Skip to main content
sharethis

พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ที่เพิ่งออกมาไม่นานนี้กลายเป็นประเด็นร้อนกีดกันอดีตผู้ต้องขังไม่ให้เป็นเจ้าของ-ผู้จัดการ-ผู้ปฏิบัติงานในกิจการนวดและสปา ทั้งที่นักโทษหญิงฝึกฝนและหวังกับอาชีพนี้มาก พร้อมกับปากคำอดีตนักโทษ "การฝึกอาชีพ" ในเรือนจำนั้น "เข้มข้น" เพียงไร 

มาตรา 23 ผู้ขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้
ข.(2) ต้องไม่เคยเป็นผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำผิดในความผิดเกี่ยวกับเพศ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด หรือความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี เว้นแต่ได้พ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี ก่อนวันยื่นคำขอขึ้นทะเบียน

พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ.2559

 

กฎหมายที่ออกมาใหม่นี้บังคับใช้เมื่อ 30 มีนาคม 2559 และถูกพูดถึงอย่างมากในฐานะที่เป็นตัวกั้นขวาง “การกลับสู่สังคม” ของผู้พ้นโทษ เราทราบกันดีกว่าในบางปีก็มีผู้พ้นโทษออกมาจำนวนมากเนื่องจากการพระราชทานอภัยโทษ เช่นปี 2559 มีผู้ได้รับพระราชทานอภัยโทษออกจากเรือนจำเร็วกว่ากำหนด 30,000 คนเศษ

กฎหมายนี้ร่างขึ้นโดยมุ่งหวังจะควบคุมมาตรฐานของสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ หรือพูดง่ายๆ คือ พวกร้านนวด สปา ต่างๆ ซึ่งเป็นธุรกิจที่รัฐบาลสนับสนุน เป็นธุรกิจที่ทำมาหากินกับคนต่างชาติจำนวนมาก

ด้วยการที่ “การนวด” นั้นเป็นองค์ความรู้ที่เรียนรู้ได้เร็ว ใช้ทุนต่ำ สร้างรายได้ได้ง่าย ทำให้ผู้ต้องขังหญิงจำนวนมากใช้เวลาฝึกฝนศาสตร์นี้ระหว่างติดคุก และมี “ความหวัง” ในชีวิตว่าจะออกไปมีอาชีพหาเลี้ยงครอบครัวด้วยการนวด ปีๆ หนึ่งมีผู้ต้องขังผ่านมาตรฐานวิชาชีพนวดแผนไทยทั่วประเทศเกือบพันคน

พูดให้ง่ายที่สุด ตามกฎหมายนี้ ผู้เคยต้องโทษจำคุก ไม่สามารถ 1. เป็นเจ้าของกิจการร้านนวดและสปา 2. เป็นผู้จัดการร้านนวดและสปา 3.เป็นหมอนวด กรณีหมอนวดนี้มีกำหนดระยะเวลา 1 ปีหลังออกจากคุก

“เราคงทราบกันดีว่า 80% ของคุกไทยคือ ผู้ต้องขังคดียาเสพติด ไม่ว่าเรือนจำหญิงหรือชาย” กฤตยา อาชวนิจกุล อาจารย์จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล  กล่าว

กฎหมายนี้เป็นตัวสะท้อน “อคติ” ที่สังคมทั่วไปมีต่อนักโทษอย่างดี บนพื้นฐานความคิดว่า คนเหล่านี้มีพื้นฐานพฤติกรรมที่ไม่ดีมาก่อน และมีความเสี่ยงที่จะไปลักทรัพย์ หรือทำร้ายลูกค้า

แต่ทัศนคติเช่นนี้สอดคล้องกับความเป็นจริงหรือไม่

เรื่องจริง กับ อคติ ว่าด้วยหมอนวดอดีตผู้ต้องขัง

เนาวรัตน์ ธนะศรีสุดารัตน์ อดีตผอ.ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ เป็นเจ้าของสถานประกอบการ “ลีลานวดไทย” ที่มีสาขาถึง 6 แห่ง เปิดมาหลายปีและรับแต่หมอนวดหญิงที่ “พ้นโทษ” มาทำงาน

เธอเล่าว่าที่ผ่านมามีหมอนวดอดีตนักโทษที่ทำงานกับเธอรวมๆ แล้ว 600-700 คน และพวกเธอสามารถหาเงินได้อย่างต่ำ 500 ต่อวัน หลายคนส่งลูกเรียนจนจบปริญญาตรีก็ด้วยอาชีพนี้

“ดิฉันทำงานนี้มา 10 ปี ยืนยันจากประสบการณ์ 100% ว่าไม่เคยเจอกรณีลักทรัพย์จากผู้พ้นโทษที่มาทำงานด้วยเลย มีแต่เอามาคืน ของแพงๆ ทั้งนั้น”

“ตอนเปิดรับฟังความคิดเห็นร่างกฎหมายนี้ ดิฉันเคยคัดค้านไปและยังตั้งคำถามว่าทำไมกรมราชทัณฑ์ปล่อยให้ออกมาแบบนี้ ทำไมไม่คัดค้าน มันกระทบผู้ต้องขัง 100% ถามว่า 1 ปีไม่กินข้าว ไม่ใช้เงินได้ไหม การกีดกันเขาแบบนี้แหละที่ทำให้ผลสุดท้ายเขาอาจต้องหวนกลับไปเรือนจำเหมือนเดิม ถ้าเขาไม่มีงานทำ ดิฉันยืนยันได้เลยว่าผู้พ้นโทษถ้าเขามีงานทำเขาจะไม่ทำผิดอีก”

นี่คือคำยืนยันอันหนักแน่นจากเนาวรัตน์ ผู้ประกอบการร้านนวดที่สัมพันธ์กับ “ลูกจ้าง” ที่เป็นผู้พ้นโทษมาหลายปีดีดัก ไม่นับประสบการณ์ทำงานกับนักโทษในเรือนจำอีกหลายสิบปี

เรียนปริญญาในคุก เพื่อเจอกับหลายทางเลือกที่ปิดตาย

หากเราดูการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังในประเทศไทย (รวมชายและหญิง) ในปี 2559 นั้นมีผู้กระทำผิดซ้ำต้องเข้าคุกอีกรอบประมาณ 23% หรือ 62,117 คนจากนักโทษเด็ดขาดทั้งสิ้น 261,687 ราย

ราชทัณฑ์รับทราบปัญหานี้ดี ชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรมเองก็ยังพูดถึงประสบการณ์การดูงานที่ญี่ปุ่นร่วมกับ ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพราะญี่ปุ่นนั้นแทบไม่มีผู้กระทำผิดซ้ำจนต้องหวนเข้าคุกอีก คีย์เวิร์ดสำคัญของเรื่องนี้คือ “มีบ้านอยู่” และ “มีงานทำ”

ไม่เพียงอาชีพหมอนวด อาชีพล่าสุดที่คน “เคยติดคุก” ทำไม่ได้ ยังมีอีกหลายอาชีพที่กฎหมายกำหนดคุณสมบัติต้องห้าม แบบที่กีดกันไม่ให้คนเหล่านี้เข้าสู่อาชีพเพื่อ “ไม่ให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ” กุลภา วจนสาระ จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล รวบรวมข้อมูลไว้ดังนี้

1.ทนายความ - พ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ.2528  

2.ข้าราชการ – พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551

3.แพทย์ - พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525

4.ตำรวจ - พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547

5.ครู – พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547

6.คนขับรถสาธารณะ คนเก็บค่าโดยสาร นายตรวจ ผู้บริการประจำรถ – พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ.2522

ขณะที่ในเรือนจำเปิดให้มีการเรียนทางไกลระดับปริญญาตรีกับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชได้ และสาขายอดนิยมตลอดกาลคือ นิติศาสตร์ โดยปี 2559 มีผู้ต้องขังทั้งหญิงและชายสำเร็จการศึกษานิติศาสตร์ 728 คน รองลงมาคือ วิทยาการจัดการ 403 คน จากผู้สำเร็จการศึกษาทั้งหมด 2,151 คน (เว็บไซต์กรมราชทัณฑ์-มกราคม 2560)
 

ส่องการฝึกอาชีพ(?) ในเรือนจำ กับเงินออม...ที่ไม่อาจมี

“มีงานทำ” เป็นประเด็นสำคัญที่ทุกฝ่ายเห็นว่าจะทำให้ผู้ต้องขังไม่ต้องหวนกลับสู่เส้นทางเดิมแล้วเข้าสู่กรงขังอีกครั้ง กรมราชทัณฑ์เองก็เน้นย้ำเรื่องนี้ นอกจากการส่งเสริมให้มีการเรียนทางไกล ทั้ง กศน.(ระดับมัธยมศึกษา) ปวช. ปวส. และปริญญา ยังมี “การฝึกอาชีพ” ระหว่างถูกคุมขัง

สุนีย์ อดีตผู้ต้องหญิงคดียาเสพติดที่ใช้ชีวิตในเรือนจำอยู่นานหลายปี เล่าภาพรวมของงานในเรือนจำหญิงขนาดใหญ่แห่งหนึ่งให้ฟังว่า ลักษณะงานจะมี 2 แบบ คือ 1. งานฝีมือ มีการอบรม มีประกาศนียบัตร และได้เงินปันผลค่อนข้างมาก อาจจะถึงหลายพันบาทต่อเดือน เช่น งานเบเกอร์รี่ ถักโครเชต์ วาดภาพ ทำผ้าบาติก ผ้ามัดย้อม แต่มีผู้ต้องขังเพียงประมาณ 15% ที่จะถูกคัดเลือกสู่ส่วนงานนี้

“ยังไงเสียงานพวกนี้ถ้าออกจากคุกไป จะไปประกอบอาชีพก็ต้องมีต้นทุนชีวิตพอสมควร ต้องมีเงินลงทุน ซึ่งนักโทษส่วนใหญ่ไม่มี” เธอกล่าว

งานอีกส่วนที่นักโทษหญิง 85% ต้องทำ คือ แรงงานไร้ฝีมือ โดยเรือนจำจะรับงานจากบริษัทเอกชนเข้ามาให้นักโทษทำ ไม่ว่าจะเป็น เย็บเสื้อผ้า กับโรงซิป โรงซิปที่ว่าคือ โรงงานแพ็คของไม่ว่าจะเป็น ชุดอาหารบนเครื่องบิน กล่องข้าว ชุดชากาแฟ กระดาษยาสูบ นำทองคำเปลวมาใส่ในกระดาษ เป็นต้น

“นักโทษที่เด็ดขาดแล้วต้องทำงานพวกนี้ เลือกไม่ได้ ผู้คุมจะเป็นคนจำแนกให้ว่าต้องไปอยู่กองงานไหน ถ้าใครอยากเปลี่ยนกองงานก็ทำได้ แต่ถือเป็นความผิด ต้องลงบันทึกแล้วไปทำงานลอกท่อ 3 เดือน ทำให้ไม่ค่อยมีใครย้ายกองงานหรอก มนุษย์ปกติที่ไหนอยากจะลอกท่อ”  

“พวกเราทำงานตั้งแต่ 8 โมงเช้า ถึงประมาณบ่าย 2 โมง กินข้าว อาบน้ำแล้วขึ้นเรือนนอน สภาพการทำงานจะลำบากเพราะแคบและร้อน หลายคนก็เป็นพวกโรคผิวหนัง แพ้ อย่างพวกที่ทำทองคำเปลวจะแพ้กันเยอะ"

"รายได้เฉลี่ยคือ วันละ 8 บาท ทำงานทุกวันไม่มีวันหยุด ยกเว้นมีญาติมาเยี่ยมหรือต้องไปเรียน ซึ่งการเรียน กศน.หรืออะไรพวกนี้จะเรียนกันสัปดาห์ละ 1-2 วันแล้วแต่หลักสูตร” สุนีย์เล่า

เมื่อถามว่านักโทษสามารถเก็บหอมเงินปันผลไว้เพื่อที่เมื่อออกจากเรือนจำได้มีเงินตั้งต้นชีวิตใหม่ได้หรือไม่ เพราะจำนวนไม่น้อยที่ต้องโทษนานนับสิบปี

สุนีย์ให้ความเห็นว่า รายได้ของนักโทษนั้นค่อนข้างน้อยมาก และความเป็นอยู่ในเรือนจำก็ต้องใช้เงินซื้อของใช้ อาหาร ผู้ต้องขังจำนวนมากไม่มีญาติมาเยี่ยมและฝากเงินด้วย หรือต่อให้มีญาติมาฝากเงิน เรือนจำก็เพิ่งออกกฎให้ฝากเงินในบัญชีนักโทษได้ไม่เกิน 9,000 บาทเท่านั้น โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันการฟอกเงินของขบวนการยาเสพติด ซึ่งนั่นทำให้เป็นไปไม่ได้เลยที่จะเก็บสะสมเงิน

“คืนความเป็นมนุษย์” สำคัญที่สุดก่อนออกจากกำแพงคุก

ขณะที่ภรณ์ทิพย์ มั่นคง อดีตผู้ต้องขังให้มุมมองที่ต่างออกไป เธอเห็นว่า การฝึกอาชีพหรือการจัดระบบรองรับให้ผู้ต้องขังที่พ้นโทษมีงานทำหลังออกจากเรือนจำไม่ใช่เรื่องยาก หน่วยงานต่างๆ หากตั้งใจจะทำย่อมสามารถประสานกันเพื่อดำเนินการได้ แต่สิ่งที่สำคัญกว่า คือ ความมั่นใจ

“มันต้องมีกระบวนการคืนความเป็นมนุษย์ให้กับเขาก่อนที่เขาจะออกไปใช้ชีวิตข้างนอก เพราะเขาไม่มีความมั่นใจเลย ไม่มีพลังที่จะใช้ชีวิต ไม่มีทางไป คนติดคุกเป็นสิบๆ ปีเขาไม่รู้เลยว่าโลกข้างนอกเป็นยังไง ต้องมีกระบวนการนี้ที่จริงจังและซีเรียสก่อนที่เขาจะออกมาเผชิญกับโลกข้างนอก แล้วอาจคุยเรื่องรายละเอียด เรื่องกฎหมาย เรื่องการจ้างงาน แต่ที่สำคัญคือ การฟื้นฟูจิตใจ เพราะเขาถูกปฏิบัติอย่างไม่ใช่คนหรือถูกกดขี่มาค่อนข้างนาน นี่คือระยะสั้น เราคาดหวังว่าทัศนคติของการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐจะดีขึ้นกว่านี้”

นอกจากนี้เธอยังเห็นว่า คุก เป็นเพียงปลายเหตุของปัญหา ขณะที่ต้นทางคือ กระบวนการยุติธรรม

“ตอนนี้หลักการของมันดูเหมือนจะเน้นการลงโทษ โยนคนเข้าไปอยู่ในคุกอย่างเดียว การตัดสินพิพากษาก็ตรวจสอบได้ยาก และมีความผิดพลาดให้เราเห็นอยู่ กฎหมายหลายตัวก็ออกมาแบบประชาชนไม่มีส่วนร่วมอะไรเลย พอคนไปอยู่ในคุกมากๆ ก็ต้องเอาเงินภาษีมารองรับ ซึ่งก็ไม่พอ แล้วก็ต้องแบ่งงบมาฟื้นฟูเยียวยาที่ปลายทางกันอีก” ภรณ์ทิพย์กล่าว  

อคติของสังคม คุกชั้นที่สองของคนพ้นคุก

นภาภรณ์ หะวานนท์ นักวิชาการอิสระที่ทำงานเกี่ยวกับผู้ต้องขังหญิงมายาวนาน ให้ความเห็นว่า คนเชื่อโดยสนิทใจว่าการเอาคนผิดเข้าคุกแล้วสังคมจะปลอดภัย คนติดคุกหรือแม้แต่คนเคยติดคุกเป็นคนไม่ดี ซึ่งล้วนเป็นเรื่องเข้าใจผิด อคตินั้นสร้างผ่านกฎหมาย และความรู้ ความรู้ต่างๆ ล้วนมีอคติทั้งสิ้นแต่ถูกขัดเกลาให้ขาวสะอาด

“พัศดีไขกุญแจให้เขาออกมาแล้ว แต่เขายังมีอีก 1 ประตู พระองค์ภาบอกว่าเราทุกคนต้องเป็นกุญแจดอกที่ 2 ให้ผู้ต้องขังออกมาได้จริงๆ” นภาภรณ์กล่าว

เธอกล่าวด้วยว่า ปกติคนที่พ้นโทษออกมาก็มีตราบาปอยู่แล้ว แต่เมื่อออกกฎหมายลักษณะนี้มาก็ยิ่งเป็นการประทับตราบาปย้ำลงไปอีก

“สนช.ผ่านกฎหมายนี้ทีเดียว 3 วาระรวด มันใช่หรือเปล่ามันทำให้เราสงสัยต่อกระบวนการออกกฎหมายทุกฉบับว่ามีความรอบคอบพอหรือไม่ เราเริ่มไม่ไว้วางใจ กระบวนการรรับฟังก็ไม่มากพอ” นภาภรณ์กล่าว

ขณะที่กฤตยา อาชวนิจกุล จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดลระบุว่า ขณะนี้มีการผลักดันจนกระทั่งกรมราชทัณฑ์เตรียมทำข้อเสนอในการแก้ไขกฎหมายนี้เพื่อยื่นเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี

 

หมายเหตุ - เนื้อหาส่วนหนึ่งมาจากการประชุมขับเคลื่อนนโยบายเรือนจำสุขภาวะ ครั้งที่ 2 เรื่อง สานพลังชุมชนเพื่อคืนคนดีสู่สังคม แต่กฎหมายกลับห้ามคนพ้นโทษทำงาน” จัดโดย สมาคมนักวิจัยประชากรและสังคม สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล สภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ และกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ห้องประชุม 709 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ วันที่ 25 มกราคม 2560

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net