Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

บทความชิ้นนี้มิใช่การวิจารณ์หนังสือ สถาปัตยกรรมไทยหลังรัฐประหาร 19 กันยา 49 ของอาจารย์ชาตรี ประกิตนนทการ แต่หากท่านผู้อ่านจะเข้าใจไปว่าชื่อบทความนี้ล้อเลียนหนังสือเล่มสำคัญนั้น ก็คงไม่เสียหายอะไร เพราะบทความชิ้นนี้เชื่อว่าภายใต้การปกครองแบบอำนาจนิยม การล้อกันเล่นอาจเป็นช่องทางจำนวนน้อยที่เหลืออยู่ ที่จะต่อโต้สนทนากับเผด็จการ เพราะรักจึงสมัครเข้ามาล้อ--เพราะรักสังคมจึงต้องร่วมด้วยช่วยกันสมัครเข้ามาล้อกันเล่น แม้ผู้เขียนจะมิได้เป็นแม้แต่เพียง "มือสมัครเล่น" ที่ปราชญ์ใหญ่ท่านชื่นชมนักหนาก็ตาม การล้ออาจให้พลังทางปัญญาแก่สังคมร่วมสมัยได้ไม่น้อยไปกว่าการเล่น !

0000

บทความชิ้นนี้เชื่อว่าการจะเข้าใจปรากฏการณ์สถาปัตยกรรมร่วมสมัยหลังรัฐประหาร 19 กันยา 49 และรัฐประหาร 22 พฤษภา 57 จำเป็นจะต้องย้อนไปพิจารณาสถาปัตยกรรมสำคัญก่อนรัฐประหาร 19 กันยา 49 ซึ่งก็คือศาลหลักเมือง

ผู้รู้คงพอจะมองออกได้โดยง่ายว่า กระบวนการสร้าง/รื้อสร้าง/บูรณะ/สมโภชศาลหลักเมืองตามเมืองต่าง ๆ หลายแห่ง นับแต่ก่อนการรัฐประหาร 19 กันยา 49 และเรื่อยมาจนภายหลังการรัฐประหารก็ตาม ได้ทำให้ศาลหลักเมืองกลายเป็นสัญลักษณ์ของการแผ่ขยายอำนาจการปกครอง "ส่วนภูมิภาค" อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขของรัฐบาลกรุงเทพ ฯ แม้ว่าจะมีเนื้อหาหรือคำของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นอยู่ในตัวศาลหลักเมืองนั้น ๆ ก็ตาม ความภูมิใจในความเป็น "ท้องถิ่น" ของตนได้ถูกเคลือบคลุมด้วยอำนาจปกแผ่ของ "ส่วนกลาง" (ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ในแง่หนึ่ง การรัฐประหาร 19 กันยา 49 การรัฐประหาร 22 พฤษภา 57 ตลอดจนการชนะประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อ 7 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา ก็คือความสำเร็จของอำนาจการปกครองจาก "ส่วนกลาง" ที่สามารถครอบงำทำท้องถิ่นให้เชื่อง กลายเป็น "ภูมิภาค" ผู้ขึ้นต่อรัฐบาลกรุงเทพ ฯ ยึดอำนาจที่กรุงเทพ ฯ ก็สามารถยึดกุมได้ทั้งแผ่นดินด้วยเครือข่ายของการบริหารงานภูมิภาค) กล่าวอีกนัยหนึ่งก็ว่า กระบวนการที่กระทำต่อสถาปัตยกรรมศาลหลักเมืองตามเมืองต่าง ๆ คือการประกาศชัยชนะของกรุงเทพ ฯ ที่ทำให้กรุงเทพ ฯ เป็นศูนย์กลาง และเมืองอื่น ๆ กลายเป็นภูมิภาค--กลายเป็นบ้านนอก

เมื่อท้องถิ่นกลายเป็นส่วนภูมิภาค กลายเป็นบ้านนอกของกรุงเทพ ฯ การเข้าใจศาลหลักเมืองที่กรุงเทพ ฯ จึงน่าจะช่วยให้เข้าใจถึงความเป็นไปทางการเมืองของทั้งประเทศได้

0000

สำหรับประชาชนทั่วไปแล้ว ศาลหลักเมืองกรุงเทพ ฯ คงมีบทบาทหน้าที่แทบจะไม่แตกต่างจากพระพรหมที่สี่แยกราชประสงค์ เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม บรรยายว่า ปัจจุบันมีประชาชนจากทั่วทิศหลั่งไหลกันไปสักการะบูชาและไหว้เพื่อเสริมมงคลกับชีวิต ขอพรให้เป็นหลักชัยของชีวิต ให้มีหน้าที่การงานที่มั่นคงดังหลักชัย และขอพรให้สมหวังในสิ่งที่ตนปรารถนา หรือมาบนบานกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้สมปรารถนา (www.m-culture.in.th ความเชื่อในการสักการะ ศาลหลักเมือง , สืบค้น 31 ธค.59) (หรือเราอาจกล่าวในทางกลับกันก็ได้ว่า พระพรหมที่สี่แยกราชประสงค์มีการหน้าที่เดียวกันกับศาลหลักเมือง)

ความน่าสนใจของศาลหลักเมืองกรุงเทพ ฯ คงไม่พ้นการที่ศาลนี้มีหลักเมืองประดิษฐานอยู่ถึง 2 ต้น แต่จมูกของผู้เขียนบทความนี้สงสัยอยู่ว่า แม้พระหลักเมืองจะมีความสำคัญในฐานะหมุดหมายของการสถาปนาเมือง แต่ความศักดิ์สิทธิ์ของศาลหลักเมืองกรุงเทพ ฯ อย่างที่เรารับรู้อยู่ทุกวันนี้ อาจเป็นความศักดิ์สิทธิ์ที่เพิ่งถูกขยายให้ใหญ่โตขึ้นในภายหลัง เพราะความทรงจำในวัยเด็กครั้งเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนเล็ก ๆ ตรงข้ามสถานเสาวภา (ปัจจุบันเลิกกิจการไปนานแล้ว) มีว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา พ.ศ.2516 ครูประจำชั้นประถมปีที่ 6 ในเวลานั้น มักกล่าวถึงการที่บ้านเมืองผ่านเหตุการณ์ในครั้งนั้นมาได้ว่า เป็นเพราะบ้านเมืองมีพระเสื้อเมืองพระทรงเมืองคอยปกปักรักษาอยู่ ครูอาจจะหรืออาจจะไม่ได้พูดถึงคำว่าเทพารักษ์หลักเมืองตามมา แต่คำว่าพระเสื้อเมืองพระทรงเมืองแปลกเด่นอยู่ในความทรงจำครั้งนั้น อีกทั้งเมื่อพิจารณาถึงสภาพของศาลหลักเมืองในสมัยรัชกาลที่ 1 ก็เป็นเพียงศาลาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง ปลูกไว้พอกันแดดกันฝนเท่านั้น แต่ในสมัยรัชกาลที่ 1 นั้นเองกลับทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างศาลประดิษฐานรูปเทพารักษ์สำคัญสำหรับพระนครอีก 3 ศาล คือ ศาลพระเสื้อเมือง ศาลพระทรงเมือง และศาลพระกาฬไชยศรี (ดู ประวัติโบราณสถานหรือข้อมูลแหล่ง ศาลหลักเมือง , สืบค้น 7 มค. 60) ศาลทั้ง 3 นี้อยู่ในบริเวณพื้นที่ระหว่างหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามกับคลองคูเมืองเดิม ซึ่งก็คือบริเวณกรมการรักษาดินแดนในปัจจุบัน ในบริเวณเดียวกันนี้ยังเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าเจตคุปต์หรือเจตคุก ที่หน้าคุกของพระนครบาล และศาลเจ้าหอกลอง ที่หน้าหอกลองประจำเมือง

สถานะของหลักเมืองในระยะเริ่มตั้งกรุงเทพฯ หลักใหญ่ใจความจึงน่าจะเป็นเรื่องของการเป็นหมุดหมายสิริมงคลแก่บ้านเมืองที่จะสร้างขึ้น โดยบรรจุดวงชะตาเมืองไว้เป็นสำคัญ บทบาทในการเป็นเทพารักษ์ปกปักรักษาเมืองน่าจะเป็นของพระเสื้อเมือง พระทรงเมือง ซึ่งมีการหล่อเป็นองค์ ดูมีตัวมีตนชัดเจน

ในบรรดา 5 พระองค์นี้ ซึ่งถูกถือรวม ๆ ว่าเป็นเทพารักษ์ด้วยกัน เมื่อพิจารณาคุณสมบัติรายพระองค์แล้ว (ข้อมูลเกี่ยวกับเทพารักษ์ทั้ง 5 ได้จาก "5 เทพารักษ์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำพระนคร"  ซึ่งแถลงไว้ด้วยว่าคัดลอกจากคอลัมน์ เล่าเรื่องในเมืองไทย โดย ผู้จัดการออนไลน์ 25 เมษายน 2549 18:18 น.) พระเสื้อเมืองพระทรงเมืองน่าจะเป็นเทพารักษ์ระดับผู้บริหาร ส่วนพระกาฬไชยศรี เจ้าหอกลอง เจ้าเจตคุปต์ เป็นเทพารักษ์ระดับหัวหน้าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ เพราะในขณะที่พระเสื้อเมืองพระทรงเมืองทรง "อาวุธ" เกรดพรีเมียม กล่าวคือ พระเสื้อเมืองทรงคทาวุธในพระหัตถ์ซ้าย ทรงจักราวุธในพระหัตถ์ขวา และพระทรงเมืองทรงพระขรรค์ในพระหัตถ์ซ้าย ทรงสังข์ในพระหัตถ์ขวา พระกาฬไชยศรีคงมีงานในภาระรับผิดชอบมาก จึงมีถึงสี่กร แม้จะทรงพระขรรค์ในพระหัตถ์หนึ่ง แต่อีก 3 พระหัตถ์กำลังทรงงานอยู่ พระหัตถ์ซ้ายบนทรงเชือกบาตสำหรับคล้องมัดปราณของมนุษย์ผู้ถึงฆาต พระหัตถ์ซ้ายล่างแสดงกิริยาตักเตือนสั่งสอน และพระหัตถ์ขวาบนทรงชวาลา คือดวงวิญญาณเปรียบดังธาตุไฟในร่างกายคนเรา หากแตกดับลงก็คือสิ้นชีวิต โดยสรุปก็คือพระกาฬไชยศรีเป็นบริวาร เป็น #ทีมพระยม เทพแห่งความตาย ส่วนเจ้าหอกลองก็ต้องคอยแจ้งเหตุต่าง ๆ พระหัตถ์หนึ่งจึงทรงเขาสัตว์เพื่อคอยเป่าเป็นสัญญาณเตือน และเจ้าเจตคุปต์ก็วุ่นอยู่กับการจดความชั่วร้ายของผู้ที่ตายจากไป พระหัตถ์ขวาจึงถือเหล็กจารเพื่อคอยจารลงในใบลาน ซึ่งอยู่ในพระหัตถ์ซ้าย เจ้าเจตคุปต์จึงเป็น #ทีมพระยม อีกพระองค์หนึ่ง ในขณะที่กล่าวได้ว่าเจ้าหอกลองเป็นทีมงานของพระเสื้อเมืองพระทรงเมือง (ใน "5 เทพารักษ์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำพระนคร" บอกว่าเป็นผู้รายงานเหตุร้ายที่เกิดขึ้นให้พระเสื้อเมืองทราบ)

เทพารักษ์ทั้ง 5 นี้เพิ่งถูกอัญเชิญมาประดิษฐานรวมกันในศาลหลักเมืองในสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อเปิดทางให้แก่การสร้างสถานที่ราชการและการตัดถนน ซึ่งก่อนหน้านี้ ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้มีการซ่อมแปลงศาลหลักเมืองจากที่เป็นศาลาให้หรูขึ้นเป็นมณฑปจตุรมุขยอดปรางค์ บทความชิ้นนี้สันนิษฐานคือเดาว่าการที่เทพารักษ์สำคัญมี 2 พระองค์คือพระเสื้อเมืองพระทรงเมืองนี้ น่าจะให้ความรู้สึกเป็น 2 ฝัก 2 ฝ่าย ไม่เป็นเอกภาพ จึงเป็นสาเหตุส่วนหนึ่ง (ในทำนองไตร่ตรองลึก ๆ อยู่ในพระราชหฤทัย แต่มิได้ทรงแจกแจงเปิดเผย) ให้รัชกาลที่ 4 ทรงโปรดเกล้า ฯให้มีการสร้างพระสยามเทวาธิราชขึ้น ในส่วนที่รับรู้กันอยู่ทั่วไปนั้น พระสยามเทวาธิราชเกิดขึ้นจากการมีพระราชดำริว่า บ้านเมืองมีเหตุการณ์ที่เกือบจะต้องเสียอิสรภาพมาหลายครั้ง แต่เผอิญให้มีเหตุรอดพ้นอันตรายได้เสมอมา คงจะมีเทพยดาศักดิ์สิทธิ์คอยอภิบาลรักษาอยู่ ควรที่จะทำรูปเทพยดาองค์นั้นขึ้นสักการะบูชา และจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าประดิษฐวรการปั้นหล่อเทวรูปสมมุติขึ้น ถวายพระนามว่า พระสยามเทวาธิราช ประดิษฐานไว้ในพระบรมมหาราชวัง (ข้อมูลเกี่ยวกับพระสยามเทวาธิราช จาก wikipedia/พระสยามเทวาธิราช , สืบค้น 30 ธ.ค. 59) ในแง่หนึ่งพระเสื้อเมืองพระทรงเมืองจึงถูกแทนที่หรือถูกชิงบทบาทโดยพระสยามเทวาธิราชที่เพิ่งสร้าง แต่ในอีกแง่หนึ่ง การที่พระเสื้อเมืองพระทรงเมือง และเทพารักษ์อื่น ๆ อีก 3 พระองค์ ต้องอพยพมาประดิษฐานอยู่ร่วมกันในศาลหลักเมืองในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็น่าจะหมายถึงบทบาทที่เด่นเป็นพระเอกของเสาหลักเมืองเหนือเทพารักษ์ทั้ง 5 นั้นด้วย

(ข้อที่น่าสังเกตในที่นี้ด้วยก็คือว่า พระสยามเทวาธิราชที่เพิ่งสร้างนี้ ทรงฉลองพระองค์อย่างเครื่องของเทพารักษ์ พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงขรรค์ และพระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นจีบดัชนีเสมอพระอุระ ดูเป็นเทพารักษ์ที่มีทั้งอำนาจ (พระแสงขรรค์) และมีความคิดตรึกตรอง (พระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นจีบดรรชนี) และน่าเทียบเคียงกับพระทรงเมืองที่ทรงพระขรรค์ในพระหัตถ์ซ้าย และพระสังข์ในพระหัตถ์ขวา อีกทั้งควรตั้งข้อสังเกตด้วยว่า แม้จะสูงเพียง 8 นิ้ว แต่พระสยามเทวาธิราชก็หล่อด้วยทองคำ ในขณะที่พระเสื้อเมืองพระทรงเมือง (ซึ่งสูง 93 และ 88 ซม.ตามลำดับ) หล่อด้วยสำริดปิดทอง

(นอกจากนี้ยังมีข้อน่าสนใจด้วยว่า เครื่องสังเวยที่รัชกาลที่ 4 ทรงถวายเป็นราชสักการะประจำวันแด่พระสยามเทวาธิราชนั้น มีหมูนึ่งหนึ่งชิ้นพร้อมด้วยน้ำพริกเผาอยู่ด้วย (ดู "พระสยามเทวาธิราช" ที่เพิ่งอ้าง) ในขณะที่เครื่องสังเวยไม่ว่าจะเป็นชุดใหญ่ (ราคา 1,800 บาท) หรือชุดเล็ก (ราคา 1,200 บาท) ที่สำนักงานกิจการศาลหลักเมือง องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกจัดไว้บริการประชาชนผู้มาสักการะที่ศาลหลักเมืองก็มีน้ำพริกเผาประกอบอยู่ในเมนู (คำขวัญที่ปรากฏบนเว็บไซต์ของสำนักงานกิจการศาลหลักเมืองมีว่า "สง่างามโบราณสถานศาลหลักเมือง ลือเลื่องความศักดิ์สิทธิ์ เทพสถิตย์อำนวยพร เครื่องสักการะและละครพร้อมบริการ" (ดู ประวัติองค์พระหลักเมือง , สืบค้น 5 มค. 60) น้ำพริกเผาจึงดูจะเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้เข้าใจรสที่เทพารักษ์หลักเมืองไทยนิยม ในแง่นี้ชวนให้คิดต่อไปว่า หากทั้งพระสยามเทวาธิราชและพระหลักเมืองจะได้มีโอกาสลิ้มรสความเป็นไทยที่หลากหลาย ได้มีโอกาสเสวยน้ำพริกภาคต่าง ๆ เช่น น้ำพริกอ่อง น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกปลาร้า แจ่ว น้ำชุบ ฯลฯ ครบทุกภาควนไปบ้าง คนไทยก็อาจจะมีความเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกันมากกว่าที่เป็นอยู่. เมื่อเมื่อเทพารักษ์ได้มีประสบการณ์ใหม่ ๆ ผู้คนก็คงพร้อมจะรับสิ่ง/ความคิดใหม่ ๆ ด้วย)

0000

ถึงแม้พระสยามเทวาธิราชจะกลายเป็นเทพารักษ์ประจำเมืองที่โดดเด่นเหนือพระเสื้อเมืองพระทรงเมือง แต่ศาลหลักเมืองที่หรูขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 และการมีเทพารักษ์ทั้ง 5 มาร่วมประดิษฐานอยู่ด้วยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ก็ทำให้ศาลหลักเมือง/เสาหลักเมืองมีความสำคัญโดดเด่นเพิ่มขึ้นด้วย และดังกล่าวแล้วว่าความน่าสนใจของศาลหลักเมืองกรุงเทพ ฯ นั้น อยู่ที่การมีหลักเมืองประดิษฐานอยู่ 2 ต้น ปัญหาก็คือ เราจะเข้าใจเสาหลักเมือง 2 ต้นนี้อย่างไร

ข้อมูลจาก wikipediaศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร (สืบค้น 29 ธค. 60) มีว่า เสาหลักเมืองต้นแรก รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้า ฯ ให้ยกเสาหลักเมืองเมื่อวันอาทิตย์ เดือน 6 ขึ้น 10 ค่ำ ตรงกับวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2325 เวลา 6:54 น.

ส่วนเสาหลักเมืองอีกต้นหนึ่ง เกิดขึ้นเพราะรัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชดำริว่าหลักเมืองชำรุดทรุดโทรมมาก ไม่สง่างาม จึงโปรด ฯ ให้สร้างขึ้นใหม่อีกทั้งทรงตรวจดวงพระชะตาของพระองค์ ทราบว่าเป็นอริแก่ลัคนาดวงเมืองกรุงเทพ ฯ นอกจากจะทรงแก้เคล็ดโดยการให้ช่างแปลงรูปทรงศาลหลักเมืองที่เดิมเป็นศาลาไม้มุงกระเบื้องให้เป็นอาคารจตุรมุขทรงยอดประสาทแล้ว ที่สำคัญคือทรงโปรด ฯ ให้ถอนเสาหลักเมืองเดิม และประดิษฐานเสาหลักเมืองใหม่ พร้อมผูกดวงเมืองขึ้นใหม่ เมื่อวันอาทิตย์ แรม 9 ค่ำ เดือนอ้าย ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2395 (ดู "เหตุใด "เสาหลักเมือง" กรุงเทพมหานคร จึงมีสองต้น ?" , สืบค้น 30 ธค. 59)

เสาหลักเมืองในรัชกาลที่ 1 จึงถูกถอนออกแล้วแต่ครั้งสมัยรัชกาลที่ 4 แต่ยังคงตั้งวางไว้ภายในศาลหลักเมือง และเพิ่งมาในสมัยรัชกาลที่ 9 ที่มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ภายหลังการสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี การบูรณะคราวนี้ ซึ่งทำให้ศาลหลักเมืองยิ่งหรูขึ้นกว่าเดิมเป็นอันมาก นอกจากจะมีการสร้างหอเทพารักษ์เพื่อเป็นที่สถิตย์แห่งเทพารักษ์ทั้ง 5 และสร้างอาคารหอพระพุทธรูปขึ้นแล้ว ที่สำคัญคือมีการเชิญเสาหลักเมืองต้นเดิมไปประดิษฐานไว้คู่กับเสาหลักเมืองต้นปัจจุบัน (ดู "ประวัติองค์พระหลักเมือง") การบูรณะครั้งใหญ่นี้เป็นการสร้างขึ้นใหม่ภายหลังจากการฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบ 200 ปี คือดำเนินการในระหว่าง พ.ศ. 2525 - 2529 โดยผู้ออกแบบศาลหลักเมืองครั้งนี้คือ พล.อ.ต.อาวุธ เงินชูกลิ่น ศิลปินแห่งชาติสาขาสถาปัตยกรรม ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยในงานออกแบบครั้งนี้ด้วย (ดู ศาลหลักเมือง กรุงเทพมหานคร (พ.ศ.2525 - 2529) , สืบค้น 9 มค. 60)

นักโหราศาสตร์มักเป็นผู้ผูกขาดการตีความเสาหลักเมือง โดยการเป็นผู้ผูกขาดความรู้เรื่องดวงชะตาของเมือง ซึ่งมาด้วยกันกับการยก/ตั้ง/ประดิษฐาน/สถาปนาเสาหลักเมือง เนื่องจากเสาหลักเมืองกรุงเทพมหานคร ฯ มี 2 เสา คือเสาสมัยรัชกาลที่ 1 และเสาที่รัชกาลที่ 4 ทรงสถาปนาขึ้นใหม่ ปัญหาก็คือ แล้วเราจะเอาดวงชะตาใดมาทำนายความเป็นไปของเมือง ? นักโหราศาสตร์ส่วนใหญ่ยึดกุมเอาดวงเมืองสมัยรัชกาลที่ 1 ในการทำนาย บางส่วนเห็นว่าการทำนายต้องใช้ดวงเมืองรัชกาลที่ 1 ประกอบกันกับดวงเมืองรัชกาลที่ 4 และบ้างก็เห็นว่าต้องใช้ดวงเมืองรัชกาลที่ 4 เป็นหลักในการทำนาย ทั้งเพราะเสาหลักเมืองรัชกาลที่ 1 ได้ถูกถอนออกแล้ว (แม้ว่าต่อมาจะถูกนำกลับมาตั้งคู่กันกับเสาของรัชกาลที่ 4 ก็ตาม) และเพราะการทำนายเหตุการณ์บ้านเมืองยุคใหม่ (ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเริ่มต้นในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยถือเอาการสถาปนาหลักเมืองใหม่เป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นยุคใหม่) ก็ต้องใช้ดวงของเสาหลักเมืองต้นใหม่ในการทำนาย

แต่หากเราตีความการเชิญเสาหลักเมืองรัชกาลที่ 1 ซึ่งถูกถอนออกแล้วในสมัยรัชกาลที่ 4 มาตั้งประดิษฐานไว้คู่กับเสาหลักเมืองต้นปัจจุบัน ในสมัยรัชกาลที่ 9 ว่าดูจะมีนัยทางการเมืองถึงการหวนกลับไปหาสิ่งเก่าให้กลับมาอยู่คู่กับสิ่งใหม่ ในแง่นี้เราคงต้องสรุปว่านี่คือการสถาปนาเสาหลักเมืองครั้งที่ 3 และถือเอาการสมโภชศาลหลักเมืองภายหลังการรื้อสร้างครั้งนี้เป็นดวงเมืองยุคที่ 3 ซึ่งหากจะเทียบเคียงกับยุคสมัยทางการเมืองแล้ว ก็คงจะกล่าวได้ว่า นี่คือดวงเมืองยุคหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา

หากยึดเอาศาลหลักเมืองเป็นหมุดหมายในทางสถาปัตยกรรมแล้ว ปรากฏการณ์สถาปัตยกรรมภายหลังการรัฐประหาร 19 กันยา 49 จึงสืบเนื่องมาจากสถาปัตยกรรมภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา แต่เขียนข้อความเช่นนี้ก็เหมือนไม่ได้ความรู้อะไรใหม่เลย เพราะถึงอย่างไร พ.ศ. 2549 ก็ต้องสืบเนื่องตามหลัง พ.ศ. 2519 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม นักโหราศาสตร์คงโต้เถียงกันได้ไม่รู้จบว่า ควรจะถือเอาดวงเมืองใดเป็นดวงเมืองที่ใช้ทำนายชะตาของประเทศ เพราะต่างก็คงอ้างเหตุผลที่ฟังดูน่าเชื่อถือมาอธิบายว่า ดวงเมืองที่ตนใช้นี้แหละเหมาะสมในการทำนายที่สุด

สุดทางของการใช้โหราศาสตร์ในทางการเมืองอาจกลายเป็นเรื่องของความกำกวมตัดสินชี้ขาดให้แน่นอนลงไปไม่ได้ ในแง่นี้จึงกล่าวได้ว่าโหราศาสตร์การเมืองไทยก็เช่นเดียวกับภาษาไทยที่ก็กำกวมมีหลายนัยของความหมาย และในท้ายที่สุด ความเป็นไทยจึงแยกไม่ออกจากความกำกวม !

0000

หากความกำกวมทำให้ดวงเมืองไม่อาจช่วยให้เราเข้าใจความเป็นไปของการเมืองสมัยใหม่ได้ เราคงต้องลองหาทางมองเสาหลักเมืองจากแง่มุมอื่นดูบ้าง แทนที่หนังสือพิมพ์คุณภาพเพื่อคุณภาพของประเทศจะพิมพ์หนังสือศาสตร์แห่งโหรขายดิบขายดีทุกปี บางทีหากสำนักนั้นจะหันมาพิมพ์ศาสตร์แห่งการตีความอื่น ๆ เช่น สัญวิทยาฉบับเข้าใจง่าย ๆ การเมืองไทยอาจพบทางออกใหม่ ๆ บ้างก็ได้ การพิจารณาหลักเมืองที่ถูก de-construct คือ รื้อแล้วสร้างใหม่แบบไทย ๆ 2 ครั้ง 2 ครา คือในสมัยรัชกาลที่ 4 และในสมัยรัชกาลที่ 9 อาจช่วยให้เราเข้าใจอะไรเพิ่มขึ้นบ้าง หลักเมืองที่ถูกรื้อแล้วสร้างใหม่ หรือกลับมาตั้งใหม่ ดูจะเป็นเครื่องบ่งชี้ว่ารัฐธรรมนูญ ซึ่งก็คือหลักของประเทศ หลักของการเมืองในยุคสมัยใหม่ ก็จักต้องถูกรื้อแล้วเขียนใหม่ รื้อแล้วเขียนใหม่อยู่ร่ำไป

เมื่อได้เวลาเห็นกงจักรเป็นสองดอกจิก ก็จะเกิดการยึดอำนาจฉีกรัฐธรรมนูญ แล้ววานแม่นาคหรือพ่อนาคมีชัยเหยียดมือให้ยืดยาวเพื่อหยิบรัฐธรรมนูญฉบับเดิมจากใต้ตุ่มใบเดิมกลับขึ้นมาใช้ใหม่ ซ้ำซากอยู่เช่นนี้ จนอีกเพียง 15 ปีก็จะเป็นพ.ศ. 2575 ครบรอบ "100 ปีแห่งความเหนื่อยหน่าย (ในวัฏจักรอันซ้ำซาก)"

หากเสาหลักเมืองยุคที่ 2 คือสมัยรัชกาลที่ 4 หมายถึงการเปิดรับ/ปรับตัวเข้ากับการเมืองยุค modern (หรือยุคแสวงอาณานิคมของชาติตะวันตก ?) ยุคที่ 3 ของหลักเมืองก็อาจหมายถึงการเข้าสู่ยุคสมัยแห่งราชาชาตินิยม "อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข" ที่แม้สิ่งเก่าจะดำรงอยู่คู่กับสิ่งใหม่ แต่รูปการณ์ดูจะเป็นไปในทางที่สิ่งเก่าอยู่เหนือสิ่งใหม่

หากมองเสาหลักเมืองทั้ง 2 ว่าเป็นสัญญะของความเป็นไทย การอยู่แบบไทย ๆ จึงน่าจะเป็นการอยู่คู่กันของ 2 ลักษณะ ที่ดูจะกำกวมชี้ชัดไม่ได้ว่า อะไรคือความหมายที่แท้จริง จะเป็นอะไร หรือคนไทยจะเอาอย่างไรกันแน่ จะเลือกสุนทรียะแบบสูงเพรียวอย่างเสาหลักเมืองรัชกาลที่ 1 หรือจะเลือกความงามที่ดูอวบสมบูรณ์อย่างเสาหลักเมืองรัชกาลที่ 4 จะเลือกข้างไพร่หรือเลือกข้างผู้ดี หรือจะแสดงออกเป็นผู้ดี แต่เนื้อแท้คือไพร่ จะเป็นประชาธิปไตยหรือจะเป็นเผด็จการ หรือจะเป็นเผด็จการแต่เที่ยวบอกใครต่อใครว่าเป็นประชาธิไตย จะเป็นข้าราชการหรือจะเป็นนักการเมือง หรือจะอยู่คู่กันไป หรือจะทำกิจของนักการเมือง แต่ยืนยันว่าตนเป็นเพียงข้าราชการ มิใช่นักการเมือง

0000

พร้อมกันไปกับการเป็นสัญญะแห่งความกำกวมซ่อนนัยแห่งความหมาย ศาล/เสาหลักเมืองก็อาจชี้ทางออกให้สังคมด้วยเช่นกันว่า จงใช้การอยู่คู่กันของสองสิ่งเป็นทางออกให้แก่สังคม

รัฐธรรมนูญอันเป็นเสาหลักในทางการเมือง ควรจะร่างกันด้วยแนวทางใหม่ที่ดึงเอาแก่นของมรดกจากอดีต คือหลักความยุติธรรม/ความเป็นธรรมของพระมนูธรรมศาสตร์ อันเป็นรากฐานของกฎหมายตราสามดวง มาอยู่คู่/สนทนากับแก่นของยุคสมัยปัจจุบัน คือ หลักการเรื่อง เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ มิใช่ร่างรัฐธรรมนูญกันด้วยความสับสนดังร่างรัฐธรรมนูญที่เพิ่งผ่านประชามติเมื่อ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2559 ที่ผ่านมา เพียงการอ่านส่วนที่เป็นคำปรารภ ก็ทำให้เราเข้าใจความไม่เป็นรัฐธรรมนูญของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ในเมื่อคำปรารภของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กล่าวถึงเป้าหมายแห่งความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ซึ่งมิใช่เป้าหมายที่คนไทยทุกคนยอมรับ อีกทั้งกล่าวถึงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่มิได้อธิบายเลยแม้แต่น้อยในคำปรารภนี้ว่า ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งน่าจะเป็นหัวใจของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ว่าคืออะไร คำปรารภไพล่ไปเริ่มต้นกล่าวถึงการปกครองที่ไม่มีเสถียรภาพ กล่าวเน้นว่าปัญหาเกิดจากการให้ความสำคัญแก่รูปแบบและวิธีการยิ่งกว่าหลักการพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย แต่แล้วตัวคำปรารภกลับกล่าวถึงแต่การปกครอง การจัดระเบียบ จัดโครงสร้างหน้าที่ จัดสัมพันธภาพ การสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การกำหนดมาตรการ การสร้างกลไก มีกล่าวอ้างถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนอยู่หน่อยหนึ่ง ก่อนที่จะกลับไปพูดถึงหน้าที่อีก เหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องของวิธีการจัดการ มิใช่เรื่องของหลักการพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย ก็ท่านกล่าวไว้ว่าปัญหาเกิดจากการให้ความสำคัญแก่รูปแบบและวิธีการเสียยิ่งกว่าหลักการมิใช่หรือ ? เหตุใดจึงไม่อธิบายเรื่องหลักการให้แจ่มชัดเล่า ?

คำปรารภแห่งร่างรัฐธรรมนูญยังกล่าวอ้างถึงประเพณีการปกครองที่เหมาะสมกับสถานการณ์และสังคมไทย หลักความสุจริต หลักสิทธิมนุษยชน และหลักธรรมภิบาล โดยมิได้สนใจจะอธิบายขยายความความหมายและความสำคัญของหลักเหล่านี้ว่ามีต่อประชาธิไตยอย่างไร หากคำปรารภจะได้อธิบายว่าหลักสำคัญแห่งประชาธิปไตยคืออะไร และหลักอื่น ๆ ที่ท่านยกมามีความหมายและช่วยสนับสนุนหลักการประชาธิปไตยอย่างไร เมื่อเกิดปัญหาในตัวบทรัฐธรรมนูญ ประชาชนก็ย่อมจะมีหลักในการตรวจสอบได้ว่า ควรจะตีความ/ปรับแก้รูปแบบวิธีการต่าง ๆ ที่ปรากฏในตัวบทอย่างไร ให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ที่หลักการกำหนดเอาไว้ ยิ่งไปกว่านั้นการอธิบายหลักการเอาไว้ในคำปรารภ ย่อมจะทำให้ประชาชนสามารถแม้แต่จะตรวจสอบตัวหลักการนั้นได้ด้วยว่าเป็นหลักการที่ถูกต้องชอบธรรมแล้วหรือไม่

ในตอนท้ายของคำปรารภ ร่างรัฐธรรมนูญถึงกับเอ่ยเชิญชวน "ขอปวงชนชาวไทย จงมีความสมัครสโมสรเป็นเอกฉันท์ในอันที่จะปฏิบัติและพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนี้...." แต่เราจะปกปักรักษาอย่างไรหากไม่รู้ว่าหลักการคืออะไร ดุจเดียวกับที่สังคมไทยในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมาดูจะคลั่งเหลือเกินกับการเป็นคนดี โดยไม่สนใจจะอภิปรายถกเถียงเสียก่อนว่า อย่างไรจึงจะเรียกว่าดี ความดีคืออะไร อะไรคือชีวิตที่ดี เมื่อไม่รู้ชัดว่าอะไรคือสิ่งที่ดี อะไรไม่ใช่ ตีขลุมเอาว่ารู้แล้ว แล้วเราจะปกปักพิทักษ์รักษากันได้อย่างถูกต้องหรือ ?

เมื่อร่างรัฐธรรมนูญไม่อธิบายขยายความหลักการที่ใช้ในการร่างตัวบท ร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับจึงไม่ใช่ร่างรัฐธรรมนูญ หากแต่เป็นได้เพียงกฎหมายปกครองที่มีรายละเอียดยุบยิบ ผู้มีอำนาจสามารถนิยามหลักการและกำหนดวิธีการจัดการได้ตามใจชอบ โดยเฉพาะด้วยการอาศัย "กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ" เป็นเครื่องมือ

หากจะเปรียบเทียบกับสถาปนิก ก็คงกล่าวได้ว่าสถาปนิกผู้ออกแบบร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เทียบเคียงได้กับสถาปนิกผู้ถือมั่นในตนเอง เวลาเสนองานลูกค้า ก็อ้างว่าตนใช้ concept โน้นนี้ในการออกแบบ ทั้งอูลตร้าโมเดิร์น ทั้งสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ฯลฯ แต่เนื้องานจริงกลับไม่มีการใช้ concept ที่ตนกล่าวอ้างในการออกแบบเลย เป็นเพียงการใส่สิ่งต่าง ๆ ลงไปในตัวงานตามแต่ความเคยชินและความปรารถนาของตน แล้วอ้างว่านี่คืองานอูลตร้าโมเดิร์น นี่คืองานแบบสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ยกระดับได้ทั้งค่าจ้างและภาพลักษณ์/ชื่อเสียงของตัวสถาปนิก

เมื่อร่างรัฐธรรมนูญกลับไม่มีความเป็นรัฐธรรมนูญ สถาปัตยกรรมทางการเมืองจึงคือความกำกวมเคลือบแฝงความหมาย เช่นเดียวกับงานสถาปัตยกรรมเสาหลักเมือง

ตราบที่สถาปัตยกรรมทางการเมือง คือตัวรัฐธรรมนูญ ยังมีแต่ความกำกวมเคลือบแฝงความหมาย เราก็ยังจะต้องเห็นปรากฏการณ์ซ้ำซากแห่งการรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ เพื่อนำรัฐธรรมนูญฉบับเดิม ๆ กลับมาใช้ใหม่ วนเวียนนับร้อยนับพันปี การเปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับศาลหลักเมืองเสียใหม่ อาจเป็นหนทางเดียวที่จะช่วยให้รอดพ้นจากความซ้ำซากนี้ได้อย่างน่าอัศจรรย์

จากแนวคิดอันเก่าแก่เรื่องมองวรรณคดีจากสังคม มองสังคมจากวรรณคดี เราอาจต้องก้าวต่อไปสู่การหาคำตอบให้แก่สังคมด้วยวิธีการทางวรรณคดี สัจนิยมมหัศจรรย์อาจไม่เป็นเพียงทางเลือกในทางวรรณคดีเท่านั้น แต่สัจนิยมมหัศจรรย์อาจเป็นทางรอดของสังคมการเมืองไทยด้วย เราควรจะรื้อคิดใหม่เกี่ยวกับศาลหลักเมือง เพื่อให้สิ่งใหม่และสิ่งเก่าอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ

นักทำนายอนาคตได้เสนอกันเอาไว้บ้างแล้วว่าควรย้ายเมืองหลวงไปยังชัยภูมิใหม่ที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศและสภาพแวดล้อมร่วมสมัย (โดยไม่จำต้องทอดทิ้งกรุงเทพมหานคร) สยามประเทศควรพิจารณาอย่างจริงจังต่อข้อเสนอนี้ โดยมิพักต้องรู้สึกว่ากำลังเดินตามรอยประเทศเพื่อนบ้าน สร้างเมืองใหม่ ตั้งเสาหลักเมืองใหม่ โดยให้ชีแม่พราหมณ์ชีพ่อพราหมณ์ประกอบพิธีลงเสาหลักเมืองจำนวน 6 ต้น แทนที่จะลงเพียงเสาเดียวดุจดังในอดีต เพื่อให้เสาทั้งหกยึดกุมและเป็นอนุสติถึงหลัก 6 ประการของคณะราษฎร เสาเหล่านี้พึงนำมาจากทิศต่าง ๆ ทั่วประเทศ และไม่จำเป็นต้องเป็นไม้ เป็นหินก็ได้ เป็นเหล็กหรือโลหะไร้สนิม หรือวัสดุล้ำสมัยอื่นใดก็ได้ทั้งนั้น

การสร้างเมืองใหม่อาจกระทำได้โดยการพลิกเอาเมืองบางเมืองที่อยู่ในหรืออยู่ใกล้แนวตัดของแกนคมนาคมเหนือ-ใต้ตัดกับตะวันออก-ตะวันตก (เช่น แนวทางหลวงหมายเลข 12) ให้เป็นเมืองหลวงใหม่ ปล่อยให้กรุงเทพ ฯ เป็นเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและความหลากหลายทางวัฒนธรรม ไปให้ถึงการเป็นเมืองแบบคอสโมโพลิแทน ขณะเดียวกัน แทนที่จะมาแออัดแย่งใช้ทรัพยากรแย่งใช้ infrastructure กันอยู่ในเมืองธุรกิจ กองทัพก็ควรย้ายออกไปตั้งมั่นอยู่ตามจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการป้องกันประเทศ ศูนย์การทหารไม่จำเป็นและไม่ควรอยู่ซ้อนทั้งในศูนย์กลางธุรกิจและศูนย์การบริหารประเทศ

ในการตั้งเสาหลักเมืองใหม่นี้ ชีแม่พราหมณ์ชีพ่อพราหมณ์จักต้องหันไปใช้ฤกษ์ของพระพุทธเจ้า ดังที่เราได้เห็นแล้วจากดวงเมืองกรุงเทพ ฯ ที่ดวงดาวกลายเป็นขีดจำกัดทางเลือกในการวิเคราะห์และแก้ปัญหาทางการเมือง ตลอดทั้งความเชื่อถือไม่ได้สนิทใจต่อนักโหราศาสตร์การเมืองในความสามารถและในความเที่ยงธรรมในการทำนาย การหันไปใช้ฤกษ์ของพระพุทธเจ้าที่ยืนยันว่า ประโยชน์เป็นฤกษ์ในตัวของมันเอง ดวงดาวจะทำอะไรใครได้ มาเป็นหลักในการประกอบพิธีตั้งเสาหลักเมืองทั้ง 6 ย่อมเป็นประโยชน์ต่อการเดินไปสู่เป้าหมายของเมืองนั้น ๆ ได้ดีกว่าการวางลัคนาดวงเมือง ด้วยวิธีเช่นนี้และด้วยการเป็นเสาแห่งหลัก 6 ประการของคณะราษฎรเช่นนี้ คุณค่าเดิมในการเป็นที่พึ่งทางใจของพลเมือง จึงดำรงอยู่คู่กับการเป็นเสาหลักการทางการเมือง ต่างดำรงอยู่คู่กันและพร้อมกันไป ผู้คนพากันมากราบไหว้ขอพร และมาสักการะศาลหลักเมืองด้วยอาหารนานาภาคและนานาชาติ (มิใช่มีแต่รสน้ำพริกเผา) จนบริเวณโดยรอบศาลหลักเมืองอาจกลายเป็นศูนย์รวมร้านอร่อยจากทั่วประเทศและทั่วโลก ขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญที่จะร่างกันขึ้นใหม่จากหลัก 6 ประการอันเป็นอุดมคติของเสาหลักเมืองก็ย่อมจะแตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับเดิม ๆ ที่พาให้เราลงไปอยู่ใต้ตุ่มใต้กะลาที่ที่รัฐธรรมนูญเหล่านั้นจากมา สิ่งเก่าจะสามารถดำรงอยู่คู่กับสิ่งใหม่ ไพร่อยู่ร่วมกับผู้ดี เหลืองอยู่คู่กับแดง ทุกคนสามารถยอมรับว่าต่างก็มีดีมีชั่วดำรงอยู่ในตนพร้อมกันไปในโลกสันนิวาสแห่งปุถุชน ไม่มีใครดีใครเลวโดยส่วนเดียว จะดีจะชั่วก็ค่อย ๆ เรียนรู้อยู่กันไป ความห่อเหี่ยวทุกข์ยากที่ซ้ำซากเนิ่นนานมานับร้อยปีจะพลันยุติ นี่คือทางรอดของสังคมการเมืองไทย

0000

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน เฟซบุ๊ก วิทย์ วัชพืช

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net