'เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น'แถลงการณ์เปิดตัวกลุ่ม Black Circle

แถลงการณ์และกำหนดกิจกรรมทางวิชาการจาก กลุ่มนักวิชาการ ศิลปินและนักเขียน ชื่อ Black Circle แสดงจุดยืนในการร่วมสร้างกิจกรรมทางวิชาการและศิลปวัฒนธรรม เพื่อกรุยทางสู่เส้นทางแห่งปัญญา โดยยึดหลักเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

ความมืดมิดคือองค์ประกอบพื้นหลังที่รองรับความสว่างไสวของแสง ถ้าแสงสว่างคือความหวัง จุดเริ่มต้นอันเป็นประกายของแสงที่เฉิดฉันก็คงเป็นที่อื่นไปเสียมิได้นอกจากในความดำมืดนั้นเอง

กลุ่มนักวิชาการ ศิลปินและนักเขียน ชื่อ Black Circle ได้ร่วมแถลงการณ์ เพื่อแสดงจุดยืนในการ่วมสร้างสรรค์กิจกรรมทางวิชาการและศิลปวัฒนธรรม โดยมุ่งเน้นความหวังที่จะร่วมกรุยทางสู่เส้นทางแห่งปัญญา โดยยึดหลักเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ทั้งนี้ กิจกรรมต่างๆจะดำเนินไปในลักษณะความร่วมมือข้ามสถาบัน/หน่วยงาน โดยมีลักษณะของกิจกรรมที่หลากหลาย อาทิ การจัดประชุมวิชาการ การเสวนา การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ตลอดจนวารสารวิชาการชื่อ QUINTET JOURNAL เพื่อตีพิมพ์ผลงานวิชาการด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

กิจกรรมแรก ได้แก่ การร่วมมือกับคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร  ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดเสวนาสำนักทฤษฎีและปฏิบัติการทางสังคม ครั้งที่ 5 หัวข้อ "กรัมชี่กับปรัชญาปฏิบัติ: ว่าด้วยกฎหมายโบราณอีสาน และแรงงานข้ามชาติผู้ไร้เสียง" วันพฤหัสบดี ที่ 19 มกราคม 2560 14.00-16.30 น. ณ ห้องราชพฤกษ์ 1 ชั้น 2 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยมี ผศ.ดร. วัชรพล พุทธรักษา Black Circle สายมหาวิทยาลัยเนรศวร ร่วมอภิปรายและนำถก

กิจกรรมที่สอง ทาง Black Circle ได้ร่วมกับ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเสวนาหัวข้อ “สันติภาพกับความโอบอ้อมอารี: จากแดร์ริดา ถึงค้านท์” พบกับวิทยากร  เกษม เพ็ญภินันท์ เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช และกิตติพล สรัคคานนท์ วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560 ระหว่างเวลา 13.00 – 16.00 น. ณ ร้าน Books & Belongings กทม.

สำหรับวารสารวิชาการ QUINTET JOURNAL สามารถส่งบทความวิชาการเพื่อลงในวารสาร 4 ชิ้น บทวิจารณ์หนังสือ 1 ชิ้น

ฉบับปฐมฤกษ์ ว่าด้วย “ความจริง” On Truth กำหนดส่ง 31 พฤษภาคม 2560

1. ความยาวประมาณ 20 หน้า A4

2. อ้างอิง ระบบนามปี

3. ฟอนท์ UPC Angsana/Cordia/ Browallia หรือ TH Saraban ขนาดฟ้อนต์ 16

ส่งมาได้ที่ email: quintetjournal@gmail.com

0000

แถลงการณ์ Black Circle
(English below)

ความหวังเป็นสิ่งที่ไม่เกี่ยวกับความรู้โดยตรงก็จริง แต่ความหวังคือเงื่อนไขของการมุ่งหน้าไปสู่ความรู้ เมื่อเราวาดหวังถึงภาพอนาคต นั่นย่อมหมายความว่าเรารู้ว่าสังคมการเมืองที่ดีควรมีหน้าตาอย่างไรและย่อมหมายความว่าสังคมการเมืองดังกล่าวสามารถเป็นไปได้(อย่างน้อยก็สำหรับตัวเราเอง)

นักคิด/นักปรัชญาต่างพากันครุ่นคิดถึงโลกในอุดมคติ นักวิชาการวาดโครงการถึงการวิจัยที่จะเข้าถึงความรู้เกี่ยวกับศาสตร์ในแขนงของตน แต่เป้าหมายเหล่านั้นจะเป็นไปได้หรือหากปราศจากความหวัง เป็นไปได้หรือที่นักวิชาการจะเดินหน้าสู่เส้นทางแห่งปัญญาหากขาดซึ่งเสรีภาพอันเปรียบได้กับลมหายใจแห่งความหวัง

แบล็ค เซอร์เคิล คือกลุ่มนักวิชาการ ศิลปิน นักเขียนที่มาดหมายว่ากิจกรรมทางปัญญาจะกรุยทางไปสู่สังคมที่ดีขึ้นได้ คำว่า “แบล็ค” ในชื่อกลุ่มของเรานั้นแม้ด้านหนึ่งอาจชี้ชวนให้หวนนึกถึงความมืดมนอนธกาล แต่ความมืดก็มิเคยเป็นเพียงแค่ภาวะไร้แสงเปี่ยมความสิ้นหวัง ตรงกันข้ามเพราะมีความมืดมิดจึงทำให้เรารู้ว่าแสงสว่างคืออะไร หากปราศจากความมืดมิดแสงสว่างก็คงเป็นสิ่งที่ไร้ค่าและไม่มีใครให้ราคา ในแง่นี้ ความมืดมิดจึงเปรียบได้กับเงื่อนไขที่ให้กำเนิดแสง ความมืดมิดคือองค์ประกอบพื้นหลังที่รองรับความสว่างไสวของแสง ถ้าแสงสว่างคือความหวัง จุดเริ่มต้นอันเป็นประกายของแสงที่เฉิดฉันก็คงเป็นที่อื่นไปเสียมิได้นอกจากในความดำมืดนั้นเอง

เราตระหนักว่าโลกปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การจะจุดประกายแห่งแสง(และความหวัง) ย่อมต้องอาศัยความร่วมมือในบางลักษณะ เคราะห์ดีที่เทคโนโลยีการสื่อสารร่วมสมัยได้ส่งเสริมเราทั้งในการสร้างองค์ความรู้ที่เท่าทัน ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้เราได้ร่วมมือกันข้ามองค์กรหรือหน่วยงาน ในการนี้ แบล็ค เซอร์เคิล จึงเกิดขึ้นเพื่อดำเนินพันธกิจดังกล่าว ด้วยหวังว่าจะเป็นส่วนเล็กๆในการจุดแสงสว่างทางปัญญาและมอบความหวังให้กับสังคม

พวกเราเป็นกลุ่มนักวิชาการ ศิลปินและนักเขียนที่มุ่งทำกิจกรรมร่วมกันอย่างอิสระ เพื่อเกื้อหนุนกิจกรรมทางวิชาการ/ศิลปวัฒนธรรมอันจะเป็นหลักหมายสำหรับการจุดไฟแห่งปัญญา (และความหวัง) ท่ามกลางความมืดมิด

กิจกรรมต่างๆจะจัดขึ้นในรูปของการจัดประชุมวิชาการ การเสวนา การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ตลอดจนวารสารทางวิชาการชื่อ QUINTET JOURNAL เพื่อตีพิมพ์ผลงานวิชาการด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ นอกจากนี้เรายังมุ่งหมายจะสร้างเครือข่ายกับนักวิชาการในระดับนานาชาติ สำหรับสร้างสรรค์กิจกรรมทางวิชาการร่วมกัน เพราะเสรีภาพและความหวังนั้นมิเคยเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่แต่ในพรมแดนหรือขอบเขตจำกัดแต่อย่างใด ตราบใดที่มนุษย์ยังมีความหวัง ตราบนั้นก็คงมิมีอะไรมาขวางกั้นเสรีภาพในการมุ่งหน้าไปสู่เส้นทางแห่งปัญญาได้

 

0000

Black Circle Manifesto

It is true that hope does not directly relate to knowledge, however; hope is a requirement in order to move towards knowledge. Hoping for the future means that we actually already know what a good political society should look like, which also implies that there is a possibility for such society to exist (at least for the person who hopes).

Thinkers/ philosophers have been pondering on what an ideal world should be like. Scholars have been conducting research projects that would lead them to the knowledge of their fields. However, can those aims be achieved without hope? Is it possible for a scholar to progress towards enlightenment without having liberty which is comparable to the breath of hope?

“Black Circle” is a group of scholars, artists, and writers who believe that critical thinking activities can pave the way to a better society. The word “Black” may indicate the state of total darkness, but darkness itself is never merely a state of hopelessness. On the contrary, it is because of darkness that light comes into existence. Without darkness, light would certainly be meaningless and valueless. Following this aspect, darkness is then required in order to shed light for it is the background that help support the brilliance of light. And if light is hope, then the origin of light certainly cannot be anything but darkness.

We all realize that the world have advanced so fast nowadays. Igniting a spark of light (and hope) needs a certain kind of cooperation. Fortunately communication technology today allows us to be updated with information and knowledge while offers us an opportunity to acquire collaborations from different organizations and departments. “Black Circle” was founded to carry out this mission. It hopes to become a small unit which helps enlighten and offers hope to the society.

We are a group of scholars, artists, and writers who aspire to encourage academic and cultural activities which should ignite intelligence (and hope) amidst the darkness. Activities will be organized in the forms of conferences, symposiums, workshops, and plications in “QUINTET JOURNAL” which features academic papers in the fields of humanity and social science. Moreover, we intend to build connections with academics at an international level to create activities together for liberty and hope know no border. As long as humanity still has hope, nothing will get in the way of liberty that shall lead us to the path of enlightenment.

 

ลงชื่อ

กิตติพล สรัคคานนท์   บรรณาธิการ/ นักเขียน

เกษม เพ็ญภินันท์    ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไกรวุฒิ จุลพงศธร     นักวิชาการอิสระ

คงกฤช ไตรยวงค์     ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ชัยวุฒิ ตันไชย    นักวิชาการอิสระ

ตฤณ ไอยะรา สาขาความสัมพันธุ์ระหว่างประเทศ สำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ทวีศักดิ์ เผือกสม ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยนเรศวร

ปิยณัฐ ประถมวงษ์    นักวิชาการอิสระ

บดินทร์ สายแสง  สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

พิพัฒน์ พสุธารชาติ  นักวิชาการอิสระ

พิพัฒน์ สุยะ  ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์  สาขาวิชาสังคมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง

ภู กระดาษ นักเขียน

มิ่ง ปัญหา   ภาควิชาประวัติศาสตร์ ปรัชญา และวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง  คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ยุทธศิลป์ อร่ามศรี    นักวิชาการอิสระ

วัชรพล พุทธรักษา  สำนักทฤษฎีและปฏิบัติการทางสังคม คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

วริตตา ศรีรัตนา     ภาควิชาภาษาอังกฤษ คณะอักษรศาสตร์/ศูนย์ยุโรปศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา   นักเขียน

ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ  ภาควิชาสื่อ ศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

สันติ  ลอรัชวี นักออกแบบ

สุรัช คมพจน์  สาขาการเมืองการปกครอง สำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย

อรรถสิทธิ์ สิทธิดำรง  สาขาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

อนุสรณ์ ติปยานนท์ อาจารย์/นักเขียน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท