โปรดเกล้าฯ 'สมเด็จพระมหามุนีวงศ์' เป็นสังฆราช

โปรดเกล้าฯ 'สมเด็จพระมหามุนีวงศ์' แห่งวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามฯ สมเด็จพระราชาคณะฝ่ายธรรมยุติกนิกายปัจจุบัน เป็นสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 แล้ว ประกอบพิธีสถาปนาในวันที่ 12 ก.พ. ที่วัดพระแก้ว เวลา 11.00 น. 

ที่มาภาพ เว็บไซต์ alittlebuddha.com

7 ก.พ. 2560 สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชว่า ตนได้นำรายชื่อผู้ที่มีคุณสมบัติดำรงตำแหน่งพระสังฆราช 5 องค์ ให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯทรงพิจารณาและเมื่อคืนวันที่ 6 ก.พ. ตนได้รับแจ้งว่าทรงโปรดเกล้าฯ สมเด็จพระมหามุณีวงศ์ วัดราชบพิธ ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่  ซึ่งขั้นตอนหลังจากนี้ จะจัดงานพิธีสถาปนาในวันที่ 12 ก.พ. เวลา 17.00 น. ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จพระราชดำเนินไปประกอบพิธี    

พล.อ.ประยุทธ์ ย้ำว่าจากนี้ขอให้อย่าขัดแย้งกันอีกเลย ที่เลือกมาก็ดูเรื่องการปฏิบัติงานและคุณสมบัติอื่น ที่สำคัญเป็นพระราชอัธยาศัยของพระองค์ที่ทรงพิจารณาเอง
 
สำหรับสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ นั้น นามเดิม อัมพร ประสัตถพงศ์ ฉายา อมฺพโร เป็นสมเด็จพระราชาคณะฝ่ายธรรมยุติกนิกายปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร กรรมการมหาเถรสมาคมและแม่กองงานพระธรรมทูต 
 
บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อ พ.ศ. 2480 ณ วัดสัตตนารถปริวัตรวรวิหาร ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี โดยมีพระธรรมเสนานี (เงิน นนฺโท) เป็นพระอุปัชฌาย์ ต่อมาได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2491 ณ พัทธสีมาวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระจินดากรมุนี (ทองเจือ จินฺตากโร) เป็นพระกรรมวาจาจารย์
 

วิษณุเผยใช้พระนามสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ

สำนักข่าวไทย รายงานด้วยว่า วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง การจัดพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ ในวันอาทิตย์ที่ 12 ก.พ. ที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ว่า เป็นไปตามแบบของการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชทุกครั้งที่ผ่านมา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะถวายพระสุพรรณบัตร คือชื่อที่จารึกในแผ่นทอง ถวายภัตรยศ ถวายเครื่องสมณบริขาร หรือเครื่องยศสมเด็จพระสังฆราช ที่สำคัญก็คืออ่านพระบรมราชโองการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช

“เรามีสมเด็จพระราชาคณะอยู่ 8 รูป เป็นฝ่ายธรรมยุทธ 4 รูป มหานิกาย 4 รูป เมื่อเรียงลำดับโดยอาวุโสของสมณศักดิ์ คือการเป็นสมเด็จก่อน-หลัง  ลำดับที่หนึ่งก็คือ เจ้าพระคุณสมเด็จวัดปากน้ำ เจ้าพระคุณสมเด็จวีรวงศ์ วัดสัมพันธวงศ์ และเจ้าพระคุณสมเด็จมหามุนีวงศ์ ซึ่งได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช มีอาวุโสโดยสมณศักดิ์เป็นลำดับที่ 3   ถือว่าสมเด็จพระสังฆราชที่จะ ได้รับการโปรดสถาปนา เป็นสมเด็จพระราชาคณะมาเป็นเวลานาน  เป็นที่เคารพนับถือ  เลื่อมใส  สมถะ และสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่จะปฏิบัติภารกิจได้หลังจากมีพิธีสถาปนา” วิษณุ กล่าว

วิษณุ กล่าวว่า เรามีสมเด็จพระสังฆราช ตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มาถึงองค์ใหม่ที่จะสถาปนา คือ องค์ที่ 20 แต่18 รูปที่ผ่านมาจะมีชื่อเหมือนกันหมด เดิมจะมีชื่อสมเด็จอะไรก็ช่าง แต่เมื่อได้รับสถาปนาจะเป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ แปลว่าพระผู้เสด็จไปดีแล้ว และวงเล็บชื่อเดิม เมื่อมาถึง สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 19  ทรงพระกรุณาโปรดให้มีชื่อเดิม ที่ท่านเป็นอยู่ก่อนที่จะเป็นสมเด็จพระสังฆราช ว่า สมเด็จพระญาณสังวร เมื่อเลื่อนขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช ก็โปรดให้ใช้พระนามเดิม เป็นสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ไม่มีชื่อว่าอริยวงศาคตญาณ  และเมื่อมาถึงองค์ใหม่ที่จะสถาปนา เมื่อไม่ได้ทรงโปรดให้มีพระนามใหม่อย่างอื่น ก็กลับไปใช้พระนามตามแบบเดิม คือ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อัมพร อมพโร ) มหาเถระ 

โดยวานนี้ (6 ก.พ.60) ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ถึงความชัดเจนการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชว่า มีการพิจารณาตามขั้นตอน ส่วนที่มีข่าวลือขณะนี้นั้นอยากถามว่าไปลือกันทำไม เรื่องนี้เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ เป็นขั้นตอนที่รัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรีต้องพิจารณาร่วมกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าจะเสนอรายชื่อขึ้นไปอย่างไร ในส่วนของรายชื่อก็ต้องเป็นไปตามลำดับอาวุโส นอกจากนั้นยังมีการพิจารณาเพิ่มเติมถึงความเหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ นอกจากนี้ต้องมีเรื่องความแข็งแรงของร่างกายในการปฏิบัติงานพระราชพิธีต่างๆ โดยจะนำทั้งสามคุณสมบัติมาเป็นตัวตั้ง แล้วขัดกรองอีกครั้ง จากทั้งสองนิกาย ไม่ว่าจะกี่รูปก็ตามโดยอยู่ในกรอบที่วางไว้ จากนั้นก็จะมีการนำเสนอขึ้นไป

สำหรับพระราชาคณะเรียงตามอาวุโสโดยสมณศักดิ์นั้น ไทยพีบีเอส รายงานว่า ประกอบด้วย ลำดับที่ 1 สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ คือ ได้รับสถานปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะ ตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2538 ซึ่งขณะนี้อยู่ในตำแหน่งผู้ปฏิบัติหน้าที่พระสังฆราช และ กรรมการมหาเถรสมาคม

ลำดับที่ 2 สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศาราม มีอาวุโสลำดับ 2 ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2544

ลำดับที่ 3 และ ลำดับที่ 4 สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และ สมเด็จพระวันรัต เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ได้รับการสถา ปนาพร้อมกัน คือ วันที่ 5 ธันวาคม 2552 แต่สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เข้ารับการสถาปนาก่อน จึงถือว่ามีอาวุโสกว่าสมเด็จพระวันรัต

ลำดับที่ 5 สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม ได้รับการสถาปนาฯ ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2553

ลำดับที่ 6 สมเด็จพระธีรญาณมุนี ได้รับการสถาปนาฯ ปีเดียวกับ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ แต่พรรษาอ่อนกว่า จึงเข้ารับการสถาปนาทีหลัง

ลำดับที่ 7 สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการาม ได้รับการสถาปนาฯ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2554

ลำดับที่ 8 สมเด็จพระพุฒาจารย์ เจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราวรวิหาร ถือว่ามีอาวุโสโดยสมณศักดิ์น้อยที่สุด เพราะได้รับสถาปนาเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ปี 2557

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท