แอมเนสตี้ออกปฏิบัติการด่วน ชวนส่งจดหมาย กดดันไทยปล่อยตัว-ยกเลิกข้อหาไผ่ ดาวดิน

9 ม.ค. 2560 สำนักเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งตั้งอยู่ ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ออกปฏิบัติการด่วน เชิญชวนผู้สนับสนุนที่มีอยู่มากกว่าเจ็ดล้านคนทั่วโลก ร่วมกันเขียนจดหมายถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เรียกร้องให้ปล่อยตัวและยกเลิกข้อกล่าวหาต่อนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา (หรือ ไผ่) โดยระบุว่า นายจตุภัทร์ตกเป็นเป้าหมายโจมตีเพียงเพราะการใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมอย่างสงบ ซึ่งการรณรงค์จะดังกล่าวจะมีไปถึงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2560

เนื้อหาของปฏิบัติการด่วน ระบุว่า นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักกิจกรรมอาจได้รับโทษจำคุกสูงถึง 15 ปีเนื่องจากการโพสต์ข่าวทางอินเทอร์เน็ต ในวันที่ 22 ธันวาคม ทางการได้ถอนประกันของนายจตุภัทร์ โดยกล่าวหาว่าเขาแสดงความเห็นเยาะเย้ยในโซเชียลมีเดีย และได้ควบคุมตัวเขาไว้ในเรือนจำกลางจังหวัดขอนแก่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย

นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา (หรือ ไผ่) นักศึกษากฎหมายปีสุดท้ายและนักกิจกรรม ได้ถูกควบคุมตัวเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม ในข้อหาละเมิดมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา หรือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของไทย และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เนื่องจากการแชร์ข่าวจากบีบีซีไทยที่ถูกเผยแพร่เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม และมีหัวข้อว่า “พระราชประวัติ: สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร” บนเฟซบุ๊กของเขา ศาลให้ประกันตัวเขาด้วยการวางหลักทรัพย์เป็นเงินสด 400,000 บาทเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม

เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม ศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำสั่งอนุญาตตามคำขอของตำรวจ สภ.เมืองขอนแก่นให้ถอนประกันเขา ด้วยเหตุผลว่าความเห็นที่เขาแสดงทางโซเชียลมีเดียเป็นการเยาะเย้ยทางการ หลังจากที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในครั้งแรก นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษาเขียนแสดงความเห็นในเฟซบุ๊กของเขาระบุว่า "เศรษฐกิจมันแย่แม่งจะเอาแต่เงินประกัน" เจ้าพนักงานสอบสวนยังได้กล่าวระหว่างการไต่สวนของศาลว่า ความเห็นเช่นนี้ “อาจทำให้เกิดการเข้าใจผิด” ต่อผู้ติดตามในเฟซบุ๊กของเขาจำนวน 4,000 คน และที่ผ่านมาเขาไม่ได้ลบโพสต์ที่เป็นการแชร์ข่าวของบีบีซี และมีความเสี่ยงว่าหากปล่อยให้เขาโพสต์ข้อความต่อไป ทางการระบุว่า “อาจก่อให้เกิดความเสียหาย”
นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษาอาจได้รับโทษจำคุกสูงถึง 15 ปีเนื่องจากการแชร์ข่าวบีบีซีไทย เขายังคงถูกควบคุมตัวในเรือนจำกลางจังหวัดขอนแก่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม มีการพยายามขอประกันตัวเขาโดยเหตุผลว่าเขาต้องเข้าสอบในวันที่ 16 มกราคม 2560 แต่ศาลไม่อนุญาต

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องให้ผู้สนับสนุนเขียนจดหมายเป็นภาษาไทย หรือภาษาของตนเอง
• กระตุ้นให้ทางการปล่อยตัวนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา โดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข และยุติการดำเนินคดีอาญาใดๆ ต่อเขา
• แสดงความกังวลว่านายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษาตกเป็นเป้าหมายโจมตีเพียงเพราะการใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมอย่างสงบ
• เรียกร้องทางการให้ปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศของตนที่จะต้องปกป้องและทำให้เกิดผลต่อสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก รวมทั้งในอินเทอร์เน็ต

โดยส่งจดหมายก่อนวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2560 ไปยัง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ
กระทรวงยุติธรรม
อาคารศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550
เลขที่ 120 หมู่ 3 อาคาร A ถนนแจ้งวัฒนะ
เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210
โทรสาร: +66 2953 0503
คำขึ้นต้น: เรียน รัฐมนตรี

ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
พลตำรวจเอก จักรทิพย์ ชัยจินดา
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ถนนพระราม 1 แขวงวังใหม่
เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 ประเทศไทย
โทรสาร +66 2251 4739
คำขึ้นต้น: เรียนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

และส่งสำเนาจดหมายไปที่
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
นายดอน ปรมัตถ์วินัย
กระทรวงการต่างประเทศ ถ.ศรีอยุธยา
กรุงเทพฯ 10400 ประเทศไทย
โทรสาร +66 2643 5320 / +66 2643 5314
อีเมล์ minister@mfa.go.th

