จำนวนมาก ถ้าชุมชนเข้มแข็งชาติจึงจะเข้มแข็ง

กลุ่มสุดท้ายกลุ่มที่ 3 อังคณาหยิบยกกรณีผู้หญิงที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักจากเหตุการณ์ตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อปี 2547 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตถึง 78 คนว่า ในวันฉลองวันสิ้นสุดของรอมฎอนในปีนั้น เด็กหนุ่มหลายคนกลับถึงบ้านวันถัดมาด้วยสภาพปราศจากลมหายใจ หากมีโอกาสสัมผัสชีวิตบรรดาแม่ๆ เหล่านั้นจะพบว่าพวกเธอเป็นผู้กุมอนาคตสังคมมลายูมากกว่าผู้ชายเสียอีก เธอเลี้ยงดูครอบครัวและทำหน้าที่หลักในการทวงถามความยุติธรรมด้วย น่าเสียดายที่ไม่ค่อยเห็นพวกเธอในพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ทางการเมืองที่มีอำนาจตัดสินใจ หนึ่งในนั้นเคยตอบคำถามว่าทำไมครอบครัวกรณีตากใบจึงไม่ฟ้องร้องรัฐ คำตอบก็คือ “ถึงฟ้องไปเราก็ไม่มีทางชนะรัฐได้หรอก แต่เราอยากจะบอกว่าถึงแม้เราไม่ฟ้องคดีในศาล เราก็รู้ว่าใครผิด ใครต้องรับผิดชอบ เราเชื่อในพระเจ้า พระเจ้าเท่านั้นที่จะให้ความยุติธรรมได้ ทุกวันนี้รัฐยังมองเราเป็นโจร ทุกปีของเดือนรอมฎอนเรายังคงคิดถึงลูกหลานของเรา หลายครอบครัวยังคงร้องไห้ เราไม่เคยลืม แม้รัฐให้เงินเยียวยา แต่เงินไม่ได้ทำให้เราลืมเรื่องที่เกิดขึ้น”

อังคณากล่าวว่า บางคนอาจมองว่าความยุติธรรมเกี่ยวพันโดยตรงกับความประชาธิปไตย แต่ประสบการณ์ของเธอพบว่า การละเมิดสิทธิ์เกิดทั้งภายใต้รัฐบาลทหารและพลเรือน แต่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นได้เป็นอิสระ เข้าถึงการตรวจสอบมากกว่ารัฐบาลทหาร และประชาชนจะไม่หวาดกลัวในการแสดงความคิดเห็นที่ขัดแย้งกับรัฐ

เธอกล่าวอีกว่า ความยุติธรรมนั้นสำหรับเหยื่อหมายถึงการได้รับโทษของคนที่กระทำผิด การชดใช้เยียวยา และการสร้างหลักประกันว่าเหตุการณ์จะไม่เกิดซ้ำอีก ซึ่งต้องมีการปรับปรุงกฎหมายให้ประชาชนตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐ ต้องปฏิรูปตำรวจ ปฏิรูปทหาร ปฏิรูปความมั่นคง การที่เจ้าหน้าที่ละเมิดสิทธิของประชาชนแล้วไม่ต้องรับโทษ ทำให้เกิดวัฒนธรรมไม่ต้องรับผิดหรือการปล่อยคนผิดให้ลอยนวล ในประเทศไทยเรามักเรียกร้องให้เหยื่อให้อภัยแล้วลืมเหตุการณ์ที่ผ่านมา โดยรัฐและสังคมไม่สนใจแสวงหาความจริง ไม่แสวงหาความยุติธรรมไม่เผชิญหน้ากับอดีต ไม่มีการจับคนผิด ไม่มีการปฏิรูปกฎหมายและความมั่นคง การเยียวยาที่รัฐให้เป็นเหมือนการสงเคราะห์ หลายครั้งการเยียวยายังมีการทวงบุญคุณกับครอบครัว การบังคับให้สัญญาว่าจะไม่ฟ้องร้องอีก นั่นจึงไม่ใช่การคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้ครอบครัวเหยื่อ แต่คือการซ้ำเติม การให้การชดเชยด้วยเงินจำนวนมากไม่อาจรับประกันได้ว่าเหตุการณ์เช่นนั้นจะไม่เกิดขึ้นอีก การรักษาความทรงจำของการละเมิดสิทธิมนุษยชนจึงเป็นเรื่องสำคัญในการรักษาความจริงที่เกิดขึ้น และทำให้การต่อสู้เพื่อความยุติธรรมดำรงอยู่

“การรักษาความทรงจำคือการรักษาประวัติศาสตร์ และมันจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ในสังคมที่เปิดให้การถกเถียงอย่างอิสระและเปิดเผยจะทำให้เกิดการเรียนรู้และป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เลวร้ายเกิดขึ้นอีก” เธอกล่าวและว่า ส่วนเหยื่อถ้าไม่ได้รับการฟื้นฟู เหยื่อจะกลายมาเป็นผู้ใช้ความรุนแรงในภายหลัง การบันทึกประวัติศาสตร์ความทรงจำของผู้แพ้ แม้ขมขื่น แต่เรื่องราวของพวกเขาจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ต่อไป

“การเรียกร้องการให้อภัย ถ้าคนทำผิดไม่เคยแสดงออกซึ่งการสำนึกผิดในสิ่งที่ทำ การให้อภัยย่อมไม่เกิดขึ้นและไม่เกิดผลในการเปลี่ยนแปลง หนำซ้ำยังทำให้มีการกระทำผิดซ้ำซาก การขอโทษและการยอมรับต่อสถานะ ต่อข้อเท็จจริง และการรับผิดชอบ เป็นการชดใช้รูปแบบหนึ่งต่อเหยื่อที่ไม่ใช่ตัวเงิน เช่นเดียวกับการลงโทษผู้กระทำผิดก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่ง การขอโทษ การยอมรับผิดสำคัญมาก การที่สาธารณะได้รับรู้ความทุกข์ทรมานของพวกเขา และความจริงเกี่ยวกับผู้กระทำผิดเป็นขั้นตอนสำคัญในการนำไปสู่การปรองดองอย่างยั่งยืน”

“ความหวังเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้ผู้หญิงยืนหยัดต่อสู้กับการปกป้องสิทธิมนุษยชนโดยไม่หวาดกลัว พร้อมเผชิญหน้า เพื่อสร้างแบบอย่างการต่อสู้ของคนสามัญ คนสามัญที่อาจไม่มีใครรู้จัก คนเล็กๆ แต่เป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ให้คนมากมาย คนที่ใช้ความทุกข์ยากของตนเองเป็นดั่งเม็ดกรวดเม็ดทรายปูทางสู่ชีวิตที่ดีกว่าของคนรุ่นต่อไป คนที่ไม่ท้อถอย ไม่ยอมแพ้ ไม่ก้มหัวให้อำนาจอันไม่เป็นธรรม เราทุกคนจึงควรขอบคุณพวกเขาร่วมกัน”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท