Skip to main content
sharethis

หลังมีมติ ครม. 27 ธันวาคม 59 แผนเดินเรือและปรับปรุงร่องน้ำเดินเรือแม่น้ำโขง จนมีเสียงหวั่นกระแสระเบิดแก่งในแม่น้ำโขงระลอกใหม่นั้น ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี นักวิชาการ ม.เชียงใหม่ ชี้ให้เห็นการขยายอำนาจในการจัดการทรัพยากรของจีนที่แผ่ลงมาในแม่น้ำโขงตอนล่างมากขึ้น แต่แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติ สิ่งที่เกิดขึ้นในลุ่มน้ำตอนบน ย่อมกระทบปลายน้ำ คำถามคือคิดจะระเบิดแก่งถามเพื่อนบ้านหรือยัง มีสิ่งใดอนุญาตให้เกิดการทำลายทรัพยากรแบบไม่มีลิมิตเช่นนี้

ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี ให้สัมภาษณ์กรณีกระแสข่าวสำรวจร่องน้ำโขงเพื่อการเดินเรือและแผนระเบิดแก่ง

กรณีที่มีกระแสข่าวผลักดันการระเบิดแก่งในแม่น้ำโขงใกล้ด้านที่ติดกับ จ.เชียงราย เพื่อการเดินเรือ โดยมีมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 27 ธันวาคม 2559 "ขอความเห็นชอบแผนพัฒนาการเดินเรือระหว่างประเทศในแม่น้ำล้านช้าง – แม่น้ำโขง ค.ศ. 2015 – 2025 และการดำเนินงานเบื้องต้นโครงการปรับปรุงร่องน้ำทางเดินเรือในแม่น้ำล้านช้าง – แม่น้ำโขง" ท่ามกลางเสียงคัดค้านของภาคประชาสังคมและกลุ่มอนุรักษ์ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)  โดยต่อมาในวันที่ 10 มกราคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ให้สัมภาษณ์เมินที่จะรับฟังเสียงคัดค้านการทบทวนมติ ครม. และชี้แจงว่าเป็นแค่การศึกษาเท่านั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ต่อเรื่องดังกล่าว ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี รองศาสตราจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์ต่อกระแสข่าวดังกล่าวและเรื่องการระเบิดแก่งในแม่น้ำโขงตอนบนว่า สะท้อนการเคลื่อนตัวของอำนาจธรรมาภิบาลในการจัดการทรัพยากรส่วนร่วมของแม่น้ำโขง จากกลุ่มประเทศในคณะกรรมาธิการลุ่มน้ำโขง ( Mekong River Commission - MRC) ที่มีสมาชิกที่อยู่ติดแม่น้ำโขง ได้แก่ ไทย เวียดนาม ลาว กัมพูชา ซึ่งอำนาจจัดการได้ย้ายขึ้นไปข้างบน สะท้อนการแผ่อำนาจของจีน ใช้อำนาจในการครอบครองทรัพยากรข้างล่างมากขึ้น

ประเด็นคือ แม่น้ำโขงไม่ใช่ของไทย หรือของจีน แม่โขงเป็นแม่น้ำร่วมหลายๆ ประเทศ การระเบิดแก่งหรือสิ่งที่เกิดขึ้นในเขตเหนือน้ำ จะกระทบกับประเทศตอนล่าง ประชาชนเวียดนามทำนาโดยอาศัยแม่น้ำโขง เศรษฐกิจภาคเกษตรพึ่งพาแม่น้ำโขง เช่นเดียวกับ ประชาชนเขมร การประมงของเขาก็พึ่งพาแม่น้ำโขง คำถามใหญ่คือไประเบิดแก่งถามเพื่อนบ้านแล้วหรือยัง อะไรอนุญาตให้จีนสามารถมีโครงการพัฒนา หรือทำลายทรัพยากร แบบไม่มีขอบจำกัดเช่นนี้

ไทยไม่มีอำนาจในการจัดการแม่น้ำโขงฝ่ายเดียว ในเรื่องนี้เป็นเรื่องที่กลุ่มประเทศในภูมิภาคต้องคุยกัน เรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องระเบิดแก่งเท่านั้น เพราะจีนยังมีโครงการสร้างเขื่อนเหนือแม่น้ำโขงเต็มไปหมด คำถามคือเราจะเซ็งลี้แม่น้ำให้กับประเทศเดียว โดยประเทศอื่นๆ ที่ใช้แม่น้ำโขงจะได้ประโยชน์อะไร

ต่อคำถามที่ว่า งบประมาณลงทุนของจีนสำหรับประเทศในภูมิภาค ทำให้เสียงของประเทศเหล่านี้อ่อนหรือไม่ ปิ่นแก้ว เสนอว่า "ที่ผ่านมาจีนมีอิทธิพลในการลงทุนในประเทศเหล่านี้ ซึ่งเท่ากับเป็นไฟเขียวทำให้เรายอมทำให้จีนทำอะไรก็ได้ แต่คำถามใหญ่คือ แม่น้ำโขงไม่ได้ประกอบด้วยเกาะแก่งตอนเหนือเฉยๆ การเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศด้านบน มีผลต่อระบบนิเวศลุ่มน้ำโขงด้วย มีการศึกษา หรือมีการมองผลกระทบทั้งระบบหรือยังก่อนตัดสินใจดำเนินการ ซึ่งไม่ใช่แค่การเดินเรือเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของการสูญเสียเศรษฐกิจภาคเกษตรด้วย"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net