ทีดีอาร์ไอชี้มาตรการด้านภาษี 'เงินบริจาค' มีจุดอ่อน แนะตั้ง 'บอร์ดส่งเสริมการลงทุนด้านสังคม'

ทีดีอาร์ไอ เปิดผลวิจัย “การลงทุนด้านสังคม” ชี้มาตรการด้านภาษี 'เงินบริจาค' มีจุดอ่อน เสนอตั้ง 'บอร์ดส่งเสริมการลงทุนด้านสังคม' หนุน “องค์กรตัวกลาง” ภาคสังคมให้เข้มแข็ง
 
 
12 ม.ค. 2560 รายงานข่าวจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) แจ้งว่า สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน ทีดีอาร์ไอ เปิดเผยในงานสัมมนา “ชวนสังคมร่วมลงทุน” พร้อมเปิดผลวิจัย “โครงการศึกษาการลงทุนด้านสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของภาคีสุขภาวะ” โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อ 11 ม.ค. ว่าแม้ประเทศไทยจะมีเงินบริจาคเพื่อการกุศลโดยเฉลี่ยปีละ 70,000 ล้านบาท  นอกจากนั้น ยังมีงบประมาณจากรัฐสนับสนุนกองทุนด้านสังคม 5 กองทุน ได้แก่ กองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม กองทุนคุ้มครองเด็ก กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวืตคนพิการ กองทุนผุ้สูงอายุ และกองทุนส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาสำหรับคนพิการ โดยในปีงบประมาณ 2559 มีจำนวน 453 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.02 ของงบประมาณทั้งหมด 2.72 ล้านบาท นั้น  มีปัญหาการใช้ให้มีประสิทธิภาพ  ยกตัวอย่าง กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ   ปี 2558 มีเงินส่งเข้ากองทุนฯตามพ.ร.บ.ส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้พิการ พ.ศ.2550 (ม. 34) จำนวน 2,485,268,259 บาท แต่จำนวนเงินที่ใช้จ่ายออกคิดเป็นร้อยละ 42 ของเงินที่ส่งเข้ากองทุน 
 
สมเกียรติ ระบุว่า ไม่เพียงเท่านั้น  ลำพังเงินอุดหนุนจากภาครัฐเพียงอย่างเดียวย่อมไม่มากพอเมื่อเทียบกับขนาดของปัญหา จึงจำเป็นจะต้องสร้างการมีส่วนร่วมให้ประชาชนสามารถเข้ามาลงทุนแก้ปัญหาสังคมได้  ยกตัวอย่าง ปัญหาการศึกษา มีเด็กด้อยโอกาสจำนวน 4.8 ล้านคนที่เสี่ยงต่อการหลุดจากระบบการศึกษา  ที่ผ่านมาสังคมไทยนิยมการบริจาคเพื่อการกุศล ซึ่งนับเป็นการลงทุนทางสังคมรูปแบบหนึ่ง  อย่างไรก็ตาม  มาตรการด้านภาษี ยังมีข้อจำกัด กล่าวคือจะต้องบริจาคให้กับมูลนิธิที่กระทรวงการคลังประกาศให้เป็นองค์กรการกุศลสาธารณะ ตามมาตรา 47(7) เท่านั้นถึงจะได้รับการลดหย่อนภาษี ปัจจุบันมีทั้งหมด 935 แห่ง และการสนับสนุนในส่วนผู้บริจาค ถ้าเป็นบุคคลจะหักลดหย่อนภาษีได้ตามจ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้สุทธิ และถ้าเป็นนิติบุคคล สามารถหักได้ตามจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ  จึงไม่แปลกที่พบว่า มีมูลนิธิฯที่มีวัตถุประสงค์ให้ทุนศึกษาเพียงร้อยละ 14.64  หรือ 133 แห่งที่ผู้บริจาคสามารถลดหย่อนภาษีได้  ขณะที่ภาคเอกชน ตัวเลขบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่มีกิจกรรมซีเอสอาร์ด้านการศึกษาคิดเป็น ร้อยละ 22.27 จากทั้งหมด 642 องค์กร
ประธานทีดีอาร์ไอกล่าวว่า  มาตรการด้านภาษีนอกจากไม่สร้างแรงจูงใจสำหรับผู้บริจาคแล้ว ยังเป็นอุปสรรคสำหรับองค์กรภาคสังคม หรือผู้ให้บริการด้านสังคมซึ่งจำเป็นต้องอาศัยเงินบริจาคไปใช้เป็นงบประมาณด้านบริหารจัดการและอัตรากำลังคน เพราะไม่สามารถลดหย่อนภาษีได้  ทำให้เสียโอกาสในการสรรหาว่าจ้างบุคคลากรที่มีคุณภาพมาร่วมงาน และหากมีค่าใช้จ่ายด้านการบริหารจัดการมากกว่าร้อยละ 40 ของงบประมาณดำเนินการในแต่ละปี ส่งผลให้มูลนิธิหรือองค์กรนั้นจะไม่ได้รับการประกาศกำหนดให้เป็นองค์การหรือสถานสาธารรกุศล ตามประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 531) 
 
โดยภาพรวมกล่าวได้ว่า ผู้กำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษี ทั้งกรมสรรพากรและกระทรวงการคลังอาจไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในประเด็นการลงทุนด้านสังคมและสองหน่วยงานมีบทบาทหลักในการจัดเก็บรายได้ให้กับรัฐบาล ซึ่งอาจเกิดปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน ดังนั้น จึงนำมาสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายให้มีการตั้ง “คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนด้านสังคม” หรือ Social Investment Board มีบทบาทให้การสนับสนุนสิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ให้บริการทางสังคม ที่สามารถอ้างอิงผลลัพธ์ได้ โดยไม่จำกัดลักษณะองค์กร ว่าเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ หรือกิจการเพื่อสังคม หรือมูลนิธิภายใต้การดำเนินงานของภาคเอกชน
 
“ผู้ให้บริการภาคสังคมที่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับคณะกรรมการฯชุดนี้ จะได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีในลักษณะเดียวกันกับองค์การการกุศลสาธารณะในปัจจุบัน เงื่อนไขสำคัญคือ จะต้องมีการจัดทำรายงานการเงินส่งทุกปี ซึ่งรายงานนั้นจะต้องสะท้อนให้เห็นได้ว่าได้บรรลุวัตถุประสงค์เพื่อสาธารณะ และสร้างประโยชน์ที่วัดผลลัพธ์จับต้องได้” สมเกียรติ กล่าวและว่า นอกจากนี้ยังผลวิจัยพบว่า ตัวแปรสำคัญในการสร้างระบบนิเวศการลงทุนด้านสังคมให้เข้มแข็ง คือ องค์กรตัวกลางเพราะเป็นองค์กรที่มีเป้าหมายเสริมสร้างขีดความสามารถและสนับสนุนทรัพยากรให้ผู้ให้บริการทางสังคม
 
วิเชียร พงศธร ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อคนไทย กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่ผู้ให้บริการทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นองค์กรไม่แสวงกำไร หรือกิจการเพื่อสังคมจะต้องตื่นตัวที่จะมองหาแหล่งทุนที่ยั่งยืน มากกว่าการยึดแหล่งทุนแห่งใดแห่งหนึ่ง ซึ่งนั่นหมายถึงต้องมีความพร้อมที่จะเปิดการลงทุนจากประชาชนทั่วไปมากขึ้น ทั้งหมดนี้ต้องใช้การสร้างผลลัพธ์ทางสังคมมาเป็นเครื่องมือยืนยันความน่าเชื่อถือให้สังคมร่วมลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคทุนเงิน หรือทุนมนุษย์ อย่างการเชิญชวนอาสาสมัครผู้เชี่ยวชาญจากภาคธุรกิจมาแก้ปัญหาสังคม และเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ขนาดใหญ่ จำเป็นที่จะต้องเน้นทำงานแบบสร้างการมีส่วนร่วมกับองค์กรต่างๆ ปัจจุบันมีกลไกความร่วมมือเกิดขึ้นในสังคมมากมาย แต่ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของปรากฏการณ์ใหม่ในระบบนิเวศงานพัฒนาความยั่งยืนไทย ที่ต้องใช้เวลาเรียนรู้ร่วมกันอีกระยะหนึ่ง
 
วรวรรณ ธาราภูมิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด และประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า ข้อเสนอของทีดีอาร์ไอ.จะช่วยยกระดับการพัฒนางานสังคมไปอีกขั้นหนึ่งที่เป็นการสร้างผลลัพธ์ทางสังคมที่จับต้องได้ ที่ผ่านมาบลจ.บัวหลวงได้ร่วมกับภาคสังคมริเริ่มก่อตั้ง “กองทุนรวมคนไทยใจดี” หรือ BKIND โดยลงทุนเฉพาะในบริษัทที่ผ่านเกณฑ์ความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล และการต่อต้านคอร์รัปชัน (ESGC) และยังสนับสนุนเงินร้อยละ 0.8 ของผู้ลงทุน หรือร้อยละ 40 ของค่าบริหารจัดการกองทุน ไปพัฒนาโครงการเพื่อสังคมหรือองค์กรสาธาณประโยชน์ต่างๆ ปรากฏว่าปัจจุบัน สามารถสนับสนุนโครงการเพื่อสังคม 32 โครงการ แก้ปัญหาสังคม 9 ประเด็น และมีผู้รับประโยชน์ทางตรง 13,843 คน หรือ 829,634 คนหากทุกโครงการดำเนินงานแล้วเสร็จ เหล่านี้ สะท้อนได้ว่าประชาชนทั่วไปหรือผู้ถือหน่วยก็สามารถเป็นนักลงทุนทางสังคมได้ และในอนาคตอันใกล้ เชื่อว่า ภาคตลาดทุนไทยจะมีปรากฏการณ์ใหม่ๆ เชิญชวนให้ประชาชนเข้ามาเป็นนักลงทุนทางสังคม เพราะสิ่งนี้เป็นแนวโน้มใหม่ของโลกที่กำลังเกิดขึ้นและดีต่อสังคม 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท