เยอรมนีเล็งสืบสวนกรณีข่าวปลอมสะพัดโลกออนไลน์ หวั่นกระทบเลือกตั้งปีนี้

รัฐบาลเยอรมนีกังวลว่าเหตุการณ์โจมตีทางไซเบอร์และการเพิ่มขึ้นของข่าวปลอมจะส่งอิทธิพลต่อการเลือกตั้งที่จะขึ้นในปีนี้ของเยอรมนีโดยตั้งข้อสงสัยว่าอาจเป็นฝีมือของกลุ่มแฮกเกอร์ในรัสเซีย จากที่ก่อนหน้านี้เคยมีกรณีที่หน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ กล่าวหาว่ารัสเซียมีอิทธิพลแทรกแซงการเลือกตั้งครั้งล่าสุดในสหรัฐฯ

10 ม.ค. 2560 เจ้าหน้าที่ทางการเยอรมนีเปิดเผยว่าพวกเขากำลังสืบสวน "ข่าวปลอม" ที่กำลังเพิ่มมากขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน หลังจากที่ก่อนหน้านี้เมื่อสองเดือนที่แล้ว นายกรัฐมนตรีแองเกลา แมร์เคิล กล่าวว่า รัสเซียอาจจะพยายามมีอิทธิพลต่อการเลือกตั้งทั่วไปในเยอรมนีปีนี้

ไม่เพียงแค่เยอรมนีเท่านั้นทางการสหรัฐฯ เองก็เคยกล่าวหาว่ารัสเซียพยายามแทรกแซงส่งอิทธิพลต่อการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ในกรณีของเยอรมนีนั้นหน่วยงานข่าวกรองของเยอรมนีที่ชื่อสำนักงานปกป้องรัฐธรรมนูญของรัฐบาลกลาง (Bundesamt für Verfassungsschutz หรือ BfV) เปิดเผยว่ามีการโจมตีทางไซเบอร์ต่อองค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (OSCE) จริงเมื่อเดือน ธ.ค. 2559 ซึ่งเป็นวิธีการ "โจมตีโครงสร้างพื้นฐาน" แบบที่เคยมีปฏิบัติการแฮกรัฐสภาเยอรมนีในปี 2558 ซึ่งเป็นฝีมือของกลุ่มแฮกเกอร์รัสเซียที่ชื่อ APT28

BfV บอกอีกว่าเมื่อเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมาพวกเขาพบเห็น "การใช้ทรัพยากรอย่างมหาศาล" และการปล่อยเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อของรัสเซียที่มีการจงใจให้ข้อมูลเท็จเพื่อหวังทำให้รัฐบาลเยอรมนีขาดเสถียรภาพ ซึ่งทางการรัสเซียปฏิเสธว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสงครามไซเบอร์ที่มีการตั้งเป้าหมายเป็นรัฐบาลและสถาบันต่างๆ ของโลกตะวันตก

สเตฟเฟน ไซเบิร์ต โฆษกรัฐบาลบอกว่าเยอรมนีควรใช้ทุกวิธีในการสืบสวนการเผยแพร่ข่าวปลอมในโลกออนไลน์ โดยบอกว่าวิธีตอบโต้ที่ดีที่สุดคือการมีความโปร่งใสมากขึ้น ไซเบิร์ตกล่าวอีกว่าพวกเขาต้องเผชิญปรากฏการณ์ในมิติที่ไม่เคยพบเจอมาก่อน

ทางด้าน มาร์ติน เชเฟอร์ รัฐมนตรีต่างประเทศของเยอรมนีกล่าวถึงเรื่องนี้ว่าพวกเขาคิดต่อเรื่องความเป็นไปได้ที่ OSCE ถูกแฮกโจมตีและกรณีการโจมตีทางไซเบอร์อื่นๆ อย่างจริงจังมาก และแน่นอนว่าต้องมีการทำทุกวิถีทางเพื่อป้องกันเหตุการณ์เช่นนี้ในขอบเขตพื้นที่ของพวกเขา

ก่อนหน้านี้หน่วยงานข่าวกรองของสหรัฐฯ รายงานว่ารัสเซียพยายามแผ่อิทธิพลต่อการเลือกตั้งครั้งล่าสุดของสหรัฐฯ โดยเข้าข้าง โดนัลด์ ทรัมป์ แต่ทางการรัสเซียก็ปฏิเสธโดยกล่าวว่าไม่มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่รัสเซียมีส่วนเกี่ยวข้อง

เจ้าหน้าที่ทางการเยอรมนีเปิดเผยอีกว่าทางการกำลังพิจารณาเรื่องการสร้างหน่วยงานแยกย่อยจากสำนักงานสื่อของรัฐบาลเพื่อทำการประเมินและโต้ตอบข่าวปลอมแบบเดียวกับที่สาธารณรัฐเช็กเคยประกาศเมื่อเดือนที่แล้ว แต่ในตอนนี้ก็ยังเป็นแผนการตั้งต้นที่ยังไม่มีรูปธรรม อีกทั้งรัฐบาลยังกังวลอีกว่าพวกเขาถูกมองว่าเข้าไปควบคุมจัดการการรายงานข่าวในช่วงปีที่มีการเลือกตั้ง

เดอะการ์เดียนระบุว่าแองเกลา แมร์เคิล เคยวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของรัสเซียในกรณียูเครนมาก่อนจนทำให้เกิดการคว่ำบาตร โดยที่แมร์เคิลหวังว่าเธอจะชนะการเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีเยอรมนีสมัยที่ 4 ในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปี 2560 นี้

 

เรียบเรียงจาก

Germany investigating unprecedented spread of fake news online, The Guardian, 09-01-2017
https://www.theguardian.com/world/2017/jan/09/germany-investigating-spread-fake-news-online-russia-election

Russian cyber-attacks could influence German election, says Merkel, The Guardian, 08-01-2017
https://www.theguardian.com/world/2016/nov/08/russian-cyber-attacks-could-influence-german-election-says-merkel

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท