Skip to main content
sharethis

เปิดเอกสาร รมว.คมนาคมชง ครม. ปี 47 เสนอให้อนุมัติการบินไทยจัดหาเครื่องบิน 14 ลำ 9.6 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเครื่องบินโบอิง 777 จำนวน 6 ลำ 3.2 หมื่นล้านบาท ตรงกับดีลในเอกสารที่เปิดเผยโดยทางการอังกฤษ ว่าโรลส์-รอยซ์ติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐไทยเพื่อให้มีการจัดซื้อเครื่องบินที่ใช้เครื่องยนต์ของบริษัท

23 ม.ค. 2560 หลังหน่วยงานอังกฤษเปิดเผยข้อมูลจ่ายสินบนโรลส์-รอยซ์ 7 ประเทศ โดยในไทยมีการติดสินบน จนท.การบินไทย-จนท.รัฐ กว่า 1.27 พันล้านบาท เพื่อให้มีการจัดซื้อเครื่องบินโบอิงที่ต้องใช้เครื่องยนต์ของบริษัท 3 ดีล ระหว่างปี 2534-2548 โดยในปี 2547 พบ “คนในรัฐบาล” พัวพันกับการจัดซื้อด้วยนั้น

ล่าสุดจากการค้นหามติคณะรัฐมนตรี 23 พฤศจิกายน 2547มีเอกสารจากกระทรวงคมนาคมชงคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติให้การบินไทยจัดหาเครื่องบิน 14 ลำ ในจำนวนนี้เป็นเครื่องบินโบอิง 777 จำนวน 6 ลำ ตรงกับดีลในเอกสารคดีโรลส์-รอยซ์

ตามที่สำนักสืบสวนการฉ้อฉลรุนแรงแห่งสหราชอาณาจักร (Serious Fraud Office - SFO) เปิดเผยข้อมูลการจ่ายสินบนของบริษัทโรลส์-รอยซ์ ผู้ผลิตยานยนต์และอากาศยานของอังกฤษ ในคดีขายเครื่องยนต์ไม่โปร่งใสใน 7 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย ไทย อินเดีย รัสเซีย ไนจีเรีย จีน และมาเลเซีย ภายหลังจากที่บริษัทโรลส์-รอยซ์ ได้บรรลุข้อตกลงเจรจายอมความกับ SFO โดยต้องจ่ายให้กระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกา 6,000 ล้านบาท ทางการบราซิล 900 ล้านบาท และต้องจ่ายค่ายอมความถึง 2.8 หมื่นล้านบาทกับทางการอังกฤษ (อ่านรายละเอียด)

โดยในเอกสารของ SFO กรณีของประเทศไทย การบินไทยได้ซื้อเครื่องยนต์จากบริษัทโรลส์-รอยซ์ 3 ครั้ง

ครั้งแรกระหว่าง 1 มิถุนายน 2534 ถึง 30 มิถุนายน 2535

มีการจ่ายค่านายหน้าคนกลางให้หน่วยงานหนึ่ง 18.8 ล้านเหรียญสหรัฐ (658 ล้านบาท) เงินดังกล่าวมีการนำไปให้เจ้าหน้าที่รัฐและพนักงานของการบินไทย เพื่อโน้มน้าวให้การบินไทยซื้อเครื่องยนต์ T800

ทำให้ในเดือนมิถุนายนปี 2534 การบินไทยสั่งเครื่องบินโบอิง 777 (B777) จำนวน 6 ลำ และต่อมาในเดือนมีนาคมเพิ่มอีก 2 ลำ กลายเป็น 8 ลำ ซึ่งใช้เครื่องยนต์ T800 ของโรลส์-รอยซ์

ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม 2535 ถึง 31 มีนาคม 2540

มีการจ่าย 10.38 ล้านเหรียญสหรัฐ (363 ล้านบาท) เพื่อให้นายหน้าคนกลางมีการนำเงินดังกล่าวบางส่วนให้พนักงานการบินไทย เพื่อโน้มน้าวให้มีการซื้อเครื่องยนต์ T800 ทำให้มีการจัดซื้อเครื่องบินโบอิง 777 จำนวน 6 ลำ ซึ่งใช้เครื่องยนต์ T800 ของโรลส์-รอยซ์

ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2547 ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2548

มีการจ่ายเงิน 7.2 ล้านเหรียญสหรัฐ (252 ล้านบาท) เงินบางส่วนตกไปสู่เจ้าหน้าที่รัฐและพนักงานการบินไทยเป็นค่านายหน้า เพื่อช่วยให้โรยลส์-รอยซ์ขายเครื่องยนต์ที-800 ในเครื่องบินรุ่นโบอิง 777 ให้กับการบินไทย

โดยในวันที่ 28 กรกฎาคม 2547 บอร์ดการบินไทย ตัดสินใจซื้อเครื่องบินโบอิง 777 จำนวน 6 ลำ และแอร์บัส 340 (A340) จำนวน 2 ลำ ซึ่งเป็นการสั่งซื้อล่วงหน้า โดยใช้เครื่องยนต์ของโรลส์-รอยซ์ สำหรับเครื่องโบอิง ส่วนเครื่องแอร์บัสนั้นใช้เครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ รุ่น T500 อยู่เเล้ว

และในปลายเดือนกันยายน 2547 บอร์ดการบินไทยจัดซื้อเครื่องยนต์สำรองรุ่น T500 จำนวน 5 เครื่อง สำหรับใช้กับเครื่องบินแอร์บัส 340 และเครื่องยนต์ T800 จำนวน 2 เครื่อง สำหรับเครื่องบินโบอิง B777

ในเอกสารที่สำนักสืบสวนการฉ้อฉลรุนแรงแห่งสหราชอาณาจักร (SFO) เปิดเผย ในหน้าที่ 17 ยังระบุว่า มีอีเมล์ภายในของของโรลส์-รอยซ์ ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2547 บันทึกถึงการหารือระหว่าง "นายหน้าที่ 3" และ "นายหน้าระดับภูมิภาค" และ "คนในรัฐบาลไทย" โดยระบุถึงการหารือว่า

"เป็นการหารือที่ดีมาก มีผลตอบรับในทางบวกต่อธุรกิจซื้อเครื่องบิน A340 และ B777 และอยู่ในวาระการประชุมของ ครม. วันที่ 23 พฤจิกายน"

โดยหลังจากนั้น โรลส์-รอยซ์ต้องจ่ายค่านายหน้าให้กับ "นายหน้าที่ 3" และ "นายหน้าระดับภูมิภาค" รวม 7.2 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับค่านายหน้า 4% จากการขายเครื่องยนต์ T800 และ T500 ดังกล่าว

 

เปิดมติคณะรัฐมนตรี 23 พ.ย. 2547
รมว.คมนาคม ชง ครม. อนุมัติการบินไทยซื้อเครื่องบินโบอิ้ง 6 ลำ

เมื่อค้นหาข้อมูลมติคณะรัฐมนตรีย้อนหลัง ในเว็บไซต์ของสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ก่อนประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 23 พฤศจิกายน 2547 มีหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี จากกระทรวงคมนาคม ที่ คค (ปคร) 0805.4/252 ลงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2547 เรื่อง โครงการจัดหาเครื่องบินตามแผนวิสาหกิจ ปี 2548/49 - 2552/53 ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ลงนามท้ายหนังสือโดย สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในสมัยนั้น

 

โดยเรื่องที่เสนอจาก บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) (บกท.) ข้อ 1.2 ระบุว่า

“1.2 บกท. จึงเสนอโครงการจัดหาเครื่องบินตามแผนวิสาหกิจ ปี 2548/49 - 2552/53 เพื่อ คค. พิจารณานำเสนอ ครม. เพื่อขออนุมัติ

1) ดำเนินโครงการจัดหาเครื่องบินตามแผนวิสาหกิจปี 2548/49 - 2552/53 ของ บกท.จำนวน 14 ลำ ประกอบด้วย เครื่องบินพิสัยไกลขนาดใหญ่มาก แบบ A380 จำนวน 6 ลำ เครื่องบินพิสัยไกลพิเศษ แบบ A340-500 จำนวน 1 ลำ เครื่องบินพิสัยไกลขนาดกลาง แบบ A340-600 จำนวน 1 ลำ และเครื่องบินพิสัยไกลขนาดกลาง แบบ B777-200 ER จำนวน 6 ลำ ในวงเงินลงทุนทั้งสิ้น 96,355 ล้านบาท โดยจะลงทุนในปี 2547/2548 จำนวน 7,818 ล้านบาท...”

โดยการลงทุนในโครงการจัดหาเครื่องบิน 14 ลำ ตามแผนวิสาหกิจ 2548/49-2552/53 วงเงินลงทุน 96,355 ล้านบาท ที่ขอ ครม.อนุมัติ จะมีการจัดซื้อเครื่องบิน 14 ลำ โดยในจำนวนนี้จะมีเครื่องบินโบอิง 777-200ER จำนวน 6 ลำ มูลค่า 32,336 ล้านบาท

 

หนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ คค (ปคร) 0805.4/252 เรื่อง "โครงการจัดหาเครื่องบินตามแผนวิสาหกิจ ปี 2548/49 - 2552/53 ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)" ลงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2547 ลงนามท้ายหนังสือโดย สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

000

ต่อมาในมติคณะรัฐมนตรี 23 พฤศจิกายน 2547 “เรื่อง การขอยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบการก่อหนี้ของประเทศ พ.ศ. 2528 ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และเรื่องโครงการจัดหาเครื่องบินตามแผนวิสาหกิจปี 2548/49-2552/53 ของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน)” โดยระบุว่า

“คณะรัฐมนตรีมีมติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ดังนี้ อนุมัติให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) (บกท.) ได้รับการยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบการก่อหนี้ของประเทศ พ.ศ. 2528 และอนุมัติในหลักการให้ บทก. ดำเนินโครงการจัดหาเครื่องบินตามแผนวิสาหกิจปี พ.ศ. 2548/49-2552/53 ของ บกท. จำนวน 14 ลำ วงเงินลงทุน 96,355 ล้านบาท และดำเนินงานตามแผนการเงินและแผนเงินกู้ของ บกท. โดยให้ บกท. รับความเห็นและข้อสังเกตของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการด้วย ทั้งนี้ โดยที่โครงการจัดหาเครื่องบินดังกล่าวมีมูลค่าสูง และส่วนหนึ่งเป็นการจัดหาเครื่องบินจากประเทศฝรั่งเศสซึ่งเป็นประเทศผู้นำในกลุ่มสหภาพยุโรป และอีกส่วนหนึ่งเป็นการจัดหาเครื่องบินจากสหรัฐอเมริกา จึงให้ บกท. ประสานและขอความร่วมมือจากประเทศผู้ขายเครื่องบินดังกล่าวในเรื่องการส่งสินค้าไทยไปจำหน่ายยังกลุ่มสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาก่อนที่จะลงนามในสัญญาซื้อขายเครื่องบินระหว่างกันต่อไป โดยขอให้ประเทศฝรั่งเศสพิจารณาสนับสนุนและผลักดันให้กลุ่มสหภาพยุโรปคืนสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ให้กับสินค้ากุ้งของไทย และขอให้สหภาพยุโรปปฏิบัติต่อสินค้าไก่ของไทยอย่างเป็นธรรม โดยไม่นำปัญหาการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกมาเป็นเงื่อนไขและข้อกีดกันทางการค้า รวมทั้งพิจารณารับซื้อสินค้าเกษตรต่าง ๆ ของไทยเพิ่มมากขึ้น และขอให้สหรัฐอเมริกาพิจารณาการเก็บอากรตอบโต้การช่วยอุดหนุน (anti dumping) กุ้งไทยอย่างเป็นธรรม โดยในชั้นนี้ ให้ บกท. สามารถออกหนังสือแสดงความจำนงในการจัดหาเครื่องบินดังกล่าวไปก่อนได้ สำหรับการจัดทำข้อตกลง หรือลงนามในสัญญาจัดหาเครื่องบิน ให้ บกท. รายงานความคืบหน้าการดำเนินการดังกล่าวและนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนการดำเนินการด้วย”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net