และให้ส่งสำเนาจดหมายไปยังผู้แทนการทูตในประเทศของท่าน กรุณาใส่ที่อยู่ของหน่วยงานการทูตตามรูปแบบด้านล่าง
ชื่อ ที่อยู่ 1 ที่อยู่ 2 ที่อยู่ 3 โทรสาร อีเมล คำขึ้นต้น พร้อมตรวจสอบกับเจ้าหน้าที่ section ของแอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนลในประเทศของท่าน หากท่านส่งจดหมายหลังวันที่ที่ระบุไว้ข้างต้น 

ข้อมูลจาก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่า นายจตุภัทร์ เป็นแกนนำนักกิจกรรม ซึ่งปัจจุบันถูกดำเนินคดีเนื่องจากการประท้วงอย่างสงบเพื่อเรียกร้องสิทธิชุมชนและประชาธิปไตย เขาถูกตั้งข้อหาละเมิดคำสั่งของทางการที่ห้ามการชุมนุม “ทางการเมือง” ของบุคคลห้าคนหรือกว่านั้น รวมทั้งการแจกใบปลิวเพื่อกระตุ้นให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และเข้าร่วมในเวทีเพื่ออภิปรายเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญของไทย เขาอาจได้รับโทษจำคุกรวมกัน 40 ปี หากถูกฟ้องตามข้อหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมอย่างสงบ ก่อนหน้านี้เขาเพิ่งได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2559 หลังถูกควบคุมตัว 19 วัน (โปรดดู UA 191/16 ที่ https://www.amnesty.org/en/documents/ASA39/4644/2016/en/)

นับตั้งแต่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 รัฐบาลทหารของไทยได้ใช้กระบวนการยุติธรรมทางอาญาเพื่อปราบปรามนักกิจกรรมและผู้ที่ทางการมองว่าวิพากษ์วิจารณ์ระบอบปกครอง โดยเป็นการละเมิดต่อพันธกรณีของไทยที่มีต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ทางการได้ปราบปรามอย่างหนักต่อการแสดงความเห็นทางอินเทอร์เน็ต โดยเป็นส่วนหนึ่งของการจำกัดสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงความเห็น การสมาคม และการชุมนุมอย่างสงบ บุคคลจำนวนมากรวมทั้งนักการเมือง นักดนตรี กวี บล็อกเกอร์ และบรรณาธิการ ได้ถูกจับกุมหรือคุมขังเนื่องจากแสดงความเห็นอย่างสงบทางอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะผ่านการเขียนความเห็นและเปิดให้สาธารณะชมได้ทางเฟซบุ๊ก การคลิก “ไลก์” การแชร์ และการส่งข้อความส่วนบุคคล บุคคลจำนวนมากเหล่านี้ต้องเข้ารับการพิจารณาที่ไม่เป็นธรรมในศาลทหารตามข้อหาเกี่ยวกับความผิดทางคอมพิวเตอร์ ขบถล้มล้างการปกครอง และความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ และบางคนได้ถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดและลงโทษจำคุกเป็นเวลาหลายสิบปี

ตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาหรือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของไทย บุคคลใดที่ “หมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี เป็นกฎหมายที่ถูกใช้เพื่อลงโทษการแสดงความเห็นอย่างสงบ ร่วมกับพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และ/หรือปรับ 100,000 บาท ต่อบุคคลใดที่นำเข้าข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ถือเป็นความผิดด้านความมั่นคง ในเดือนธันวาคม 2559 มีการผ่านร่างแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายอาชญกรรมคอมพิวเตอร์ที่อื้อฉาว กล่าวคือพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 (โปรดดู UA 225/16 ที่ https://www.amnesty.org/en/documents/ASA39/4944/2016/en/) ซึ่งเป็นกฎหมายที่มักถูกใช้เพื่อฟ้องร้องดำเนินคดีและลงโทษผู้ใช้งานเฟซบุ๊กอย่างสงบ การแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวอนุญาตให้มีการดำเนินคดีกับบุคคลและผู้ให้บริการเนื่องจากการใช้สิทธิที่จะแสดงความเห็นอย่างสงบ ซึ่งเป็นสิทธิที่ได้รับการคุ้มครองตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทย และไม่ได้แก้ไขความลักลั่นในการปฏิบัติตามพันธกรณีเหล่านี้ รวมทั้งปัญหาการคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัว ทั้งยังขยายอำนาจการสอบสวนของทางการต่อการทำธุรกรรมทางอินเทอร์เน็ต รวมทั้งกำหนดให้ผู้ให้บริการต้องเก็บข้อมูลผู้ใช้งานไว้อย่างน้อยสองปี การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายดังกล่าวยังขยายอำนาจศาลในการเซ็นเซอร์ข้อความที่ถือว่า “เป็นความเท็จ” หรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลหรือสาธารณะ และให้อำนาจทางการในการเซ็นเซอร์ข้อความที่ไม่ได้ผิดกฎหมาย โดยไม่จำเป็นต้องขอหมายศาล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท