กลุ่ม LLTD: การต่อต้านขัดขืนอำนาจและการครอบงำโดยไม่ใช้ความรุนแรง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

บทคัดย่อ

รายงานวิจัยชิ้นนี้ต้องการศึกษาการต่อสู้ ต่อต้านกับ “ความเป็นไทย” ในฐานะที่เป็นวาทกรรมหลักซึ่งทรงอำนาจนำในสังคมไทย (Hegemonic Discourse) อันเป็นผลผลิตของชีวะอำนาจ (Biopower)ที่แทรกซึม จัดการบริหาร บงการ เรือนร่างและจิตใจของคนไทยโดยไม่ใช้ความรุนแรง(Non-Violence Action)ของกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD) โดยมีกรณีศึกษาการรณรงค์ ประท้วง ต่อต้านประเด็นกฎหมายอาญามาตรา 112 และคดีนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ในกิจกรรม FREE SOMYOT : ธรรมศาสตร์ตายแล้วและเสียดายสมยศไม่ได้มางานบอล

ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าการรณรงค์ประท้วงต่อต้านประเด็นกฎหมายอาญามาตรา 112 ของกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีฯ ทั้งกิจกรรม “ธรรมศาสตร์ตายแล้ว” และ “เสียดายสมยศไม่ได้มางานบอล” เป็นกิจกรรมสร้างการตระหนักรู้และการรับรู้ (Awareness) เสียดสีการปิดกันเสวนาทางวิชาการในมหาวิทยาลัย ในขณะเดียวกันก็เป็นการท้าทาย สั่นคลอน บั่นทอน เปิดโปง เผยตัวตนของความเป็นไทยอันเป็นวาทกรรมซึ่งทรงอำนาจนำในสังคมไทย (Hegemonic Discourse) ในฐานะที่เป็นผลผลิตของชีวะอำนาจ (Biopower)  ของรัฐไทยและมีฐานเป็น “ความรุนแรงเชิงสัญลักษณ์” ที่ปกปิด ซ้อนเร้นความโหดร้าย เลือดเย็นไว้ภายใต้ความปกติสามัญ (Normalization) ให้อ่อนกำลังลงและไม่สามารถทำงานได้อย่างปกติ รวมถึงสถาปนาวาทกรรมตอบโต้ (Counter-Hegemonic Discourse) หรือสร้างวัฒนธรรมซึ่งสอดคล้องกับคุณค่าและหลัการของเสรีประชาธิปไตยและยังเป็นการพยายามสร้างสภาวะภาคปฏิบัติการปกครองของตัวเอง (Self-Governed practice) ที่อัตบุคคล(Subject) สามารถต่อสู้ ต่อรองขบถ ไม่เชื่อฟัง ไม่ยอมรับ เลิกเชื่อต่อความเป็นไทยที่กำหนดอัตลักษณ์ ตัวตนของความเป็นคนไทยเอาไว้อย่างเฉพาะจงเจาะ

หากรายงานวิจัยชิ้นนี้มีส่วนดีประการใด ผู้เขียนขออุทิศให้แก่กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย นักกิจกรรมการเมืองผู้หาญกล้าทุกท่านที่ต่อสู้เพื่อความยุติธรรม ขอส่วนดีนั้นจงช่วยเสริมสร้างปัญญาให้สว่างรุ่งโรจน์เพื่อเป็นปราการป้องกันความตื้นเขิน ความเขลา ความมืดมืด บอดใบ้ เบาปัญญาซึ่งมีอยู่ทั่วทุกหนแห่งในประเทศสารขัณฑ์แห่งนี้ รวมถึงเป็นกำลังใจบุคคลเหล่านี้ที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและโดยเฉพาะ ไผ่ เพื่อนยากที่ถูกเผด็จการจองจำด้วยคดีมาตรา 112 จองจำได้แต่ตัวแต่หาได้จองจำจิตวิญญาณการต่อสู้ไม่ ขอให้อดทน เข้มแข็งสู้ต่อไปและเป็นกำลังใจให้เสมอ สักวันประวัติศาสตร์จะเป็นของพวกเรา…We Shall Over Come

ข้อถกเถียงว่าด้วยการต่อต้านอำนาจ

งานวิจัยเกี่ยวกับสันติวิธีและปฏิบัติการไร้ความรุนแรงร่วมสมัยส่วนใหญ่นั้นได้รับอิทธิพลทางความคิดจาก ยีน ชาร์ป (Gene Sharp) ชาร์ปนั้นถือเป็นบิดาแห่งปฏิบัติการไร้ความรุนแรงในโลกตะวันตก และได้พัฒนาแนวคิดสันติวิธีมาจากคานที (Gandhi) เขาเสนอสันติวิธีในฐานะที่เป็น “เครื่องมือในการต่อสู้” หรือ “ยุทโธปกรณ์” ในการชิงชัยทางการเมืองเหนือคู่กรณี กล่าวคือ ปฏิบัติการไร้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือของผู้คนที่อ่อนแอกว่าในการต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการ [2] เพื่อเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างผู้ปกครองกับผู้อยู่ใต้ปกครอง นอกจากนี้ชาร์ปยังเสนอทฤษฎีอำนาจซึ่งทำให้เข้าใจถึงแหล่งที่มาทางอำนาจของผู้ปกครองซึ่งเป็นกุญแจที่นำไปสู่ปฏิบัติการไร้ความรุนแรงเพื่อถอดถอนความยินยอมจากรัฐบาล

ปฏิบัติการไร้ความรุนแรงของชาร์ปนั้นวางอยู่บนทฤษฎีอำนาจว่าด้วยความยินยอม (Consent Theory of Power) ชาร์ปอธิบายว่า แหล่งที่มาทางอำนาจของผู้ปกครอง รัฐบาลหรือระบบนั้นไม่ได้ดำรง/สถิตอยู่ที่ตัวผู้ปกครอง หากแต่ขึ้นอยู่กับความยินยอม การสนับสนุนและความร่วมมือจากประชาชน กล่าวอย่างถึงที่สุดSharp เห็นว่า “ทุกรัฐบาลนั้นอยู่บนฐานของความยินยอมเชื่อใจของประชาชน” [3]  ในงานหัวร่อต่ออำนาจของจันจิรานั้นได้ขยายความกรอบการเข้าใจอำนาจในงานศึกษาสันติวิธีร่วมสมัยว่ามาจากแนวคิดว่าด้วย “สัญญาประชาคม” ซึ่งชาร์ปเป็นคนแรกๆที่ผลักดันแนวคิดดังกล่าวนี้ โดยชี้ให้เห็นว่าผู้ปกครองโดยเฉพาะทรราชย์คงอำนาจของตนได้ก็เพราะมีมหาชนเบื้องล่างให้ความยินยอมเห็นชอบ (Consent) ซึ่งแหล่งที่มาทางอำนาจของผู้ปกครองนั้นมีที่มาหลากหลาย เช่น สถาบันทางการเมือง ข้าราชการตำรวจ ทหาร การใช้อำนาจบังคับ (Coercion) และสิทธิอำนาจ (Authority) หรืออีกนัยหนึ่งในภาษาของบูร์ดิเยอ (Pierre Bourdieu) คือ รัฐเป็นผู้ผูกขาด/ถือครองทุนทางสัญลักษณ์ (Symbolic Capital) ไว้แต่เพียงผู้เดียว[4] นอกจากนี้ ชาร์ปมองว่าการที่ประชาชนให้มอบความสนับสนุน ยินยอม เชื่อใจรัฐบาลนั้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะอุดมการณ์ทางความคิดที่ครอบงำให้ประชาชนมีสำนึกที่จะต้องเคารพ เชื่อฟังผู้ปกครอง ด้วยเช่นกัน ในเมื่อประชาชนเป็นผู้มอบสัญญาประชาคมและความไว้วางใจให้กับผู้ปกครอง ประชาชนก็ย่อมมีอิสรภาพอย่างเต็มที่เพื่อจะบอกเลิกสัญญประชาคมนั้นได้[5] และเมื่อแหล่งที่มาทางอำนาจของผู้ปกครองขึ้นอยู่กับประชาชนซึ่งเป็นผู้มอบอำนาจ หรือ สัญญาประชาคมนั้น อำนาจดังกล่าวจึงมีความเปราะบางมาก เพราะขึ้นอยู่กับอำนาจจากกลุ่มต่างๆดังนั้นประชาชนจึงเป็นผู้ควบคุมอำนาจของผู้ปกครองหรือรัฐบาลซึ่งเป็นที่มาอำนาจของผู้ปกครองนั้นเอง[6]

อาจกล่าวได้ว่าปฏิบัติการไร้ความรุนแรงของชาร์ปนั้นวางอยู่บนแนวคิดทฤษฎีอำนาจว่าด้วยความยินยอมและปฏิบัติการไร้ความรุนแรงจึงเป็น  “ อาวุธทางการเมืองที่ทรงประสิทธิภาพ” หรือ กระบวนการในการถอดถอนความยินยอม การสนับสนุน และความร่วมมือของประชาชนที่มีต่อผู้ปกครองซึ่งสามารถปฏิบัติได้จริง กล่าวอย่างถึงที่สุดจุดเริ่มต้นของปฏิบัติการไร้ความรุนแรงคือ มุ่งถอดถอน ทลายฐานแหล่งที่มาทางอำนาจของผู้ปกครองเพื่อนำไปสู่การต่อต้าน ขัดขืน ไม่เชื่อฟังต่อความอยุติธรรม รัฐบาลเผด็จการ ทรราชย์ในที่สุด                            

ปฏิบัติการไร้ความรุนแรงแบบชาร์ป มองว่าอำนาจอยู่ที่ตัวบุคคลซึ่งได้รับความสนับสนุน ยินยอมจากประชาชน เมื่อสามารถโค่นล้มตัวบุคคลได้อำนาจ การกดขี่ ครอบงำต่อประชาชนก็หายไปด้วย กล่าวคือเป็นอำนาจที่กระจุกตัวและมีศูนย์กลางอยู่ที่ตัวบุคคลหรือองค์อธิปัตย์เท่านั้น  แม้ว่าจะสามารถล้มผู้ปกครองลงได้ แต่  “อำนาจ” ที่ควบคุม สอดส่อง ตรวจตรา บงการชีวิตและเรือนร่างของผู้คนซึ่งสถาปนาและผลิตซ้ำ “ความรู้” (Knowledge)และ “ความจริง”  (Truth) ผ่านสถาบันต่างๆ และถูกทำให้กลายเป็นสิ่งปกติสามัญ (Normalization) และธรรมชาติจนผู้คนน้อมรับ สวมกอดอำนาจเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเรือนร่าง ดังนั้นอำนาจเช่นนี้ไม่ได้ถูกโค่นล้ม ทำลายไปพร้อมกับองค์อธิปัตย์ หากแต่ดำรงอยู่และทำงานอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาซึ่งมีลักษณะที่แผ่ซ่านและอยู่ทุกหนทุกแห่งในทุกอณูของสังคม  ในขณะเดียวกันการมองอำนาจที่กระจุกตัวหรือมีศูนย์กลางอยู่ที่องค์อธิปัตย์นั้นทำให้เรามองไม่เห็นอำนาจแบบใหม่ ซึ่งอำนาจแบบใหม่นี้มิเชล์ ฟูโกต์ (Michael Foucault)  เรียกว่า “ชีวะอำนาจ” หรือ Biopower [7]   

นักวิจัยด้านปฏิบัติการไร้ความรุนแรงซึ่งได้รับอิทธิพลจากแนวคิดหลังสมัยใหม่อย่าง Stellan Vinthagen ได้วิพากษ์การมองอำนาจแบบชาร์ปไว้โดยชี้ให้เห็นว่าชาร์ป ละเลยอำนาจที่สอดส่อง ตรวจตรา ควบคุม บงการชีวิตและเรือนร่างซึ่งเป็นจุดบกพร่องในการมองอำนาจของชาร์ป[8] ผู้เขียนคิดว่า ชาร์ปนั้นหมกหมุ่นอยู่กับการพยายามเปลี่ยนแปลง โน้มน้าวความคิด “ฝ่ายตรงข้าม” ให้เปลี่ยนใจและเลิกสนับสนุนรัฐบาลและไม่ได้ให้ความสนใจให้การพินิจพิเคราะห์อำนาจดังกล่าวอย่างจริงจัง 

อำนาจแบบฟูโกต์ เป็นอำนาจที่แทรกซึมอยู่ในระดับสำนึก จิตใจของพลเมืองซึ่งแวดล้อมอยู่ในชีวิตประจำวัน ซึ่งอยู่ทั่วทุกอณูของสังคมและไม่ได้กระจุกตัวหรือมีศูนย์กลางอยู่ที่ตัวบุคคลหรือองค์อธิปัตย์ ฟูโกต์ได้กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงของตัวแบบอำนาจในศตวรรษที่ 18 และ 19 ในหนังสือ The History of Sexuality เล่ม 1ว่า ในช่วงก่อนศตวรรษที่ 18 อำนาจอธิปัตย์ หรือ Sovereign Power เป็นผู้ผูกขาดสิทธิ์ในการตัดสินชีวิตและความตาย (Right to decide life and death) ผ่านการลงโทษและการฆ่าในพื้นที่สาธารณะ  และในช่วงกลางศตวรรษที่ 18 รูปแบบอำนาจได้เปลี่ยนไปโดยมีเป้าหมายเพื่อดูแลรักษาร่างกายและชีวิตของพลเมืองมากขึ้น (ชีวิตพลเมืองผูกติดกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจ) รวมถึงต้องการควบคุมบงการเรือนร่าง (Body) ของพลเมืองผ่านกลไกและสถาบันหลักทางสังคมเพื่อให้จัดระเบียบ ควบคุมบงการเนื้อตัวร่างกายของพลเมืองเองซึ่งในความเห็นของฟูโกต์เรียก อำนาจวินัย หรือ Disciplinary Power [9]

เมื่อชีวิตของพลเมืองกลายมาเป็นสิ่งที่สำคัญในทางการเมือง อำนาจทางการเมืองจึงวางอยู่บนเทคนิค เทคโนโลยี กลไก จัดการบริหารชีวิตของพลเมืองเป็นร่างกายที่ว่านอนสอนง่าย ฟูโกต์เรียกมันว่า ชีวะอำนาจ หรือ Biopower กล่าวคือ เป็นอำนาจที่เข้ามาควบคุมและบริหารจัดการชีวิตของพลเมืองโดยรัฐซึ่งทำงานผ่านเทคนิค กลไกของรัฐสมัยใหม่ โดยเป้าหมายของชีวะอำนาจคือการให้พลเมืองรับเอา “วาทกรรม”  หรือ Discourse ซึ่งเป็นอำนาจที่มารูปแบบของ “ความรู้” และ “ความจริง” เข้ามาควบคุม จัดระเบียบ สอดส่อง ตวรตราเรือนร่างตัวเองซึ่งแทรกซึมเข้าไปในระดับสำนึกและจิตใจของพลเมืองซึ่งไม่ได้เป็นการใช้อำนาจบังคับทำงานผ่านสถาบันที่ไม่ได้ผูกติดกับรัฐ เช่น สถาบันทางการเพทย์ สถาบันเสริมความงาม ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ โรงเรียนและมหาวิทยาลัย ฯลฯ [10]

แม้ว่าการวิเคราะห์อำนาจของฟูโกต์นั้นช่วยเผย/เปิดโปงอำนาจอันแยบยล แทรกซึมไปในชีวิตประจำวันของพลเมืองและแพร่กระจายไม่ได้กระจุกตัวอยู่ที่ตัวบุคคลหรือองค์อธิปัตย์อย่างที่ชาร์ปมองอำนาจซึ่งวางอยู่บนฐานของความยินยอม  ฟูโกต์ ไม่เพียงแต่ช่วยเปิดโปงอำนาจที่บริหารจัดการชีวิตของผู้คนแล้ว การวิเคราห์อำนาจของ Foucault ยังมีข้อจำกัดอยู่คือ เขามุ่งวิเคราะห์อำนาจอย่างถึงรากถึงโคน แต่ เขากลับไม่ได้เสนอและสำรวจวิธีการต่อต้านอำนาจครอบงำอย่างเต็มที่[11]  Mona Lilja และ Stellan สองนักวิจัยด้านปฏิบัติการไร้ความรุนแรงพยายามก้าวข้ามข้อจำกัดในศึกษาอำนาจของฟูโกต์ และได้เสนอความเป็นไปได้ในการต่อต้านอำนาจสามแบบของฟูโกต์ คือ อำนาจอธิปัตย์ (Sovereign power)  อำนาจวินัย (Disciplinary power) และท้ายสุด ชีวะอำนาจ (Biopower) โดยในรายงานวิจัยชิ้นนี้จะมุ่งศึกษาการต่อต้านชีวะอำนาจโดยทั้งคู่เสนอว่า ชีวะอำนาจเป็นเครื่องมือในการปลูกฝัง จัดการบริหารเรือนร่างและจิตใจของพลเมือง ในขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องมือให้กับกลุ่มต่างๆเพื่อต่อต้านชีวะอำนาจของรัฐที่พยายามจัดการบริหารเรือนร่างและจิตใจเราด้วยเช่นกัน กล่าวคือ ต้องมีการสร้างพื้นที่ใหม่ หรือสร้างวาทกรรมชุดใหม่เพื่อตอบโต้วาทกรรมหลักซึ่งทรงอำนาจนำในสังคม (Counter-Hegemonic Discourse) หรือป้องกันตัวเองในทางปฏิบัติ เช่น ท้าทายและปลูกฝังแนวคิด คุณค่า วัฒนธรรมย่อยที่แตกต่างออกไปจากวาทกรรมหลักซึ่งทรงอำนาจนำในสังคม และ ยังเสนอให้สร้างวัฒนธรรมการต่อต้านคู่ขนานไปกับชีวะอำนาจและการปกครองแบบชีวญาณ(Governmentality)

จะเห็นได้ว่าการต่อต้านเช่นนี้อาจท้าทาย สั่นคลอนและทำลายชีวะอำนาจได้โดยที่ผู้คนตั้งคำถามต่อการบริหารจัดการ ควบคุม บงการเรือนร่างและจิตใจของตนซึ่งถูกแทนที่ด้วยวาทกรรมใหม่ซึ่งเกิดจากการต่อสู้ ต่อรองของผู้คนหรือกลุ่มคน รวมถึงภาคปฏิบัติการที่ปกครองตัวเอง (Self Governed Practices)[12] และทางเลือกอื่นๆ[13] ดังนั้นข้อเสนอการต่อต้านชีวะอำนาจของ Mona Lilja และ Stellan จึงเป็นโอกาสและเพิ่มความเป็นไปได้ในการต่อต้านกับชีวะอำนาจมากขึ้นและก้าวข้ามการต่อต้านโดยไม่ใช่ความรุนแรงแบบชาร์ปซึ่งมองอำนาจโดยมีฐานทางทฤษฎีจากความยินยอม (Consent)  นอกจากนี้ยังเป็นการต่อสู้ในพื้นที่ของการครอบงำและใช้ประโยชน์จากการครอบงำนั้นเพื่อท้าทาย ทำลาย บั่นทอน กัดเซาะความศักดิ์สิทธิ์ของอำนาจ/วาทกรรมหลักซึ่งทรงอำนาจนำในสังคมให้เสื่อมลง

 

กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย

ภายหลังเหตุการณ์การสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง (Post Cracked Down) โดยเจ้าหน้าที่รัฐในปี 2553 บรรยากาศทางการเมืองถูกปิดตาย ตายไปพร้อมกับประชาชนที่ถูกสังหารอย่างเลือดเย็นกลางเมืองหลวง กล่าวคือ สังคมถูกปกคลุมเต็มไปด้วยความกลัว ความตึงเครียด ความขัดแย้งเสื้อสีและความรู้สึกที่ไม่ได้รับความยุติธรรมจากการถูก “ฆ่า” โดยเจ้าหน้าที่รัฐ เหตุการณ์สลายการชุมนุมเป็นจุดเริ่มต้นของการทำกิจกรรมทางการเมืองของกลุ่มนักศึกษาที่สนใจการเมืองในธรรมศาสตร์

กลุ่มแรกๆที่ออกมาเคลื่อนไหวหลังการสลายการชุมนุมคือ กลุ่มประชาคมธรรมศาสตร์คัดค้านอำนาจนอกระบบ (TCAD) ซึ่งเป็นการรวมตัวของนักศึกษาหลากหลายคณะจากทั้งท่าพระจันทร์และรังสิต เป็นกลุ่มหลักที่ออกมาเคลื่อนไหวรำลึกและเรียกร้องให้ปล่อยนักโทษการเมือง ตั้งคำถามต่อการสลายการชุมนุมของรัฐบาลอภิสิทธิ์ จนกระทั่งต้นปี 2554 สมาชิกจำนวนหนึ่งของ TCAD ได้แยกตัวออกมากลุ่มเดิมและตั้งกลุ่มใหม่ในชื่อ กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย หรือ League of Liberal Thammasat for Democracy (LLTD) ในวันที่ 20 มกราคม 2554 เพื่อเคลื่อนไหวในแนวทางของตนที่แตกต่างออกไปจากเดิม ปราบ เลาหะโรจนพันธ์ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มกล่าวถึงการแยกตัวว่า

“การแยกตัวออกจากกลุ่มเดิม (กลุ่มประชาคมธรรมศาสตร์คัดค้านอำนาจนอกระบบ หรือ TCAD) ไปตั้งกลุ่มนักศึกษาใหม่เกิดจากแนวคิดการจัดกิจกรรมที่ไม่ตรงกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการระเบียบภายในขององค์กร TCAD นั้นมีการแต่งตั้งตำแหน่งต่างๆในการทำงานอาทิ ที่ปรึกษา เลขาธิการ ฯลฯ ปัญหาที่เกิดขึ้นคือคนมีตำแหน่งจริงๆไม่ได้ทำงาน แต่สมาชิกใหม่ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ปีหนึ่งปีสองในตอนนั้นกลับเป็นคนทำงานหนักที่สุด ต่อมาพอแนวคิดไม่ตรงกัน สมาชิกเดิมที่ส่วนใหญ่เป็นรุ่นพี่ที่เพิ่งเรียนจบไปก็ใช้อำนาจตามตำแหน่งมาขัดขวางสิ่งที่สมาชิกรุ่นใหม่อยากทำ และเมื่อสมาชิกที่ทำงานจริงๆออกไปตั้งกลุ่มใหม่ TCAD ก็ฝ่อลงและหายไปในที่สุด”[14] ในขณะที่ บาส รัฐพล ศุภโสภณ สมาชิกกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยได้กล่าวถึงการแยกตัวจากกลุ่มเดิมและอิทธิพลต่อการก่อตั้งกลุ่มว่า “หลังเกิดเหตุการณ์ปี 53 เป็นตัวจุดประกายให้สนใจการเมือง อินมากกับเหตุการณ์ปี 53 มันกระตุ้นให้สนใจการเมืองอย่างหนักและอยากทำกิจกรรมการเมืองอย่างมากเพื่อเรียกร้องความยุติธรรม ความเท่าเทียมในสังคม ตอนนั้นยังไม่ใช่ LLTD เป็น TCAD ตอนหลังจึงแยกตัวออกไปทำตามแนวทางที่แตกต่างออกไป เหตุการณ์ปี 53 มีอิทธิพลอย่างแท้จริงต่อการเกิดกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีฯ” [15]

ดังนั้นในแง่ของปัจจัยและอิทธิพลในการตั้งกลุ่ม LLTD ในฐานะกลุ่มการเมืองของนักศึกษา มธ.จึงมาจากเหตุการณ์ปี 53 และการแยกตัวออกจากกลุ่ม TCAD  รวมถึง “ความเป็นธรรมศาสตร์”[16]อีกด้วย

กลุ่ม LLTD นั้นเป็นกลุ่มที่พยายามปฏิเสธ “ความเป็นซ้ายเก่า” และ “จารีตการเคลื่อนไหวแบบเดือนตุลา” ที่เรียกร้องในรูปแบบเดิมๆ ติดป้ายประท้วง ออกมาบนท้องถนน  และไม่ได้รับความสนใจจากประชาชน รวมถึงการจัดตั้งรูปแบบองค์กรที่ไม่เชื่อในองค์กรทางการที่มีอยู่เดิมและมีข้อจำกัดมากมายอย่างเช่น องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) หรือ สนนท. ปฏิเสธการแต่งตั้งตำแหน่งภายในองค์กร รูปแบบการประชุมแบบเดิมๆ การจัดกิจกรรมแบบเดิมๆ  ฟังเพลงเพื่อชีวิตซึ่งเชย ล้าสมัยมาก[17] กลุ่ม LLTD จึงต้องการก้าวข้ามความเป็นซ้ายเก่าและจารีตแบบเดือนตุลา

กล่าวคือ มีการจัดตั้งองค์กรที่เป็นองค์กรแนวระนาบ (Horizontal) ไม่มีตำแหน่งหัวหน้าหรือตำแหน่งสำคัญในกลุ่ม ทุกคนล้วนมีสถานะเป็นสมาชิกกลุ่มเท่าเทียมกัน[18]  มีสถานะเป็นกลุ่มอิสระที่ไม่ขึ้นตรงต่อมหาวิทยาลัยซึ่งทำให้มีความอิสระและคล่องตัวในการเคลื่อนไหวทำกิจกรรมการเมือง ที่สำคัญคือนำแนวคิดการตลาด (Marketing) การทำ Branding กลุ่มกิจกรรมทางการเมืองให้ความสำคัญกับการวางแผนและเป้าหมายก่อนดำเนินกิจกรรมเพื่อให้การดำเนินกิจกรรมมีประสิทธิภาพสูงสุดและมีวิธีการระดมทุนโดยนำเอาวิธี Crowdfunding มาใช้หารายได้ โดยรายได้หลักของกลุ่มมาจากการขายเสื้อลายการเมืองซึ่งปฏิเสธการเขียนโครงการขอทุนจากองค์กรต่างๆเพื่อรักษาความเป็นอิสระในการเคลื่อนไหวของกลุ่ม[19] และมีต้องการสร้างพื้นที่ในสื่อเพื่อให้เป็นที่รับรู้ในวงกว้างมากขึ้นด้วย ทั้งสื่อกระแสหลักและโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook เป็นกลุ่มแรกๆที่ให้ความสนใจกับ Facebook อย่างจริงจังในฐานะเครื่องมือและช่องทางสื่อสารกิจกรรมและความคิดของกลุ่มซึ่งมีผลต่อการรับรู้ของคนอย่างกว้างขวางมาก[20]  มีการซื้อโฆษณาจาก Facebook เพื่อโปรโมทกิจกรรมต่างๆ มีการจัด charity party ใน theme การเมืองเพื่อระดมทุนทำกิจกรรมของกลุ่ม มีการทำ viral video[21]

นอกจากนี้กลุ่มยังให้ความสนใจกับ Pop Culture ในฐานะวัฒนธรรมร่วมสมัย LLTD ใช้ Pop Culture มาล้อเลียน เสียดสีในลักษณะที่เป็นแฟลชม็อบ (Flash Mob) และ แฮปเพนนิ่ง (Happening) ซึ่งทำงานอยู่ในพื้นที่ทางวัฒนธรรมมากกว่าบนท้องถนน  โดยกลุ่ม LLTD มีเป้ามหมายคือ สร้างการรับรู้ ตระหนักรู้ (Awareness) รวมถึงการวิพากษ์ในประเด็นทางสังคม การเมือง วัฒนธรรมออกสู่สาธารณะเพื่อจุดประกายให้ผู้คนสนใจและตั้งคำถาม ถกเถียงจนนำไปสู่การแก้ไขปัญหามากขึ้น  รณรงค์เพื่อสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ต่อสู้กับความอยุติธรรม ความเท่าเทียมและรัฐบาลเผด็จการเพื่อสร้างสังคมที่เป็นเสรีประชาธิปไตย เป้าหมายที่สำคัญคือพยายามต่อสู้ ตอบโต้ ช่วงชิง ท้าทาย สั่นคลอนวาทกรรมหลักซึ่งทรงอำนาจนำในสังคม (Hegemonic Discourse) นั่นคือ “ความเป็นไทย” [22] ในฐานะที่เป็นผลผลิตของ “ชีวะอำนาจ” (Biopower) ของรัฐไทยซึ่งเข้าไปกำกับ ควบคุม บงการ บริหารจัดการเรือนร่างและจิตใจของผู้คนซึ่งฝังรากลึกมาอย่างยาวนาน ให้อ่อนกำลัง เสื่อมความศักดิ์สิทธิ์จนวาทกรรมดังกล่าวไม่สามารถทำงานได้อย่างปกติ รวมถึงสร้างวาทกรรมใหม่เพื่อตอบโต้วาทกรรมหลัก (Counter-Hegemonic Discourse) และวัฒนธรรม คุณค่า ค่านิยมใหม่ๆ ซึ่งสอดคล้องกับคุณค่าและหลักการของเสรีประชาธิปไตย กลุ่ม LLTD ถือเป็นภาคปฏิบัติการจริงของการต่อสู้ ต่อต้านกับชีวะอำนาจที่แทรกซึม บริหารจัดการเรือนร่างและจิตใจของพลเมืองโดยไม่ใช้ความรุนแรง (Non-Violent Action) ที่เป็นรูปธรรม

 

FREE SOMYOT : ธรรมศาสตร์ตายแล้วและเสียดายสมยศไม่ได้มางานบอล

นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 2475 เป็นต้นมา กษัตริย์มีพระราชอำนาจจำกัด ไม่มีอำนาจอธิปไตย ไม่มีอำนาจควบคุมกองทัพ “พระองค์ทรงมีพระบารมีสูงทางวัฒนธรรมไทย แต่เดิมทว่ามิได้ทรงมีอำนาจอธิปไตยในทางการเมืองการปกครอง” จนกระทั่งหลัง 2490 อำนาจของสถาบันกษัตริย์เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องอันเป็นผลมาจากความวิริยะอุตสาหะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 ซึ่งพยายามสถาปนาพระราชอำนาจนำ (Royal Hegemony) ผ่านกลไกและสถาบันต่างๆของรัฐ[23] อันได้แก่ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  à เครือข่ายผู้จงรักภักดี à พระราชอำนาจนำ  à น้อมนำสังคมไทย ทำให้พระองค์ทรงประสบความสำเร็จอย่างที่สุดในทางการเมืองวัฒนธรรม คือก้าวจากจุดที่ไร้ซึ่งพระราชอำนาจนำ มาสู่การสถาปนาพระราชอำนาจนำ และ น้อมนำสังคมไทย พระราชดํารัสเป็นที่ยอมรับโดยดุษณีของพสกนิกรชาวไทย ทรงไว้ซึ่งสถานะอันสูงสุดเปรียบเสมือนเสาหลักของสังคมไทย เป็นที่รัก เคารพและเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งชาติ และพระองค์ทรงเป็นอัครปัญญาชนสาธารณะแห่งความเป็นไทยกระแสหลักอย่างแท้จริง[24]

เมื่อพระองค์ทรงประสบความสำเร็จอย่างที่สุดในทางการเมืองวัฒนธรรม ทรงไว้ซึ่งสถานะอันสูงสุดเปรียบเสมือนเสาหลักของสังคมไทย เป็นที่รัก เคารพและเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งชาติ ในแง่นี้ความเป็นไทยจึงรวมถึงการเคารพ ศักการะ และถวายความจงรักภักดีจากประชาชนคนไทย กล่าวคือ การเป็นคนไทยหรือมีความเป็นไทยที่สมบูรณ์นั้นคือการเป็นผู้จงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์อย่างสุดใจโดยไม่สงสัยหรือตั้งคำถาม อาจกล่าวได้ว่าสถาบันกษัตริย์ได้กลายเป็นใจกลาง เสาหลัก จุดสูงสุดของความเป็นไทย ในแง่นี้ความเป็นไทยจึงเป็นวาทกรรมซึ่งทรงอำนาจนำในสังคมไทย (Hegemonic Discourse) ซึ่งเป็นผลผลิตของชีวะอำนาจ(Biopower) และเป็นสิ่งประดิษฐ์ของการเมืองวัฒนธรรมที่ครอบงำ ปกคลุม เข้าจัดการบริหาร บงการเรือนร่างและจิตใจของประชาชนชาวไทยให้กลายเป็นร่างกายใต้บงการน้อมนำ สวมกอดความเป็นไทยเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและประกอบสร้างอัตลักษณ์ ตัวตนของความเป็นคนไทยขึ้นมาอย่างสมบูรณ์

สิ่งซึ่งเป็นคู่ตรงข้ามกับความเป็นไทยคือ ความไม่เป็นไทยซึ่งเป็นการละเมิดและขัดต่อความเป็นไทย ในที่นี้คือ การไม่จงรักภักดี ตั้งคำถาม สงสัย วิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์อันเป็นใจกลางและจุดสูงสุดของความเป็นไทย จนนำไปสู่มาตรการในการจัดการกับความไม่เป็นไทยเหล่านี้ ลดทอนความเป็นมนุษย์ (Dehumanization) ทำให้กลายเป็นปีศาจ (Demonization) และสร้างความเกลียดชังจนนำไปสู่การใช้ความรุนแรงทางตรง (Direct action) ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์สังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 6 ตุลา 2519 สงครามกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 เป็นต้น

หลังการสลายการชุมนุมเมื่อปี 53 และการปรากฎตัวของ “ผังล้มเจ้า” ทำให้คนเสื้อแดงอยู่ในฐานะเหยื่อ ปีศาจ และจำเลยของสังคมไทย คนเสื้อแดงถูกทำให้กลายเป็นภาพตัวแทน (Representation) ของความไม่เป็นไทย หรือ “พวกล้มเจ้า” ผู้ไม่จงรักภักดี กล่าวคือ  คนเสื้อแดง รวมถึงคนที่ตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ต่อสถาบันกษัตริย์ซึ่งมีสถานะเป็นเรื่องต้องห้าม (Taboo) ในสังคมไทย การกระทำเช่นนี้จึงเป็นการละเมิดและขัดต่อความเป็นไทยอย่างร้ายแรง เป็นภัยความมั่นคงต่อราชบัลลังก์ และยังเป็นการท้าทาย สั่นคลอน บั่นทอนสถานะอันสูงสุดของพระมหากษัตริย์ซึ่งเปรียบเสมือนเสาหลักของสังคมไทย เป็นที่รัก เคารพและเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งชาติซึ่งเรียกร้องให้ “คนไทย” ต้องเป็นผู้จงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์อย่างสุดใจโดยไม่สงสัยหรือตั้งคำถาม

 กฎหมายอาญามาตรา 112 ในฐานะกลไกและเครื่องมือของความเป็นไทยถูกใช้เพื่อปกป้อง พิทักษ์สถาบันกษัตริย์จากผู้ไม่จงรักภักดี (ความไม่เป็นไทย) ในขณะเดียวกันก็พยายามกลืนกินผู้คนซึ่งมีความเป็นไทยที่บกพร่องหรือมีความไม่เป็นไทยนั้นให้กลายมาเป็นผู้จงรักภักดีและมีความเป็นไทยที่สมบูรณ์ ซึ่งมาตรา 112 นี้ทำงานและสร้างบนความกลัวของผู้คนในสองลักษณะคือ 1) เพราะความกลัวอันเกิดจากบทลงโทษจากตัวกฎหมายซึ่งนำไปสู่การปิดกั้นตัวเอง (Censorship)  2) เพราะความกลัว(สูญเสีย)อันเกิดจากการละเมิดและขัดต่อสถาบันกษัตริย์ซึ่งเป็นใจกลางและจุดสูงสุงของความเป็นไทยของเหล่าผู้ไม่จงรักภักดีซึ่งนำไปสู่มาตรการในการจัดการของคนไทยต่อคนไท(ย) ผู้ไม่จงรักภักดีด้วยการสอดส่อง ตรวจตรา เฝ้าระวังการละเมิดและขัดต่อความเป็นไทย ทำให้กลายเป็นสังคมที่มืดมิด บอดใบ้ ไร้แสงสว่างเป็นสังคมแห่งความหวาดกลัวและการจ้องจับผิด ตรวจตรากันเองของคนไทย/ไท(ย)

ในแง่นี้การทำงานของมาตรา 112 จึงเป็นภาคปฏิบัติการของความเป็นไทยในฐานะวาทกรรมซึ่งทรงอำนาจนำ (Hegemonic Discourse) และเป็นผลผลิตของชีวะอำนาจ(Biopower) และความเป็นไทยรวมถึงมาตรา 112 ในฐานะกลไกและเครื่องมือของความเป็นไทยนี้จะถูกใช้ในย่ามที่เกิดวิกฤตศรัทธาหรือภัยคุกคามความมั่นคงต่อสถาบัน

คดีของสมยศ พฤกษาเกษมสุข บก.นิตยสาร Voice of Taksin ซึ่งถูกดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพฯ มาตรา 112 ได้จุดประกายและความสนใจในการออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องประเด็นมาตรา 112 โดยกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD) ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของคณะรณรงค์แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 112 (ครก.112) โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความรับรู้ ตระหนักรู้ในประเด็นมาตรา112 ให้กับประชาชน และแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ในช่วงนั้นการถกเถียง พูดคุยเกี่ยวกับมาตรา112 อันเป็นไปอย่างร้อนแรงและเป็นประเด็นใหญ่ของสังคม จนกระทั่งมีมติของกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (กบม.)ในวันที่ 30 มกราคม 2550 ห้ามกลุ่มนิติราษฎร์ใช้สถานที่ของมหาลัยจัดเสวนาทางวิชาการเกี่ยวกับมาตรา112  ในวันที่ 2 และ 5  กุมภาพันธ์ 2550 กลุ่ม LLTD จึงได้จัดกิจกรรม “ธรรมศาสตร์ตายแล้ว”[25]  มีการวางพวงหรีดที่รูปปั้นอาจารย์ป๋วยที่รังสิต และอาจารย์ปรีดีที่ท่าพระจันทร์และมีการส่องไฟใส่โดม เพื่อคัดค้านการห้ามรณรงค์แก้มาตรา112 และเสียดสีความมืดมิด บอดใบ้ทางวิชาการของธรรมศาสตร์ซึ่งไม่อาจเป็นสถานที่ซึ่งแสวงหาแสงสว่างทางปัญญาไม่ได้อีกต่อไป และเป็นการจำกัดเสรีภาพในมหาวิทยาลัยที่มีเสรีภาพทุกตารางนิ้วซึ่งเป็นการลดทอน ทำลานมาตราเสรีภาพของมหาวิทยาลัยให้ต่ำลงจากมาตราที่เป็นอยู่ ต่อมานาย ปณิธาน พฤกษาเกษมสุข (ไท) ลูกชายของสมยศ นักโทษการเมืองคดี มาตรา112 ได้อดอาหารประท้วงการไม่ให้สิทธิในการประกันตัวโดยอดอาหารเป็นเวลา 112 ชั่วโม งซึ่งทำให้คดีมาตรา 112 เป็นที่สนใจและอยู่ในการรับรู้ของประชาชนกระหลัก 


รูปกิจกรรม”ธรรมศาสตร์ตายแล้ว”และ อดอาหารประท้วง 112 ชั่วโมงของปณิธาน พฤกษาเกษมสุข

ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2556 กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีฯ (LLTD) ได้ร่วมกับกลุ่มประชาคมจุฬาเพื่อประชาชน (CCP) จัดกิจกรรม “เสียดายสมยศไม่ได้มางานบอล” ในงานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬา โดยใส่เสื้อดำ หน้ากากสมยศ พร้อมป้ายรณรงค์เกี่ยวกับ มาตรา112 เช่น “ยกเลิก ม.112 แล้วผมจะเล่าให้ฟัง”  “สมยศอยู่ไหน? ” “FREE 112 Political Prisoner”  และ “FREE SOMYOT” ฯลฯ เดินร่วมไปกับขบวน “ถนนนี้สีชมพู” ของจุฬาซึ่งเต็มไปด้วยนิสิตจุฬาที่ใส่เสื้อสีชมพูเพื่อร่วมงานบอล พร้อมปราศรัยรณรงค์เกี่ยว ม.112 นักโทษการเมืองและสมยศ จากนั้นทั้งสองกลุ่มได้ร่วมกันกางป้ายผ้าขนาดใหญ่บนอัฒจัรรย์ในสนามศุภชลาศัยโดยมีข้อความว่า “FREE SOMYOT” ต่อหน้าประรำพิธีซึ่งมีองคมนตรี ผู้บริหารมหาวิทยาลัยมาร่วมเปิดงานบอลฯ กลายเป็นที่จดจำและอยู่ในความสนใจของผู้คนจำนวนมากเกี่ยวมาตรา 112 นักโทษการเมืองและสมยศคือใคร ?

                      


รูปกิจกรรมเดินขบวน “เสียดายสมยศไม่ได้มางานบอล” ในถนนนี้สีชมพู


รูปกิจกรรมกางป้ายผ้า FREE SOMYOT

จะเห็นได้ว่าการรณรงค์ประท้วงต่อต้านประเด็นกฎหมายอาญามาตรา 112 ของกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีฯ ทั้งกิจกรรม “ธรรมศาสตร์ตายแล้ว” และ “เสียดายสมยศไม่ได้มางานบอล” เป็นกิจกรรมที่สร้างการตระหนักรู้และการรับรู้ (Awareness) ต่อปัญหาการใช้ ม.112 อย่างกว้างขวางซึ่งทำให้สังคมในระดับมหาวิทยาลัยและระดับชาติหันมาสนใจและถกเถียงประเด็นม.112 อย่างจริงจังมากขึ้นและยังชี้ให้เห็นปัญหาในตัวของ ม.112 เอง ในฐานะที่เป็นกลไกและเครื่องมือของความเป็นไทยที่ใช้อย่างพร่ำเพื่อปกป้อง พิทักษ์สถาบันกษัตริย์อันเป็นใจกลางและจุดสูงสุดของความเป็นไทยจากกลุ่มคนที่ถูกนิยามว่าเป็นคน “ล้มเจ้า” หรือผู้ไม่ความจงรักภักดี ตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ต่อสถาบันกษัตริย์ซึ่งกลายเป็น “ผู้ที่ละเมิดและขัดต่อความเป็นไทยอย่างร้ายแรง” รวมถึงยังเป็นได้เปิดพื้นที่สร้างแสงสว่างทางปัญญาด้วยการถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์ ตั้งคำถาม และสร้างการรับรู้ต่อความเป็นไทยในประเด็นดังกล่าวซึ่งเคยเป็นเรื่องต้องห้ามในสังคมให้มาตรฐานทางเสรีภาพในการพูด คิด แสดงออกสูงและเป็นไปได้มากขึ้นทั้งในระดับมหาวิทยาลัยและในระดับชาติ

นอกจากนี้ยังกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีฯ เสียดสีการปิดกั้นการเสวนาทางวิชาการในมหาวิทยาลัยซึ่งสะท้อนความมืดมิด บอดใบ้ทางวิชาการของธรรมศาสตร์ ที่ไม่อาจทำหน้าที่เป็นสถานที่ซึ่งแสวงหาแสงสว่างทางปัญญาอันเป็นการจำกัดและทำให้มาตรฐานทางเสรีภาพของธรรมศาสตรตกต่ำ ลดลงอย่างที่ควรจะเป็น หากพินิจพิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนจะเห็นได้ว่ากลุ่มธรรมศาสตร์เสรีฯ นั้นเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นธรรมศาสตร์ซึ่งมีอิทธิพลต่อการก่อตัวของกลุ่มกิจกรรมนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ในขณะเดียวกันกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีฯ ก็ใช้ความเป็นธรรมศาสตร์ที่มีอยู่นั้นต่อสู้ ช่วงชิง กำกับ ควบคุม เรียกร้อง ต่อต้านการใช้อำนาจโดยมิชอบของมหาวิทยาลัยที่ขัดหรือละเมิดต่อความเป็นธรรมศาสตร์นั้นเสียเอง รวมถึงทำให้มาตรฐานทางเสรีภาพในมหาวิทยาลัยลดลง ในแง่นี้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีฯต่างก็ฉวยใช้และผลิตซ้ำความเป็นธรรมศาสตร์นี้อยู่ตลอดเวลา

ในขณะเดียวกันประท้วง ต่อต้านของกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีฯ ในประเด็น ม.112 ก็เป็นการท้าทาย สั่นคลอน บั่นทอนพลังของความเป็นไทยอันเป็นวาทกรรมซึ่งทรงอำนาจนำในสังคมไทย (Hegemonic Discourse) ในฐานะที่เป็นผลผลิตของชีวะอำนาจ (Biopower)  ของรัฐไทย ทั้งยังเปิดโปง เผยตัวตนของความเป็นไทยที่เป็นวาทกรรมซึ่งทรงอำนาจนำและมีฐานเป็น “ความรุนแรงเชิงสัญลักษณ์” ที่ปกปิด ซ้อนเร้นความโหดร้าย เลือดเย็นไว้ภายใต้ความปกติสามัญ (Normalization) ให้อ่อนกำลังลงและไม่สามารถทำงานได้อย่างปกติ หนำซ้ำการใช้ ม.112 อย่างพร่ำเพื่อนั้นยังทำให้รัฐบาลไทยถูกกดดันจากองค์กรระหว่างประเทศ[26] และทำให้มาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนของไทยตกต่ำ

ดังนั้นการประท้วงต่อต้านของกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีฯ ที่นอกจากจะพยายามเปิดพื้นที่สร้างการรับรู้ การถกเถียง การตั้งคำถาม วิพากษ์ การขบถที่ท้าทาย สั่นคลอน บั่นทอนความเป็นไทย รวมถึงสถาปนาวาทกรรมตอบโต้ (Counter-Hegemonic Discourse) หรือสร้างวัฒนธรรมซึ่งสอดคล้องกับคุณค่าและหลักการของเสรีประชาธิปไตย ยังเป็นการพยายามสร้างสภาวะภาคปฏิบัติการปกครองของตัวเอง (Self Governed practice) ที่อัตบุคคล(Subject) สามารถต่อสู้ ต่อรอง ขบถ ไม่เชื่อฟัง ไม่ยอมรับ เลิกเชื่อต่อความเป็นไทยซึ่งมีปัญหาและขัดขวาง ฉุดรั้งคุณค่าและหลักการของเสรีประชาธิปไตยอันเป็นวาทกรรมซึ่งทรงอำนาจนำในสังคมไทยและเป็นผลผลิตของชีวะอำนาจที่ครอบงำ จัดการบริหารเรือนร่างและจิตใจของประชาชนด้วยการต่อสู้ ต่อรองกับความเป็นไทยอันเป็นการต่อต้านชีวะอำนาจโดยไม่ใช้ความรุนแรง (NonViolence Action) ที่ก้าวข้ามการต่อต้านโดยไม่ใช่ความรุนแรงแบบ Sharp ซึ่งมองอำนาจโดยมีฐานทางทฤษฎีจากความยินยอม (Consent) และอำนาจกระจุกตัวอยู่ที่องค์อธิปัตย์และผู้คน/สถาบันต่างๆที่ให้การสนับสนุนซึ่งละเลยอำนาจที่แทรกซึมเข้าไปจัดการบริหาร บงการเรือนร่างและจิตใจของพลเมือง

เชิงอรรถ

[1] นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รหัสนักศึกษา 5603680033

[2] จันจิรา สมบัติพูนศิริ,2556,ทบทวนวรรณกรรมปฏิบัติการไร้ความรุนแรง (nonviolent action) ในโลกตพวันตก : กระแสหลักการ ปฏิบัติ และทฤษฎี , รัฐศาสตร์สาร ปีที่ 34 ฉบับที่ 2,น.75-100

[3] Gene Sharp ,1973,The Politics of Non-Violent Action, Boston : Extending Horizons Books, Poter Sargent Publishes.p.28

[4] วีระ สมบูรณ์, 2553,รัฐ-ชาติ ชาติพันธุ์ : ข้อสังเกตบางประการว่าด้วยความเป็นชาติความเป็นรัฐและปัญหาชาติพันธุ์ ,กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สมมติ,น.1-118

[5] จันจิรา สมบัติพูนศิริ,2558,หัวร่อต่ออำนาจ อารมณ์ขันและการประท้วงด้วยสันติวิธี,กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน ,น.43-44

[6] Stellan Vinthagen,2006,Power as Subordination and Resistance as Disobedience :Non-Violent Movement and the Management of Power, Asian Journal of Social Science ,Vol.34,No.1,p.5-6 , https://www.jstor.org/stable/23654397 (สืบค้นเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2559)

[7] ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร,2556,ภาษากับการเมือง/ความเป็นการเมือง (Language and Politics/The Political),กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์วิภาษา,น.171-184 และ อานันท์ กาญจณพันธุ์,2555,คิดอย่างมิเชล ฟูโกต์คิดอย่างวิพากษ์ จากวาทกรรมของอัตบุคคลถึงจุดเปลี่ยนของอัตตา,เชียงใหม่ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ,น.72-78

[8] Stellan Vinthagen,2006,lbid,p.1-26 อ้างถึงใน จันจิรา สมบัติพูนศิริ,2556,เรื่องเดียวกัน

[9] เก่งกิจ กิติเรียงลาภและกาญจนานนท์ สันติสุข,2558,การเมืองชีวิต : ความสัมพันธ์ของการเมืองและชีวิตในงานของ Foucault,Agamben และ Deleuze ,Asean Annual Review อาเซียนปริทัศน์,น.84-90

[10] เรื่องเดียวกัน,น.90

[11] Mona Lilja and Stellan Vinthagen,2014, Sovereign power, disciplinary power and biopower: resisting what power with what resistance?, Journal of Political Power,Vol.7,No. 1,p.107-108

[12] Self Governed Practices นี่ไม่ได้มีนัยยะเหมือนกับการถูกจัดการบริหารเรือร่างโดยชีวะอำนาจ(Biopower)หรือการปกครองแบบชีวญาณ (Governmenltality) หากแต่เป็นอัตตา (Self) ที่ตระหนักรู้ถึงอำนาจ/วาทกรรมต่างๆที่ครอบงำเราอยู่และสามารถต่อสู้ ต่อรองเพื่อปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจกับวาทกรรมนั้นๆและเพื่อให้หลุดพ้นหรือไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้การครอบงำของอำนาจ/วาทกรรมนั้นอีกต่อไป

[13]lbid,p.120

[14] สัมภาษณ์ ปราบ เลาหะโรจนพันธ์ ,30 ธันวาคม พ.ศ.2559

[15] สัมภาษณ์ นาย รัฐพล ศุภโสภณ,30 ธันวาคม พ.ศ.2559

[16] ความเป็นธรรมศาสตร์ ได้แก่ ความทรงจำร่วม ประวัติศาสตร์มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้ของนักศึกษาและเป็นผลผลิตของการปฏิวัติ 2475 เช่น การทวงคืนมหาลัยจากจอมพล.ป ในปี 2494 การเรียกร้องยกเลิกบังคับใส่ชุดนักศึกษา เหตุการณ์ 14 และ 6 ตุลา การร่วมชุมนุมในปี 2534 ภายใต้การนำของสนนท.โดยมีอ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุลเป็น เลขาธิการ เป็นต้น มีความเป็นการเมือง และมีวาทกรรมต่างๆในมหาลัยซึ่งเอื้อต่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองของนักศึกษา เช่น ธรรมศาสตร์มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว ธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน ปลายทางที่เล่าเรียนคือรับใช้ประชาชน เป็นต้น  ดังนั้นผู้เขียนจึงคิดว่าความเป็นธรรมศาสตร์นั้นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดกลุ่มกิจกรรมการเมืองในธรรมศาสตร์ โดยนักศึกษาก็ฉวยใช้ความเป็นธรรมศาสตร์เป็นความชอบธรรมทางประเพณีในการเคลื่อนไหวการเมืองขณะเดียวกันนักศึกษาก็ต่อสู้ ต่อรอง ช่วงชิงความเป็นธรรมศาสตร์นี้เพื่อต่อต้านการละเมิดสิทธิเสรีภาพของนักศึกษาอันทำให้มาตรฐานเสรีภาพในมหาลัยลดลง รวมถึงการใช้อำนาจโดยมิชอบของผู้บริหารมหาลัยซึ่งอาจขัดแย้ง ขัดขวาง ฉุดรั้งคุณค่าและหลักการของเสรีประชาธิปไตย

[17] สัมภาษณ์ ปราบ เลาหะโรจนพันธ์ ,30 ธันวาคม พ.ศ.2559

[18] กลุ่ม LLTD มีจุดร่วมกันคือ เห็นว่าเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การแสดงออกทางการเมืองเป็นสิ่งสำคัญและให้ความสำคัญกับสิทธิ เสรีภาพของปัจเจกซึ่งวางอยู่เป็นแนวคิดเสรีนิยม (Liberalism) โปรดดูคำประกาศก่อตั้งกลุ่มในเพจ กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย https://www.facebook.com/LLTD.TU/

[19] สัมภาษณ์ ปราบ เลาหะโรจนพันธ์ ,30 ธันวาคม พ.ศ.2559

[20] สัมภาษณ์ นาย รัฐพล ศุภโสภณ,30 ธันวาคม พ.ศ.2559

[21] สัมภาษณ์ ปราบ เลาหะโรจนพันธ์ ,30 ธันวาคม พ.ศ.2559

[22] ความเป็นไทยคือ ประดิษฐ์กรรมทางการเมืองวัฒนธรรม  (cultural political construct) เชื้อมูลที่ประกอบสร้างเอกลักษณ์ความเป็นคนไทย โดยมีนัยยะถึงอัตลักษณ์ที่บ่งบอกสถานะ ตัวตนของพลเมืองที่อยู่ในประเทศไทย ในรายงานวิจัยชิ้นนี้สนใจในแง่ที่เป็นวัฒนธรรม คุณค่า ค่านิยม จารีต ประเพณี พิธีกรรมที่ก่อร่างอัตลักษณ์ ตัวตน หรือ อัตตา (Self) ของคนไทยซึ่งความเป็นไทยนี้ขัดแย้ง ขัดขวาง ฉุดรั้งและเป็นปฏิปักษ์ต่อการสถาปนาระบอบเสรีประชาธิปไตย

[23] โปรดดู ชนิดา ชิตบัณฑิตย์,2550,โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ : การสถาปนาพระราชอำนาจนำ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว,กรุเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์

[24]  เกษียร เตชะพีระ,2548,บทวิจารณ์การสร้าง “ความเป็นไทย” กระแสหลักฯ,ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 3 (ฉบับที่ 4)

[25] โปรดดู MGR Online,กลุ่ม มธ.เสรีฯ วางหรีดถูกปิดกั้นแก้ ม.112 นัดป่วน 5 ก.พ.อีก,ผู้จัดการ Manager, http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9550000015297 สืบค้นเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2559 และ อัษนัย ปัญญามัง,มธ.รังสิตวางพวงหรีดค้านห้ามชุมนุม, voicetv , http://news.voicetv.co.th/thailand/29744.html  สืบค้นเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2559

[26] โปรดดูเพิ่มเติมใน วรางคณาง อุ๊ยนอก, 2013,แอมเนสตี้เปิดรายงานประจำปี ชี้ ม.112 ติดปัญหาสิทธิไทย 5 อันดับแรก,ประชาไท, http://prachatai.com/journal/2013/05/46878 สืบค้นเมื่อ 1 มกราคม 2560 และ  แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล,2013,รายงานประจำปี 2556 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก,amnesty,https://www.amnesty.org/download/Documents/16000/pol100012013th.pdf สืบค้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2560

หมายเหตุ: กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD) :การต่อต้านขัดขืนอำนาจและการครอบงำโดยไม่ใช้ความรุนแรง (NonViolence Action) 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท