มูฮัมหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะได้รับอิสระหลังถูกตัดสินจำคุกข้อหาเป็นสมาชิกบีอาร์เอ็น

มูฮัมหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ หรืออันวาร์ นักเคลื่อนไหวภาคประชาสังคมที่ในปี 2556 ถูกศาลฎีกากลับคำพิพากษาตัดสินจำคุก 12 ปี ในข้อหาตระเตรียมการเป็นกบฏ-เป็นสมาชิกบีอาร์เอ็น ได้รับการปล่อยตัวแล้ว หลังได้รับการลดโทษตาม พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษเนื่องในโอกาสแรกนับแต่ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์

วิดีโอเพลงประกอบการรายงานข่าวมูฮัมหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะได้รับการปล่อยตัว ที่มา: Facebook/Insouthvoice

7 ม.ค. 2559 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่เรือนจำจังหวัดปัตตานี มูฮัมหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ หรืออันวาร์ หนึ่งในนักเคลื่อนไหวภาคประชาสังคม ซึ่งเมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2556 ถูกศาลฎีกาตัดสินจำคุก 12 ปี ในข้อกล่าวหาว่าเป็นสมาชิกกลุ่มบีอาร์เอ็นโคออร์ดิเนท ได้รับการปล่อยตัวแล้ว หลังได้รับการลดโทษตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษเนื่องในโอกาสแรกนับแต่ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2559 (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

โดยในวันนี้เพื่อนๆ รวมทั้งภรรยาของอันวาร์คือ รอมือละห์ แซยะ ได้ไปรอรับที่เรือนจำ และหลังได้รับการปล่อยตัวอันวาร์เดินทางไปที่มัสยิดกรือเซะ เพื่อละหมาดชูโกร หรือละหมาดเพื่อขอบคุณพระเจ้าที่ทำให้เขาได้รับอิสรภาพ จากนั้นรับประทานอาหารกลางวันที่ร้านข้างมัสยิดกรือเซะ และจึงเดินทางไปพักที่บ้านใน อ.ยะรัง จ.ปัตตานี

ผู้มีบทบาทแข็งขันในงานสื่อสารและภาคประชาสังคม

สำหรับอันวาร์ มีบทบาทในการก่อตั้งสำนักสื่อบุหงารายา ในปี 2550 เป็นการรวมตัวของนักศึกษาระดับอุดมศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการสร้างสื่อทางเลือกในการรายงานข่าวและความคืบหน้าเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เพื่อให้คนท้องถิ่นมีสื่อเป็นของตัวเอง โดยในปี 2552 อันวาร์ได้เริ่มเข้ามาร่วมงานกับสำนักสื่อบุหงารายาในฐานะบรรณาธิการ เนื่องจากเพื่อนๆ เห็นว่าอันวาร์มีทักษะในการเขียนข่าวและบทความ อันเป็นความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากการเข้าร่วมโครงการของสำนักข่าวเนชั่น

ในปี 2554 ซึ่งเป็นยุคที่สื่อทางเลือกในพื้นที่ได้เกิดขึ้นอย่างมากมาย อันวาร์จึงเปลี่ยนแปลงรูปแบบในการนำเสนอเน้นทำงานในประเด็นการศึกษาทางเลือก อบรมด้านสิทธิมนุษยชน สันติภาพ กิจกรรมเยาวชน นอกจากนี้เขาเป็นผู้หนึ่งที่เห็นความสำคัญของภาษามลายู เป็นผู้ที่เริ่มและเน้นการใช้ตัวอักษรยาวีในการเขียนงานเพื่อเป็นการอนุรักษ์ภาษามลายูในพื้นที่ด้วย ในรูปแบบของป้ายประชาสัมพันธ์ การทำนิตยสาร และเอกสาร เนื่องจากภาษามลายูที่ใช้อักษรยาวีเป็นอัตลักษณ์สำคัญหนึ่งของคนในพื้นที่ ในขณะที่สังคมชาวมลายูในอินโดนีเซียและมาเลเซียจะเน้นใช้อักษรรูมี

 

คดีที่นำไปสู่การจองจำอันวาร์

คดีของอันวาร์เริ่มต้นขึ้นในเดือนสิงหาคมปี 2548 เมื่อมีการจับกุมกลุ่มบุคคลทีละรายแต่รวมแล้ว 11 คน โดยใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ซึ่งเพิ่งประกาศใช้เป็นครั้งแรกในพื้นที่ โดยอันวาร์ซึ่งถููกจับตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถูกแยกฟ้อง 4 สำนวน ด้วยข้อหาหลักๆ คือ ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ ก่อการร้าย  อั้งยี่ ซ่องโจร ซึ่งจำเลยทั้งหมดปฏิเสธ ในการพิจารณา ศาลถือเป็นเรื่องเดียวกันจึงพิจารณาไปพร้อมกัน

