Skip to main content
sharethis

แพะคดีปล้นรถขนเงินบริษัท แซมโก้ โผล่ หลังถูกคุมขังรออุธรณ์ จนศาลอุทธรณ์ได้ตัดสินให้พ้นผิด โฆษกศาลยุติธรรม แนะพิจารณาคดีให้ครบองค์คณะ สืบพยาน บันทึกเป็นภาพและเสียงแทนตัวอักษร รองปลัดยุติธรรม ชี้ระบบกล่าวหาทำจำเลยตกเป็นเบี้ยล่างตั้งแต่ต้น เสนอนำนิติวิทยาศาสตร์มาใช้ควบคู่ 

หลังจากเมื่อเดือนที่ผ่านมาประเด็น 'แพะ' หรือความผิดพลาดของกระบวนการยุติธรรมจนนำมาสู่การตัดสินลงโทษผู้บริสุทธิ์ เป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์กันในสังคม ซึ่งกรณีลักษณะนี้มักเกิดขึ้นเป็นข่าวให้เห็นอยู่เป็นประจำ เช่นเดียวกับเดือนนี้ จากกรณีคนร้ายใช้อาวุธปืนบุกปล้นรถขนเงินบริษัท แซมโก้ ขณะกำลังจะนำเงินใส่เข้าตู้เอทีเอ็มธนาคารไทยพาณิชย์ หน้าห้างโลตัสเอ็กซ์เพรส จ.ชลบุรี ได้เงินสดไปกว่า 6.7 ล้านบาท เหตุเกิดเมื่อวันที่ 31 ก.ค.2557 ต่อมา ตำรวจสืบสวนทราบว่า เจริญ เทพวงศ์ พร้อมพวกอีก 3 คน เป็นผู้ก่อเหตุ นอกจากนี้ ภายหลังยังได้จับกุมตัว ธนะชัย หรือโน้ต ยานู พนักงานชั่วคราวทำหน้าที่รับจ่ายจดหมาย ของสำนักงานไปรษณีย์ชลบุรี อ.เมืองชลบุรี โดยระบุว่า ธนะชัย เป็นหนึ่งในทีมปล้นที่แต่งกายเป็นคนขายลอตเตอรี่ และแกล้งทำขาเป๋ เพื่อคอยดูลาดเลาให้กับทีมที่ลงมือก่อเหตุ อย่างไรก็ดี คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องไปเมื่อวันที่ 25 ก.พ.2559 ที่ผ่านมา แต่ให้ทำการคุมขัง ธนะชัย ในระหว่างรออุทธรณ์ ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ก.พ. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้มีการตัดสินยกฟ้อง ธนะชัย ยืนตามศาลชั้นต้น เหตุเพราะมีพยานหลักฐานไม่เพียงพอ และเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย 

ซึ่งในกรณีนี้มีประเด็นสำคัญคือการซ้อมทรมานด้วย โดย ชนพล รัฏฐาปกรณ์ ชื่นต้น ทนายความของ ธนะชัย กล่าวว่า ธนะชัยลูกความ ได้ให้การปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำผิด และต่อสู้คดีมาโดยตลอด พร้อมให้การในชั้นศาลว่าถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจซ้อมให้รับสารภาพ จนศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง แต่ให้ทำการคุมขังรออุธรณ์ และในวันนี้ศาลอุทธรณ์ได้ตัดสินยืนตามศาลชั้นต้น คดีจึงถือเป็นที่สิ้นสุด ไม่สามารถฎีกาได้ รวมระยะเวลาในการติดคุกฟรี 1 ปี 8 เดือน โดยช่วงระยะเวลาที่ถูกคุมขัง ทำให้ ธนะชัยต้องสูญเสียอิสรภาพ และเสียโอกาสในการสอบบรรจุเข้ารับราชการไปรษณีย์ไทย อีกทั้งมีการนำตัว ธนะชัย มาแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน สร้างความอับอาย ทางลุกความตนจึงเตรียมฟ้องร้องต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุม ที่กระทำการโดยมิชอบ อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ ธนะชัย  ยังไม่พร้อมทั้งสภาพร่างกายและจิตใจ จึงให้ตนออกมาเรียกร้องถึงสิ่งที่สูญเสียไปแทน พร้อมกับเรียกร้องให้ตำรวจแถลงข่าวชี้แจงถึงความบริสุทธิ์ให้ เหมือนกับตอนที่จับกุมตัวมาแถลงข่าวด้วย และอีกไม่นานนี้ ธนะชัย เตรียมจะออกมาแฉถึงกระบวนการต่างๆ ที่ตำรวจกระทำ เพื่อให้ตัวเองยอมรับสารภาพ

หากย้อนดู สถิติรับเรื่องร้องเรียนขอความเป็นธรรมจากคดีอาญา ตั้งแต่ปี 2558 – 2559  โดย พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ระบุว่า มีสูงถึง 250 คดี สามารถรื้อฟื้นคดีอาญาและประกอบฎีกาที่สำเร็จแล้ว 10 เรื่อง ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ คดีที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางล่าสุดอย่าง คดีครูจอมทรัพย์ แสนเมืองโคตร 

โฆษกศาลยุติธรรม แนะพิจารณาคดีให้ครบองค์คณะ

สำหรับข้อเสนอในการป้องกันการเกิดแพะนั้น ในวงเสวนา นิติ-วิพากษ์ ครั้งที่ 1 หัวข้อ ความผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรม (Miscarriage of Justice) ปัญหาและทางออก ที่จัดโดย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 27 ม.ค. ที่ผ่านมานั้น สืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงในชั้นศาล ว่า น่าจะมุ่งเน้นให้ผู้พิพากษาพิจารณาคดีให้ครบองค์คณะ ซึ่งโดยปกติจะนั่ง 2 คน แต่ควรมากกว่านั้น เป็น 5 คน 7 คน

สืบพยาน บันทึกเป็นภาพและเสียงแทนตัวอักษร

โฆษกศาลยุติธรรม ยังกล่าวด้วยว่า ในการสืบพยานก็มีข้อเสนอให้บันทึกเป็นภาพและเสียงแทนตัวอักษร เพราะจะเห็นชัดกว่าการตีความตามตัวหนังสือ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ยังเปลี่ยนแปลงได้ยาก เพราะศาลมี 3,000 แห่งทั่วประเทศต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่หากทำได้ก็จะเป็นหลักประกันอันหนึ่งให้ประชาชน

กรมคุ้มครองสิทธิ-คุยกับอัยการและยื่นเรื่องต่อศาล

โฆษกศาลยุติธรรม เสนออีกว่า หากประเด็นเรื่อง แพะ กรมคุ้มครองสิทธิควรมาคุยกับอัยการและยื่นเรื่องต่อศาล เพื่อร่วมกันค้นหาความจริงว่าจะรื้อฟื้นคดีหรือไม่ หากให้พนักงานอัยการเป็นผู้ยื่นเรื่อง ศาลไม่ต้องไต่สวน เป็นการลดขั้นตอนได้มาก และระหว่างยื่นคำร้อง สังคมไม่ควรเรียกว่า “แพะ” จนกว่าศาลจะชี้ในที่สุด

สังคมต้องไม่กดดัน

ปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อธิบดีอัยการ สำนักงานชี้ขาดคดีอัยการสูงสุด ได้เสนอในวงเสวนาเดียวกันว่า 1. การสอบสวนควรต้องมีการบันทึกเทป เพื่อให้ทุกส่วนได้เห็นอากัปกริยาของผู้ต้องหา 2. ปรับเปลี่ยนทัศนคติของนักกฎหมายว่าต้องทำงานอย่างละเอียดรอบคอบ 3. สังคมต้องไม่กดดันกระบวนการยุติธรรม และ 4.  กรณีแพะ กรมคุ้มครองสิทธิควรมาคุยกับอัยการและพนักงานสอบสวน ในเมื่อข้อบกพร่องเกิดจากรัฐก็ควรให้รัฐจัดการ ไม่ใช่เป็นภาระให้เจ้าตัวไปหาทนายมาจัดการ

วางมาตรฐานการไกล่เกลี่ยในชั้นสอบสวนให้ตำรวจมีอำนาจ

พ.ต.อ.มานะ เผาะช่วย ผกก. สน.ทุ่งสองห้องและเลขาธิการสมาคมพนักงานสอบสวน เสนอในวงเสวนาเดียวกันว่า 1. ประเทศไทยออกกฎหมายมากมาย ข้อพิพาทของประชาชนก็มีมากมาย ทำให้งานของพนง.สส.มีมหาศาล อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจะเห็นว่าคดีอาญาหลายคดีนั้นน่าจะเป็นคดีแพ่ง แต่เมื่อกฎหมายบัญญัติให้เป็นคดีอาญาทำให้ต้องทำการสอบสวนทั้งหมด เป็นการเพิ่มภาระงานให้พนักงานสอบสวน นอกจากนี้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญายังไม่มีการกำหนดเรื่องการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ซึ่งจริงๆ แล้ว หลายเรื่องสามารถจบได้ตั้งแต่ชั้นตำรวจ น่าจะมีการกำหนดมาตรฐานการไกล่เกลี่ยในชั้นสอบสวนให้ตำรวจมีอำนาจตรงนี้เลย 2. ควรให้อำนาจพนักงานสอบสวนแบบอังกฤษหรือฝรั่งเศส ว่า จะดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานหรือไม่ แต่ไม่ได้ลบหรือจบคดี ต้องทำการสืบสวนต่อไป เพียงแต่สามารถคัดกรองทุ่มสรรพกำลังไปกับเรื่องที่สำคัญและมีความเป็นไปได้ และ3. พนักงานสอบสวนมีงานมาก ควรได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม

รองปลัดยุติธรรม ชี้ระบบกล่าวหาทำจำเลยตกเป็นเบี้ยล่างตั้งแต่ต้น

ในรายงานของ วรรณโชค ไชยสะอาด ทางโพสต์ทูเดย์ ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 12 ม.ค. ที่ผ่านมา ได้นำเสนความเห็นของ ธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ถึงกรณีเหล่านี้ โดย ธวัชชัย  กล่าวว่า วิธีพิจารณาคดีในเมืองไทยเป็นระบบกล่าวหา ทำให้ศาลไม่มีบทบาทและอำนาจในการแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานในคดีเพิ่มเติมได้ด้วยตนเอง ศาลถูกจำกัดกรอบให้พิจารณาเฉพาะจากข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่คู่ความเสนอต่อศาลเท่านั้น

“ระบบกล่าวหาทำให้ศาลไม่สามารถจะสอบถามอะไรได้ นอกเหนือจากหลักฐานที่พยานทั้งสองฝ่ายเอามา ต้องทำตัวเป็นกลาง ชั่งน้ำหนักพยานที่แต่ละฝ่ายเอามาเท่านั้นเอง ผิดกับระบบไต่สวนศาลจะมีบทบาทและอำนาจในการแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ หากสงสัยตรงไหนก็ถามได้เลย”

ธวัชชัย บอกว่า ในระบบกล่าวหา ผู้ถูกกล่าวหาเสมือนตกเป็นเบี้ยล่างตั้งแต่เริ่มต้น ต้องพยายามไปหาหลักฐานมาต่อสู้ ซึ่งแม้จะเป็นผู้บริสุทธิ์ในหลายกรณีก็มีความลำบากในการไปแสวงหาหลักฐานมาประกอบข้อเท็จจริง

“บางคดีมีการชี้ตัวผู้กระทำความผิดเรียบร้อย ไม่มีผู้เสียหายชี้ตัวคุณเลย แต่พนักงานสอบสวนกลับไม่ได้บันทึกไว้ พอพยานหลักฐานถูกนำขึ้นสู่ชั้นศาล จำเลยก็ไม่มีประเด็นในการต่อสู้ ศาลก็ตัดสินพิจารณาได้เพียงแค่หลักฐานที่มี” ธวัชชัย กล่าว

นำนิติวิทยาศาสตร์มาใช้ควบคู่

สำหรับการป้องกันความผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรม ธวัชชัย เสนอว่า การพิสูจน์หลักฐานอย่างรอบคอบชนิดสิ้นกระแสความสงสัย โดยนำนิติวิทยาศาสตร์มาใช้ควบคู่กับกระบวนการยุติธรรม เพื่อลดการโต้แย้งและความหวาดระแวงระหว่างผู้ควบคุมกฎหมายกับผู้ถูกกล่าวหา เนื่องจากวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องหลักการและเหตุผลที่สามารถพิสูจน์ได้ ขณะเดียวกันอาจถึงเวลาที่เมืองไทยต้องแยกการทำหน้าที่ระหว่างพนักงานสอบสวนและสืบสวนออกจากกัน เหมือนในต่างประเทศ เพื่อให้เกิดความโปร่ง รอบคอบ ทั้งยังเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับประชาชนที่มีต่อเจ้าหน้าที่อีกด้วย

“เป็นเรื่องน่าเสียใจที่ผู้บริสุทธิ์ถูกละเมิดด้วยกระบวนการของรัฐ ทั้งที่รัฐเองมีหน้าที่ให้ความคุ้มครองผู้บริสุทธิ์และให้ความเป็นธรรม ผมคิดว่ากระบวนการยุติธรรมในเมืองไทยเป็นเรื่องที่ต้องทบทวนและปฎิรูป” รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ยืนยัน

ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ

ขณะที่กรณีคดีบุกปล้นรถขนเงินบริษัท แซมโก้ ทนายความของ ธนะชัย ให้การในชั้นศาลว่าถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจซ้อมให้รับสารภาพ ซึ่งการซ้อมทรมานส่งผลต่อคดีเช่นกัน โดยนอกจากข้อเสนอการบันทึกภาพขณะสอบสวนข้างต้นแล้ว บางส่วนก็มองไปที่ ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ. ... ที่ถูกนำเข้าสู่สภา ที่มีสาระสำคัญที่น่าสนใจเกี่ยกับการป้องกันการซ้อมทรมานดังนี้

มาตรา 5 เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำทรมาน ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี และปรับตั้งแต่ 1-4 แสนบาท หากผู้ถูกทรมานได้รับอันตรายสาหัส จำคุก 10-30 ปี ปรับตั้งแต่ 2-6 แสนบาท และหากถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต รับตั้งแต่ 6 แสน-1 ล้านบาท

มาตรา 6 เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการบังคับบุคคลให้สูญหาย ระวางโทษเทียบเท่ากับมาตรา 5

มาตรา 7 ผู้ที่ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ แต่รู้เห็นเป็นใจกับเจ้าหน้าที่รัฐ ระวางโทษตามมาตรา 5 และ 6 มาตรา 9 ผู้บังคับบัญชาผู้ใดทราบหรือจงใจเพิกเฉย

มาตรา 11 สถานการณ์ฉุกเฉินสงครามความไม่มั่นคง ไม่อาจนำมาอ้างเพื่อให้กระทำความผิด พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้

มาตรา 19 เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกจำกัดเสรีภาพใน 6 ประเด็นหลัก

มาตรา 20 ญาติสามารถขอดูข้อมูลดังกล่าวได้ หากเจ้าหน้าที่ปฏิเสธสามารถร้องต่อศาลได้

มาตรา 25 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย ประกอบด้วย รมว.ยุติธรรม (ยธ.) เป็นประธาน ปลัด ยธ.เป็นรองประธาน ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อัยการสูงสุด อธิบดีดีเอสไอ นายกสภาทนายความ และผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิทธิมนุษยชน 4 คน ด้านการแพทย์ 1 คน ด้านจิตวิทยา 1 คน เป็นกรรมการ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิฯ เป็นกรรมการและเลขานุการ

และ มาตรา 32 คณะกรรมการฯ มีหน้าที่สืบสวนข้อร้องเรียน

 

เรียบเรียงจาก เดลินิวส์, 1 ก.พ.60, โพสต์ทูเดย์ 12 ม.ค.60, ประชาไท 27 ม.ค.60

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net