ไผ่ ดาวดิน และคนหนุ่มสาวในรุ่นของเขา

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

คนสูงวัยนับพันได้เพียงแต่ฝัน แต่คนหนุ่มสาวสามารถเปลี่ยนแปลงโลก

ผมเขียนบันทึกนี้จากสามัญสำนึกของคน(เคย)หนุ่ม ถึงไผ่ ดาวดินและคนหนุ่มสาวในรุ่นของเขา ผมไม่รู้จักไผ่และเพื่อนๆ ของเขาในนาม “กลุ่มดาวดิน” นอกเหนือไปกว่าบนโลกออนไลน์ดังเช่นหลายๆ คน

ผมเขียนบันทึกนี้ขึ้น ด้วยเชื่อเหลือเกินว่า “ความอยุติธรรมไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ใด ก็คือความอยุติธรรมในทุกที่” และแม้ว่าความคิดเรื่อง “ความเท่าเทียม” จะเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอย่างไม่รู้จบในสังคมไทยอันเปราะบางและอุดมดราม่า ผมก็ยังเชื่อมั่นว่ามีสิ่งหนึ่งที่เรามีเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะยากดีมีจน มีอำนาจหรือไร้อำนาจ นั่นคือ “ศักดิ์ศรี” แห่งความเป็นมนุษย์

การกักขังพันธนาการ “ไผ่ ดาวดิน”  ด้วยเหตุผลและตรรกะที่เบาหวิว  สะท้อนเรื่องนี้ชัดเจน

ครั้งหนึ่ง ซูการ์โน ผู้นำอินโดนีเซียที่นำการต่อสู้เพื่อเอกราชจากการตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตกและการยึดครองของญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่สอง กล่าวว่า “คนสูงวัยนับพันได้เพียงแต่ฝัน แต่คนหนุ่มสาวสามารถเปลี่ยนแปลงโลก”

ผมเชื่อว่า คนหนุ่มสาวทุกยุคสมัย ทุกสังคม ทุกประวัติศาสตร์คือผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในขั้นรากฐาน ถ้าจะให้ไล่เรียงก็คงยาวไม่รู้จบ

หากจะใช้แนวทางการแบ่งยุคตามวัยของคน ไผ่ ดาวดินและผองเพื่อนของเขา น่าจะจัดอยู่ในกลุ่ม Gen M หรือ มิลลิเนียน(Millinials) ซึ่งในทางการตลาดได้วิเคราะห์ไว้อย่างละเอียดพิสดารว่าคนกลุ่มนี้มีบุคลิกภาพอย่างไร ชอบทำอะไร นิยมสินค้าแบบไหน ฯลฯ จะว่าไปแล้วคนทุกรุ่นถูกวิเคราะห์ทางการตลาดไว้หมดแล้ว

แต่สำหรับผม ไผ่ ดาวดินและผองเพื่อนของเขาคือ “คนหนุ่มสาวขบถ” ในยุคของเขา ภาษาเทคนิคอาจจะต้องใช้คำว่า Cutting Edge

งานเขียนเชิงวิเคราะห์ชิ้นหนึ่งชื่อ คำสาปแห่งสหัสวรรษ : ทำไม Activism จึงล้มเหลว(The Millennium Curse:Why Activism is failing) ที่สะท้อนถึงขบวนการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงสังคมในยุคสหัสวรรษที่มี “โลกดิจิตอล” เป็นหัวหอก คนเขียน Tony Saghbiny ใช้ประสบการณ์การเคลื่อนไหวทางสังคมการเมืองในเลบานอนมาเป็นตัวตั้งในการศึกษา เป็นความเห็นยั่วแย้งของเขา และไม่ได้คาดหวังว่าการวิเคราะห์นี้จะถูกต้องเสมอไป

Tony Saghbiny เสนอว่า คนรุ่นเขาที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการต่อสู้ทางการเมืองนับตั้งแต่ปี ค.ศ.2000 เป็นต้นมา เป็นช่วงยุคสมัยของความว่างเปล่าทางการเมืองขนาดใหญ่ มันคล้ายกับว่า คนรุ่นเขาต้องมาแก้ไขปัญหาของโลกในห้วงเวลาที่อุดมการณ์ ความฝัน และสังคมอุดมคติกลายเป็นเงาแห่งอดีต

ท้ายที่สุด เพื่อไปให้พ้นจาก “คำสาปแห่งสหัสวรรษ” เขาเสนอว่า “ที่สำคัญที่สุด เราต้องการวัฒนธรรมที่กล้าหาญ ไม่หวั่นเกรงความผิดพลาดทางการเมืองในช่วงเวลาที่ “ความถูกต้องทางการเมือง” นั้นกลายเป็นเรื่อง “การเชื่อฟังหรือทำตาม” เราต้องการวัฒนธรรมที่กล้าแกร่งพอที่จะเอ่ยนามผู้คนทั้งหลายและต่อสู้จนถึงที่สุด เราต้องการวัฒนธรรมที่มุ่งปกป้องชีวิตและดำรงไว้ซึ่งอนาคตของผู้คน มิใช่การเอาชนะคะคานในระบบเลือกตั้งที่กำหนดโดยผู้มีอำนาจ ใช้เวลาห้านาทีให้เป็นที่รู้จักผ่านจอโทรทัศน์ หรือให้คนกด Like นับร้อยนับพันผ่านเฟซบุ๊ก เราต้องการวัฒนธรรมแห่งความจริงใจที่กล้าเผชิญความจริงที่ว่าสิ่งต่างๆ กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคน ความจริงที่ว่าอารยธรรมยุคอุตสาหกรรมกำลังเข้าสู่ช่วงสุดท้ายของความเสื่อมถอย เราต้องการวัฒนธรรมที่ลงมือกระทำต่อความจริงที่เกิดขึ้น มิใช่การนิ่งเฉย เราต้องการวัฒนธรรมที่ผนวกการครุ่นคิดเชิงยุทธศาสตร์อันแน่วแน่กับความกล้าหาญไร้เทียมทานอันเร่าร้อน วัฒนธรรมที่มีเป้าหมายเพื่อชนะการต่อสู้ มิใช่เพียงเพื่อ “รับไว้เพื่อพิจารณา” ถึงเวลาที่เราต้องหยุดพายเรือในอ่างและเริ่มสร้างการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงให้เกิดขึ้นบนเนื้อนาดินของเรา”

ผมขอนำจดหมายลงวันที่ 14 สิงหาคม 2516 ของคุณสุภา ศิริมานนท์(จากหนังสือ ดั่งสายใยในผองชน สำนักพิมพ์เทียนวรรณ 2529) มาปิดท้ายบันทึกนี้

“…ผมเองก็ยังต้องการเรียนรู้อีกมากมาย และผมถือเสมอว่าคนรุ่นใหม่จะต้องดีกว่าคนรุ่นเก่าเสมอ สมควรที่คนรุ่นเก่าจะต้องคอยประคบประหงมกล่อมเกลาคนรุ่นใหม่ไว้เพื่อที่คนรุ่นเก่าให้ความนับถือได้ในฐานะที่คนรุ่นใหม่จะต้องเป็นผู้นำในรุ่นต่อๆไปสืบสายโดยไม่สิ้นสุด ความยุ่งยากวุ่นวายที่เกิดขึ้นเนืองๆในยุคสมัยนี้มันก็เนื่องมาแต่เงื่อนไขนี้นี่เอง…….คือคนรุ่นเก่ามักจะถือดีอวดวิเศษด้วยประการต่างๆ ไม่รับฟังความคิดและสถานะของคนรุ่นใหม่ซึ่งเขาอยู่ในยุคสมัยที่สิ่งต่างๆได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากแล้ว…”

หยุดกักขังพันธนาการ “ไผ่ ดาวดิน” ในยุคสมัยที่สิ่งต่างๆได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากแล้ว!

หมายเหตุ:  เผยแพร่ครั้งแรกใน taragraphies.org/articles

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท