Skip to main content
sharethis


ภาพโดย Alicia Neal
 

18 ม.ค. 2560 บารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ออกคำสั่งลดโทษ เชลซี แมนนิ่ง อดีตทหารสหรัฐฯ ผู้เปิดโปงกองทัพด้วยการส่งเอกสารให้กับวิกิลีกส์ จากการลดโทษดังกล่าวจะทำให้แมนนิ่งพ้นโทษในวันที่ 17 พ.ค. นี้

คำสั่งลดโทษให้แมนนิ่งนี้เป็นหนึ่งในคำสั่งชุดสุดท้ายภายใต้ตำแหน่งประธานาธิบดีของโอบามา ก่อนที่โดนัลด์ ทรัมป์จะเข้าสาบานตนรับตำแหน่งในวันที่ 20 ม.ค.นี้ โดยนอกจากแมนนิงแล้ว โอบามายังลดโทษให้บุคคล 209 รายและอภัยโทษให้ 64 ราย หนึ่งในผู้ได้รับการอภัยโทษคือ เจมส์ อี.คาร์ตไรท์ อดีตนายพลของกองทัพเรือ และอดีตรองประธานคณะเสนาธิการร่วมกองทัพสหรัฐอเมริกา ซึ่งรับสารภาพผิดในข้อหา ให้ข้อมูลเท็จกับเอฟบีไอ ในการสอบสวนเกี่ยวกับการให้สัมภาษณ์สื่อของเขาเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน โดยเดิมเขาจะต้องรับโทษในเดือนนี้ 

แมนนิงเป็นหญิงข้ามเพศที่ถูกลงโทษจำคุก 35 ปีจากการที่เธอเปิดโปงเอกสารลับของทางการสหรัฐฯ ซึ่งนับเป็นการต้องโทษจำคุกยาวนานที่สุดเมื่อเทียบกับผู้เปิดโปงความลับของสหรัฐฯ ก่อนหน้านี้ เธอถูกกล่าวหาว่าทำให้ข้อมูลเอกสารและวิดีโอของทางการสหรัฐฯ จำนวนมากกว่า 700,000 ชิ้นรั่วไหลออกไปสู่สาธารณชน ซึ่งนับว่าเป็นการรั่วไหลของข้อมูลทางการทหารของสหรัฐฯ ที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ แมนนิ่งถูกตัดสินให้มีความผิด 20 ข้อหา ซึ่งหกข้อหาอ้างตามกฎหมายการจารกรรม โดยแมนนิ่งพ้นจากข้อกล่าวหาเรื่องการให้ความช่วยเหลือศัตรูมาได้

หลังคำตัดสิน แมนนิงประกาศว่าเธอเป็นหญิงข้ามเพศ และเปลี่ยนชื่อจาก "แบรดลีย์ แมนนิง" เป็น "เชลซี แมนนิง" เธอถูกจำคุกนานเกือบ 7 ปีแล้วในเรือนจำชายที่ฟอร์ท ลีเวนเวิร์ธ คุกทหารในรัฐแคนซิส เมื่อปีที่แล้วเธอพยายามฆ่าตัวตายถึงสองครั้ง 

บีบีซีรายงานว่า ความเห็นของสาธารณชนในสหรัฐฯ ต่อแมนนิ่ง แบ่งออกเป็นสองแบบ ฝั่งหนึ่งมองว่าเธอเป็น whistleblower หรือผู้เปิดโปงความลับของกองทัพสหรัฐฯ มีประชาชนกว่าแสนคนเข้าชื่อกันเรียกร้องให้ปล่อยตัวเธอ รวมถึงมีการรณรงค์ให้ปล่อยตัว ขณะที่ฝั่งหนึ่งมองว่าเธอเป็นคนขายชาติที่ทำให้บุคลากรในกองทัพไม่ปลอดภัย

ปฏิกิริยาหลังรู้ข่าว
หลังข่าวลดโทษ เดวิด คูมส์ ทนายความของแมนนิ่ง บอกว่า การลดโทษครั้งนี้จะทำให้ลูกความของเขาโล่งใจเป็นอย่างยิ่ง พร้อมทั้งกล่าวขอบคุณโอบามาที่ตัดสินใจเช่นนี้ ด้าน เกล็น กรีนวัลด์ ผู้สื่อข่าวที่เผยแพร่ข้อมูลลับที่ได้จาก เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน บอกว่า เธอไม่ควรที่จะอยู่ในคุกแม้แต่สักวันเดียว และยังบอกอีกว่าเธอเป็นวีรสตรีและเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนหลายล้านคนทั่วโลก

ขณะที่อีกด้านหนึ่ง จอห์น แมคเคน ส.ว.รีพับลิกัน กล่าวว่าการตัดสินใจของโอบามาเป็นความผิดพลาดที่ร้ายแรง และกลัวว่าจะกลายเป็นการส่งเสริมการจารกรรมอื่นๆ ในอนาคต ส่วน พอล ไรอัน ประธานสภาผู้แทนราษฎร บอกว่า การตัดสินใจนี้เป็นการกระทำที่อุกอาจ
 

จูเลียน อัสซานจ์ จะทำไงต่อ
ก่อนหน้านี้ วิกิลีกส์ ระบุว่า จูเลียน อัสซานจ์ ผู้ก่อตั้งวิกิลีกส์ ตกลงจะยอมถูกส่งตัวข้ามแดนกลับมาหากโอบามายอมผ่อนผันให้แมนนิ่ง แต่ทำเนียบขาวระบุว่า การตัดสินใจลดโทษนี้ไม่ได้เป็นผลจากข้อเสนอของอัสซานจ์แต่อย่างใด

ด้าน จูเลียน อัสซานจ์ ซึ่งลี้ภัยอยู่ในสถานทูตเอกวาดอร์ ในลอนดอน สหราชอาณาจักร ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา ยังไม่ได้แสดงความเห็นว่าเขาวางแผนอย่างไรต่อไป ทั้งนี้ เขาได้ทวีตขอบคุณทุกคนที่ช่วยรณรงค์ให้แมนนิ่งได้รับการลดโทษ และชื่นชมว่าความกล้าหาญและมุ่งมั่นได้ทำให้สิ่งที่เป็นไปไม่ได้เป็นไปได้


แล้วสโนว์เดน?
ก่อนหน้านี้ มีผู้ลงชื่อเรียกร้องให้โอบามาอภัยโทษให้สโนว์เดนกว่าล้านคน อย่างไรก็ตาม ทำเนียบขาวระบุว่า สโนว์เดนไม่ได้ทำเรื่องขอลดโทษ

เมื่อเดือน พ.ย.ปีที่แล้ว โอบามาให้สัมภาษณ์สื่อเยอรมัน เดอสปีเกล ว่า เขาไม่สามารถอภัยโทษให้คนที่ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้

กรณีของแมนนิ่งนั้น ทำเนียบขาวระบุว่า เธอได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของกองทัพแล้วและยอมรับสารภาพ ขณะที่สโนว์เดนนั้นออกจากสหรัฐฯ ในปี 2555 หนีข้อหาซึ่งอาจทำให้เขาถูกจำคุกสูงถึง 30 ปี และขอลี้ภัยในรัสเซีย ประเทศคู่ขัดแย้งของสหรัฐฯ

 

เรียบเรียงจาก
Obama commutes Chelsea Manning sentence
http://www.bbc.com/news/world-us-canada-38659068

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net