Skip to main content
sharethis

สื่อดิอินดิเพนเดนต์รายงานเมื่อวันที่ 26 ม.ค.2560 ว่าทางการเยอรมนีมีแผนการยกเลิกกฎหมายลงโทษผู้ที่หมิ่นผู้นำประเทศอื่น หรือที่เรียกกันว่า 'lese majeste' โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่าแผนการยกเลิกกฎหมายนี้เกิดขึ้นหลังจากที่โดนัลด์ ทรัมป์ สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ รวมถึงกรณีเมื่อปีที่แล้วเคยมีกรณีนักแสดงตลกชาวเยอรมันถูกกล่าวหาด้วยกฎหมายฉบับนี้ หลังจากเขียนกลอนล้อเลียนเรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน ผู้นำตุรกี

ไฮโค มาส รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมของเยอรมนีให้เหตุผลที่ยกเลิกกฎหมายหมิ่นผู้นำต่างประเทศว่าเป็นกฎหมายที่ "ล้าหลัง และไม่มีความจำเป็น" แนวคิดเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นฯ ดังกล่าวเกิดขึ้นในสมัยเก่าที่ผ่านพ้นมานานแล้วและไม่ควรมีอยู่ในประมวลกฎหมายอาญาของเยอรมนีอีก

สำหรับกรณีที่เกิดปีที่แล้ว ยาน บูห์เมอมานน์ พิธีกรรายการตลกของสถานีโทรทัศน์ช่อง ZDF อ่านบทกวีเสียดสีผู้นำตุรกีในรายการของเขา โดยบอกว่าเออร์โดกัน กดขี่ชนกลุ่มน้อย เกี่ยวข้องกับการกระทำอนาจารเด็กและสัตว์ ซึ่งกลายเป็นประเด็นด้านการทูตระหว่างเยอรมนีกับตุรกี บูห์เมอมานน์กล่าวว่าเออร์โดกันเป็นคนที่ "โง่ ขี้ขลาด และเคร่งเครียด" ก่อนที่จะพูดถึงเรื่องเพศซึ่งผู้พิพากษาในเมืองฮัมบูร์กกล่าวว่าเป็น "เนื้อหาเชิงหมิ่นประมาทและใส่ร้าย"

หลังจากนั้นเออร์โดกันก็ยื่นฟ้องต่ออัยการเยอรมนีโดยอ้างกฎหมาย lese majeste ตามวรรคหนึ่งในกฎหมายอาญามาตรา 103 ของเยอรมนีที่ระบุถึงการหมิ่นประมาทองค์กรหรือตัวแทนรัฐต่างประเทศ ซึ่งในช่วงเดือน เม.ย. 2559 แองเกลา แมร์เคิล เคยอนุญาตให้ผู้นำตุรกีฟ้องร้องในเรื่องนี้ได้ แต่ก็ย้ำว่าทำไปเพราะจุดยืนเรื่องความอิสระของฝ่ายตุลาการ ไม่ได้หมายความว่าบูห์เมอมานน์จะทำผิดจริง แมร์เคิลถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวางจากการตัดสินใจอนุญาตให้ฟ้องร้อง ซึ่งต่อมาอัยการของเยอรมนีก็ยกเลิกการสืบสวนในกรณีนี้โดยบอกว่าไม่มีหลักฐานมากพอที่จะระบุว่าบูห์เมอมานน์กระทำความผิดจริง

วรรคดังกล่าวของกฎหมายอาญามาตรา 103 ของเยอรมนีมีมาตั้งแต่ยุคสมัยเก่าแก่ในช่วงที่ประเทศยุโรปที่ติดต่อกันทางการทูต หลายประเทศยังคงมีระบอบกษัตริย์ที่อ่อนไหวต่อการถูกหมิ่นในรูปแบบของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จนกระทั่งในปี 2414 จักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 แห่งเยอรมนีก็เปลี่ยนแปลงกฎหมายนี้เป็นกฎหมายห้ามหมิ่นประมุขของรัฐใดๆ ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่เชื้อพระวงศ์ โดยนอกจากในเยอรมนีแล้วยังมีบางประเทศในยุโรปที่ยังคงมีกฎหมายเช่นนี้อยู่ จนกระทั่งมีการตัดสินใจว่าจะยกเลิกกฎหมายฉบับนี้ในเยอรมนี

อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงกฎหมายดังกล่าวนี้ต้องมีกระบวนการพิจารณาจากสภาล่างของเยอรมนี นอกจากนี้เรื่องระหว่างเออร์โดกันกับบูห์เมอมานน์ ก็ยังไม่พ้นจากคดีแพ่งซึ่งเออร์โดกันได้ยื่นคำร้องขอให้ออกคำสั่งไม่เผยแพร่บทกวีของบูห์เมอมานน์ต่อ โดยที่ศาลแขวงในฮัมบูร์กจะพิจารณาเรื่องนี้ภายในวันที่ 10 ก.พ. โดยปีที่แล้วศาลฮัมบูร์กได้ออกคำสั่งห้ามเผยแพร่บางส่วนของบทกวีไว้ก่อนในขั้นต้น

 

เรียบเรียงจาก

Germany abolishes law that bans insulting foreign leaders, The Independent, 26-01-2017
http://www.independent.co.uk/news/world/europe/germany-law-insulting-foreign-leaders-erdogan-jan-boehmermann-comedian-sketch-outdated-lifts-ban-a7546341.html?cmpid=facebook-post

แองเกลา แมร์เคิล อนุญาตผู้นำตุรกีฟ้องร้องตลกผู้อ่านกลอนล้อเลียนในทีวีเยอรมนี
http://prachatai.com/journal/2016/04/65287

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net