Skip to main content
sharethis

นักวิชาการด้านยุทธศาสตร์มองปรากฏการณ์รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ กับประเด็นทะเลจีนใต้ ที่ชวนให้สงสัยว่าเหตุใดรัฐบาลใหม่ของสหรัฐฯ ถึงมีท่าทีแข็งกร้าวต่อประเด็นนี้มากขึ้น โดยมีการวิเคราะห์จากพฤติกรรมการใช้ทวิตเตอร์ของทรัมป์ และท่าทีของผู้นำจีนต่อกรณีพื้นที่ทางทะเลที่ในแง่หนึ่งอาจจะกลายเป็นเครื่องมือต่อรองแต่ในอีกแง่หนึ่งกลายเป็นสิ่งที่รัฐบาลสหรัฐฯ จะใช้จี้จุดพวกเขาก็ได้

31 ม.ค. 2560 หลังจากที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์สาบานตนเข้ารับตำแหน่ง สถานการณ์เรื่องข้อพิพาททะเลจีนใต้ก็ดูจะมีความตึงเครียดมากขึ้น เมื่อทางการสาธารณรัฐประชาชนจีนเริ่มวางกำลังทหารไว้ที่แถบหมู่เกาะสแปรตลี ซึ่งเป็นพื้นที่หนึ่งในข้อพิพาททางทะเลระหว่างจีนกับหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อเรื่องนี้เป็นที่รับรู้ของสาธารณะแล้ว มาร์ตี นาตาเลกาวา อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของอินโดนีเซียก็เตือนว่าข้อพิพาทนี้อาจจะทำให้ประชาคมอาเซียนแตกแยก นอกจากนี้อีกไม่กี่วันถัดมายังมีกรณีที่จีน "ขโมย" (พวกเขาอ้างว่า "ค้นพบ") เรือใต้น้ำไร้คนขับ (UUV) ของสหรัฐฯ ห่างจากเขตน่านน้ำสหรัฐฯ ราว 450 เมตร ในขณะที่เรือกำลังแล่นออกจากชายฝั่งฟิลิปปินส์ ซึ่งอยู่ภายนอกเส้นประที่จีนใช้อ้างอาณาเขตของตัวเอง

ปีเตอร์ เลย์ตัน นักวิชาการแลกเปลี่ยนที่สถาบันกริฟฟิธเอเชีย มหาวิทยาลัยกริฟฟิธ ผู้ศึกษาเรื่องยุทธศาสตร์เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ในวารสารอิสต์เอเชียฟอรัมระบุว่าเหตุการณ์ยึดเรือของสหรัฐฯ นั้นเป็นการกระทำที่เมินเฉยต่อข้อตกลงระหว่างสหรัฐฯ-จีน ที่ตั้งขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งทางทะเล นอกจากนี้ยังกระตุ้นให้เกิดการตอบโต้ทางวาจาจากผู้นำสหรัฐฯ ทางทวิตเตอร์เป็นครั้งแรกในประเด็นเรื่องทะเลจีนใต้ ซึ่งข้อความจากทวิตเตอร์ของทรัมป์ถูกมองว่าสหรัฐฯ มีท่าทีแข็งกร้าวมากขึ้นต่อกรณีข้อพิพาททะเลจีนใต้ ขณะที่ก่อนหน้านี้ฝ่ายจีนมีท่าทีรุกล้ำมาก่อนหลังจากที่สีจิ้นผิงขึ้นเป็นประธานาธิบดี

เลย์ตัน วิเคราะห์ว่าทรัมป์พยายามจะเน้นความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-จีน ไปในทางด้าน "การทำข้อตกลงด้วย" เพราะต้องการได้ประโยชน์ในระยะสั้นต่อตัวเองเท่านั้น วิธีการเช่นนี้อาจจะดึงดูดชาวจีนบางคนได้ในฐานะที่พวกเขามองทรัมป์ว่าเป็น "นักธุรกิจผู้เอาผลประโยชน์ทางการค้ามาก่อนทุกสิ่งทุกอย่าง" เรื่องนี้อาจจะเปรียบเทียบได้กับช่วงที่จีนใช้หมู่เกาะเซนกากุ/เตียวหยู ที่มีข้อพิพาทกับญี่ปุ่นเป็นเครื่องมือต่อรองกับญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามการต่อรองกับญี่ปุ่นนี้กระทำอยู่ภายใต้กรอบทางการทูต ขณะที่เลย์ตันมองว่าวิธีการของทรัมป์ต่างออกไปใน 5 เหตุผลดังนี้

เหตุผลแรกคือ ทรัมป์ไม่ได้เปิดเผยเจตนาที่แท้จริงของตัวเองให้เห็นขัดๆ เขาใช้วิธีการระบุผ่านทวิตเตอร์ในเชิงที่ทำให้คนตีความไปได้หลายแบบ ซึ่งเป็นยุทธวิธีเดียวกับที่ทางการจีนใช้กับท่าทีต่อประเด็นทะเลจีนใต้ การยึดเรือไร้คนบังคับ UUV นั้นก็ดูเหมือนว่าเป็นการที่สีจิ้นผิงโต้ตอบสิ่งที่เขาจินตนาการเองว่าทรัมป์ต้องการอะไรซึ่งอาจจะไม่ตรงกับเจตนาที่แท้จริงของทรัมป์ก็ได้

เหตุผลที่สองคือ ทรัมป์ทวีตสิ่งต่างๆ ออกมาเร็วกว่าระบบการตัดสินใจของพรรครัฐบาลจีน และทวีตออกมาในหลายประเด็นจนทำให้ระบบของจีนที่มีลักษณะรวมศูนย์การตัดสินใจตามไม่ทัน ทำให้รูปการณ์ออกมาดูเหมือนว่าทรัมป์กำลังนำไปล่วงหน้าในแง่นี้ เรื่องนี้อาจจะสร้างความประหลาดใจให้ชาวจีนแผ่นดินใหญ่เองที่คุ้นเคยกับการที่ทางการจีนเป็นฝ่ายกำหนดวาระเองเกี่ยวกับประเด็นทะเลจีนใต้

ข่ายเหอ นักวิจัยด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและความมั่นคงเคยประเมินว่าผู้นำจีนอาจจะยอมเสี่ยงในประเด็นนี้ถ้าหากพวกเขารู้สึกว่าชาวจีนในประเทศกำลังสูญเสียความเคารพนับถือพวกเขาซึ่งการตัดสินใจนี้อาจจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเมืองเอง เลย์ตันระบุว่าในกรณีข้อความทวิตเตอร์ของทรัมป์นั้น เหล่าผู้นำจีนอาจจะตีความแบบยกระดับสถานการณ์ไปเองเวลาที่พวกเขารู้สึกสับสนหรือกังวลและอาจจะตัดสินใจได้ไม่ดีในเรื่องนี้เมื่อรู้สึกกดดันจากการทวีตถี่ๆ ของทรัมป์

เหตุผลที่สามคือ สำหรับทั้งทรัมป์และสีจิ้นผิงต่างก็ให้ความสำคัญกับประเด็นภายในประเทศมากกว่าทั้งคู่ อย่างการสร้างงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจเพื่อที่พวกเขาจะรักษาฐานอำนาจในประเทศเอาไว้ ทั้งคู่ยังเหมือนกันตรงที่อาศัยหาประโยชน์จากอารมณ์ความรู้สึกแบบชาตินิยมอย่างไม่บันยะบันยังถ้ามีโอกาส ดังนั้นประเด็นความขัดแย้งทะเลจีนใต้จึงมีโอกาสถูกนำมาโยงกับประเด็นภายในประเทศ

เลย์ตันระบุว่าสำหรับสีจิ้นผิงแล้วพื้นที่ทะเลจีนใต้มีความสำคัญต่อ "ความฝันแบบจีน" ของเขาแต่มีความสำคัญน้อยกว่าสำหรับสหรัฐฯ อาจจะมีความเป็นไปได้ที่ทรัมป์จะยอมแลกเป้าหมายภายในประเทศของประชาชนอเมริกันส่วนใหญ่หรือมองว่าเขตทะเลจีนใต้นี้เป็นเรื่องอ่อนไหวเป็นพิเศษสำหรับจีนจนพยายามจะใช้มันเพื่อกดดันหาผลประโยชน์จากเรื่องอื่น

เหตุผลที่สี่คือ กรณีการเล่นการเมืองกับประเด็นทะเลจีนใต้นี้จะเป็นที่สนใจของสาธารณชนซึ่งต่างจากในอดีต เพราะตอนนี้สื่อต่างก็ตามทวิตเตอร์ของทรัมป์ พวกสื่อใหญ่ก็พากันตีความไปว่าทรัมป์กำลังพูดถึงเรื่องอะไร ตัวทรัมป์เองก็พยายามเล่นบทผู้นำเข้มแข็งที่ให้ "อเมริกามาก่อน" ใช้วิธีแบบเด็กชอบรังแกคนในการพยายามบงการสภาคองเกรสที่ตัดสินใจช้าในขณะที่ทำให้มีภาพลักษณ์เหมือนพยายามเรียกร้องความสนใจจากสาธารณชนอยู่ตลอดเวลา

เลย์ตันระบุว่าในการนี้เองทำให้ทรัมป์รู้สึกไม่สบายใจที่โดนเปิดโปงเรื่องกระบวนการตัดสินใจที่ไม่มีโครงสร้างระบบอะไรเลย ปล่อยให้รัฐมนตรีระดับใหญ่ๆ ที่มีอำนาจทำตามใจชอบและโต้แย้งประเด็นต่างๆ ตามใจตัวเอง ขณะที่สีจิ้นผิงจะใช้วิธีเดียวกันได้ยาก ประชาชนในสหรัฐฯ และอาจจะรวมถึงส่วนใหญ่ในโลกจะมองว่าจีนดูเป็นประเทศปิด ไม่โปร่งใส เข้าถึงไม่ได้ และถูกทิ้งให้ตามไม่ทันในทุกเรื่อง ขณะที่การตัดสินใจด่วนๆ ของทรัมป์จะถูกนำเสนอต่อชาวโลกเสมอรวมถึงการตัดสินใจที่ผิดพลาดด้วย

เหตุผลสุดท้ายคือ ยุทธวิธีของทรัมป์จะไม่เพียงแค่ส่งผลถึงจีนแต่ยังส่งผลถึงพันธมิตรของสหรัฐฯ ด้วย รวมถึงในพื้นที่ของทวิตเตอร์ ดังนั้นจึงต้องมีการคิดประเมินและเตรียมพร้อมล่วงหน้า และอาจจะต้องฟื้นฟูวิธีคิดแบบการมองอนาคตเผื่อไว้หลายแนวทาง กลยุทธ์หลักขององค์การ (Grand Strategy) และการจัดการความเสี่ยง (risk management) มาใช้อีกครั้ง เพราะความมาเร็ว-ไปเร็ว ในการแสดงออกของทรัมป์ ทำให้เลย์ตันระบุว่า "การจัดการกับช่วงทรัมป์เป็นประธานาธิบดีอย่างดีสุดน่าจะมองว่าเป็นการดำเนินงานปฏิบัติการภายใต้สภาพที่ต้องบริหารจัดการวิกฤตอยู่ตลอดเวลา"

 

เรียบเรียงจาก

Trump’s Twitter diplomacy troubles US–China relations, East Asia Forum, 26-01-2017
http://www.eastasiaforum.org/2017/01/26/trumps-twitter-diplomacy-troubles-us-china-relations/

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net