Skip to main content
sharethis

จิมมี เวลส์ ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์สารานุกรมออนไลน์วิกิพีเดีย แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกรณี "ข่าวปลอม" ที่ส่งอิทธิพลต่อการถกเถียงอภิปรายทางการเมืองในโลกออนไลน์ โดยระบุว่าเพียงแค่อาศัยการจัดลำดับข้อมูลอัตโนมัติด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์อย่างเดียวคงไม่เพียงพอ ต้องเปิดกว้างให้ประชาชนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมีส่วนร่วมตรวจสอบความโปร่งใสด้วย

6 ก.พ. 2560 ในยุคสมัยที่ข่าวปลอมต่างๆ ส่งอิทธิพลต่อผู้คนทั่วโลกและสร้างสิ่งที่เรียกว่า "ฟองสบู่" จำกัดการมองเห็นโลกในส่วนอื่นๆ ถึงขั้นที่พจนานุกรมออกซ์ฟอร์ดยกให้คำว่า "Post-Truth" ที่หมายถึงการที่เหตุการณ์จริงไม่สำคัญเท่ากับอารมณ์หรือความเชื่อที่ส่งผลต่อการรับรู้ส่วนบุคคลเป็นคำประจำปี 2559 และในช่วงต้นปี 2560 นี้เองก็เริ่มมีคำใหม่อย่าง "alternative fact" (แปลตรงตัวว่า "ความจริงทางเลือก") จากปากของเคลล์ยอนน์ คอนเวย์ ที่ปรึกษาอาวุโสของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่อ้างใช้ปกป้องการกล่าวเท็จเกี่ยวกับผู้เข้าร่วมพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของทรัมป์

จิมมี เวลส์ ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์สารานุกรมออนไลน์วิกิพีเดียเขียนบทความในเดอะการ์เดียนระบุว่า การเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงบนอินเทอร์เน็ตส่งผลเสียต่อการสนทนา อภิปรายและเป็นอุปสรรคต่อการช่วยกันแก้ไขปัญหาโลก แต่ก็มีคำถามว่าเรื่องนี้ถึงขั้นว่ามันคือยุคมืดของอินเทอร์เน็ตจริงหรือไม่?

เวลส์มองว่าอินเทอร์เน็ตเป็นพื้นที่ที่ซับซ้อนและยุ่งเหยิงอยู่เสมอมา เรื่องการแพร่ข่าวปลอม การแกล้งหลอกอำ การทำให้เสียหาย หรืออะไรที่ยิ่งกว่านั้นเกิดขึ้นมาโดยตลอด แม้แต่ยุคที่ยังไม่มีโซเชียลเน็ตเวิร์กก็มีการส่งอีเมลต่อๆ กันที่เรียกว่า "ฟอร์เวิร์ดเมล" ผ่านกันไปทั่วซึ่งเป็นช่องทางข่าวปลอมในยุคก่อนหน้านี้ แต่ในขณะเดียวกัน อินเทอร์เน็ตก็ยังเป็นพื้นที่ทดลองและการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ และพลังเหล่านี้ก็มาจากการมีส่วนร่วมของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ขณะที่มีเรื่องลบๆ ก็มีเรื่องเชิงบวกจากผู้ที่แสดงออก เชื่อมโยง และแลกเปลี่ยนความรู้กันทางอินเทอร์เน็ตอยู่ด้วย

เวลส์ยกตัวอย่างเว็บไซต์สารานุกรมออนไลน์วิกิพีเดียที่เขาก่อตั้งขึ้นเมื่อ 16 ปีมาแล้ว ที่อาศัยผู้คนหลายล้านคนช่วยกันเข้าไปแลกเปลี่ยนทำงานร่วมกันจากหลายมุมมองซึ่งจากมุมมองของเขาแล้วเป็นวิธีที่ใช้ได้จริง

ในยุคที่อินเทอร์เน็ตกว้างใหญ่ขึ้นและทำให้ผู้คนเชื่อมถึงกันมากขึ้นตามความคิดของเวลส์ คำถามสำคัญคือทั้งผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและสถาบันต่างๆ ควรจะมีบทบาทในเรื่องข่าวปลอมอย่างไร เวลส์เสนอว่าสื่อเก่าต่างๆ เองอย่าง หนังสือพิมพ์ สถานีโทรทัศน์ หรือผู้จัดพิมพ์หนังสือต่างก็มีบทบาทสำคัญต่อเรื่องนี้ในฐานะที่ยังมีคนเชื่อมั่นว่าเป็นสื่อกลางความจริงอยู่ สื่อเก่าจึงควรมีบทบาทในการทำให้พื้นฐานข้อเท็จจริงร่วมกันของคนในสังคมกลับคืนมา

อีกเรื่องหนึ่งคือการที่สื่อโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่เคยประกาศจะใช้ระบบคัดกรองข่าวปลอม ในยุคสมัยอินเทอร์เน็ตที่ดูมีข้อมูลยุ่งเหยิงอิรุงตุงนังนี้ก็มีสิ่งที่เรียกว่า 'อัลกอริทึม' ในการคัดกรองข่าวปลอมหรือแหล่งข้อมูลปลอม แต่เวลส์ก็มองว่าวิธีการนี้อย่างเดียวจะขาดส่วนของความเป็นมนุษย์ไป

"ทุกคนเห็นพ้องกันว่าผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียควรจะทำอะไรสักอย่างเมื่อมีความเท็จถูกแชร์ออกไปหลายล้านครั้ง แต่ไม่มีใครที่จะสบายใจได้กับการที่โซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่คอยตัดสินใจแทนเราว่าอะไรเป็นสิ่งที่ถูกต้อง" เวลส์ระบุในบทความ

แล้วตัวเวลส์เองก็ไม่เชื่อว่าจะมีเครื่องมืออัตโนมัติอะไรที่แยกความจริงออกจากความเท็จได้และเป็นเรื่องน่ากังขาที่จะปล่อยให้ผู้ที่ควบคุมเรื่องนี้เป็นโซเชียลมีเดียที่ทำเพื่อแสวงหาผลกำไร เวลส์จึงเสนอว่าควรมีการแก้ไขปัญหาโดยอาศัยมนุษย์ตัวเป็นๆ เข้าร่วมด้วย โดยเป็นคนที่มาจากแนวคิดการเมืองในทุกแบบ ทุกระดับความเข้มข้น เพื่อช่วยกันแยกแยะข่าวจริงกับข่าวปลอม ต้องมีการสร้างระบบใหม่ที่จะเสริมพลังให้กับปัจเจกและชุมชนไม่ว่าจะเป็นอาสาสมัครหรือคนทำงานรับค่าแรงก็ตาม

ในบทความของเวลส์ยังได้เสนอให้เน้นความเปิดกว้างและความโปร่งใส ในระบบของเว็บวิกิพีเดียมีการเปิดให้คนสามารถโต้แย้งและชวนอภิปรายเกี่ยวกับเนื้อหาได้จากหลากหลายมุมมอง จึงเป็นการที่ประชาชนร่วมตรวจสอบข้อมูล ทำให้ต้องมีการคอยตรวจสอบข้อเท็จจริงกันอยู่เสมอ

ในแง่ของความโปร่งใสนั้น เวลส์มองว่าข้อมูลเท็จจะพ่ายแพ้ให้กับความโปร่งใส ถ้าหากผู้คนทราบว่าที่มาของข้อมูลที่พวกเขาได้รับมาจากไหนและทำไมพวกเขาถึงเห็นข้อมูลเหล่านี้ จะช่วยเอื้อต่อการตรวจสอบได้ อีกทั้งมีพื้นที่เปิดให้เกิดการหารือกันจากมุมมองต่างๆ โดยสร้างการมีส่วนร่วมอย่างไม่กีดกันและมีการวางเกณฑ์ข้อกำหนดร่วมกันในการหารือเพื่อไม่ให้มีพฤติกรรมคุกคามการอภิปราย

"การเติบโตของอินเทอร์เน็ตอาจจะสร้างความลำบากใจแบบในสถานการณ์ปัจจุบัน แต่ผู้คนที่อยู่กับอินเทอร์เน็ตเองนี่แหละที่จะช่วยให้พวกเขาออกจากสถานการณ์น่าลำบากนี้ได้ ในครั้งต่อไปที่คุณโต้แย้งกันไปมากับใครก็ตามเกี่ยวกับประเด็นถกเถียงกันในโลกออนไลน์ ขอให้คุณยึดมั่นความจริงเข้าไว้ด้วยการใช้แหล่งข้อมูลดีๆ และเปิดกว้างในการหารือ ที่สำคัญคือทำตัวน่าคบ คุณอาจจะกลายเป็นส่วนเล็กๆ ของกระบวนการที่ความปั่นป่วนของข้อมูลจะกลายเป็นความรู้ได้ และคุณก็จะช่วยขจัดข่าวปลอมได้ในเวลาเดียวกัน" เวลส์ระบุในบทความ

 

เรียบเรียงจาก

With the power of online transparency, together we can beat fake news, Jimmy Wales, 03-02-2017
https://www.theguardian.com/commentisfree/2017/feb/03/online-transparency-fake-news-internet

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net