Skip to main content
sharethis

รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ตั้งกองทุนช่วยเหลือระหว่างประเทศเพื่อให้ประชาชนในประเทศกำลังพัฒนาเข้าถึงการคุมกำเนิดและการทำแท้อย่างปลอดภัย ทดแทนช่องว่างทางนโยบายหลัง 'โดนัลด์ ทรัมป์' ออกคำสั่งห้ามองค์กรต่างประเทศที่มีประเด็นทำแท้ง รับเงินทุนสนับสนุนจากองค์กรวางแผนครอบครัวในสหรัฐฯ ขณะที่ออสเตรเลียเล็งอุดหนุนช่วย

ลิเลียน พลูเมน รมว.กระทรวงพาณิชย์และการพัฒนาของเนเธอร์แลนด์ ผู้แถลงว่ารัฐบาลเนเธอร์แลนด์จะตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาให้เข้าถึงอนามัยเจริญพันธุ์และการทำแท้ง ทดแทนช่องว่างที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกานำโดย โดนัลด์ ทรัมป์ ก่อไว้ (ที่มา: แฟ้มภาพ/กระทรวงการต่างประเทศเนเธอร์แลนด์/Flickr)

 

27 ม.ค. 2560 หนึ่งในประเด็นที่ทำให้โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ถูกวิพากษ์วิจารณ์คือการที่เขาออกนโยบายในเชิงกีดกันองค์กรด้านสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์และการวางแผนครอบครัว ด้วยการวางกฎห้ามองค์กรนานาชาติรับเงินทุนสนับสนุนจากองค์กรวางแผนครอบครัวในสหรัฐฯ ถ้าหากมีการกล่าวถึงประเด็นการทำแท้ง ซึ่งองค์กรด้านสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ในสหรัฐฯ อย่าง แพลนด์พาเรนฮูด (Planned Parenthood) ระบุว่าการนำกฎนี้กลับมาใช้อีกครั้งเป็นเรื่องโหดร้าย อันตราย ส่งผลต่อชีวิตของผู้หญิง

เรื่องนี้ทำให้รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ตอบโต้ด้วยการเปิดเผยแผนการจัดตั้งกองทุนนานาชาติเพื่อให้ประชาชนในประเทศกำลังพัฒนาสามารถเข้าถึงการคุมกำเนิดและการทำแท้งได้ ทดแทนช่องว่างที่นโยบายของทรัมป์ก่อไว้

ลิเลียน พลูเมน รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์และการพัฒนาของเนเธอร์แลนด์กล่าวในแถลงการณ์ว่า "การสั่งห้ามการทำแท้งไม่ได้ส่งผลให้การทำแท้งลดลง" แต่จะยิ่งทำให้มีการลักลอบทำแท้งเถื่อนอย่างไร้ความรับผิดชอบเพิ่มมากขึ้น ส่งผลอันตรายมีโอกาสทำให้ผู้หญิงเสียชีวิตมากขึ้น

องค์การอนามัยโลกประเมินว่ามีผู้หญิงที่ยังทำแท้งแบบไม่ปลอดภัยอยู่ราว 22 ล้านคนต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา มีรายงานเมื่อปี 2551 ขององค์การอนามัยโลกระบุว่ามีผู้หญิงราว 50,000 คนเสียชีวิตจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยทุกปี

พลูเมนบอกอีกว่าการตัดสินใจของทรัมป์เสี่ยงต่อการทำลายความก้าวหน้าในประเด็นเรื่องสุขอนามัยสตรี เธอจะยอมให้เรื่องนี้เกิดขึ้นไม่ได้จึงทดแทนด้วยการจัดตั้งกองทุนที่ให้รัฐบาล ธุรกิจ และภาคประชาสังคมร่วมบริจาคได้ เพื่อให้ผู้หญิงยังคงมีสิทธิในการควบคุมเนื้อตัวร่างกายของตัวเองได้

สื่อ SBS จากออสเตรเลียสัมภาษณ์รัฐบาลออสเตรเลียว่าจะร่วมให้ทุนสนับสนุนในเรื่องนี้ด้วยหรือไม่ จูลี บิชฮฮป โฆษกกระทรวงต่างประเทศบอกว่ารัฐบาลออสเตรเลียมีพันธะในการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ของผู้หญิง บิชฮอปกล่าววาการเข้าถึงสิทธิดังกล่าวได้โดยเฉพาะสิทธิในการวางแผนครอบครัวถือเป็นเรื่องสำคัญในการส่งเสริมให้ผู้หญิงมีพลังในตัวเอง ทำให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้น และลดอัตราการเสียชีวิตของแม่และเด็ก

นโยบายกีดกันอนามัยเจริญพันธุ์และการวางแผนครอบครัวดังกล่าวเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยของประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน ในปี 2527 ที่มีชื่อเล่นว่า "กฎหมายลิดรอนสิทธิ" (gag rule) มีการยกเลิกในสมัยประธานาธิบดี บิล คลินตัน ในปี 2536 กลับมาใช้อีกครั้งในสมัยจอร์จ ดับเบิลยู บุช ปี 2544 และถูกยกเลิกในสมัยบารัก โอบามา เมื่อปี 2552

แพลนด์พาเรนฮูดระบุว่านอกจากกฎหมายนี้จะลิดรอนสิทธิ์ในการเลือกของผู้หญิง ทำให้ผู้หญิงไร้ทางเลือกแล้ว ยังลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของหมอและกลุ่มส่งเสริมอนามัยเจริญพันธุ์ ทำให้ภาคประชาสังคมโดยรวมในประเทศอ่อนแอลง และเคยมีการศึกษาวิจัยว่า "กฎหมายลิดรอนสิทธิ" เช่นนี้ยังทำให้คนเข้าถึงการคุมกำเนิดได้ยากขึ้นจนแทนที่จะยิ่งลดการทำแท้งกลับยิ่งทำให้การทำแท้งเพิ่มมากขึ้นด้วย

นอกจากนี้ทรัมป์ยังเคยให้สัญญาว่าจะแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงเพื่อพลิกคดี Roe v. Wade อีกครั้ง ซึ่งก่อนหน้านี้คดีนี้เคยมีการตัดสินในลักษณะเอื้อต่อการให้คนมีทางเลือกในการทำแท้ง จนส่งผลให้การทำแท้งในสหรัฐฯ เป็นเรื่องถูกกฎหมายตั้งแต่ปี 2516

 

เรียบเรียงจาก

The Netherlands 'counters' Trump with international abortion fund, SBS, 25-01-2017

The Netherlands to Counter Trump's "Global Gag Rule" With International Abortion Fund, Common Dreams, 25-01-2017

Trump Moves to Restrict Access to Reproductive Health Care Worldwide, Planned Parenthood

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net