Skip to main content
sharethis

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พ.ร.บ. กยศ. 60 คิดดอกเบี้ย ไม่เกินอัตรา 7.5% ต่อปี กองทุนมีอํานาจขอข้อมูลส่วนบุคคลของผู้กู้ยืมเงิน นายจ้างหักเงินได้พึงประเมินของผู้กู้ยืมเงิน กำหนดให้ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ เรียนสาขาวิชาที่เป็นความต้องการหรือที่ขาดแคลน รวมทั้งผู้ที่เรียนดีเพื่อสร้างความเป็นเลิศ

30 ม.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ม.ค.ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ พ.ร.บ. กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 แล้ว โดยระบุเหตุผลของการประกาศใช้ไว้ในหมายเหตุประกอบว่า เหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ คือ เนื่องจากกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาตาม พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2541 และกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคตตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการบริหารกองทุนเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2549 ที่ออกตาม พ.ร.บ.เงินคงคลัง พ.ศ. 2491 มีการบริหารจัดการและการดําเนินการที่มีข้อจํากัด และไม่สอดคล้องกับ นโยบายการผลิตกําลังคนและการพัฒนาประเทศ สมควรบูรณาการการบริหารจัดการและการดําเนินการของทั้งสองกองทุนดังกล่าวให้เป็นเอกภาพอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน และเพิ่มมาตรการในการบริหารจัดการกองทุนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จึงจําเป็นต้องตรา พ.ร.บ.นี้

เปรียบเทียบเงื่อนไข กยศ.ปี 41 กับ กยศ.ปี 60 (ดูภาพขนาดใหญ่)

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับ พ.ร.บ. ดังกล่าว มีมาตราที่น่าสนใจ โดยเฉพาะ หมวด 1 การจัดตั้งกองทุน มาตรา 6 ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่ง เรียกว่า “กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา”ให้กองทุนเป็นหน่วยงานของรัฐอยู่ในกํากับดูแลของรัฐมนตรี และมีฐานะเป็นนิติบุคคลที่ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน หรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายอื่น

กองทุนมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการศึกษาด้วยการให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาในลักษณะต่างๆ ดังต่อไปนี้
 
(1) เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ให้แก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ 
(2) เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ให้แก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่ศึกษาในสาขาวิชาที่เป็นความต้องการหลักซึ่งมีความชัดเจนของการผลิตกําลังคนและมีความจําเป็นต่อการพัฒนาประเทศ
(3) เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ให้แก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่ศึกษาในสาขาวิชาขาดแคลนหรือสาขาวิชาที่กองทุนมุ่งส่งเสริมเป็นพิเศษ
(4) เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ให้แก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่เรียนดีเพื่อสร้างความเป็นเลิศ

มาตรา 12 เงินของกองทุนให้นําไปหาผลประโยชน์ได้ โดยการฝากกับธนาคารที่เป็นรัฐวิสาหกิจหรือธนาคารพาณิชย์ หรือซื้อหลักทรัพย์ของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกําหนด

ทรัพย์สินประเภทอื่นของกองทุนให้นําไปหาผลประโยชน์ได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกําหนด 
 
สำหรับหมวด 5 การชําระเงินคืนกองทุน มาตรา 44 เมื่อผู้กู้ยืมเงินสําเร็จการศึกษาหรือเลิกการศึกษาแล้ว มีหน้าที่ต้องชําระเงินกู้ยืม เพื่อการศึกษาที่ได้รับไปตามสัญญากู้ยืมเงินคืนให้กองทุน ตามจํานวน ระยะเวลา และวิธีการที่กองทุน แจ้งให้ทราบ 

คณะกรรมการจะกําหนดให้เริ่มคิดดอกเบี้ยหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้กู้ยืมเงินนับแต่เวลาใด ภายหลังที่สําเร็จการศึกษาหรือเลิกการศึกษาแล้วก็ได้ แต่อัตราดอกเบี้ยหรือประโยชน์อื่นใดที่คิด ณ วันทําสัญญา ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยทบต้น 

ในกรณีจําเป็น ผู้จัดการอาจผ่อนผันให้ผู้กู้ยืมเงินชําระเงินคืนกองทุนแตกต่างไปจากจํานวน ระยะเวลา หรือวิธีการที่กําหนดไว้ตามวรรคหนึ่ง หรือลดหย่อนหนี้ หรือระงับการชําระเงินคืนกองทุน ตามที่ผู้กู้ยืมเงินร้องขอเป็นรายบุคคลหรือเป็นการทั่วไปก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่คณะกรรมการกําหนดตามมาตรา 19 (11) 

ในกรณีที่ผู้กู้ยืมเงินผู้ใดผิดนัดการชําระเงินคืนกองทุน และไม่ได้รับอนุญาตให้ผ่อนผันตามวรรคสาม คณะกรรมการจะกําหนดให้ผู้กู้ยืมเงินต้องเสียเงินเพิ่มอีกไม่เกินร้อยละหนึ่งจุดห้าต่อเดือนก็ได้

มาตรา 45 เพื่อประโยชน์ในการบริหารกองทุนและการติดตามการชําระเงินคืนกองทุนให้กองทุนมีอํานาจดําเนินการ ดังต่อไปนี้ 
 
(1) ขอข้อมูลส่วนบุคคลของผู้กู้ยืมเงินจากหน่วยงานหรือองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน หรือบุคคลใดซึ่งเป็นผู้ครอบครองข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าว
 
(2) เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการกู้ยืมเงิน และการชําระเงินคืนกองทุนของผู้กู้ยืมเงินให้แก่หน่วยงานหรือองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน หรือบุคคลใดตามที่ร้องขอ
 
(3) ดําเนินการตามมาตรการต่าง ๆ ที่คณะกรรมการกําหนดตามมาตรา 19 (14)การดําเนินการตาม (1) และ (2) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กําหนดในกฎกระทรวง
 
มาตรา 42 ผู้กู้ยืมเงินมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามสัญญากู้ยืมเงินโดยเคร่งครัดเพื่อประโยชน์ในการบริหารกองทุนและการติดตามการชําระเงินคืนกองทุน ผู้กู้ยืมเงินมีหน้าที่ ดังต่อไปนี้
 
(๑) ให้ความยินยอมในขณะทําสัญญากู้ยืมเงิน เพื่อให้ผู้มีหน้าที่จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร หักเงินได้พึงประเมินของตนตามจํานวนที่กองทุนแจ้งให้ทราบเพื่อชําระเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาคืนกองทุน
 
(2) แจ้งสถานะการเป็นผู้กู้ยืมเงินต่อหัวหน้าหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชนที่ตนทํางานด้วยภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เริ่มปฏิบัติงาน และยินยอมให้หักเงินได้พึงประเมินของตนเพื่อดําเนินการตามมาตรา 51
 
(3) ยินยอมให้กองทุนเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของตนที่อยู่ในครอบครองของบุคคลอื่น รวมทั้งยินยอมให้กองทุนเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการกู้ยืมเงิน และการชําระเงินคืนกองทุน 
 
มาตรา 51 ให้บุคคล คณะบุคคล หรือนิติบุคคลทั้งภาครัฐและเอกชน ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักเงินได้พึงประเมินของผู้กู้ยืมเงินซึ่งเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินดังกล่าว เพื่อชําระเงินกู้ยืมคืนตามจํานวนที่กองทุนแจ้งให้ทราบโดยให้นําส่งกรมสรรพากรภายในกําหนดระยะเวลานําส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกําหนด
 
การหักเงินตามวรรคหนึ่งต้องหักให้กองทุนเป็นลําดับแรกถัดจากการหักภาษี ณ ที่จ่ายและการหักเงินเข้ากองทุนที่ผู้กู้ยืมเงินต้องถูกหักตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบําเหน็จบํานาญข้าราชการกฎหมายว่าด้วยกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน และกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม
 
เมื่อกรมสรรพากรได้รับเงินจากผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้นําส่งกองทุนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กรมสรรพากรกําหนด โดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง
 
ถ้าผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามวรรคหนึ่งไม่ได้หักเงินได้พึงประเมิน หักและไม่ได้นําส่งหรือนําส่งแตไม่ ่ครบตามจํานวนที่กองทุนแจ้งให้ทราบ หรือหักและนําส่งเกินกําหนดระยะเวลาตามวรรคหนึ่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินรับผิดชดใช้เงินที่ต้องนําส่งในส่วนของผู้กู้ยืมเงินตามจํานวนที่กองทุนแจ้งให้ทราบและต้องจ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละสองต่อเดือนของจํานวนเงินที่ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินยังไม่ได้นําส่งหรือตามจํานวนที่ยังขาดไป แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ นับแต่วันถัดจากวันที่ครบกําหนดต้องนําส่งตามวรรคหนึ่ง
 
ในกรณีที่ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินได้หักเงินได้พึงประเมินของผู้กู้ยืมเงินไว้แล้ว ให้ถือว่าผู้กู้ยืมเงินได้ชําระเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาตามจํานวนท่ไดี ้หักไว้แล้ว
 
อ่านรายละเอียดทั้ง พ.ร.บ.ได้ที่ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/012/1.PDF
 
สำหรับ พ.ร.บ. กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2541 หรือฉบับก่อนหน้า มีข้อแตกต่างจากฉบับใหม่ ตัวอย่างเช่น 
 

พ.ร.บ. กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2541

หมวด 1 การจัดตั้งกองทุน มาตรา 5  ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่ง เรียกว่า "กองทุนเงิน ให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา"  ให้กองทุนมีฐานะเป็นนิติบุคคล และมีวัตถุประสงค์เพื่อให้กู้ยืมเงิน แก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อเป็นค่าเล่าเรียน  ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา และค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการ ครองชีพระหว่างศึกษา 
 
มาตรา 12  เงินของกองทุนอาจนำไปหาดอกผลโดยนำไปฝากไว้ กับธนาคารที่เป็นรัฐวิสาหกิจหรือสถาบันการเงินอื่นที่เป็นของรัฐ 
 
หมวด 5 การนำเงินส่งกองทุน  มาตรา 52  เมื่อผู้กู้ยืมเงินสำเร็จการศึกษาหรือเลิกการศึกษาแล้ว เป็นเวลาสองปี ผู้กู้ยืมเงินมีหน้าที่ต้องชำระเงินกู้ยืมคืนให้กับกองทุน ตามจำนวนระยะเวลาและวิธีการที่กำหนดไว้ในระเบียบของคณะ กรรมการ 
 
คณะกรรมการจะกำหนดไว้ในระเบียบให้เริ่มคิดดอกเบี้ยหรือ ประโยชน์อื่นใดนับแต่เวลาใดภายหลังที่จบการศึกษาหรือเลิกการ ศึกษาแล้วก็ได้แต่อัตราดอกเบี้ย หรือประโยชน์อื่นใดที่คิดต้องไม่เกิน อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำหนึ่งปีของธนาคารออมสิน และห้าม มิให้คิดดอกเบี้ยทบต้น 
 
ในกรณีจำเป็นที่เห็นสมควร คณะกรรมการจะผ่อนผันให้ผู้กู้ยืมเงิน ชำระหนี้ตามระยะเวลาที่แตกต่างไปจากที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่ง  หรือชะลอการชำระหนี้เป็นการชั่วคราวหรือลดหย่อนหนี้ให้ตามที่ ผู้กู้ยืมเงินร้องขอเป็นราย ๆหรือเป็นการทั่วไปก็ได้ 
 
ในกรณีที่ผู้กู้ยืมเงินไม่สามารถชำระหนี้เงินกู้คืนได้ภายในระยะเวลา ที่กำหนดตามวรรคหนึ่งและไม่ได้รับอนุญาตให้ผ่อนผันตามวรรคสาม  คณะกรรมการจะกำหนดให้ผู้กู้ยืมเงินต้องเสียเงินเพิ่มอีกไม่เกินร้อยละ 1.5 ต่อเดือนก็ได้ 
 

 

หมายเหตุ : มีการปรับแก้พาดหัว จาก "โปรดเกล้าฯ พ.ร.บ.กยศ. ฉ.ใหม่แล้ว ให้อำนาจเข้าถึงข้อมูลส่วนตัว เพดานดอกถึง 7.5% ต่อปี" มาเป็น "เปรียบเทียบ พ.ร.บ.กยศ. ฉ.เก่า-ใหม่ : ให้อำนาจเข้าถึงข้อมูลส่วนตัว เพดานดอกถึง 7.5% ต่อปี" 13.53 น. 31 ม.ค.60 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net