อ็อกแฟมเปิดรายงาน คนรวยสุด 8 คนมีความมั่งคั่งเท่าประชากรครึ่งโลก

อ็อกแฟม อินเตอร์เนชั่นแนล นำเสนอรายงานว่าโลกของเรามีความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจในระดับ "น่าขยะแขยง" คนรวยที่สุดในโลก 8 คน มีความมั่งคั่งเทียบเท่ากับประชากร 3,600 ล้านคน นอกจากนี้ผู้หญิงโดยรวมในโลกยังไม่ได้รับโอกาสทางเศรษฐกิจมากเท่าผู้ชาย ทั้งเรื่องค่าแรง การถูกใช้ทำงานที่ไม่ได้ค่าจ้างและบางแห่งก็ยังถูกกีดกันทางการศึกษา

17 ม.ค. 2560 อ็อกแฟม อินเตอร์เนชั่นแนล (Oxfam International) เปิดเผยรายงานเมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2560 ระบุว่าช่องว่างระหว่างระหว่างคนรายกับคนจนกว้างขึ้นกว่าเดิมมากจากที่เคยกลัวกันไว้ จนถึงในระดับที่คนรวยที่สุดในโลก 8 คน มีความมั่งคั่งเทียบเท่ากับประชากร 3,600 ล้านคน ผู้เป็นกลุ่มประชากรครึ่งหนึ่งของโลกที่มีความยากจนกว่าอีกครึ่งหนึ่ง โดยการรวบรวมข้อมูลจากองค์กรนานาชาติ 19 องค์กรที่ทำงานอยู่ในมากกว่า 90 ประเทศ

รายงานของอ็อกแฟมระบุว่าธุรกิจใหญ่ๆ และเศรษฐีใหญ่ทั้งหลายต่างทำให้เกิดวิกฤตความไม่เท่าเทียมเพิ่มมากขึ้นจากการหลบเลียงภาษี บีบลดค่าจ้าง และใช้อำนาจของตัวเองในการส่งอิทธิพลต่อการเมือง อ็อกแฟมยังระบุอีกว่าข้อมูลใหม่และดีกว่าเดิมของพวกเขายังพบว่ากลุ่มประชากรครึ่งหนึ่งที่มีความยากจนกว่าอีกครึ่งหนึ่งมากกว่าที่เคยประเมินกันเอาไว้

วินนี เบียนยิมา ผู้อำนวยการบริหารของอ็อกแฟมอินเตอร์เนชันแนลกล่าวว่า "มันเป็นเรื่องน่าขยะแขยงที่ความมั่งคั่งตกอยู่ในมือของคนแค่ไม่กี่คนในขณะที่ประชากร 1 ใน 10 ต้องมีชีวิตอยู่ด้วยเงินน้อยกว่า 2 ดอลลาร์ต่อวัน (ราว 60 บาท) ความไม่เท่าเทียมกันเป็นสิ่งที่สกัดกั้นให้คนหลายร้อยล้านคนอยู่ภายใต้ความยากจน มันทำให้สังคมเราผุพังและบ่อนทำลายประชาธิปไตย"

เบียนยิมายังพูดถึงการที่ผู้คนถูกกดค่าแรงในขณะที่ซีอีโอจำนวนมากรับเงินโบนัสกลับบ้านกันทีละล้านดอลลาร์ มีการตัดงบประมาณด้านการศึกษาและสาธารณสุขในFขณะที่บรรษัทและมหาเศรษฐีหลบเลี่ยงภาษี รวมถึงรัฐบาลหลายแห่งก็ไม่ยอมฟังเสียงประชาชนแล้วมัวแต่เอาใจกลุ่มธุรกิจใหญ่กับชนชั้นนำที่มั่งคั่ง

อ็อกแฟมยังระบุอีกว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบมากเป็นพิเศษคือผู้หญิงและเด็กผู้หญิง พวกเธอมักจะถูกใช้งานที่มีความปลอดภัยน้อยกว่าและได้รับค่าแรงน้อยกว่า โดยที่เด็กผู้หญิงบางส่วนอย่างในอินเดียถูกบังคับใช้แรงงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอด้วย นอกจากเรื่องแรงงานแล้วการตัดงบประมาณด้านสาธารณสุขยังส่งผลกระทบต่อผู้หญิงมากกว่าด้วย เช่นในเคนยาที่มีการงดเว้นภาษีในบรรษัทจนทำให้ขาดงบสาธารณสุขไปครึ่งหนึ่งทั้งที่ผู้หญิง 1 ใน 40 ยังเสียชีวิตจากการคลอดลูก

ในแง่ของการเลี่ยงภาษี อ็อกแฟมรายงานว่าการเลี่ยงภาษีของบรรษัททำให้ประเทศยากจนสูญเงินอย่างน้อย 100,000 ล้านดอลลาร์ ต่อปี ซึ่งเป็นจำนวนที่มากพอจะให้การศึกษาเด็ก 124 ล้านคนที่ไม่ได้รับการศึกษาได้ และยังใช้ส่งเสริมสวัสดิการสาธารณสุขเพื่อช่วยป้องกันไม่ให้เด็กเสียชีวิตได้ 6 ล้านคนต่อปี

รายงานของอ็อกแฟมยังระบุอีกว่ากลุ่มคนรวยระดับมหาเศรษฐียังใช้เครือข่ายประเทศที่ช่วยทำให้ไม่ต้องจ่ายภาษี (tax haven) และเอื้อต่อการลงทุนของพวกเขาโดยที่คนออมเงินทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงได้ อ็อกแฟมยังระบุอีกว่ากลุ่มมหาเศรษฐีไม่ได้เป็น "ผู้ที่สร้างเนื้อสร้างตัวด้วยตัวเอง" อย่างที่หลายคนเข้าใจผิดๆ มหาเศรษฐีจำนวนมากมักจะได้ความมั่งคั่งมาจากการสืบต่อมรดกหรือการสั่งสมผ่านอุตสาหกรรมต่างๆ ที่มักจะมีเรื่องของการทุจริตและการเล่นพรรคเล่นพวก

อ็อกแฟมเสนอให้มีระบบเศรษฐกิจที่คำนึงถึงมนุษย์มากกว่านี้ อย่างการหันมากระจายรายได้ให้กับประชาชนทุกคนไม่เพียงแค่คนรวยไม่กี่คน โดยหวังว่าการที่รัฐบาลเลิกให้ความมั่งคั่งกระจุกตัวอยู่แค่กับคนไม่กี่คนจะช่วยแก้ปัญหาความยากจนได้อย่างการเก็บภาษีความมั่งคั่งและคนที่รายได้สูงมากเพิ่มขึ้นเพื่อทำให้เกิดการสร้างความเท่าเทียมกันด้านโอกาสมากขึ้นจากการนำงบประมาณไปใช้กับสวัสดิการสุขภาพ การศึกษา และการสร้างงาน ขณะเดียวกันก็ต้องรับรองว่าคนงานได้รับค่าแรงที่ดีด้วย

อ็อกแฟมยังเน้นย้ำถึงการที่ต้องทำให้รับกับเศรษฐกิจที่แต่เดิมโดยรวมมักจะเอื้อต่อเพศชายมากกว่าควรจะเอื้อต่อผู้หญิงมากขึ้นด้วยโดยการยกเลิกการกีดกันผู้หญิงจากความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ เช่น การส่งเสริมให้ผู้หญิงเข้าถึงการศึกษาและเลิกการถ่วงผู้หญิงเอาไว้กับงานดูแลบ้านที่ไม่ได้รับค่าจ้างแต่อย่างเดียว

แอนนา แรทคลิฟฟ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อนานาชาติของอ็อกแฟมและโครงการเกี่ยวกับประเด็นความไม่เท่าเทียมกล่าวว่าการจะแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมได้ต้องมีการแก้ไขโครงสร้างเศรษฐกิจแบบเดิมที่ใช้กันมา 30 ปีแล้ว ต้องมีการแก้ไขไม่ให้บรรษัทยักษ์และมหาเศรษฐีคอยหาผลประโยชน์จากสภาพแบบเดิม อย่างไรก็ตามมีรัฐบาลบางประเทศที่สามารถลดความไม่เท่าเทียมลงได้จากการฟังข้อเรียกร้องของคนส่วนใหญ่ในสังคม เช่น ประเทศนามิเบีย ที่ขึ้นภาษีคนรวยเอามาใช้กับโครงการการศึกษาฟรีระดับมัธยมศึกษาซึ่งเป็นการลดช่องว่างคนรวยกับคนจนได้

 

เรียบเรียงจาก

Inequality (I): Half of World’s Wealth, in the Pockets of Just Eight Men, Inter Press Service, 16-01-2017
http://www.ipsnews.net/2017/01/inequality-i-half-of-worlds-wealth-in-the-pockets-of-just-eight-men/

AN ECONOMY FOR THE 99%
https://www.oxfam.org/sites/www.oxfam.org/files/file_attachments/bp-economy-for-99-percent-160117-en.pdf

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท