Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2560 เวลา 9.00 น. ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการแถลงข่าวเกี่ยวกับ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ โดยภาคีเครือข่ายสุขภาพ 13 องค์กรได้ร่วมกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม เรียกร้องให้กระทรวงการคลัง กรมบัญชีกลางออกกฎกระทรวงเพื่ออุดช่องโหว่ที่เกิดจากพ.ร.บ.นี้ ทั้งนี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ได้ผ่านความเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.... ไปแล้วเมื่อไม่นานนี้ และภาคีเครือข่ายสุขภาพ 13 องค์กรเคยท้วงติงว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ได้มีมาตรการคุ้มครองอุตสาหกรรมภายในประเทศ ธุรกิจชุมชน ธุรกิจขนาดเล็กอย่างเพียงพอ อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ สังคม รวมทั้งด้านยาและสุขภาพของประเทศไทยได้

รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการข้อเสนอผลกระทบจากการเจรจา Thai-EU FTA ที่มีผลต่อการจัดหายาในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจัดทำโดยแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา ตั้งข้อสังเกตประเด็นข้อสังเกตที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างที่พึงพิจารณา 5 ประการดังนี้

1. โครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของต่างประเทศที่ต้องเปิดให้ผู้ประกอบการของประเทศคู่ภาคีสามารถเข้าร่วมประมูลต้องเป็นโครงการที่มีมูลค่าสูงแต่ของไทยไม่จำกัดวงเงิน หมายความว่าต่างประเทศเข้ามาร่วมประมูลในประเทศไทยได้ง่าย แต่ไทยไปร่วมประมูลโครงการในต่างประเทศยาก

2. สิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการจัดซื้อจัดจ้างไม่ใช่แค่เรื่องราคาเท่านั้น แต่มีเรื่องคุณภาพเข้ามาเกี่ยวข้อง ยิ่งหากกำหนดคุณภาพหรือเทคนิคของพัสดุตามประเทศที่มีมาตรฐานการผลิตที่สูงมาก หรือมีเทคโนโลยีการผลิตที่สูงมากก็จะกลายเป็นอุปสรรคต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศเสียเอง เนื่องจากไม่สามารถจำหน่ายได้หรือหากจะทำให้มีคุณภาพที่เทียบเท่าจะต้องลงทุนที่สูงกว่า

3. ยังมีปัญหาด้านการจัดเก็บข้อมูลสถิติด้านการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของประเทศไทยให้มีมาตรฐานเดียวทั่วประเทศ และครอบคลุมการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานราชการทั้งส่วนกลาง ส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ และองค์กรอิสระ เพื่อใช้ประโยชน์ในการกำหนดนโยบายที่เหมาะสม

4. ยังไม่มีระบบการติดตามตรวจสอบ (monitoring) ผลการปฏิบัติงานด้านการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐว่าได้ดำเนินการในขั้นตอนต่างๆ ตามกฎระเบียบหรือไม่อย่างไรเช่น ไม่มีกลไกในการติดตามการประกาศข่าวประกวดราคา และการเปิดเผยผลการประกวดราคา

5. หน่วยงานรัฐจำนวนมากโดยเฉพาะในระดับท้องถิ่นยังไม่มีความพร้อมด้านบุคลากรที่รับผิดชอบด้านการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งจำเป็นต้องมีการยกระดับบุคลากรให้มีความรู้ด้านวิชาชีพ มีข้อบังคับด้านจริยธรรม (code of conduct) และมีการพัฒนาเส้นทางอาชีพ (career path) นอกจากนี้ หน่วยงานจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐขนาดเล็ก ยังขาดความสามารถในการตรวจสอบภายในองค์กร (internal audit) ที่มีประสิทธิภาพ

นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล จากมูลนิธิเข้าถึงเอดส์กล่าวว่า พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างฉบับนี้ที่ไม่ได้เห็นหัวประชาชนอย่างจริงจังนำมาสู่การทำให้ ระบบประกันความมั่นคงทางยาอ่อนแอและอาจจะไม่ได้มีโอกาสพึ่งพิงตัวเองอีกเลยในอนาคต เราในฐานะที่เป็นผู้บริโภค ผู้ป่วยเรื้อรัง HIV ไตวาย หัวใจ หรือเบาหวาน ต่างก็ต้องพึ่งพิง ยาจากองค์การเภสัช เราจึงคิดว่าองค์การเภสัชกรรมมีบทบาทสำคัญต่อความมั่นคงทางยาในประเทศนี้ แต่พ.ร.บ. การจัดซื้อฯ จะสั่นคลอนระบบสุขภาพของประเทศทั้งระบบ และเอื้อประโยชน์บรรษัทยาต่างชาติมากกว่าอุตสาหกรรมยาในประเทศ ระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศอาจเผชิญวิกฤตเรื่องการจัดหาซื้อยาและเวชภัณฑ์ได้ กระทรวงสาธารณสุขจึงควรผลักดันให้กระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงยกเว้นเรื่องยาและเวชภัณฑ์จาก พ.ร.บ. ฉบับนี้ เหมือนที่ยกเว้นเรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์ ควรให้หน่วยงานรัฐ ผู้จัดซื้อแทนหน่วยงานรัฐและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพสามารถใช้ข้อยกเว้นได้ และไม่ควรมีข้อจำกัดหรือเงื่อนไขใดๆ ที่หน่วยงานเหล่านั้นจะใช้ข้อยกเว้น เช่นในกรณีวิกฤตหรือฉุกเฉินเท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อ ผดุงไว้ซึ่งความมั่นคงทางยาและระบบสาธารณสุขของประเทศ”

ทางด้านนายอภิวัฒน์ กวางแก้ว รองประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าวว่า หากไม่มีการออกกฎกระทรวงยกเว้น จะทำให้ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐนี้ทำลายหลักประกันความมั่นคงทางยา ทำลายองค์กรเภสัชกรรม ทั้งเรื่องราคา อำนาจในการต่อรองราคายาในอนาคต รวมถึงการบิดเบือนราคาเมื่ออุตสาหกรรมยาต่างประเทศครอบครองตลาดได้ทั้งหมด ขณะนี้ครอบครองได้มากถึง 70% แล้วขณะที่ผู้ผลิตในประเทศมีสัดส่วนแค่ 30% เท่านั้น ทำให้อนาคตการเข้าถึงยาของผู้ป่วยเรื้อรังย่อมได้รับผลกระทบ อาจถูกบังคับให้ร่วมจ่าย และทำลายระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในที่สุด

ภญ.ศิริพร จิตรประสิทธิศิริ ชมรมเภสัชชนบทกล่าวว่า จากประสบการเกี่ยวกับเรื่องของการจัดซื้อยามากว่า 20 ปี เห็นว่าความมั่นคงของยาในประเทศไทยเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญและให้ความใส่ใจขณะที่ประเทศไทยยังไม่สามารถพึ่งตัวเองได้ในด้านยา หากเกิดภาวะอะไรก็ตามที่ประเทศไทยต้องถูกปิดประเทศเมื่อนั้นคนไทยจะต้องลำบากมาก ข้อเสนอของภาคีเครือข่ายสุขภาพ 13 องค์กร ประกอบไปด้วย การเพิ่มข้อยกเว้นที่ไม่ใช่บังคับตาม พ.ร.บ. อาทิ การดำเนินการจัดหาในสถานการณ์ภัยพิบัติ ภาวะฉุกเฉิน ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ สังคม สาธารณสุขของชาติ, การดำเนินการจัดหาที่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท เพื่อปกป้องธุรกิจชุมชน ธุรกิจขนาดเล็ก, การดำเนินการจัดหายา เวชภัณฑ์ และเครื่องมือแพทย์จากหน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจ, การดำเนินการจัดหาสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ของคนไทยเพื่อพัฒนาสินค้าไทย และส่งเสริมอุตสาหกรรมในประเทศ การเพิ่มเนื้อหาการจัดซื้อยาที่เคยมีตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยา และการเพิ่มการต่อรองราคาเพื่อประโยชน์ในกรณีดังต่อไปนี้ คือ (1) ราคาที่เสนอสูงกว่าราคากลาง (2) ราคาที่เสนอสูงกว่างบประมาณที่จัดซื้อจัดจ้าง (3) ราคาที่เสนอมีมูลค่าเกินกว่าราคาที่จัดซื้อได้ในตลาดหรือในท้องถิ่น

นางปราณี มั่นคง สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรมกล่าวว่า เราคิดว่าไม่ใช่แค่เภสัชกรรมเท่านั้นที่จะอยู่ไม่ได้ รัฐวิสาหกิจอื่นก็อยู่ไม่ได้ ซึ่งมีอยู่กว่า 40 กว่าแห่งด้วยกัน หนังสือฉบับแรกไปถึงกลมบัญชีกลางซึ่งเป็นเรื่องที่หลายๆท่านพูดเลยว่าการเสนอร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้อาจจะมีการร้องขอจากนักลงทุนในเรื่องของประโยชน์เขาแต่อ้างว่าเพื่อความโปรงใส เพื่อความเป็นธรรมมีประสิทธิภาพ

“ สิ่งที่เรามาร้องขอในวันนี้ไม่ได้ทำเพื่อองค์การเภสัชกรรม  เรามองว่าต่อไปประเทศชาติจะอยู่แบบไหน เราไม่อยากให้เกิดการล่มสลายเหมือนกับต่างประเทศที่เป็นลักษณะการแปรรูป เรามองเรื่องนี้อยู่ว่าเป็นการแปรรูป ไม่ว่าเรียกให้สวยหรูเป็นแบบไหนก็แล้วแต่ ...ประเทศที่มีหน่วยงานแบบองค์การเภสัชกรรมอย่างมาเลเซียก็ถูกใช้วิธีแบบนี้เหมือนกันคือการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ อยู่เฉย ๆ เพื่อให้ไม่ต้องผลิต เพราะว่าแค่ไม่ผลิตชาวต่างชาติก็ได้รับผลประโยชน์ ทุกวันนี้ผู้ติดเชื้อในรัสเซียยังต้องมารักษาตัวเองที่บ้านเราเพราะว่ายาที่บ้านเขามีราคาค่อนข้างแพงเมื่อเทียบกับประเทศไทย”นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุลกล่าวทิ้งท้าย

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net