เสนอแปล ‘ตำนานพระเจ้าเลียบโลก ฉบับเชียงรุ่ง’ ขยายองค์ความรู้ล้านนาคดีศึกษา

ประชุม 'ล้านนาข้ามแดน' เสนอปริวรรต “ตำนานพระเจ้าเลียบโลก ฉบับเชียงรุ่ง” สมหมาย เปรมจิตต์ หวังสร้างความรู้แจ้งแก่คนรุ่นหลัง ศรีเลา เกษพรหม ชี้ฉบับเชียงรุ่งมีความสำคัญ หลังสิบสองปันนาผ่านยุคจีนล้างศาสนา นอกจากนี้ยังเสนอให้แปลตำนานที่ยังกระจัดกระจาย ให้เป็นกิจจะลักษณะด้วย

ขณะที่เธียรชาย อักษรดิษฐ์ เสนอว่า การแปลจะทำให้สามารถเทียบกับตำนานพระเจ้าเลียบโลก ฉบับอื่นๆ ในภูมิภาค รวมทั้งตำนานอุรังคธาตุในอีสาน ซึ่งจะทำให้เห็นบริบททางพุทธศาสนาในภูมิภาคที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ส่วนสุดแดน วิสุทธิลักษณ์ เสนอว่าตำนานพระเจ้าเลียบโลกฉบับที่อ่านกันอยู่เป็นมุมมองของเชียงใหม่ที่มองออกไปข้างนอก ขณะที่หวังว่าฉบับเชียงรุ่งจะช่วยให้เห็นมุมมองจากพื้นที่ชายแดนอีกด้วย และหากนำแต่ละฉบับมาเปรียบเทียบกันก็จะทำให้การศึกษาน่าสนใจยิ่งขึ้น

คลิปเสวนา “โครงการปริวรรตและจัดพิมพ์ ‘ตำนานพระเจ้าเลียบโลก ฉบับเชียงรุ่ง’” โดยเป็นส่วนหนึ่งของงานประชุมวิชาการ "ล้านนาข้ามแดน" เมื่อ 13 มกราคม 2560 ที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

(จากซ้ายไปขวา) สมหมาย เปรมจิตต์, ศรีเลา เกษพรหม และวสันต์ ปัญญาแก้ว

เมื่อวันที่ 13 ม.ค. ในการประชุมวิชาการ "ล้านนาข้ามแดน" จัดโดย คณะกรรมการเตรียมการจัดประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษาครั้งที่ 13 ที่ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 2 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยการประชุมดังกล่าวเพื่อเปิดโอกาสให้มีการนำเสนอผลงานทางวิชาการ เพื่อทำความเข้าใจตำนาน ประวัติศาสตร์ เครือข่ายความสัมพันธ์ข้ามแดน และองค์ความรู้ด้านล้านนาคดีศึกษาที่ไม่ได้จำกัดแค่ในเขตภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยเท่านั้น

โดยในช่วงเช้ามีการอภิปรายเรื่อง “โครงการปริวรรตและจัดพิมพ์ ‘ตำนานพระเจ้าเลียบโลก ฉบับเชียงรุ่ง’” กล่าวแนะนำและดำเนินรายการโดย วสันต์ ปัญญาแก้ว คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีผู้อภิปรายโดย สมหมาย เปรมจิตต์ อดีตอาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ริเริ่มโครงการ “การสำรวจคัมภีร์ใบลานใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน” และศรีเลา เกษพรหม ผู้เชี่ยวชาญด้านจารึกล้านนา อดีตนักวิจัยสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ร่วมอภิปรายโดย เธียรชาย อักษรดิษฐ์ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และวัลลภ ทองอ่อน คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร

ตำนานพระเจ้าเลียบโลก รจนาโดยภิกษุชาวมอญชื่อ "พระธรรมรส" ได้รับการอุปถัมภ์จากกษัตริย์หงสาวดีให้ไปศึกษาพระพุทธศาสนามาจากลังกา ทำให้ทราบรายชื่อของพระพุทธเจดีย์และรอยพระบาทที่สำคัญ และทำให้พระธรรมรสจาริกไปตามสถานที่ต่างๆ ในอาณาจักรมอญและดินแดนต่อเนื่อง ในระหว่าง พ.ศ. 2060-2066 และเริ่มเขียนงานชื่อ "พยาเทสะจารี" เป็นเรื่องราวของพระพุทธเจ้าเสด็จมาประทานเกศาธาตุตามที่ต่างๆ พร้อมการพยากรณ์ในดินแดนที่สำคัญว่าจะมีการสร้างพระธาตุ หรือมีรอยพระพุทธบาท โดยต่อมาได้รับการแปลเป็นอักษรล้านนาชื่อ "ตำนานพระเจ้าเลียบโลก" ซึ่งจะส่งอิทธิพลต่อ "ตำนานพระอุรังคธาตุ" และ "ลำพระเจ้าเยี่ยมโลก" ของล้านช้างด้วย

โดยตำนานพระเจ้าเลียบโลกฉบับอักษรล้านนานั้น "พระมหาโพธิสมภาร" ภิกษุชาวลำพูนได้คัดลอกไว้จากพระธรรมรสเมื่อปี พ.ศ. 2066 ขณะพระธรรมรสจาริกแสวงบุญตามศาสนสถานต่างๆ และมีการคัดลอก ปรับปรุงเพิ่มเติม และเผยแพร่ในดินแดนต่างๆ กลายเป็นวรรณกรรมทางพุทธศาสนาที่สำคัญในล้านนาและพื้นที่ใกล้เคียง รวมไปถึงเชียงรุ่งในสิบสองปันนาด้วย โดยในปี พ.ศ. 2518 สิงฆะ วรรณสัย ได้ปริวรรตตำนานพระเจ้าเลียบโลกเป็นภาษาไทย

วสันต์ ปัญญาแก้ว เริ่มแนะนำโครงการว่า มีตำนานพระเจ้าเลียบโลกเรื่องเดียวกันนี้ แต่มีหลายฉบับ ที่ปรากฏพบในดินแดนแถบนี้ สำหรับตำนานพระเจ้าเลียบโลก ฉบับเชียงรุ่งนั้น เป็นฉบับที่จาร และจารึก ลงในใบลาน ที่เขียนโดยพระสงฆ์ในแถบเชียงรุ่ง และได้มีการคัดสรร คัดเลือก เพื่อนำมาปริวรรตดังกล่าว ทั้งนี้จารีตดั้งเดิมของสิบสองปันนา-ล้านนา คือทานธรรม โดยให้ผู้ที่บวชเรียนคัดวรรณกรรมหรือคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาเพื่อถวายให้กับวัด

และในที่สุดก็เกิดเป็นความคิดว่า เป็นโอกาสที่ดี และถ้ายึดตำนานเลียบโลกฉบับวัดกู่คำ ที่สิงฆะ วรรณสัย ก็จะครบ 100 ปี ในปีนี้ด้วย และในทางวิชาการ เราเห็นความสำคัญการศึกษาด้านล้านนาคดี จึงอยากเห็นการปริวรรตตำนานพระเจ้าเลียบโลก ฉบับเชียงรุ่ง จึงติดต่อ ผู้เชี่ยวชาญด้านอักษรธรรม และล้านนาคดี คือ สมหมาย เปรมจิตต์ และศรีเลา เกษพรหม มาร่วมอภิปรายในประเด็นของ ตำนานพระเจ้าเลียบโลก ฉบับเชียงรุ่ง

สมหมาย เปรมจิตต์ เสนอแนวคิดในการดำเนินการปริวรรตว่า ในส่วนของบทนำ ต้องการสร้างความรู้แจ้งแก่คนรุ่นใหม่ได้คิดถึงช่วงเวลาที่มีการเขียนพระเจ้าเลียบโลก คือเราต้องสมมติตัวว่ามีวิญญาณหรือแนวคิดของคนสมัยนั้นเพื่อเข้าไปอ่าน เข้าไปศึกษา ถึงจะรู้ว่ามันเป็นบริบทแบบไหน

ทั้งนี้จารีตการแต่งวรรณกรรม หรือตำนานเพื่อพุทธศาสนาในล้านนา ก็นำมาจากธรรมเนียมของลังกา ทั้งชินกาลมาลีปกรณ์ จามเทวีวังศะ ก็มีแบบอย่างเหมือนมหาวงศ์ และจุลวงศ์ของลังกา ในส่วนของการแต่งตำนานพระเจ้าเลียบโลก ก็เพื่อให้เกิดความขลัง ความศักดิ์สิทธิ หรือให้เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟัง คนจะได้เลื่อมใสศรัทธาในสถานที่นั้นๆ หากไม่มีตำนานของสถานที่สำหรับสักการะบูชา คนก็จะไม่นับถือ เหมือนธรรมเนียมการไหว้ต้นโพธิ์ น่าเอ็นดู เข้ามาในดินแดนแถบนี้หลายยุค มาตั้งแต่สมัยพญามังราย แต่ก็ไม่มีใครไปไหว้ เพราะเราไม่ได้มีธรรมเนียมไหว้ต้นไม้เหมือนแขกอินเดีย ธรรมเนียมไหว้ต้นโพธิ์ก็ตกไป

ในส่วนของสำนวนในตำนานพระเจ้าเลียบโลก ฉบับเชียงรุ่ง ถือว่ามีความดังเดิม และเนื่องจากฉบับที่ปริวรรตดังกล่าวมีการเรียบเรียงเป็นตัวพิมพ์ไทลื้อแล้วจึงอ่านได้ง่าย แต่ตัวลายมือที่แสดงต้นฉบับอยู่ในเล่ม มีขนาดเล็กต้องใช้แว่นขยาย ทั้งนี้ตำนานพระเจ้าเลียบโลก ฉบับเชียงรุ่ง ถือว่าคัดกรองต้นฉบับมาดีพอสมควร เหมือนกับตำนานพระเจ้าเลียบโลก ฉบับแปลโดยสิงฆะ วรรณสัย

สำหรับหนังสือที่ผ่านการปริวรรตนั้น ต้องใช้ความรอบคอบมากในการเตรียมต้นฉบับ หากจะไม่ให้พลาดต้องอ่านกันหลายคน บรรณาธิการเล่มต้องอ่านเป็น 10 เที่ยว อย่างไรก็ตามมีเรื่องน่าเสียดายที่ในระยะหลังงานปริวรรตของหน่วยงานราชการบางแห่ง ก็มีข้อความผิด ซึ่งไม่ใช่ข้อความตกหล่นแต่เป็นข้อความที่ปริวรรตออกมาผิด ซึ่งไม่ควรให้เกิดกรณีเช่นนี้ขึ้น

ศรีเลา เกษพรหม นำเสนอว่า ถ้าจะปริวรรตตำนานพระเจ้าเลียบโลก ฉบับเชียงรุ่ง ต้องมีการสืบถามว่าสิบสองปันนาใช้ต้นฉบับจากที่ไหน อย่าลืมว่าสิบสองปันนานั้นหลัง พ.ศ. 2509 ที่เขาเรียกว่า “ม้างศาสนา” เอกสารหายหมด ตัวเขาเคยเดินทางไปสิบสองปันนาเพื่อสืบถามวัดที่รักษาคัมภีร์เก่า สอบถามจึงทราบว่าได้มาจากพระสงฆ์ที่ไปอยู่เชียงตุง เลยเอาไปเขียนใส่กระดาษ A4 แล้วเอาไปถวายให้พระ พระก็เทศน์ด้วยเอกสาร A4 นี่แหละ ดังนั้นเอกสารดั้งเดิมจริงๆ ในสิบสองปันนานั้นหายาก ต้องสืบดูว่ามีการใช้ต้นฉบับเดิมมาจากวัดไหน

สำหรับการปริวรรตก็ไม่มีขั้นตอนยาก ในฉบับนี้อาจจะใช้อักษรไทลื้อใหม่ ก็ค่อยๆ ปริวรรตได้ แต่สำคัญที่ว่า ตำนานพระเจ้าเลียบโลก ฉบับเชียงรุ่ง จะมีส่วนที่ดีกว่าตำนานในฉบับของล้านนาหรือไม่ เพราะตำนานพระเจ้าเลียบโลกนั้น มีส่วนที่กลายเป็นตำนานพระธาตุต่างๆ เพราะวัดแต่ละที่ก็นำตำนานพระธาตุไปจากตำนานพระเจ้าเลียบโลก และตำนานพระธาตุในแต่ละแห่ง ก็จะมีความละเอียดเพิ่มขึ้น หรือมีการนำไปปรับปรุงเพื่อให้เข้าใจง่ายกว่าตำนานพระเจ้าเลียบโลก ดังนั้น โครงการปริวรรตและจัดพิมพ์ ‘ตำนานพระเจ้าเลียบโลก ฉบับเชียงรุ่ง’ น่าจะรวบรวมตำนานพระธาตุต่างๆ เช่น ผมเพิ่งได้อ่านตำนานพระธาตุโต้งตุ๋ม (ทุ่งตูม) แล้วนำไปถวายวัดดังกล่าว หรือพระธาตุแช่แห้ง พระธาตุช่อแฮ ฯลฯ แล้วนำมาเทียบกับตำนานพระเจ้าเลียบโลก ว่าผิดไปจากกันอย่างไร หรือมีรายละเอียดมากกว่ากันอย่างไร

นอกจากนี้ได้คุยกับ พระอาจารย์นคร ปรังฤทธิ์ จากมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยด้วยว่า ได้เคยอ่านตำนานพระบาท 8 ผูก ที่รักษาไว้โดย ฮันส์ เพนธ์ นักจารึกวิทยาผู้มีชื่อเสียง ทั้งนี้เรามักจะเจอตำนานพระธาตุ แต่ในกรณีนี้เป็นตำนานพระบาท ที่มีนักวิชาการเสนอว่าพระธาตุทางล้านนามีมาก ส่วนรอยพระพุทธบาททางเชียงตุงมีมากกว่านั้น ขอเสนอว่าถ้าได้อ่านตำนานพระบาทฉบับนี้ จะพบว่าล้านนาก็มีรอยพระพุทธบาทอยู่มากเช่นกัน โดยมีข้อมูลเรื่องรอยพระพุทธบาทหลายแห่งไปถึงแถบสุโขทัย จึงขอเสนอให้ทางมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยแปลตำนานพระบาทอย่างเป็นกิจจะลักษณะด้วย

อีกเรื่องหนึ่งเหตุใดเมื่อนิมนต์พระสุมนเถระมาล้านนาแล้วต้องไปอยู่ที่ลำพูน ก็เพราะลำพูนเป็นเมืองศาสนา สมัยพญามังรายตีลำพูนได้แล้วก็อยู่ไม่ได้เพราะลำพูนเป็นเมืองศาสนา ดังนั้นเมื่อได้ศาสนามาก็ต้องไปอยู่ที่ลำพูนก่อน สำหรับพระธาตุที่พระสุมนเถระได้มานั้น มาจากการขุดวัดร้างที่เมืองปางจา ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ระหว่างสุโขทัยกับศรีสัชนาลัย เมื่อได้พระธาตุมาก็เดินทางมาที่วัดสวนดอก เชิญเจ้าเมืองมาดูพระธาตุ เพื่อสรงน้ำ ซึ่งอาจจะเทน้ำขมิ้นส้มป่อยแรงไป ทำให้พระธาตุแตกเป็น 2 อัน แต่ในตำนานก็ต้องบอกว่าแสดงปาฏิหาริย์ โดยพระธาตุองค์หนึ่งไว้ที่วัดสวนดอก อีกองค์ไว้ที่วัดพระธาตุดอยสุเทพ พระสุมนเถระซึ่งต่อมาจะเป็นพระพุทธศาสนานิกายสวนดอก ซึ่งพระสุมนเถระก็ยังเป็นพระธรรมดาอยู่ ไม่ได้เคร่งครัดมาก เมื่อพญากือนาขอเอาพระธาตุบรรจุที่วัดสวนดอก ก็ต้องแลกเปลี่ยนกับพระสุมนเถระโดยให้หลานของพระสุมนเถระไปเป็นเจ้าเมืองที่เวียงด้ง ต่อมาพุทธศาสนาสายพระสุมนเถระอ่อนตัวลง พระเจ้าติโลกราชจึงต้องไปอาราธนาพุทธศาสนามาจากลังกาอีกหนหนึ่งกลายเป็นพุทธศาสนานิกายป่าแดง เมื่อกล่าวโดยสรุป ตำนานพระธาตุน่าจะเป็นสายวัดสวนดอก ส่วนตำนานพระบาทจะเป็นสายวัดป่าแดง

(จากซ้ายไปขวา) เธียรชาย อักษรดิษฐ์, วัลลภ ทองอ่อน, สุดแดน วิสุทธิลักษณ์, สมหมาย เปรมจิตต์, ศรีเลา เกษพรหม และวสันต์ ปัญญาแก้ว

วสันต์ เสนอด้วยว่า ถ้าจะปริวรรตจริงๆ คงจะต้องติดต่อไปที่สิบสองปันนา เพื่ิอสอบถามคณะผู้ปริวรรตว่าเอาใบลานเหล่านี้มาจากไหน เพราะเขาก็ปริวรรตเป็นตัวไท และใช้ฟอนต์คอมพิวเตอร์ มีพินยิน มีอักษรจีน ที่เราสนใจคือภาพใบลานที่แสดงไว้ในหนังสือฉบับดังกล่าว ซึ่งเท่าที่สอบถามคร่าวๆ น่าจะได้มาจากแถวชายแดนจีน-พม่า อาจจะมาจากแถบเชียงตุง เมืองลา เมืองหุน แล้วเข้ามาในสิบสองปันนา เพราะช่วงที่จีนมีการปฏิวัติ ก็ต้องข้ามหนีเข้าพม่า

นอกจากนี้ตำนานพระเจ้าเลียบโลกนั้นมีวิธีอ่านได้หลายแบบ แต่ก็เป็นต้นเค้าใหญ่ของวรรณกรรมทางพุทธศาสนาที่ทรงคุณค่า และมีตำนานพระธาตุ ตำนานพระบาทแห่งต่างๆ ที่แยกแขนงออกไป นำไปแต่งขยายความเพิ่มเติม โดยอาจารย์ศรีเลาก็เสนอว่ายังมีตำนานอีกจำนวนมากที่ยังขาดการปริวรรต ซึ่งนี่ก็เป็นเรื่องใหม่ และอาจจะต้องมีอีกโครงการหนึ่งเพื่อส่งเสริมการปริวรรตขึ้นมา หรือมีข้อสังเกตเรื่องตำนานพระบาทอยู่ในโครงการปริวรรต ‘ตำนานพระเจ้าเลียบโลก ฉบับเชียงรุ่ง’ ด้วย

เธียรชาย อักษรดิษฐ์ เสนอว่า การปริวรรตตำนานพระเจ้าเลียบโลก ฉบับเชียงรุ่ง มีความน่าสนใจว่าจะได้มีการเปรียบเทียบทั้งเรื่องสำนวน เรื่องวิธีการหยิบยืมซึ่งกันและกัน การกล่าวอ้างอิงเรื่องสถานที่และเหตุการณ์ และอาจลงลึกถึงเรื่องราว เหตุการณ์ในช่วงที่มีการเรียบเรียงด้วย ซึ่งก็จะทำให้เห็นภาพจิ๊กซอว์ ทำให้เห็นภาพที่ใหญ่ขึ้น และนอกจากสำนวนที่เราใช้ในล้านนาแล้ว ก็จะได้ขยายพื้นที่ เพิ่มเติมเนื้อหาเพื่อใช้อ้างอิงซึ่งกันและกัน รวมทั้งเทียบกับสำนวนในลุ่มน้ำโขง ในพื้นที่ลาว หรือภาคอีสาน และตำนานอุรังคธาตุ ซึ่งเป็นแม่บทใหญ่ของตำนานพระเจ้าเลียบโลกฉบับอีสาน ซึ่งทั้งหมดเมื่อนำมารวมกันเป็นผืนใหญ่ จะทำให้เห็นภาพบริบททางพระพุทธศาสนาที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

วัลลภ ทองอ่อน ตำนานพระเจ้าเลียบโลก นับเป็นวัฒนธรรมร่วมในภูมิภาคแถบนี้ทั้งหมด ขณะที่จีนก็เริ่มหันมาวิจัยแล้วเสนอว่าเป็นวัฒนธรรมหนึ่งของชาติ ดังนั้นถ้าฝ่ายไทยได้ทำวิจัยบ้าง ก็จะได้มีความก้าวหน้าหลักในเรื่องตำนานพระเจ้าเลียบโลก ที่เป็นผลงานของฝ่ายไทยด้วย

สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ กล่าวว่าสนับสนุนเต็มที่ให้มีการแปลตำนานพระเจ้าเลียบโลก ฉบับเชียงรุ่ง โดยตำนานพระเจ้าเลียบโลกฉบับที่อ่านกันอยู่ ก็เป็นมุมมองของเชียงใหม่ที่มองไปข้างนอก แต่ในกรณีของฉบับเชียงรุ่ง ก็จะทำให้มองเห็นวิธีคิดของคนพื้นถิ่น คนชายแดนว่ามองเรื่องนี้อย่างไร เมื่อนำมาเปรียบเทียบกันก็น่าจะสนุกมาก

สำหรับพระเจ้าเลียบโลกก็เป็นตำนานที่สืบทอดมาเป็นเวลายาวนาน เป็นการเขียนขึ้นเพื่อการฟัง หมายความว่าเป็นการเขียนขึ้นเพื่ออ่าน ให้คนอื่นๆ ฟังเรื่องของการเดินทาง ปัจจุบันก็ยังมีซอพระเจ้าเลียบโลกสืบมาในปัจจุบัน

หากพูดถึงมุมมองสมัยใหม่ ถ้าจะให้ดูกลางเก่ากลางใหม่ ตำนานพระเจ้าเลียบโลก ก็เป็นวิธีการเดินทางของผู้ชาย ที่เดินทางไปในที่ต่างๆ และบอกว่าไปเจออะไรบ้าง และเรายังไม่เห็นบทบาทของผู้หญิงเลย เมื่อเราอ่านตำนานพระเจ้าเลียบโลกในฉบับอื่น เราจะเห็นมุมมองแบบนี้หรือไม่

ตำนานพระเจ้าเลียบโลกในส่วนของไทยนั้น เราประกาศให้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของชาติประกาศเมื่อปี 2553 แต่ในแง่การทำงานของรัฐชาติต่อเรื่องนี้ ยังไม่อาจเทียบเท่ากับจีน ที่เขาทำออกมานานแล้ว และสมบูรณ์ในส่วนของเขาเอง แต่ของเรายังพึ่งพางานปริวรรตฉบับสิงฆะ วรรณสัยที่ทำในปี พ.ศ. 2518 ก็เป็นภาระหน้าที่ของรัฐชาติ ของมหาวิทยาลัย ของผู้มีความรู้ทั้งหลายที่จะได้ทำให้สำเร็จในส่วนที่เป็นภาษาไทยโดยคนของเราเอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท