Skip to main content
sharethis

หลากหลายประสบการณ์ปวดห้องน้ำบนรถไฟของคนพิการอังกฤษ ที่ที่แม้มีห้องน้ำ แต่ก็อาจเข้าไม่ได้เพราะมีของขวางทาง-เสีย-กลายเป็นที่เก็บของ จนนักเคลื่อนไหวด้านคนพิการหลายคน เรียกร้องให้บริษัทรถไฟแก้ไข-สร้างบทลงโทษหากทำให้คนพิการเข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน


ซาแมนธา เรนกี
(ที่มา เฟซบุ๊ก Samantha Renke)
 

11 ม.ค.2560 ซาแมนธา เรนกี นักแสดงโฆษณาพิการชาวอังกฤษกล่าวกับเว็บไซต์เดอะการ์เดียนว่า เธอถูกทิ้งอย่างน่าเศร้าบนรถไฟเป็นเวลากว่า 2 ชั่วโมง หลังสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการบนรถไฟนั้นใช้ไม่ได้จริง

เรนกี เกิดในเมืองแลนแคสเชีย และอาศัยในเมืองชอร์ดิตช์ในฝั่งตะวันออกของลอนดอน เธอพิการด้วยโรคกระดูกเปราะ และต้องใช้วีลแชร์ เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. ที่ผ่านมา เธอออกเดินทางจากเมืองเพรสตันไปยังลอนดอนด้วยรถไฟรุ่นเวอร์จิ้นและไม่สามารถเข้าถึงที่นั่งคนพิการได้ เนื่องจากมีสัมภาระกระเป๋าต่างๆ วางอยู่เต็มพื้นที่ จึงเอ่ยปากขอย้ายที่นั่งไปยังขบวนถัดไป แต่ปรากฏว่า ที่นั่งคนพิการของขบวนอื่นก็เต็มไปด้วยกระเป๋าผู้โดยสารเช่นเดียวกัน


รถไฟรุ่น Virgin
(ที่มา
commons.wikimedia.org/wiki/File:Virgin_Class_390,_390128.jpg)
 

“ไม่มีการบอกอย่างแน่ชัดว่า เจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติอย่างไร ระหว่างต้องเคลื่อนย้ายกระเป๋าเหล่านั้นออกหรือไม่เคลื่อนย้ายมันออก จึงต้องเป็นหน้าที่ของฉันที่ต้องแสดงให้เห็นว่า ฉันมีสิทธิอย่างถูกต้องตามกฎหมายที่จะใช้พื้นที่ตรงนี้” เธอกล่าว

ในที่สุดกระเป๋าเหล่านั้นก็ถูกเคลื่อนย้าย เพื่อให้เรนกีเข้าไปนั่งในพื้นที่ของเธอ แต่การเข้าไปนั่งในพื้นที่ที่ล้อมรอบด้วยกระเป๋า ทำให้เป็นไปไม่ได้ที่จะออกไปเข้าห้องน้ำ ทั้งที่จริงๆ แล้ว เธออยากจะสั่งไวน์สักแก้ว แต่ก็ไม่กล้าแม้แต่จะจิบน้ำหรือกาแฟสักอึก เพราะกลัวจะปวดปัสสาวะ

เรนกี กล่าวว่า เหตุการณ์เช่นนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก และเกิดขึ้นกับเธอ รวมทั้งคนพิการคนอื่นๆ ตลอดเวลา เพราะคนไม่พิการมักคิดไม่ถึงว่า คนที่มีความบกพร่องจะต้องการอะไรเพื่อข้ามผ่านสิ่งต่างๆ เธอเล่าย้อนถึงการเดินทางของเธอ หลังถูกทิ้งให้รอทางลาดลงจากรถไฟกว่า 20 นาทีทั้งต้องตะโกนเรียกคนช่วยเหลือ ซึ่งรวมถึงพนักงานทำความสะอาด นี่เป็นประสบการณ์ที่เลวร้ายตั้งแต่ต้นจนจบของเธอ

เหตุการณ์นี้สร้างความเครียดและรำคาญใจให้แก่เธอ และยิ่งหากเกิดในเวลาที่รถไฟมีผู้โดยสารแน่นขนัด เธอก็ยิ่งกังวลว่า เธอจะสร้างความรำคาญใจแก่ผู้โดยสารคนอื่นๆ

เธอกล่าวว่า บางครั้งการทำสิ่งอำนวยความสะดวกก็เสี่ยงที่คนอื่นจะไม่เข้าใจ เพราะพื้นที่พิการขวางบริเวณใกล้ห้องน้ำ ซึ่งอาจทำให้คนไม่พิการได้รับความไม่สะดวก แม้ว่าคนพิการต้องการทำให้การใช้สิ่งอำนวยความสะดวกของพวกเขาเป็นไปอย่างประนีประนอมที่สุดโดยไม่รบกวนใคร หรือเลือกโดยสารนอกเวลาที่คนเยอะแล้ว แต่ก็มีบางครั้งที่ฉันก็ต้องกลับไปทำงานให้ทันตามเวลาเช่นกัน

เธอต้องการเรียกร้องให้คนเห็นความสำคัญของพื้นที่คนพิการ และเรียกร้องให้บริษัทรถไฟทำตามกฎและข้อบังคับในเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกต่อคนพิการ เพื่อลดการทำให้พื้นที่คนพิการนั้นใช้งานไม่ได้ พร้อมเสริมว่า แม้จะมีระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ แต่ก็ยังเห็นสถานที่ที่ไม่มีลิฟต์ หรือไม่มีห้องน้ำคนพิการอยู่

“อย่าทำพื้นที่คนพิการเพียงเพราะกฎหมายกำหนดว่าให้มี ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วไม่ได้มีความพร้อมเพราะนั่นก็เหมือนกับคำสัญญาที่ว่างเปล่า เรื่องเหล่านี้ทำร้ายจิตใจคนที่มีร่างกายไม่ครบสมบูรณ์อย่างมาก เมื่อสิทธิต่างๆ ของเราถูกลิดรอนไป มันก็เหมือนกับการที่เราเดินหน้าไป 1 ก้าว และเดินถอยหลัง 5 ก้าว” เธอกล่าว

อย่างไรก็ดี ตัวแทนจากบริษัทรถไฟเวอร์จิ้นกล่าวว่า พวกเขารู้สึกเสียใจและผิดหวังเป็นอย่างมากที่ได้ยินเรื่องราวของเรนกี เราต้องการให้ทุกคนมีประสบการณ์ที่ดีบนรถไฟและจะพยายามมากขึ้นในการปรับปรุงและทำความเข้าใจกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น

เช่นเดียวกับ แทนนี เกร์ ทอมสัน แชมป์พาราลิมปิก 11 สมัยกล่าวว่า บางบริษัทมีที่นั่งวีลแชร์เพียง 2 ที่ โดยมี 1 ที่ในชั้นเฟิร์สคลาสและอีก 1 ที่ในชั้นธรรมดา และมักตั้งอยู่ในที่ที่พวกเขาคิดว่าใกล้กับห้องน้ำที่น่าจะใช้ได้

ทอมสันกล่าวว่า เธอใช้งานโดยสารรถไฟระหว่างทางเหนือฝั่งตะวันออกของอังกฤษกับลอนดอน ประมาณ 40 สัปดาห์ต่อปี ห้องน้ำที่นั่นไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ คนพิการจึงต้องวางแผนก่อนที่จะขึ้นขบวนรถไฟ และแทนที่ห้องน้ำจะสามารถใช้งานได้ พวกเขากลับต้องควบคุมการดื่มน้ำของตัวเองแทน

ฟิล เฟรน ผู้ร่วมแคมเปญคนพิการ และคณะกรรมาธิการสถาบันวิจัยผู้บริโภค ซึ่งทำงานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับผู้สูงอายุและคนพิการกล่าวว่า เป็นเรื่องยากสำหรับคนพิการที่จะหาห้องน้ำที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกบนรถไฟ หากมุมมองของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องยังมองว่า มีคนบางกลุ่มไม่ต้องการที่จะท่องเที่ยว และไม่เคยที่จะออกจากบ้าน

เช่นเดียวกับคนพิการหลายคนที่เดอะการ์เดียนได้พูดคุยด้วย บางคนต้องลงจากรถไฟเพื่อเข้าห้องน้ำและรออีกกว่าชั่วโมงเพื่อเข้าห้องน้ำในครั้งถัดไป บ่อยครั้งที่คนนั่งวีลแชร์จะต้องรอขึ้นรถไฟขบวนถัดไปและพบว่า รถไฟเหล่านั้นไม่มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกใดๆ แม้แต่อุปกรณ์ช่วยขึ้นและลงรถไฟ

 

หลายคนเคยถูกทิ้งให้เผชิญประสบการณ์ปวดห้องน้ำที่เลวร้ายบนรถไฟ

ก่อนหน้านี้ เดอะการ์เดียนได้เปิดเผยกรณีนักกีฬาพาราลิมปิก วีลเชร์เรซซิ่งชาวอังกฤษ แอน วาฟูลา ซึ่งถูกทิ้งให้ต้องปัสสาวะใส่ตัวเองตลอดการเดินทางเวลากว่า 3 ชั่วโมง เพราะรถไฟที่วิ่งระหว่างเมืองนั้น ไม่มีห้องน้ำสำหรับคนพิการ เธอกล่าวว่า คนพิการไม่ได้ต้องการความสมบูรณ์แบบ แต่พวกเขาเพียงต้องการปัจจัยขั้นพื้นฐานและการใช้ชีวิตอย่างอิสระ ความขาดแคลนสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ทำให้พวกเขารู้สึกว่าตัวเองแปลกแยก

เหมือนกับนักกีฬาวีลแชร์บาสเกตบอล เอด เอดพิตัน ซึ่งถูกกดดันให้ต้องปัสสาวะใส่ขวดเพราะห้องน้ำคนพิการใช้งานไม่ได้ ห้องน้ำคนพิการหลายที่ถูกใช้เป็นที่เก็บของ และบางแห่งใช้เก็บรถจักรยาน

“ผมต้องปัสสาวะใส่ขวดเนื่องจากห้องน้ำคนพิการใช้งานไม่ได้ ต้องค่อยๆ เปิดเสื้อโค้ทขึ้นเหนือเข่าใต้โต๊ะรถไฟ และฉี่ใส่ขวดใต้เสื้อโค้ทนั้น

“ตราบใดที่ไม่มีบทลงโทษ ก็จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดคือผู้บังคับใช้กฎหมายไม่มีอำนาจมากพอที่จะบังคับใช้ รวมทั้งมีคนที่ไม่พิการมากมายใช้พื้นที่ของคนพิการอย่างห้องน้ำและที่จอดรถ บริษัทจึงควรทำอะไรสักอย่าง เพื่อทำให้เกิดการรับรู้หากพวกเขาทำให้สิทธิของคนอื่นหายไป” เขากล่าว

ซาร่าห์ อีแวน ทนายความจาก Slater and Gordon กล่าวว่า การเลือกปฏิบัติต่อคนพิการไม่ได้กระทบต่อคนพิการที่มีปัญหาทางด้านร่างกายเท่านั้น คนที่มีปัญหาทางจิตใจก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน แม้ว่าปัญหาเรื่องการเลือกปฏิบัติต่อคนพิการมีมายาวนานกว่า 20 ปีแล้ว แต่ก็ยังเหลือหนทางอีกยาวไกลกว่าจะเข้าใกล้คำว่าเท่าเทียม

“กรณีของแอนเป็นอีกตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า คนพิการมักถูกปฏิบัติเสมือนเป็นพลเมืองชั้นสอง บริษัทรถไฟควรที่จะตรวจสอบว่า ห้องน้ำคนพิการหรือแม้แต่ห้องน้ำทั่วไปนั้นใช้งานได้และสามารถให้บริการกับลูกค้าทุกคนได้” เธอกล่าว

เช่นเดียวกับคนพิการอีกหลายคนที่เคยมีประสบการที่เลวร้ายบนรถไฟ โคลอี ทิมส์ พิการด้วยโรคเส้นประสาทไขสันหลังเสื่อม (SMA: Spinal Muscular Atrophy) และใช้วีลแชร์กล่าวว่า การใช้ห้องน้ำสาธารณะสำหรับเธอ เป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะห้องน้ำส่วนมากไม่ตอบโจทย์ความต้องการของเธอ โต๊ะเปลี่ยนเสื้อผ้า (เตียงพลาสติกพับติดข้างผนัง และดึงลงมาเพื่อใช้งาน คนพิการบางคนใช้มันเพื่อเปลี่ยนผ้าอ้อม กางเกง ฯลฯ ) และเครื่องยกตัวติดเพดานเป็นอุปกรณ์ที่หายากมาก แค่เพียงโต๊ะเปลี่ยนเสื้อผ้าธรรมดาๆ นั้นก็แทบจะเป็นไปไม่ได้  


โต๊ะเปลี่ยนเสื้อผ้า
(ที่มา https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/9/94/Adult_disabled_changing_table_public_toilet.jpg)

 

เธอกล่าวว่า ผู้ช่วยที่สถานีรถไฟนั้นก็ยังเป็นสิ่งที่ขาดอยู่เช่นกัน บางสถานี ผู้ช่วยเหลือจะรอเมื่อรถไฟมาถึงพร้อมกับทางลาดเคลื่อนที่ เพื่อเคลื่อนย้ายคนพิการที่นั่งวีลแชร์ออกจากรถไฟ ในขณะที่บางสถานีนั้นไม่มี หลายครั้งเมื่อเธอเดินทางคนเดียว เธอต้องร้องขอให้ผู้ร่วมทางคนอื่นๆ ช่วยเรียกเจ้าหน้าที่ให้เธอ แม้ว่าเธอจะจองตั๋วมาอย่างดีพร้อมกับแจ้งถึงลักษณะความพิการของเธอ แต่ก็ยังพบว่า บ่อยครั้งเธอถูกทิ้งให้อยู่คนเดียวบนรถไฟเพื่อรอเจ้าหน้าที่ 

ชอนนา หลุยซ์ อายุ 19 ปี โดยสารรถไฟเพื่อเดินทางไปยังลอนดอน เธอใช้วีลแชร์ไฟฟ้าและกังวลทุกครั้งเมื่อต้องใช้บริการรถสาธารณะ และพบว่าที่สำหรับคนพิการนั้นเต็มไปด้วยคนและกระเป๋า แต่โชคดีที่พวกเขาหลีกทางให้กับเธอ เธอเข้ามาอยู่ในที่ของเธอ พร้อมกับกระเป๋าที่วางล้อมรอบเต็มพื้นที่ เมื่อเธอต้องการเข้าห้องน้ำแต่ไม่สามารถเข็นวีลแชร์ออกไปได้ เธอจึงต้องหยิบไม้ค้ำยันของแฟนเพื่อพยุงตัวลุกขึ้น และเดินไปเข้าห้องน้ำอย่างทุลักทุเล

 

แปลและเรียบเรียงจาก

https://www.theguardian.com/society/2017/jan/03/i-feared-for-my-health-disabled-actor-tells-of-nightmare-train-journey

https://www.theguardian.com/society/2017/jan/03/as-the-train-empties-i-worry-ill-be-forgotten-uk-disability-facilities

https://www.theguardian.com/society/2017/jan/03/transport-providers-come-under-pressure-improve-disabled-access-anne-wafula-strike-ade-adepitan

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net