Skip to main content
sharethis

 


วันที่ 17 มกราคม ที่ผ่านมา รัฐบาลทหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ใช้คำสั่งตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว จัดตั้งคณะกรรมการที่มีชื่อเป็นทางการว่า “คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง หรือ “ป.ย.ป” โดยมีกรรมการย่อย 4 ชุด คือ 1. คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ 2. คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ 3. คณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง และ 4. คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ โดยอ้างเป้าหมายที่จะดำเนินนโยบายให้เป็นไปตามกรอบยุทธศาสตร์ และสร้างการปรองดองแห่งชาติให้เสร็จภายใน 1 ปี

รายงานข่าวอ้างแจ้งว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ความสำคัญและคาดหวังกับการทำงานของคณะกรรมการระดับชาตินี้มากเป็นพิเศษ โดยเปรียบเทียบการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้ว่าเสมือนกล่องควบคุมทำงานของเครื่องยนต์ และจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ประเทศในทุกด้าน แต่ที่เป็นที่สนใจมากที่สุด คือ ยุทธศาสตร์ด้านการปรองดอง โดย ในวันที่ 12 มกราคม พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ ผู้รับผิดชอบด้านงานปรองดอง ได้ชี้แจงรายละเอียดในขั้นต้นว่า จะต้องเชิญผู้แทนหรือหัวหน้าพรรคการเมืองเข้ามาพูดคุย เพื่อจะทำให้ได้ข้อยุติให้มากที่สุดว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติต้องทำอย่างไร และเรื่องราวในอดีตต้องว่าอย่างไร แนวทางเรื่องการนิรโทษกรรมยังไม่ได้มีการพิจารณา เพราะเรื่องที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมก็ว่าไปตามกฎหมาย แต่ก็จะเชิญทั้งกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) และ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) มาหารือด้วย พล.อ.ประวิตรได้เสนอกกรอบเวลาว่า “เรื่องปรองดองต้องทำให้เสร็จก่อนเลือกตั้ง”

ปรากฏว่า ยุทธศาสตร์ด้านการปรองดองนี้ ได้รับการตอบรับจากฝ่ายพรรคเพื่อไทย และ นปช.ในลักษณะที่เห็นด้วย แต่ยังไม่ได้มีการแสดงท่าทีที่จะเข้าร่วมในกระบวนนี้อย่างชัดเจน หากแต่เป็นฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ และ กปปส. ที่แสดงท่าทีในทางไม่แน่ใจ แต่คณะกรรมการก็เริ่มเดินหน้า จากการแถลงของ นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ เป็นประธานอนุกรรมการด้านการปรองดอง ได้นำเสนอว่า การปรองดองจะใช้นโยบายและมาตรการสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ คือ นโยบาย 66/23 เป็นแนวทาง เพราะเห็นว่า รัฐบาลไม่ได้เป็นคู่ความการขัดแย้งแต่จะเป็นคนกลาง และปัญหาเกิดจากความขัดแย้งของประชาชนด้วยกันเอง ซึ่งแนวคิดนี้ ก็ตรงกับคำแถลงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่กล่าวถึงการปรองดองแห่งชาติว่า “คสช. รัฐบาล รวมทั้งตัวผมไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งของใคร อย่าไปเข้าใจผิด รัฐบาลต้องเป็นกลาง ผมรับฟังความเห็นของทุกภาคส่วน รัฐบาลชุดนี้เข้ามาไม่ได้ทำให้เกิดความขัดแย้ง แต่เข้ามาเพื่อยุติความขัดแย้ง”

ความจริงแล้ว ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ความพยายามในการสร้างความปรองดองไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่เป็นความพยายามตลอดมาตั้งแต่สมัย รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เมื่อ พ.ศ.2550 ซึ่งใช้แนวทางว่า การจัดการให้มีรัฐธรรมนูญใหม่ และการเลือกตั้งใหม่ ก็จะเป็นแนวทางสร้างความปรองดองตามระบอบประชาธิปไตย ต่อมา สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หลังจากการปราบปรามครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ.2553 ก็ได้พยายามสร้างความปรองดอง โดยการตั้งคณะกรรมการหลายชุดมาดำเนินงานเช่นกัน และแม้แต่ในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มีการเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมทั้งหมด(เหมาเข่ง) ก็ด้วยข้ออ้างที่จะสร้างความปรองดองขึ้นภายในชาติด้วยการเริ่มต้นใหม่ แต่ก็จะเห็นได้ว่า ความพยายามหลายครั้งนั้น ไม่ประสบความสำเร็จ และในบางกรณีก็กลับยิ่งเป็นการขยายความขัดแย้งให้เป็นปฏิปักษ์กันมากขึ้น ต่อมา การรัฐประหารโดยคณะ คสช. ก็อ้างเหตุผลว่า จะเข้ามาจัดการความขัดแย้งให้เกิดการปรองดอง และการใข้อำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จในระยะ 2 ปีที่ผ่านมานี้ ส่วนหนึ่งก็คือความพยายามในการอำนาจทหารมาควบคุมความขัดแย้งทางการเมืองนั่นเอง

ดังนั้น การเสนอยุทธศาสตร์การปรองดองของฝ่ายรัฐบาลทหารในครั้งนี้ จึงไม่ได้รับการคาดหมายว่าจะประสบความสำเร็จยิ่งไปกว่าครั้งที่ผ่านมา ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะการแสดงท่าทีที่เห็นได้ว่า ฝ่าย คสช.นั้นไม่ได้มีความเข้าใจรากฐานความขัดแย้งในสังคมไทยอย่างแท้จริง และยังไม่เข้าใจในทางวิธีการที่จะนำไปสู่การแก้ไขความขัดแย้ง และคงจะต้องย้ำว่า การรัฐประหารของฝ่ายทหารนั่นเองเป็นตัวการสำคัญในการทำลายกระบวนการปรองดองที่ผ่านมา และทำให้กองทัพกลายเป็นส่วนสำคัญในความขัดแย้งที่ผ่านมาด้วย

ความเข้าใจที่ว่า ปัญหาทางการเมืองไทยในระยะ 10 ปีที่ผ่านมาเป็นปัญหาที่เกิดจากเรื่องของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หรือเป็นความขัดแย้งระหว่างฝ่ายเสื้อเหลืองเสื้อแดง หรือ กปปส.กับ นปช. แม้ว่าจะมีส่วนถูกแต่ก็ยังมีลักษณะผิวเผิน เพราะความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาเชิงซ้อน และมีรากฐานมาจากปัจจัยอันไม่เป็นประชาธิปไตยในสังคมไทย โดยเฉพาะมาจากการที่ชนชั้นนำไทยไม่เคยรู้จักการเคารพกติกา และใช้วิธีการนอกกติกามาแก้วปัญหาทางการเมือง

ความจริงแล้ว ความขัดแย้งทางการเมืองในทุกสังคม ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา ไม่มีสังคมใดที่ปราศจากความขัดแย้งทางการเมือง แต่ในประเทศที่มีระบบการเมืองอันก้าวหน้า เขาใช้วิธีการประชาธิปไตยในการแก้ไขความขัดแย้ง โดยการให้ประชาชนตัดสินด้วยเสียงข้างมากในกรอบเวลาที่ชัดเจน ในประเทศเหล่านั้น เขาจึงคงไว้ซึ่งลักษณะของกลุ่มประชาชนที่แตกต่างกัน และจะไม่มีการเรียกร้องให้ทุกคนมาคิดเหมือนกัน หรือรักกันโดยข้ามความแตกต่าง

แต่ในสังคมไทย เมื่อเกิดความขัดแย้งทางการเมือง แทนที่จะแก้ด้วยกระบวนการประชาธิปไตยหรือระบบรัฐสภา ชนชั้นนำไทยก็ผลักดันให้กองทัพทำรัฐประหาร ล้มกระบวนการทั้งหมด ใช้อำนาจกวาดล้างจับกุมกวาดล้างประชาชนที่มีความคิดต่าง แล้วกลับจะมาเรียกร้องให้ทุกฝ่ายปรองดองและยอมรับกระบวนการที่ฝ่ายทหารกำหนด ให้นักการเมืองรักกัน สามัคคีกัน ให้ประชาชนหลายฝ่ายไม่ขัดแย้งกัน ปรองดองกัน กระบวนเหล่านี้จึงกลายเป็นเรื่องตลก และไม่อาจเป็นจริงไปได้เลย

อันที่จริงแล้ว กระบวนการปรองดองที่ดีที่สุดที่สรุปบทเรียนมาแล้วทั่วโลก ก็คือ การฟื้นคืนประชาธิปไตย คืนอำนาจให้ประชาชนในการตัดสินอนาคตของตัวเอง กองทัพกลับกรมกองไปทำหน้าที่ป้องกันประเทศ และเลิกแทรกแซงทางการเมือง จะเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการปรองดองที่ดีที่สุด และยังเป็นการใช้วิธีการอันเป็นอารยะ โน้มไปทางสันติวิธีที่สุด

และการฟื้นฟูประชาธิปไตยจะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการปฏิรูปทางการเมืองที่แท้จริง ไม่ใช่การปฏิรูปแบบลวงที่ปราศจากความหมาย และจะเป็นจุดเริ่มต้นที่สังคมไทยแก้ปัญหาของตนเองตามระบบ ไม่ต้องใช้อำนาจนอกระบบกันต่อไปอีก นี่คือกระบวนการปรองดองที่เป็นจริง




หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน โลกวันนี้วันสุข ฉบับ 601 วันที่ 29 มกราคม 2560
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net