ทั้งนี้แม้ไม่มีหลักฐานว่าอันวาร์เคยก่อเหตุความไม่สงบใดๆ แต่ในเดือนกรกฎาคม 2550 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า อันวาร์มีความผิดฐานเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มบีอาร์เอ็นโคออร์ดิเนท ตระเตรียมการอันเป็นกบฏ ให้ลงโทษจำคุกคนละ 12 ปี แต่ให้ยกฟ้องจำเลยสองคนเพราะเห็นว่าหลักฐานไม่เพียงพอ จำเลยอุทธรณ์

ในวัที่ 16 มิถุนายน 2552 ศาลอุทธรณ์ตัดสินให้ยกฟ้องอันวาร์พร้อมจำเลยอีกคนหนึ่งคืออัรฟาน บินอาแว แต่ให้ลงโทษคนอื่นๆ ที่เหลือ อัยการอุทธรณ์คำสั่ง พอไปถึงชั้นศาลฎีกา จำเลยทั้งหมดต่างสู้คดีอุทธรณ์คำสั่งของศาลอุทธรณ์เช่นกัน อ้างความไม่น่าเชื่อถือของพยานของอัยการว่าเป็นพยานบอกเล่า ซัดทอด และไม่มีการนำพยานที่ยอมรับว่าเป็นสมาชิกบีอาร์เอ็นมาเบิกความในศาล ส่งแต่เพียงสำนวนสอบสวนในชั้นซักถามและในชั้นสอบสวนเท่านั้น ทั้งยังไม่มีหลักฐานอื่นๆ มาสนับสนุน

ระยะเวลาผ่านไปเกือบ 4 ปี ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2556 ศาลฎีกาอ่านคำพิพากษาให้บรรดาจำเลยและครอบครัวฟัง ศาลฎีกาได้กลับคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกฟ้องอันวาร์และอัรฟาน และยืนตามคำตัดสินของศาลชั้นต้นคือให้ลงโทษทุกคน จำคุกคนละ 12 ปี

ในรายงานของ FT Media (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) ศาลฎีกาตัดสินโดยให้น้ำหนักจากเจ้าหน้าที่ โดยระบุว่า เจ้าหน้าที่ผู้จับกุมและสอบสวนตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน "ไม่เคยรู้จักหรือมีสาเหตุโกรธเคือง" กับจำเลยจึงไม่มีเหตุที่จะไป "สร้างเรื่อง ปรักปรำหรือข่มขู่ บังคับ หรือว่าจูงใจ" ให้บรรดาคนที่ให้ปากคำแหล่านั้นพูดตามที่ให้การ นอกจากนั้นศาลเห็นว่า การที่พวกเขาสามารถให้รายละเอียดของกระบวนการที่สมาชิกบีอาร์เอ็นทำก็ทำให้คำให้การนั้นสมจริง เพราะเป็นองค์กรที่ปิดลับ ต้องเป็นคนในเท่านั้นจึงจะรู้ได้

คำตัดสินของศาลดังกล่าว อาศัยหลักฐานจากการซัดทอดของคนสี่คน ในระหว่างการให้การในชั้นซักถามตามอำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และคำให้การของตำรวจในชั้นสอบสวน โดยมีเพียงคนเดียวในกลุ่มนี้ที่ได้เบิกความกับศาล นอกจากนั้นคำให้การของนักเรียนปอเนาะอีกสามรายที่ได้มาจากการซักถามในชั้นตำรวจ โดยให้การเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว ของสมาชิกบีอาร์เอ็นในการวางแผนสังหารดาบตำรวจ แต่ในชั้นศาล พวกเขากลับคำให้การ โดยบอกว่าไม่รู้เรื่องการวางแผนใดๆของสมาชิกบีอาร์เอ็นที่ไปก่อเหตุ อย่างไรก็ตามศาลนับเฉพาะคำให้การที่ให้ไว้ครั้งแรกกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในชั้นสอบสวนแทน โดยไม่ฟังคำให้การในชั้นศาลโดยอ้างว่านักเรียนปอเนาะสามรายต้องการช่วยเหลือจำเลย

โดยศาลตัดสินให้จำเลยมีความผิดฐาน “อั้งยี่  ตระเตรียมการอันเป็นกบฏ” แต่จำเลยก็ไม่มีความผิดฐานกระทำการอันเป็นกบฏ ก่อการร้ายและซ่องโจร เนื่องจากยังไม่ได้กระทำการใดๆ เพียงแต่ไปร่วมรับการฝึกฝนอบรม – เตรียมการเท่านั้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท