Skip to main content
sharethis

จากที่มีการเปิดโปงบทสนทนาระหว่างเจ้าของสื่อใหญ่ในอิสราเอลกับเบนจามิน เนทันยาฮู ทำให้ตอนนี้นายกฯ อิสราเอล มีโอกาสถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับสินบนเพื่อให้สื่อนำเสนอภาพลักษณ์เขาแต่ในทางที่ดี โดยที่รายงานของอัลจาซีราสำรวจล้วงลึกกว่านั้นถึงเรื่องราวก่อนหน้าที่เผยให้เห็นเกมกุมสื่ออันซ่อนเงื่อนของเนทันยาฮู

17 ม.ค. 2560 เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีการรายงานถึงเรื่องอื้อฉาวของเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล โดยสื่ออัลจาซีราได้รวบรวมเรื่องอื้อฉาวของเนทันยาฮูโดยเฉพาะเรื่องที่เขามีสายสัมพันธ์กับกลุ่มธุรกิจชั้นนำและถูกกล่าวหาเรื่องเกี่ยวกับสินบน เช่น การครอบงำสื่อต่างๆ ให้นำเสนอแต่ภาพลักษณ์ดีๆ ของตัวเอง

โจนาธาน คุก จากสื่ออัลจาซีราระบุว่า ในขณะที่การสืบสวนในอดีตส่วนหนึ่งเปิดเผยให้เห็นการใช้ชีวิตอย่างหรูหราของเนทันยาฮูกับภรรยาของเขา แต่ยังขาดหลักฐานที่ชัดเจนที่จะโยงเรื่องการใช้ชีวิตอย่างหรูหราของเขาแลกกับการอุปถัมภ์ และประชาชนที่รู้เรื่องนี้ก็มองเป็นเรื่องตลกมากกว่าจะแสดงความไม่พอใจ ทว่าในการเปิดโปงครั้งหลังๆ เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อนายกรัฐมนตรีอิสราเอลผู้นี้มากกว่า จนอาจจะทำให้อิสราเอลถูกมองว่าเป็นรัฐที่มีผู้นำฉ้อฉลได้

เรื่องที่เนทันยาฮูถูกเปิดโปงมีอยู่สองคดีซึ่งตำรวจเรียกว่าคดี 1,000 และคดี 2,000 ซึ่งคดีหลังดูจะมีอะไรร้ายแรง

ในคดี 1,000 เนทันยาฮูถูกกล่าวหาว่ารับของกำนัลจากนักธุรกิจที่ร่ำรวยเป็นวงเงินหลายแสนดอลลาร์โดยแลกกับการให้ประโยชน์ตอบแทนพวกเขา หนึ่งในนั้นคืออาร์นอน มิลชาน อดีตเจ้าหน้าที่ 'มอสซาด' หน่วยสืบราชการลับของอิสราเอลที่ปัจจุบันเป็นเศรษฐีอิสราเอลและผู้ผลิตภาพยนตร์ฮอลลีวูดเปิดเผยว่ามิลชานส่งซิการ์กับแชมเปญให้เนทันยาฮูเพื่อแลกกับการช่วยเหลือให้นายกรัฐมนตรีอิสราเอลช่วยล็อบบี้จอห์น แคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ ในการต่ออายุวีซาสหรัฐฯ ให้กับมิลชาน

อีกกรณีหนึ่งเป็นกรณีที่เศรษฐีชาวออสเตรเลีย เจมส์ แพคเกอร์ ถูกกล่าวหาว่าให้ของกำนัลกับเนทันยาฮูเพื่อให้ได้รับสถานะผู้อาศัยถาวรในอิสราเอล รวมถึงการจัดการสถานะเรื่องภาษีให้ จากข้อกล่าวหาเหล่านี้ทนายของเนทันยาฮูไม่ปฏิเสธว่าเขารับของกำนัลจริง แต่ก็แก้ต่างว่าไม่ได้มีเจตนารับของเหล่านี้ในฐานะอามิสสินจ้างแต่อย่างใด

ส่วนคดี 2,000 นั้น เกี่ยวข้องกับเรื่องที่เนทันยาฮูถูกกล่าวหาว่าติดสินบนสื่อใหญ่ให้รายงานข่าวเข้าข้างตัวเขา หลักฐานคดีนี้มาจากการอัดเสียงพูดคุยกันระหว่างเนทันยาฮูกับอาร์นอน โมเซส เจ้าของเครือข่ายสื่อเยดิออธ อาห์โรนอธ ซึ่งมีหนังสือพิมพ์ที่คนซื้อมากที่สุดในอิสราเอล ในรายงานการสืบสวนช่วงอาทิตย์นี้เปิดเผยว่าทั้งเนทันยาฮูกับเจ้าของสื่อใหญ่อิสราเอลเอื้อประโยชน์ต่อกันและกันด้วยการที่โมเซสเสนอว่าจะออกข่าวของเนทันยาฮูที่มีแต่ภาพลักษณ์ดีๆ เพื่อให้เขายังอยู่ในอำนาจเพื่อแลกกับการที่เนทันยาฮูส่งเสริมกฎหมายที่จะช่วยกำจัดคู่แข่งสื่อของเขา มีหลักฐานการบันทึกเสียงชิ้นหนึ่งเปิดเผยว่าในช่วงเลือกตั้งต้นปี 2558 เนทันยาฮูจะ "จัดการ" กับโมเซสถ้าหากสื่อของเขารณรงค์ต่อต้านเนทันยาฮู

ศาลอิสราเอลมองว่าเรื่องนี้เป็นคดีเกี่ยวกับสินบนแน่นอน แต่ทนายความของเนทันยาฮูก็โต้แย้งว่ากรณีของโมเซสเป็นฝ่ายโมเซสที่ขู่กรรโชกเนทันยาฮู นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเจ้าหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีถึงบันทึกเสียงการสนทนาไว้ แต่อดีตรองหัวหน้าผู้พิพากษาศาลสูงสุดของอิสราเอล อิไลยาฮู แมตซา ก็กล่าวว่าถ้าหากเนทันยาฮูถูกขู่กรรโชกจริงในฐานะที่เขาเป็นนายกรัฐมนตรีก็สามารถนำเรื่องนี้แจ้งต่ออธิบดีกรมอัยการได้ ซึ่งจะทำให้เขาพ้นข้อสงสัยไปด้วย แต่เขาก็ไม่ทำ

จากลักษณะของการสนทนาระหว่างเจ้าของสื่อใหญ่กับนายกรัฐมนตรีก็มีลักษณะไปในทางเอื้อผลประโยชน์ต่อกันในแบบที่ โอเรน เพอซิโก ผู้สื่อข่าวจากเว็บ Seventh Eye เว็บจับตามองสื่ออิสราเอลบอกว่ามีรูปแบบประหนึ่ง "ปฏิบัติการของแก๊งอาชญากรรม" ซึ่งในขณะที่เนทันยาฮูบอกว่าต้องมีการควบคุมดูแลให้สื่อลดความเป็นปฏิปักษ์ต่อเขา โมเซสก็กล่าวในบทสนทนาที่รั่วไหลออกมาว่าพวกเขาจะทำให้เนทันยาฮูได้เป็นนายกรัฐมนตรีอย่างแน่นอน

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (15 ม.ค.) เนทันยาฮูกล่าวกับเจ้าหน้าที่พรรคของเขาว่ามีคนพยายามเปิดเผยข้อมูลรั่วไหลเขาอย่างมีอคติเพื่อ "บิดเบือน" หรือ "ทำให้เกิดความไขว้เขว" จากเรื่องจริง

ทั้งนี้ยังมีการตั้งข้อสังเกตในสื่ออัลจาซีราว่า อวิไช เมนเดลบลิต อธิบดีกรมอัยการรอเวลาถึง 6 เดือน หลังบันทึกบทสนทนารั่วไหลออกสู่สาธารณะถึงจะอนุญาตให้มีการสืบสวน ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่า เมนเดลบลิต อยู่ใกล้ชิดกับเนทันยาฮูมากเกินไป

ยูเซฟ จาบารีน นักการเมืองพรรคของชาวปาเลสไตน์กล่าวว่า "ถ้าหากอิสราเอลเป็นประเทศที่มีการจัดการอย่างเหมาะสมจริงหลักฐานต่อเนทันยาฮูก็มากพอจะทำให้เขาต้องออกจากตำแหน่งได้แล้ว...แต่เจ้าหน้าที่กฎหมายก็ถูกรัฐบาลเนทันยาฮูโจมตีอย่างไม่หยุดยั้งมาหลายปีจนทำให้ความเป็นอิสระของพวกเขาถูกทำลายลงอย่างมาก"
 

เกมกุมสื่ออันซ่อนเงื่อน

อย่างไรก็ตาม อัลจาซีราก็นำเสนออีกมุมมองหนึ่งว่าสื่อใหญ่อย่างเยดิออธ อาหโรนอธ เองก็กุมสื่อสิ่งพิมพ์อิสราเอลไว้ทั้งหมดจนเรียกได้ว่าเกือบจะผูกขาด ทำให้เนทันยาฮูเกิดความกังวลว่าจะได้รับการนำเสนอแต่ในเชิงลบ ขณะเดียวกันก็กลัวว่าสื่อใหญ่จะสนับสนุนศัตรูทางการเมืองของเขา ขณะเดียวกันตัวเนทันยาฮูเองก็เคยเล่นเกมอำนาจในการชักจูงสื่อมาก่อนอย่างในปี 2550 เขาเตรียมตัวกลับเข้าสู่อำนาจด้วยการที่เชลดอน อเดลสัน เศรษฐีคาสิโนสหรัฐฯ เปิดตัวสื่อฮะยอมในอิสราเอลเป็นสื่อแจกฟรีที่มียอดจำหน่าย 400,000 ฉบับต่อวันถือว่ามากกว่าสื่อในเครือเยดิออธ อาห์โรนอธ แต่มันก็เป็นสื่อที่เชียร์เนทันยาฮูโจ่งแจ้งมากจนถูกคนเรียกชื่อล้อว่า "หนังสือพิมพ์บีบี" ซึ่งบีบีเป็นชื่อเล่นของเนทันยาฮู

นักการเมืองฝ่ายตรงข้ามตัดพ้อว่าสื่อฮะยอมทำให้เนทันยาฮูชนะเลือกตั้งในปี 2552 และทำให้คงอำนาจอยู่ได้รวมถึงมีข้อสงสัยว่าอาจจะมีการนำงบประมาณเลือกตั้งไปใช้อย่างผิดๆ ในจุดนี้ ทำให้อเดลสันรอดพ้นจากกฎหมายว่าด้วยทุนทางการเมืองภายในประเทศได้ ซึ่งเพอสิโกจากเว็บจับตามองสื่อเห็นด้วยในเรื่องนี้ว่าสื่อฮะยอมเป็น "ของกำนัลทางการเมือง" จากอเดลสันเพื่อใช้เป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อเนทันยาฮูและครอบครัว องค์กรฟรีดอมเฮาส์จากสหรัฐฯ เองก็ลดระดับเสรีภาพสื่อในอิสราเอลจากเสรีมาเป็นแค่ "เสรีบางส่วน" เพราะอิทธิพลของสื่อฮะยอม

เพอสิโกวิเคราะห์ว่าทั้งสื่อฮะยอมและเยดิออธ อาห์โรนอธ ต่างก็ขับเคี่ยวกันโดยที่ทั้งสองฝ่ายต่างเสียรายได้ขณะที่อเดลสันฝ่ายสื่อฮะยอมดูจะยอมขาดทุนเพื่อช่วยให้เนทันยาฮูบีบให้เยดิออธ อาห์โรนอธ สูญเสียทางการเงินไปด้วย จนกระทั่งกลายเป็นแรงจูงใจทำให้โมเซสยอมเสนอตัวช่วยเหลือเนทันยาฮูในบทสนทนาที่กำลังมีการสืบสวนล่าสุด ซึ่งในตอนนั้นเป็นช่วงปลายปี 2557 ที่รัฐสภาอิสราเอลกำลังพิจารณาการออกกฎเพื่อควบคุมฮะยอมทำให้เยดิออธแข็งแกร่งขึ้น เนทันยาฮูเองออกตัวต่อต้านกฎหมายนี้ต่อหน้าสาธารณะขณะที่พรรคที่เป็นปรปักษ์กับเขาซึ่งอยู่ในพรรคร่วมรัฐบาลสนับสนุนกฎหมายนี้จึงมีโอกาสที่กฎหมายนี้จะออกมาได้ แต่ก็ไม่มีการลงมติในขั้นตอนสุดท้ายเพราะเนทันยาฮูเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งใหม่ต้นปี 2558 เสียก่อน และการเลือกตั้งใหม่นี้ก็ตัดการเจรจาต่อรองระหว่างเนทันยาฮูกับโมเซสไปด้วย

แต่กรณีสองสื่อใหญ่นี้ก็อาจจะเป็นแค่สิ่งที่จาฟาร์ ฟาราห์ หัวหน้ากลุ่มสนับสนุนชนกลุ่มน้อยปาเลสไตน์เรียกว่าเป็น "ยอดภูเขาน้ำแข็ง" เท่านั้น อัลจาซีรารายงานว่าหลังจากชนะการเลือกตั้งปี 2558 เนทันยาฮูก็วางตัวเองเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการสื่อสาร ซึ่งนักวิจารณ์มองว่าเขาใช้อำนาจตรงนี้ในการกดดันสื่อเพื่อให้หันมานำเสนอข่าวสนับสนุนเขามากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เดวิด บิทัน ประธานพรรคลิคุดซึ่งเป็นพรรคที่เนทันยาฮูสังกัดอยู่กล่าวในทำนองว่าเนทันยาฮูเป็นเหยื่อการดำเนินคดีและเกรงว่าจะเป็น "การรัฐประหารโดยใช้ตำรวจ" ทว่านักวิเคราะห์ก็ประเมินว่าเนทันยาฮูอาจจะพ้นจากข้อกล่าวหานี้ดูจากการที่ประชาชนอิสราเอลไม่ค่อยให้ความสนใจ การที่อธิบดีกรมอัยการใกล้ชิดกับเนทันยาฮู และการที่พรรคร่วมรัฐบาลยังไม่อยากให้ต้องมีการเลือกตั้งอีกรอบในเร็วๆ นี้ นอกจากนี้ฟาราห์ยังเปิดเผยว่าเนทันยาฮูพยายามเบี่ยงเบนความสนใจจากข้อกล่าวหาที่มีต่อเขาไปสู่เรื่อง "ความมั่นคง"

อัลจาซีราระบุว่าถ้าหากเนทันยาฮูถูกตั้งข้อหาเขาก็คงจะลงจากตำแหน่งแบบเดียวกับเคยเกิดขึ้นกับอดีตนายกรัฐมนตรีอิสราเอลอีกคนหนึ่งคือเอฮุด โอลเมิร์ต ผู้ที่ถูกตั้งข้อหารับเงินสินบนจากนักธุรกิจ

 

เรียบเรียงจาก

Netanyahu's media scandal: Who bribed whom?, Aljazeera, 15-01-2017
http://www.aljazeera.com/indepth/features/2017/01/netanyahu-media-scandal-bribed-170112085111121.html


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net