Skip to main content
sharethis

ในพื้นที่ชนบทของสหรัฐฯ กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศหรือ LGBTQ+ มีพื้นที่แลกเปลี่ยนและแสดงออกความคิดสร้างสรรค์น้อยกว่าในเมือง จึงมีคู่เควียร์คู่หนึ่งแห่งรัฐนิวแฮมป์เชียร์จัดตั้ง The Gal-lery เป็นพื้นที่ศิลปะสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศหรือคนชายขอบอื่นๆ ได้แสดงออกโดยไม่ถูกตีตรา

8 ม.ค. 2560 นิตยสาร Yes! Magazine รายงานเกี่ยวกับเรื่องการสร้างชุมชนและพื้นที่แสดงออกให้กับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ LGBTQ+ ในชนบท ซึ่งเมื่อเทียบกับในเมืองใหญ่แล้วผู้มีความหลากหลายทางเพศในแถบชนบทมีพื้นที่ชุมชนและพื้นที่แสดงออกอย่างปลอดภัยน้อยกว่า

พื้นที่แสดงออกอย่างปลอดภัยหรือที่เรียกว่า 'เซฟสเปซ' (Safe Space) นั้นมักจะถูกคนบางกลุ่มอ้างผิดๆ ว่าเป็นพื้นที่ที่ "ลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น" แต่ในทางตรงกันข้าม พื้นที่แสดงออกอย่างปลอดภัยเป็นสิ่งที่ส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นให้กับกลุ่มคนที่อยู่ชายขอบในสังคมเสมอมาจากการที่ในสังคมมักจะมีการข่มเหงรังแก กีดกัน เย้ยหยัน บีบคั้น หรือกระทั่งใช้ความรุนแรงเพื่อทำให้กลุ่มคนเหล่านี้เงียบเสียง แต่พื้นที่แสดงออกอย่างปลอดภัยจะทำให้คนที่ถูกรังแกสามารถเปิดเผยเรื่องราว แสดงออก หรือแลกเปลี่ยนประสบการณ์ได้โดยไม่ถูกกดดันให้ต้องเงียบจากพลังบีบคั้นของสังคมกระแสหลักหรือถูกก่อกวนการแลกเปลี่ยนจากกลุ่มโทรล (troll - ผู้ชอบกลั่นแกล้งหรือยั่วยุให้คนอื่นโกรธ)

โดยในเขตชนบทของเมืองแมนเชสเตอร์ รัฐนิวแฮมป์เชียร์ ที่มีบรรยากาศค่อนข้างอนุรักษ์นิยม ผู้มีความหลากหลายทางเพศ 2 ราย ได้เปิดพื้นที่ศิลปะและการแสดงออกชื่อ The Gal-lery ให้กับคนชาว LGBTQ+ และคนที่ถูกทำให้เป็นชายขอบอื่นๆ ให้สามารถแสดงผลงานศิลปะได้โดยที่จะไม่ถูกตัดสินตัวตนหรือถูกกดขี่ทางอัตลักษณ์

หนึ่งในผู้ก่อตั้งคือแคเธอรีน กราฟแฟม เป็นผู้ที่เกิดมามีสองเพศแบบปกติ (intersex*) เธอนิยามตนเองว่าเป็นหญิงข้ามเพศผู้ไม่จำกัดนิยามตัวเองในระบบสองเพศ เธอร่วมกับหญิงเควียร์อีกคนหนึ่งชื่อ แมเดอลีน โจนส์ หลังจากที่ทั้งคู่เรียนจบจากสถาบันศิลปะนิวแฮมป์เชียร์ พวกเธอก่อตั้ง The Gal-lery เมื่อปี 2558 และสามารถสร้างชุมชนที่มีผู้เข้าร่วมเป็นประจำได้สำเร็จ

กราฟแฟมบอกว่าการจัดงานของพวกเธอไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องความหลากหลายทางเพศเสมอไป แต่มันเป็นพื้นที่สำหรับคนที่ถูกทำให้เป็นชายขอบ ทำให้พวกเขามีส่วนร่วมกับศิลปะได้โดยไม่ถูกตัดสินและรู้สึกว่ามีพรรคพวก

คิต โอ คอนเนลล์ ผู้เขียนบทความนี้ใน Yes! ที่นิยามตนเองว่าเป็นชาวเควียร์เช่นกันระบุว่า ในขณะที่ชาวเควียร์ส่วนหนึ่งอาจจะแนะนำให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศย้ายถิ่นฐานจากชนบทเข้าสู่เมืองเพื่อหนีบรรยากาศการกดขี่ในชนบท แต่การแนะนำให้ย้ายถิ่นเช่นนี้จะทำให้เกิดสุญญากาศด้านงานสร้างสรรค์ ทำให้การสร้างชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศในชนบทเป็นไปได้ยากขึ้น

คอนเนลล์เล่าประสบการณ์ของตัวเองในฐานะชาวเควียร์ว่าตัวเขาเองก็เคยเผชิญการข่มเหงรังแกจากรูปร่างหน้าตาและการแสดงออกทางเพศในขณะที่เขาอาศัยอยู่ในชนบทช่วงวัยรุ่นจนกระทั่งเขาย้ายไปที่เมืองออสติน รัฐเท็กซัส เมื่ออายุได้ 20 ปี ที่มีชุมชนเป็นมิตรกับชาวเควียร์มากกว่าจนกระทั่งเขาได้พบกับกราฟแฟมเมื่อตอนที่เธอพูดถึงเรื่องศิลปะและทุนนิยมในทางนิทรรศการศิลปะ Gender Unbound

แม้ว่าเมืองแมนเชสเตอร์จะเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในรัฐนิวแฮมป์เชียร์ มีประชากรราว 110,000 คน แต่ก็ไม่ถึงขั้นเป็นเมืองใหญ่ เมืองนี้ยังมีการรื้อปรับพื้นที่แหล่งเสื่อมโทรมจนทำให้ราคาที่อยู่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้กราฟแฟมและโจนส์คิดถึงเรื่องพื้นที่ราคาย่อมเยาที่คนสามารถเข้าถึงได้หลังจากที่พวกเธอเรียนจบแล้ว พวกเธอมองว่ามีทรัพยากรสำหรับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศน้อยมากในแมนเชสเตอร์ พื้นที่เขาพวกเขามีแต่บาร์หรือไม่ก็กลุ่มแนวเพื่อนช่วยเพื่อน (support groups) แต่ก็ยังขาดพื้นที่สร้างสรรค์และบรรยากาศเปิดกว้าง ทำให้พวกเธอเปิด The Gal-lery ขึ้น

โจนส์บอกว่าหนึ่งในสาเหตุที่เธอเปิดพื้นที่ศิลปะให้เฉพาะคนที่ถูกทำเป็นชายขอบเช่นนี้เพราะว่าเมื่อเธอไปตามงานจัดแสดงต่างๆ ก็มักจะเจอแต่ผู้ชายผิวขาวในพื้นที่ศิลปะเหล่านั้นทั้งสิ้น พื้นที่ศิลปะทางเลือกจะทำให้เธอสามารถเชื่อมต่อกับศิลปินผู้มีความหลากหลายทางเพศได้ เช่น ลูซี ศิลปินเควียร์ผู้พยายามค้นหาชุมชนหรือแรงบันดาลใจสำหรับภาพวาดสีน้ำมันและสถานที่จัดแสดงงานของเธอ จนกระทั่งเธอเจอโจนส์และได้ร่วมงานนิทรรศการ Gal-lery

หลังจากเกิดเรื่องน่าเศร้าสำหรับศิลปะอย่างเหตุเพลิงไหม้โกดังศิลปะโกสต์ชิพ ในโอ๊คแลนด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อเดือน ธ.ค. 2559 หลายเมืองในสหรัฐฯ ก็เริ่มปิดพื้นที่ศิลปะใต้ดินลง แมนเชสเตอร์เองก็สูญเสียพื้นที่ศิลปะแบบทำมือไปหลายแห่งยิ่งทำให้ The Gal-lery มีความสำคัญในฐานะศูนย์รวมชุมชนมากกว่าเดิม

ดิแลน เฮอร์วิตซ์ ผู้อำนวยการองค์กรองค์กรสหพันธ์ศิลปินผู้มีความหลากหลายทางเพศ (BLAA) ของบอสตันที่ไม่นานมานี้จัดนิทรรศการชื่อ "trans/draw" บอกว่าการสร้างชุมชนเควียร์ในพื้นที่ชนบทเป็นเรื่องท้าทายเพราะมีประชากรผู้มีความหลากหลายทางเพศน้อยกว่า มีทรัพยากรรวมถึงโครงสร้างพื้นฐานอย่างศูนย์ชุมชนน้อยกว่าด้วย ในบางพื้นที่ถึงขั้นต้องถามว่ามีหรือไม่มีกลุ่มสนับสนุนผู้มีความหลากหลายทางเพศหรือไม่ด้วยซ้ำ

เฮอร์วิตซ์กล่าวต่อไปว่าในเมืองใหญ่ขึ้นก็จะเจอปัญหาอีกแบบหนึ่งเช่นสหพันธ์ของพวกเขาก็ต้องเลือกว่าจะเน้นส่วนไหนของชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศนำมาก่อนและจะเข้าถึงกลุ่มที่ใหญ่ขึ้นหลากหลายมากขึ้นภายใต้งบประมาณที่มีอยู่จำกัดได้อย่างไร

แน่นอนว่าก่อนที่จะจัดตั้งพื้นที่ศิลปะทางเลือกเช่นนี้ได้ทั้งโจนส์และกราฟแฟมต่างก็เคยผิดหวังมาก่อน พวกเธอบอกว่าในช่วงแรกๆ การจัดกิจกรรมทางศิลปะของพวกเธอล้มเหลวอย่างมาก มีอยู่สองครั้งที่ต้องยกเลิกงานเพราะไม่มีใครตอบรับคำเชิญทางเฟซบุ๊กเลย แต่ทั้งสองคนก็ออกจากอาณาเขตเดิมๆ ของตัวเองเพื่อสร้างเครือข่ายด้วยการเข้าหาศิลปินเควียร์และศิลปินที่แสดงออกเป็นหญิง รวมถึงพยายามเปิดรับศิลปินทางออนไลน์ ส่วนหนึ่งที่ทำให้พวกเธอประสบความสำเร็จคือการดึงดูดศิลปินผู้โดดเดี่ยวที่กำลังต้องการชุมชนเข้ามาได้

อย่างไรก็ตามกราฟแฟมและโจนส์ต่างก็เป็น "ผู้เฝ้าประตู" ที่คัดเลือกอะไรเข้าสู่ชุมชนเช่นกัน แม้คนที่ไม่ได้ถูกทำให้เป็นชายขอบจะเข้าร่วมได้แต่ก็มีการแจ้งให้ทราบว่าพื้นที่ของพวกเธอเป็นพื้นที่สตรีนิยมที่คำนึงถึงคนชายขอบหลายกลุ่ม จึงไม่อนุญาตให้มีการแสดงออกในเชิงเหยียดเพศ เหยียดเชื้อชาติ เหยียดความพิการ หรือการเหยียดอัตลักษณ์อื่นๆ ในพื้นที่ของพวกเธอ นอกจากนี้กราฟแฟมยังบอกอีกว่าเรื่องของมิตรภาพที่ดีระหว่างผู้คนในพื้นที่ศิลปะยังสำคัญกว่าผลกำไร "เมื่อคุณนำความเป็นทุนนิยมออกไปและไม่คอยตามใจพวกคนแก่รวยๆ ก็จะทำให้เกิดผลประโยชน์กับพวกเราเองและศิลปินอื่นๆ ที่ร่วมแสดงงาน"

ในแง่ของพื้นที่ศิลปะสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศนั้นกลุ่ม BLAA จะมองในอีกแง่หนึ่งว่าอาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นพื้นที่ปักหลักอยู่ที่ใดที่หนึ่งโดยเฉพาะก็ได้เช่นกลุ่มของพวกเขาก็มีการเคลื่อนย้ายไปทั่ว เฮอร์วิตซ์บอกว่าทางออกของพวกเขาคือการพยายามเข้าถึงพื้นที่อื่นๆ เพื่อดูว่าจะร่วมจัดแสดงงานกับพวกเขาหรือไม่ หรือไม่เช่นนั้นก็สามารถใช้พื้นที่อื่นๆ ที่มีอยู่แล้วได้ทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็นห้องนั่งเล่นหรือยุ้งฉางที่ไม่ใช้แล้ว

"ชุมชนเป็นสิ่งที่มีกระบวนการต่อเนื่องไปเรื่อยๆ มันไม่เคยมีจุดสิ้นสุด" เฮอร์วิตซ์กล่าว

แม้ว่ากราฟแฟมและโจนส์จะสามารถสร้างชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศได้สำเร็จ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีโอกาสแบบนี้ สำหรับบางพื้นที่แค่อยู่รอดได้โดยยังคงดำรงตัวตนผู้มีความหลากหลายทางเพศเอาไว้ก็ยากแล้ว โจนส์กล่าวว่า "สำหรับชาวเควียร์รุ่นเยาว์ในเซาท์ดาโคตาหรือใครก็ตามที่ต้องการพื้นที่แบบนี้แต่ไม่มีเวลาหรือเงินหรืออะไรก็ตามจงจำไว้ว่าพวกเธอยังคงยอดเยี่ยม พวกเรามองเห็นเธอและพวกเรารักเธอ"

 


* ผู้ที่เกิดมามีสองเพศแบบปกติ (intersex) หรือบ้างก็เรียกว่าเพศกำกวม คือคนที่ลักษณะทางเพศเชิงกายภาพ (โครโมโซมเพศ, อวัยวะเพศ และ/หรือ ลักษณะเฉพาะอื่นๆ) ไม่ได้ถูกกำหนดให้เป็นหญิงหรือชายอย่างชัดเจน บางครั้งมีการเปลี่ยนแลงเมื่อเติบโตขึ้น เช่นคนที่เกิดมามีรูปลักษณ์เหมือนเพศหญิงภายนอกแต่ลักษณะกายวิภาคภายในเป็นชาย เป็นต้น

เรียบเรียงจาก

Creating an LGBTQIA Safe Space in Rural America, Yes! Magazine, 05-01-2017
http://www.yesmagazine.org/people-power/creating-an-LGBTQAI-safe-space-in-rural-america-20170105


ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

http://www.isna.org/faq/what_is_intersex
http://geekfeminism.wikia.com/wiki/Safe_space
http://www.vox.com/2016/8/29/12684042/safe-spaces-college-university

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net