ใบตองแห้ง: ศาลหักกังหัน-ใครผิด

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง ยกเลิกสัญญาเช่า ที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดชัยภูมิอนุญาตให้บริษัท เทพสถิต วินด์ฟาร์ม จำกัด เช่าที่ดิน ส.ป.ก.เพื่อติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้า

ศาลชี้ว่าสัญญาเช่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย การจัดที่ดินส.ป.ก.ให้ใช้เพื่อกิจการอื่นจะต้องสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องกับวัตถุประสงค์ของการปฏิรูปที่ดิน เกษตรกรต้องได้ประโยชน์โดยตรง แต่โครงการกังหันลมผลิตไฟฟ้า เป็นกิจการแสวงหากำไร ไม่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของเกษตรกรในท้องที่

ใช่เลยครับ ศาลตัดสินตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย ที่ดิน ส.ป.ก.ต้องใช้เพื่อการเกษตรเท่านั้น ถ้าเอาไปทำกังหันลม ก็ต้องทำเพื่อประโยชน์เกษตรกร เช่นผลิตไฟฟ้าสูบน้ำ หรือใช้กับเครื่องมือการเกษตร ฯลฯ มีเหลือค่อยขาย ไม่ใช่มุ่งทำกำไร ซึ่งไม่ต่างจากใช้ที่ ส.ป.ก.ทำรีสอร์ท

คำพิพากษานี้เป็นบรรทัดฐาน มีผลกับสัญญาเช่าที่ ส.ป.ก.ทั่วประเทศ ไม่ใช่อย่างที่เลขาธิการ ส.ป.ก.อ้างว่า ไม่ส่งผลต่อผู้ประกอบการรายอื่น ใช่ครับ ถ้ายังไม่มีใครฟ้องก็ไม่ส่งผล แต่ชาวบ้านตำบลอื่น อำเภออื่น จังหวัดอื่น ฟ้องเมื่อไหร่ ก็จะได้คำพิพากษาในบรรทัดฐานเดียวกันอย่างรวดเร็วฉับไว

ซึ่งเท่าที่เลขาธิการ ส.ป.ก. ยอมรับ ก็มีถึง 20 บริษัทในโคราชและชัยภูมิ ท่านบอกว่าจะหาวิธีแก้ไขสัญญา แต่ตราบใดที่วัตถุประสงค์คือผลิตไฟฟ้า “หากำไร” ก็น่าจะขัดวัตถุประสงค์ของกฎหมายปฏิรูปที่ดินอยู่ดี

คำถามต่อมาคือ บริษัท เทพสถิต วินด์ฟาร์ม ซึ่งต้องยุติกิจการ จะฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก ส.ป.ก.ได้หรือไม่ ต้องเข้าใจว่าคดีนี้บริษัทไม่ได้เป็นจำเลย ผู้ถูกฟ้องคือคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด ผู้ออกใบอนุญาตไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้ในการบังคับคดี อาจมีผลให้ ส.ป.ก.ต้องสั่งบริษัทรื้อถอนกังหันออกไป แต่ก็ไม่ใช่บริษัทเป็นผู้ทำผิด

ส่วนราชการออกใบอนุญาต แม้ต่อมาถูกยกเลิกเพิกถอน ย่อมไม่ลิดรอนสิทธิของผู้ลงทุนโดยสุจริต เขามีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายได้เต็มเหนี่ยว

คิดง่ายๆ บริษัทขอเช่าที่ดิน ได้สัญญาเช่าเมื่อปี 2552 จึงเข้าไปลงทุน แต่กลายเป็นสัญญาไม่ชอบด้วยกฎหมาย จากความผิดของ ส.ป.ก.เอง ที่ตีความว่าให้เช่าได้ แต่ศาลชี้ว่าไม่ได้ จะให้บริษัทรับเคราะห์แต่ผู้เดียวได้อย่างไร เว้นแต่พิสูจน์ได้ว่ามีการทุจริตติดสินบน หรือรู้แก่ใจว่าทำไม่ได้ ยังขืนลงทุน

คดีนี้คล้ายกับศาลสั่งทุบโรงแรมซอยร่วมฤดี ซึ่งศาลชี้ว่า กทม.ออกใบอนุญาตโดยไม่ชอบ รับรองความกว้างของถนนเกินจริง คนผิดคือ กทม. แต่คนรับเคราะห์คือผู้ลงทุน ศาลสั่งให้ กทม.ทุบ แต่ใครละครับ จะรับผิดชอบความเสียหาย ผู้ลงทุนยื่นขออนุญาตตามขั้นตอน เมื่อได้รับอนุญาต ก็ย่อมเข้าใจว่าก่อสร้างได้จึงลงทุนไปหลายร้อยล้าน แต่เมื่อศาลชี้ว่า กทม.ออกใบอนุญาตไม่ถูกต้อง เขาต้องล้มทั้งยืนแต่ผู้เดียวหรือไร (ทั้งที่ไม่ใช่ผู้ถูกฟ้องด้วยซ้ำ แต่คนก็ยังจับไปกระเดียดกับคดีศาลสั่งทุบตึกนิวเวิลด์ ซึ่งนั่นเป็นความผิดฐานต่อเติมโดยไม่ได้รับอนุญาต)

สังคมไทยนะครับเวลาเกิดคดีแบบนี้ มักสะใจ “นายทุนแพ้” แหม นายทุนไม่ใช่ตัวดี แต่สังคมก็ต้องมีกติกา คุ้มครองผู้ลงทุนโดยสุจริต ไม่เช่นนั้นใครจะอยากมาลงทุนในประเทศนี้

คดีกังหันลม ปัญหาที่จะตามมาคือ ถ้ามีคนฟ้องทุกพื้นที่ จะทำอย่างไร จะต้องชดใช้ “ค่าโง่” อีกไหม นี่ไม่ใช่เรื่องเล็กแต่เป็นเรื่องใหญ่ เมื่อคิดถึงคดีทำนองนี้อีกมาก ที่รัฐอนุญาต แต่ศาลเพิกถอน โดยกว่าศาลจะตัดสินก็ลงทุนกันไปแล้วมหาศาล    

 

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน คอลัมน์ทายท้าวิชามาร นสพ.ข่าวหุ้นธุรกิจ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท