Skip to main content
sharethis

ประยุทธ์ นั่งหัวโตะประชุม คทช. ครั้งที่ 1/60 เร่งรัดการดำเนินงานจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาลให้ครอบคลุมทั่วประเทศ-เห็นชอบร่างนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ 60 - 79

<--break- />

<--break- />6 ก.พ. 2560 รายงานจาก กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก ทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า วันนี้ เมื่อเวลา 13.30 น. ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ครั้งที่ 1/2560 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดย ภายหลังการประชุม รวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ได้แถลงผลการประชุมว่า นายกรัฐมนตรีได้เร่งรัดการดำเนินงานการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาลให้ครอบคลุมทั่วประเทศโดยเร็ว เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของราษฎรผู้ยากไร้ ลดความเหลื่อมล้ำและหนุนสร้างความเข้มแข้งให้ชุมชนในรูปแบบสหกรณ์ โดยมีเป้าหมายให้ราษฎรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และอยู่อาศัยทำกินในชุมชนที่เข้มแข็ง และยั่งยืน ทั้งนี้ กระทรวง จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการบูรณาการการทำงานให้เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งปัจจุบันมีการดำเนินงานจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนฯ ทั่วประเทศแล้ว รวมทั้งสิ้น 64 จังหวัด
 
รวีวรรณ กล่าวว่า ที่ประชุม คทช. รับทราบผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการ ภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ โดยในส่วนผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการจัดหาที่ดิน ที่ประชุมรับทราบการกำหนดพื้นที่เป้าหมายการจัดหาที่ดินทำกินให้ชุมชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 จำนวนทั้งสิ้น 106 พื้นที่ 42 จังหวัด เนื้อที่ 242,689-1-3.70 ไร่ ซึ่งคณะอนุกรรมการจัดหาที่ดินให้ความเห็นชอบแล้ว ประกอบด้วย ป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 35 พื้นที่ 28 จังหวัด เนื้อที่ 199,266-2-68 ไร่ พื้นที่ปฏิรูปที่ดิน จำนวน 28 พื้นที่ 8 จังหวัด เนื้อที่ 28,512-2-76 ไร่ ป่าชายเลน จำนวน 29 พื้นที่ 9 จังหวัด เนื้อที่ 5,318-3-55 ไร่ ที่สาธารณประโยชน์ จำนวน 11 พื้นที่ 6 จังหวัด เนื้อที่ 8,593-2-94.70 ไร่ พื้นที่ราชพัสดุ จำนวน 3 พื้นที่ 3 จังหวัด เนื้อที่ 997-1-10 ไร่ สำหรับในส่วนการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการจัดที่ดิน ที่ประชุมรับทราบผลการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามหลักเกณฑ์ คทช. และกฎหมาย ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2558-2559 สามารถจัดให้ราษฎรเข้าทำประโยชน์ในที่ดินได้ รวมทั้งสิ้นจำนวน 13,188 ราย 16,378 แปลง เนื้อที่ประมาณ 99,295 ไร่
 
พร้อมกันนี้ คทช. รับทราบผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ ภายใต้กิจกรรม 6 ด้าน ดังนี้ 1. ด้านการพัฒนาที่ดินและการใช้ประโยชน์ที่ดินบนฐานข้อมูล (Zoning) อย่างมีระบบ สมดุลและยั่งยืน จำนวน 11 พื้นที่ 2. ด้านการพัฒนาแหล่งน้ำและการพัฒนาปัจจัยพื้นฐาน จำนวน 6 พื้นที่ 6 จังหวัด 3. ด้านการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพแก่เกษตรกร จำนวน 4 พื้นที่ 2 จังหวัด 4. ด้านการส่งเสริมการรวมกลุ่มเพื่อเตรียมการจัดตั้งสหกรณ์ จำนวน 16 พื้นที่ และมีการจัดตั้งสถาบันเกษตรกร (สหกรณ์/ กลุ่มเกษตรกร) จำนวน 9 แห่ง ใน 9 พื้นที่ 5. ด้านการสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งทุน จำนวน 4 พื้นที่ 6. ด้านส่งเสริมและจัดทำบัญชีครัวเรือน จำนวน 3 พื้นที่ 2 จังหวัด
 
คทช. ยังได้รับทราบผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย ดังนี้ 1. แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย 10 ปี (พ.ศ. 2559 – 2568) ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2559 เห็นชอบหลักการเพื่อส่งเสริมความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย และพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มผู้มีรายได้น้อย โดยจัดเตรียมที่อยู่อาศัยที่ได้มาตรฐานในชุมชนที่มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมพร้อมระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการที่จำเป็นในระดับราคาที่กลุ่มเป้าหมายสามารถรับภาระได้ จำแนกเป้าหมายออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้ 1) กลุ่มผู้มีรายได้น้อยทั่วไปที่ยังไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย โดยการเคหะแห่งชาติ (กคช.) บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน จำนวน 1,707,437 ครัวเรือน 2) แผนพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย (เมืองและชนบท) โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) จำนวน 1,044,510 ครัวเรือน 2. การเคหะแห่งชาติ (กคช.) ดำเนินการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยทั่วไปที่ยังไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย 4 แผนงาน ดังนี้ 1) แผนยกระดับคุณภาพชีวิต (เช่า) ดำเนินการภายใต้ 3 โครงการ ประกอบด้วย โครงการอาคารเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย โครงการอาคารเช่าสำหรับผู้ใช้แรงงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษ และโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง 2) แผนเสริมสร้างความมั่นคงด้านการอยู่อาศัย (เช่าซื้อ) 3) แผนพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับข้าราชการ 4) แผนความร่วมมือกับภาคเอกชน ดำเนินงานโครงการบ้านประชารัฐ (บ้านเคหะประชารัฐ) 3. สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ดำเนินการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย (เมืองและชนบท) ดังนี้ 1) การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าว 2) การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยเพื่อคนยากจนที่บุกรุกที่ดินสาธารณะ “ปทุมธานีโมเดล” 3) การแก้ปัญหาและพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
 
นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบร่างนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ (พ.ศ. 2560 – 2579) ซึ่งได้ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างกว้างขวางแล้ว (เป็นไปตามข้อสั่งการประธานฯ ในการประชุม คทช. ครั้งที่ 2/2559 เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2559) และให้ฝ่ายเลขานุการฯ เสนอ (ร่าง) นโยบายและแผนฯ ต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป โดยร่างนโยบายฯ ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 : ด้านการรักษาความสมดุลทางธรรมชาติการอนุรักษ์ที่ดินและทรัพยากรดินอย่างยั่งยืน ยุทธศาสตร์ ที่ 2 : ด้านการใช้ที่ดินและทรัพยากรดินเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ยุทธศาสตร์ที่ 3 : ด้านการจัดที่ดินให้ประชาชนผู้ยากไร้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ยุทธศาสตร์ที่ 4 : ด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน
 
ทั้งนี้ การจัดทำนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ เป็นการดำเนินงานตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2557 ข้อ 8 (1) จัดทำนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติ รวมทั้งการกำหนดแนวทางหรือมาตรการเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ฯลฯ ซึ่งเมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบร่างนโยบายและแผนฯ แล้ว ทุกหน่วยงานจะใช้เป็นกรอบนโยบาย (Policy Framework) เพื่อให้การบริหารจัดการที่ดินของประเทศ มีเอกภาพ มีประสิทธิภาพ เกิดความเป็นธรรม สมดุล และยั่งยืน และนำไปเป็นกรอบในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ แผนปฏิบัติการ รวมทั้งขอรับการจัดสรรงบประมาณต่อไป
 
พร้อมกับที่ประชุมเห็นชอบกระบวนการการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล ในพื้นที่ที่ดินราชพัสดุ และให้ฝ่ายเลขานุการฯ เสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อรับทราบต่อไป โดยกระบวนการการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนในพื้นที่ ที่ดินราชพัสดุ ในความรับผิดชอบของกรมธนารักษ์ ประกอบด้วย 1) หลักเกณฑ์การดำเนินการใน 2 รูปแบบ คือ การจัดระบบเป็นการจัดที่ดินในที่ดินแปลงว่าง และการจัดระเบียบเป็นการดำเนินการในที่ดินที่มีผู้ครอบครอง 2) ผู้ที่ได้รับการจัดที่ดิน ได้แก่ ผู้ที่ถูกผลักดัน และอพยพออกจากพื้นที่ป่าต้นน้ำและป่าอนุรักษ์ที่สำคัญ ผู้ที่บุกรุกที่ดินราชพัสดุที่อยู่ในเงื่อนไข ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของทางราชการที่ทำให้สูญเสียที่ดินทำกิน และผู้ที่ไม่มีที่ดินทำกินหรือมีเล็กน้อยไม่เพียงพอต่อการครองชีพ 3) คุณสมบัติของผู้ที่ได้รับการจัดที่ดิน 4) แนวทางดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน 5) ข้อกำหนดการใช้ที่ดินของผู้ที่ได้รับการจัดที่ดิน ทั้งนี้ ให้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ และให้กรมธนารักษ์ใช้ในการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนในพื้นที่ ที่ดินราชพัสดุ ในพื้นที่เป้าหมาย ต่อไป
 
นอกจากนี้ ที่ประชุม คทช. มีมติรับทราบหลักการของ ร่าง พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน พ.ศ. .... โดยให้นำข้อสังเกตของที่ประชุมไปพิจารณาและทบทวนรายละเอียดเพิ่มเติม ให้ครอบคลุมทั้งในด้านกฎหมาย กระบวนการ/องค์กรที่มีอยู่ในปัจจุบัน ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับอย่างแท้จริง เพื่อให้การดำเนินงานไม่เกิดความซับซ้อน ทั้งนี้ สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน พ.ศ. .... เพื่อให้ธนาคารที่ดินเป็นกลไกของรัฐในการบริหารจัดการที่ดิน ลดความเหลื่อมล้ำในเรื่องที่ดินทำกิน ป้องกันและแก้ไขปัญหาการสูญเสียสิทธิในที่ดินทำกินของเกษตรกรและผู้ยากจน โดยเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ข้อ 9.3 “... กำหนดรูปแบบที่เหมาะสมของธนาคารที่ดินเพื่อให้เป็นกลไกในการนำทรัพยากรที่ดินมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด” โดยธนาคารที่ดิน จะเป็นหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หนุนเสริมการดำเนินงานของหน่วยงานอื่น อุดช่องว่างการแก้ไขปัญหาที่ดินซึ่งหน่วยงาน อื่นไม่สามารถดำเนินการให้ครอบคลุมทุกภารกิจ เช่น สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กองทุนฟื้นฟูและกองทุนหมุนเวียนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจน และกรมบังคับคดี ซึ่งธนาคารที่ดิน จะดำเนินการในที่ดินเอกชนเป็นหลัก กรณีที่ดินของรัฐจะดำเนินการได้ เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติมอบหมาย โดยการจัดหาผลประโยชน์ในที่ดินของรัฐ โดยการเช่าหรือการทำประโยชน์อย่างอื่นที่ไม่เป็นการเปลี่ยนกรรมสิทธิ์ในที่ดิน เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ ในที่ดินอย่างเต็มศักยภาพ ตอบสนองต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และเป็นไปตามนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ
 
รวีวรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า คทช. เห็นชอบหลักการข้อเสนอโครงสร้างและกรอบอัตรากำลังของสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ในสำนักนายกรัฐมนตรี ตามที่ฝ่ายเลขานุการ คทช. เสนอ เพื่อนำไปพิจารณาร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงาน ก.พ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามนัยมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2560 ประกอบการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. .... ต่อไป
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net